xs
xsm
sm
md
lg

อย่ากะพริบตา…จะจบแบบไหน?

เผยแพร่:   โดย: สิริอัญญา

สถานการณ์ทางการเมืองตึงเครียดขึ้นทุกที และเป็นธรรมดาว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งแล้วก็ต้องสิ้นสุดลงในทางใดทางหนึ่ง แต่จะเป็นทางไหนนั้นก็ต้องติดตามดูสถานการณ์กันเอาเอง

หากดูลีลาท่าทีของคุณสมัคร สุนทรเวช ที่ร้องเพลงโชว์ถึง 11 เพลงในคืนวันที่ 27 สิงหาคม 2551 ก็อาจเข้าใจว่ามีความมั่นใจว่าจะเป็นฝ่ายชนะ

เพราะไม้หนึ่ง สามารถออกหมายจับแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ และอีกไม้หนึ่ง ก็สามารถขอให้ศาลคุ้มครองขับไล่พันธมิตรฯ ออกจากทำเนียบรัฐบาล

ส่วนในใจจริงนั้นจะเป็นอย่างไรก็ไม่มีใครรู้ แต่ถ้าดูสีหน้าและแววตาก็เห็นได้ชัดว่าหาได้ผ่องใสโล่งใจเหมือนดังที่แสดงออกไม่ ดังนั้นจึงมีข่าวคราวในเช้าวันเดียวกันจากหน้าหนังสือพิมพ์ว่ารัฐบาลกำลังจนท่า ไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร ต้องขอให้สหรัฐฯ เข้ามาช่วย

ถ้าเป็นจริงก็ยุ่งกันใหญ่! เพราะนี่คือการชักน้ำเข้าลึก ชักศึกเข้าบ้าน ประหนึ่งเอาไทยไปเป็นเมืองขึ้นของสหรัฐฯ หรืออย่างไร?

เพราะแต่ไหนแต่ไรมานั้น หากชาติใดไปขอให้ชาติอื่นเข้ามาช่วยเหลือแก้ไขปัญหาภายในของตนเองแล้ว ก็จะยิ่งยุ่งยาก ยืดเยื้อ และในที่สุดก็จะตกอยู่ภายใต้การครอบงำของชาติอื่น

ในพิชัยสงครามเขาจึงห้ามไม่ให้อาศัยต่างชาติเข้ามาแก้ไขปัญหาภายในของตน

ตอนที่จะเริ่มเป็นสามก๊กนั้นมีความขัดแย้งภายในเมืองหลวง แต่แทนที่จะแก้ไขปัญหาด้วยกำลังตน กลับไปเชิญกองทัพตั๋งโต๊ะจากชานตงเข้ามา เมื่อกองทัพตั๋งโต๊ะเข้ามาแล้วก็ยึดอำนาจจากส่วนกลางไปเลย นี่คือตัวอย่างที่ต้องสังวรไว้ให้ดีและควรที่จะต้องท้วงติงรัฐบาลเอาไว้

อันไม้หนึ่งไม้สองของรัฐบาลนั้นขยายความกันจนราวจะเป็นไม้เด็ดไม้ตาย แต่แท้จริงแล้วจะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ก็ยังเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ข้อแรก ข้อหากบฏนั้นตั้งเอากับคน 9 คน ในขณะที่มีประชาชนหลายแสนคนเคลื่อนไหวในวันที่ 26 สิงหาคม 2551 ก็แสดงให้เห็นว่านอกจาก 9 คนนี้แล้วไม่ได้เป็นกบฏด้วย แล้วคน 9 คนจะเป็นกบฏไปได้อย่างไร?

จำนวนนี้น้อยกว่าที่รัฐบาลถนอม-ประภาสเคยตั้งข้อหานักศึกษา และน้อยกว่ารัฐบาลหลัง 6 ตุลาตั้งให้กับแกนนำการเคลื่อนไหวมากมายนัก

ข้อหากบฏในสถานการณ์ขัดแย้งทางการเมืองจึงอาจเป็นเพียงผลของความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างรัฐบาลกับพวกที่ไม่เห็นด้วยก็ได้

เนื้อหาที่แท้จริงก็คือคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลมีจำนวนมาก ปรากฏการณ์ทั้งหมดก่อขึ้นจากตรงนี้ ตราบใดต้นเหตุไม่ได้รับการแก้ไขก็ไม่มีทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้

และหากปราบปรามสุ่มสี่สุ่มห้าจนพันธมิตรฯ แตกกระเจิงไปแล้ว อะไรจะเกิดขึ้น คิดกันหรือยัง?

คิดกันบ้างหรือไม่ว่าเมื่อใดคนจำนวนมากหมดความเชื่อในแนวคิดอหิงสาและไร้ผู้นำฝูงชน เมื่อนั้นเหตุการณ์แบบเลบานอนหรืออิรักก็อาจเกิดขึ้นได้

ปรากฏการณ์คราวนี้มีพี่น้องมุสลิมจากภาคใต้เข้ามาร่วมเป็นจำนวนมาก และมีพี่น้องมุสลิมในกรุงเทพฯ และภาคกลางสนับสนุนในด้านอาหาร หากมีใครเป็นอะไรไปพี่น้องมุสลิมทั้งประเทศเขาจะคิดอย่างไร?

ที่น่าห่วงก็คือพี่น้องจากภาคใต้ หากสิ้นหวังจากแนวคิดอหิงสาแล้ว จะเลือกวิถีทางใดอีก ก็ยากจะคิด แต่ถ้าหากเลือกไปร่วมมือกับผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่สี่จังหวัดภาคใต้ แล้วจะแก้ปัญหานั้นกันอย่างไร

ข้อหากบฏที่ตั้งเอากับแกนนำ 9 คนนั้น มันเป็นข้อหาทางการเมือง แต่ถ้าแพ้ก็ต้องขึ้นศาลหรืออาจติดคุกติดตะรางในที่สุด แต่ถ้าชนะก็คงมีการอภัยให้แก่กันอย่างแน่นอน

เพราะเจตนาของกฎหมายในเรื่องกบฏนั้นหมายเอาการตั้งกองกำลังติดอาวุธเพื่อแย่งชิงหรือต่อสู้กับอำนาจรัฐ ไม่ใช่เดินนั่งมือเปล่าเท้าเปล่าดังที่เห็นๆ กันอยู่

ข้อสอง การฟ้องศาลแพ่งให้คุ้มครองชั่วคราวให้พันธมิตรฯ ออกไปจากทำเนียบรัฐบาลนั้น แท้จริงแล้วก็คือการฟ้องแกนนำ 5 คน ดังนั้นคำสั่งของศาลแพ่งจึงผูกพันเฉพาะคน 5 คนนี้เท่านั้น ไม่ผูกพันกับบุคคลอื่นที่ไม่ได้ถูกฟ้องด้วย

เพราะการคุ้มครองทางแพ่งมันใช้ไม่ได้กับกรณีของมวลมหาประชาชน ดังนั้นหากคนที่เข้าร่วมชุมนุมไม่ยอมออก คำสั่งศาลก็บังคับคนเหล่านั้นไม่ได้ เพราะไม่ใช่ผู้ถูกฟ้องในคดี ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งคุ้มครองไม่ให้คำสั่งของศาลไปบังคับถึงคนอื่นที่ไม่ได้เป็นคู่ความในคดีด้วย

คำสั่งศาลที่คุ้มครองชั่วคราวย่อมมีผลบังคับทันที แต่จะเป็นทันทีที่มีการส่งหมายบังคับคดีทางแพ่งให้กับคู่ความแล้ว ข่าวคราวทางสื่อมวลชนไม่มีผลเป็นการส่งหมายคุ้มครองนั้น และเมื่อส่งหมายแล้ว หากไม่มีการปฏิบัติ ศาลก็อาจเรียกคู่ความไปชี้แจงต่อศาลว่าทำไมจึงไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายบัญญัติไว้

หากคำชี้แจงมีผล ศาลก็อาจเปลี่ยนแปลงคำสั่งได้ แต่ถ้าไม่มีผลศาลก็จะออกหมายให้เจ้าพนักงานบังคับคดีของศาลทำการบังคับคดีตามหมายคุ้มครองนั้น

ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิ์ผู้ถูกฟ้องที่จะขอไต่สวนฉุกเฉินเพื่อเพิกถอนคำสั่ง หรืออุทธรณ์คำสั่งต่อศาลอุทธรณ์โดยตรงก็ได้

เหตุการณ์จะเป็นไปในทางไหนก็ไม่รู้ คงต้องติดตามดูกันเอาเอง
ไม้แรกคือข้อหากบฏ และไม้สองคือคำสั่งคุ้มครองกำลังเป็นข่าวคราวที่โด่งดังและถูกขยายผลทางสื่อจนเกือบกลบการต่อสู้เรียกร้องของประชาชน แต่ก็หาหมดสิ้นไม่

สื่อต่างประเทศเริ่มตั้งข้อกล่าวหาว่ามีการใช้สื่อเป็นเครื่องมือใส่ร้ายป้ายสีประชาชนแล้ว นักวิชาการจำนวนหนึ่งก็เริ่มท้วงติงแล้ว แต่ประชาชนจำนวนหนึ่งก็ยังเชื่อสื่อเป็นธรรมดา

แต่ประชาชนอีกจำนวนหนึ่งซึ่งเชื่อฝ่ายพันธมิตรฯ ก็ยังคงเชื่อต่อไป และแม้จะมีข่าวคราวอย่างไรก็ถือว่าเป็นเครื่องมือของอีกฝ่ายหนึ่ง ไม่ยอมเชื่อฟังอีก

เป็นเหตุการณ์ซ้ำรอยเหตุการณ์ 14 ตุลา เหตุการณ์ 6 ตุลา และพฤษภาทมิฬไม่มีผิด!
มันซ้ำรอยด้วยรูปแบบการใช้สื่อบิดเบือนความจริงอย่างหนึ่ง และมันจะซ้ำรอยที่ประชาชนจำนวนหนึ่งไม่เชื่อถือแล้วพากันไปร่วมชุมนุมอีกอย่างหนึ่ง นี่คือกงล้อประวัติศาสตร์ที่กำลังหมุนซ้ำรอยเดิม

กลุ่มพันธมิตรฯ ยังคงชุมนุมกันอยู่ในทำเนียบรัฐบาล ฝ่าความลำบากตรากตรำอย่างหนักทั้งแดด ฝน ทั้งความหิว ความเหนื่อยล้า น้ำท่า ห้องสุขา และต้องรับมือกับปฏิบัติการณ์ทางจิตวิทยาจนแทบไม่เป็นอันหลับนอน จนล่วงเลยเวลากำหนดที่รัฐบาลยื่นคำขาดมาหลายครั้งหลายหน และยังไม่รู้ว่าจะจบลงที่ตรงไหน

2-3 วันที่ผ่านมา ฝ่ายที่ต้องการสลายการชุมนุมได้ปฏิบัติการณ์อย่างที่เคยปฏิบัติมาแต่อดีต แต่รูปแบบนั้นเห็นได้ชัดว่าหมายจะใช้รูปแบบการล้อมปราบแบบเหตุการณ์ 6 ตุลา เพื่อสลายการชุมนุม และจับแกนนำ

ฝ่ายที่ชุมนุมอยู่ในทำเนียบรัฐบาลยังคงใช้แนวทางอหิงสาอยู่เหมือนเดิม ท่ามกลางการจับตาอย่างไม่วางตาของสื่อมวลชนต่างประเทศ ผู้แทนของทูตานุทูตต่างๆ ในประเทศไทยที่พร้อมกระจายข่าวออกไปทั่วโลกในทันที

ปฏิบัติการล้อมปราบหยุดชะงักลงหลังเหตุการณ์ตำรวจบุกเข้าทำเนียบรัฐบาลในเวลาตี 3 ของคืนวันที่ 27 สิงหาคม 2551 มีการปะทะกันและประชาชนบาดเจ็บเกือบ 30 คน

แม้สื่อมวลชนไทยไม่ได้เสนอข่าวนี้เลย แต่ข่าวก็ปรากฏไปทั่วโลก! และเผยให้เห็นถึงความโหดเหี้ยมอำมหิตที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง

ฝ่ายล้อมปราบจึงเสียแต้มและต้องทบทวน แต่ในที่สุดก็ดึงดันเดินหน้าแผนล้อมปราบต่อไป ด้วยการระดมพลใหญ่ในวันที่ 27 สิงหาคม 2551 และใช้กำลังตำรวจทั้งหมดเพราะทหารไม่เกี่ยวข้องด้วย

อาจจะมีการคิดอ่านเลยเถิดไปกว่าการล้อมปราบ จึงมีการระดมกำลังจนมากเกินและผิดสังเกต มีการวางกำลังตำรวจใกล้ย่านสี่เสาเทเวศร์เป็นจำนวนมากผิดสังเกต จนเกิดข่าวลือว่าจะมีแผนปฏิบัติการจับกุมตัวบุคคลสำคัญเพื่อนำไปสู่ความคิดอ่านที่เลยเถิดนั้น

จึงเกิดข่าวลือตามมาเรื่องการขยับตัวขึ้นของฝ่ายทหารบางกลุ่ม และเกิดการแตกตัวขึ้นในหมู่ผู้บริหารของตำรวจเอง ลึกลงมาถึงตำรวจระดับปฏิบัติการด้วย จึงเป็นผลให้แผนการล้อมปราบในค่ำคืนวันที่ 27 สิงหาคม 2551 ต้องด้านไป

จะทำอย่างไรกันต่อไปนั้น ประชาชนอย่างเราท่านย่อมยากที่จะรู้ได้ แต่ก็เห็นได้ว่าแนวโน้มมีความชัดเจนว่า

ฝ่ายผู้ล้อมปราบคงใช้รูปแบบล้อมปราบเมื่อครั้ง 6 ตุลาคม โดยไม่คำนึงว่า การล้อมปราบประชาชนจะส่งผลให้ประเทศไทยเป็นเลบานอนหรืออิรักหรือแบบไหนต่อไป

ส่วนฝ่ายผู้ชุมนุมนั้นคงยืนหยัดชุมนุมกันต่อไป โดยมุ่งหวังยึดศูนย์กลางของรัฐบาลให้นานที่สุด และขยายผลเชิญชวนประชาชนเข้ามาร่วมชุมนุมให้มากที่สุด โดยหวังว่าเมื่อใดที่ข้าราชการทหาร ตำรวจ เข้ามาร่วมชุมนุมอย่างสันติก็จะได้รับชัยชนะ ซึ่งเป็นรูปแบบการต่อสู้ของชาวฟิลิปปินส์ในการขับไล่มาร์กอส

ดังนั้นรูปแบบการล้อมปราบแบบ 6 ตุลาคม หรือที่อาจ “เลยเถิด” ไปสู่การยึดอำนาจแบบ 6 ตุลาคม จึงเป็นรูปแบบหนึ่ง ในขณะที่ฝ่ายพันธมิตรฯ กำลังใช้รูปแบบ “มาลากันยัง” ของฟิลิปปินส์ที่เคยขับไล่มาร์กอสสำเร็จมาแล้ว นี่คือรูปแบบของสถานการณ์ที่ปรากฏให้เห็นในขณะนี้

อย่ากะพริบตาเป็นอันขาด สถานการณ์มาถึงจุดที่จะชี้ขาดแล้วว่ารูปแบบล้อมปราบแบบ 6 ตุลา กับรูปแบบมาลากันยังนั้น รูปแบบไหนจะเป็นรูปแบบที่ชนะในครั้งนี้?

และคาดผลล่วงหน้าได้เลยว่า
ถ้ารูปแบบล้อมปราบแบบ 6 ตุลาชนะ และเลยเถิดเป็นการยึดอำนาจแบบ 6 ตุลา การปราบปรามประชาชนทั่วประเทศที่ลุกฮือก็จะเกิดขึ้น แนวความคิดอหิงสาจะไม่มีใครเชื่อถืออีกต่อไป จึงอาจเกิดสงครามกลางเมืองเต็มรูปแบบตามที่ใครบางคนเคยพูดไว้ก็ได้

แต่ถ้ารูปแบบมาลากันยังชนะ รัฐบาลสมัครก็จะล่มสลายลงไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่จะไปถึงขั้นขุดรากถอนโคนการเมืองน้ำเน่าแห่งระบอบทุนนิยมสามานย์ได้หรือไม่ ยังคงต้องติดตามดูกันต่อไป.
กำลังโหลดความคิดเห็น