xs
xsm
sm
md
lg

"พลังแม้ว"จำใจรับร่างกม.ลูก ฉุนพรรคถูกเปรียบ"แก๊งโจร"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวานนี้ (27ส.ค.) มีนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม มีวาระพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. .... ที่ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้เสนอ โดยเป็นการลงมติวาระรับหลักการ
หลังจากที่ประชุมได้อภิปรายกันเสร็จสิ้นไปตั้งแต่การประชุมวันที่ 14 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งผลการลงมติปรากฏว่า ที่ประชุมมีมติรับหลักการด้วยคะแนน 318 ต่อ 3 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง
ทั้งนี้ ได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. จำนวน 36 คน กำหนดแปรญัตติ 7 วัน
อย่างไรก็ดี นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคพลังประชาชน หารือว่าสัปดาห์ที่แล้ว มีการสัมมนาการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 2550 ครบ 1 ปี ที่รัฐสภา ปรากฏว่ามีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่ง ให้ความเห็นเกี่ยวกับ มาตรา 237 ว่าด้วยการยุบพรรค ในลักษณะเป็นผลลบกับพรรคการเมือง โดยระบุว่าหากพรรคการเมืองไม่มีการพัฒนา ยังคงซื้อสิทธิ์ ขายเสียง และทำผิดรัฐธรรมนูญมาตรานี้ ถือว่าไม่ใช่พรรคการเมือง แต่เป็นแก๊งโจร จึงอยากฝากกรรมาธิการ นำคำพูดของตุลาการคนดังกล่าวไปประกอบการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นี้ด้วย
ขณะที่นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นแย้งว่า ไม่เคยมีธรรมเนียมปฏิบัติ หากสภารับร่างแล้ว สมาชิกจะอภิปรายฝากข้อสังเกตไปยังกรรมาธิการ เพราะในการพิจารณาของกรรมาธิการ จะมีขั้นตอนการแปรญัตติอยู่แล้ว ทำให้นายชัย ชิดชอบ ตัดบทนำเข้าสู่วาระการประชุมต่อไป
ทั้งนี้ การลงมติดังกล่าว ได้มีการเลื่อนมาถึง 2 สัปดาห์ เนื่องจากองค์ประชุมในการประชุมสภา ช่วงค่ำวันที่ 14 ส.ค. มีไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ต่อมามีความเห็นแตกต่างกันภายในพรรคพลังประชาชน โดยเมื่อต้นสัปดาห์ที่แล้ว ที่ประชุมพรรคพลังประชาชน มีมติจะโหวตคว่ำร่างดังกล่าว แต่ฝ่ายวิปรัฐบาลไม่เห็นด้วย จึงมีการประสานกันภายใน เพื่อให้ลงมติรับหลักการ ในที่สุดการประชุมพรรคพลังประชาชน เมื่อต้นสัปดาห์นี้ ที่ประชุมพรรคมีมติให้สมาชิกลงมติรับหลักการไปก่อนแล้วค่อยแปรญัตติแก้ไขภายหลัง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงมากคือ กรณีที่นายจรัญ ภักดีธนากุล ซึ่งเป็นอดีตรองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 50 ได้รับเลือกมาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะต้องมาเป็นผู้ตัดสินคดียุบพรรคพลังประชาชน โดยการใช้ มาตรา 237 วรรคสอง ทำให้พรรคพลังประชาชนมองว่า เป็นการกำหนดกติกาเอง แล้วมาใช้เอง และในร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ดังกล่าว มาตรา 10 (3) ยังได้ยกเว้นการคัดค้านตุลาการ กรณีเคยมีส่วนร่วมในกระบวนการทางนิติบัญญัติ หรือเคยแสดงความเห็นในฐานะเป็นผู้เชี่ยวชาญมีความรู้เป็นพิเศษในปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวข้องกับคดีนั้น และ นายจรัญ ยังแสดงความเห็นเกี่ยวกับมาตราดังกล่าวในทางลบ ต่อพรรคพลังประชาชนมาโดยตลอด ทำให้พรรคพลังประชาชนเห็นว่า อาจมีปัญหาการตั้งธงในการพิจารณาคดียุบพรรคหรือไม่

**รี้อกม.ต้องเป็นไปตามกรอบรธน.
นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ประธานคณะกรรมการประสานงาน (วิป) พรรคฝ่ายค้าน กล่าวถึงกรณีที่ วิปรัฐบาล ตั้งอนุกรรมการฯ เพื่อรื้อกฎหมายที่มีที่มาจากการรัฐประหารว่า ก็เป็นสิทธิ์ที่วิปรัฐบาลสามารถทำได้ แต่การออกกฎหมายต้องเป็นไปตามกรอบของรัฐธรรมนูญ กฎหมายใดที่มีผลบังคับใช้แล้ว หากจะมีการเปลี่ยนแปลงและยกเลิก ก็ต้องออกเป็น พ.ร.บ.เปลี่ยนแปลงยกเลิก ซึ่งก็ต้องมีเหตุผลที่อธิบายได้ แต่หากเหตุผลคือ ต้องการเช็คบิล หรือแก้แค้นใครว่า เป็นอำนาจเผด็จการ เป็นรัฐธรรมนูญที่มีที่มาโดยไม่ชอบ ดังนั้น ตัวเองที่เป็น ส.ส.มาจากรัฐธรรมนูญที่มิชอบ ทำไม่ถึงไม่ลาออกไป
"ปัญหาบ้านเมืองขณะนี้ ไม่ได้อยู่ที่ว่า เมื่อมีอำนาจแล้วจะต้องไปแก้แค้นใคร เพราะที่ผ่านก็เห็นชัดว่าเกิดปัญหายุ่งยากมาตลอด 7-8 เดือน ถ้าถอยกลับมาสู่จุดตั้งหลักว่า จะเดินหน้าอย่างไร และยอมรับความเห็นที่แตกต่างของสังคม รวมทั้งรัฐบาลก็ควรทำตัวให้เป็นผู้ใหญ่ ในการอดทนอดกลั้นต่อสถานการณ์ต่างๆ บางทีคนที่เป็นผู้ใหญ่ ก็ถูกตำหนิ ถูกด่าบ้าง เพราะเป็นบุคคลสาธารณะเป็นคนธรรมดา แต่หากจะไปใช้เสียงข้างมากดำเนินการรื้อกฎหมาย ก็ทำให้เกิดคำถามว่ามีเหตุผลหรือไม่ หรือทำเพียงเพราะความไม่ชอบใครคนใดคนหนึ่ง" นายสาทิตย์ กล่าว
นายสาทิตย์ กล่าวว่า เช่นเดียวกับกฎหมายที่เสนอโดยองค์กรอิสระที่อยู่ในสภา ตนก็อยากเห็นการยอมรับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เมื่อองค์กรอิสระสามารถเสนอกฎหมายได้ ก็เสนอเข้ามาเป็นเรื่องปกติ อย่าไปหากระบวนการมายับยั้ง ให้ทุกอย่างดำเนินการตามกรอบของรัฐธรรมนูญ หากจะเปลี่ยนแปลงก็สามารถทำได้ในชั้นของกรรมาธิการ (กมธ.) อยู่แล้ว อย่าไปสร้างเงื่อนไขเพิ่มเติม โดยเฉพาะคนจากซีกรัฐบาล ตนคิดว่า คนไทยที่มองสถานการณ์การเมืองขณะนี้ ก็ทุกข์ใจมากพออยู่แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น