xs
xsm
sm
md
lg

ไต่สวนพยานชิมไปบ่นไปเน้นการเสียภาษีมัดสมัคร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อ เวลา 10.00 น. วานนี้ (26 ส.ค.) คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีนายชัช ชลวร เป็นประธาน ออกนั่งบัลลังก์เพื่อไต่สวนคำร้องที่ประธานวุฒิสภาส่งคำร้องของ ส.ว.และ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรี ของนาย สมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เนื่องจากเป็นพิธีกรดำเนินรายการ ชิมไปบ่นไป และรายการ ยกโขยงหกโมงเช้า ขัดตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 182 วรรคหนึ่ง ( 7 ) และมาตรา 267 ประกอบ มาตรา 182 วรรคสาม และมาตรา 91
โดยศาลนัดไต่สวนพยานบุคคล จำนวน 3 ปาก ประกอบด้วย นายศานิต ร่างน้อย อธิบดีกรมสรรพากร พล.อ. ยอดชาย เทพยสุวรรณ ประธานอนุกรรมการ ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณี ของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นางดาริกา รุ่งโรจน์ พนักงานบัญชีของบริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด อย่างไรก็ตามในส่วนของนายศานิต ได้มอบให้นายประสงค์ พูนธเนศ เป็นผู้แทนมารับการไต่สวนแทน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ทำหน้าที่ตามกระบวนการของศาลไต่สวน นายประสงค์ก่อน โดยได้สอบถามถึงขั้นตอนการเสียภาษี โดยเฉพาะในส่วนของพิธีกร จะต้องเสียภาษีอย่างไร ถือเป็นเงินเดือนหรือไม่ โดยนายประสงค์ ได้ชี้แจงขั้นตอนและระบุว่า บริษัท เฟซ มีเดีย รู้ขั้นตอนการเสียภาษีเป็นอย่างดี และอยู่ในการตรวจสอบของกรมสรรพากร ไม่มีประวัติการเลี่ยงภาษี และการเสียภาษีก็มีการหักเป็นรายได้ที่หักภาษี ณ ที่จ่ายเหมือนกัน ซึ่งการเสียภาษีของพิธีกร นั้นจะอยู่ใน ภงด. 3ที่จะแยกเป็น 3 ส่วนคือ ผู้รับเหมา ค่าจ้างคนทำของอื่นๆ และทนาย ซึ่งพิธีกรก็จัดอยู่ในส่วนนี้ ไม่ถือเป็นลูกจ้าง
นายจรัล ตุลาการได้ถามถึงช่วงเวลา 3 เดือนที่ บริษัท เฟซ มีเดียไม่ได้จ่ายให้กับผู้ถูกร้อง ในฐานะที่เป็นผู้เชี่ยวชาญรู้สึกว่ามีพิรุธหรือไม่ นายประสงค์ กล่าวตอบว่า ในกรณีดังกล่าวก็เคยเกิดขึ้นกับบริษัทอื่นทั่วไป หากมีการหลบเลี่ยงไม่จ่ายภาษี ซึ่ง กรมสรรพากรสามารถตรวจสอบได้จากงบกำไรขาดดุล เพราะตัวเลขจะต้องตรงกัน โดยเราจะสามารถตรวจสอบได้ในช่วงสิ้นปี ส่วนกรณีนี้เรายังไม่สามรถบอกได้ว่า มีความพยายามเลี่ยงภาษีหรือไม่ ในขณะนี้เพราะถ้าจะตรวจสอบการเงินในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย. 2551 เราจะต้องรอถึงสิ้นปีว่าบริษัทดังกล่าวนี้ได้หลบเลี่ยงในการ ใช้จ่ายเงินในช่วงเวลาดังกล่าวหรือไม่ เพราะจะสามารถตรวจสอบได้ในบัญชีงบดุลปลายปี ที่แต่ละบริษัทจะต้องนำส่งกรมสรรพากร
ด้านนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา ในฐานะผู้ร้องที่ 1 ได้ถามนายประสงค์ ถึงการยื่นแบบภาษี โดยนายประสงค์ ได้ชี้แจงถึงวิธีการยื่นภาษีว่ามีสองแบบ คือ การยื่นผ่านระบบคอมพิวเตอร์ และการยื่นด้วยกระดาษ แต่ท้ายที่สุดข้อมูลก็จะมารวมกัน สามารถตรวจสอบได้ และยืนยันในระบบไอที ที่สามารถครอบคลุมและได้ข้อมูลชัดเจน
ด้านนาย ธนา เบญจาธิกุล ทนายความนาย สมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ได้สอบถามถึงว่าการจ่ายเงินค่าจ้างให้กับนักแสดงหรือพิธีกร ได้เสียภาษีรายได้ ในหมวดใด ซึ่งนาย ประสงค์ ยืนยันว่า อยู่ในหมวด ภงด .3 (แบบแสดงรายการการ เสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย) ที่ไม่ได้อยู่ในข่ายลูกจ้างหรือที่เป็นค่าจ้างของนักแสดง
จากนั้น พล.อ.ยอดชาย ได้ขึ้นเบิกความ โดยตุลาการ ได้สอบถามถึง หลักฐาน ที่แสดงให้เห็นว่านายกรัฐมนตรีได้รับผลประโยชน์อย่างไรจากบริษัท เพซ มีเดีย ว่า หลังจากที่ผู้ถูกร้องเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กลับตรวจไม่พบหลักฐานในการเสียภาษี จากนั้นตุลาการได้สอบถามถึงรายได้ที่ได้รับจากการจัดรายการที่ลงคำสัมภาษณ์ในหนังสือสกุลไทย ว่าได้รับเงินเดือน 80,000 บาท เมื่อสมัยที่ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่ากทม. หรือไม่ ซึ่ง พล.อ.ยอดชาย กล่าวว่า ไม่ได้มีการตรวจสอบในเรื่องนี้ เพราะนายสมัคร ยังไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีขณะนั้น และคิดว่ามีประโยชน์ต่อศาลหรือไม่ จึงไม่คิดไปสืบสวนถึงขนาดนั้น
ทำให้นาย นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ตุลาการ ได้กล่าวขึ้นว่า จริงอยู่ในการสืบสวน สอบสวนต้องตรงไปตรงมา และควรทำอย่างกว้างขวางให้ครอบคลุมทั้งซ้ายและขวา เพื่อจะให้ได้ข้อมูลที่กระชับในประเด็นต่างๆ และเกิดการเปรียบเทียบในประเด็นต่างๆ ไม่ใช่ให้ศาลต้องมาหาข้อมูลเอาเอง เพราะข้อมูลที่ กกต.ให้กับศาลมา ไม่ได้ลงลึกในรายละเอียด เป็นเพียงการสอบเพื่อให้เสร็จพ้นหน้าที่เท่านั้นใช่หรือไม่ ที่พูดไม่ใช่ว่าสอน นี่เป็นเพียงการแนะนำในการทำงาน ซึ่ง พล.อ.ยอดชาย ได้กล่าว ตอบว่า ได้ทำเต็มความสามารถแล้ว ประกอบกับกรมสรรพากรไม่ได้ให้ข้อมูล เพราะติดขัดในข้อกฎหมายในการขอข้อมูล และกรรมการสืบสวนสอบสวน อีกทั้งกกต.กลาง ได้เร่งให้คณะทำงานของตนให้ทำให้เสร็จโดยเร็ว จึงได้ข้อมูลมาเพียงเท่านี้
จากนั้น นางดาริกา ได้ขึ้นเบิกความ ศาลได้สอบถามถึงการจ่ายค่าจ้างพิธีกร โดย นางดาริกา กล่าวยืนยันว่า นายสมัครได้ค่าจ้างเฉพาะค่าพิธีกรเป็นค่าจ้างนักแสดง ที่นำส่งสรรพากร แต่หลังจากที่นายสมัคร รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้จ่ายค่าจ้าง ให้เป็นจำนวนมากกว่า 100,000 บาท เหมือนกับก่อนหน้ารับตำแหน่ง เพราะมีค่าน้ำมันรถให้ครั้งละ 3,000 บาท เป็นค่าเดินทาง ซึ่งค่าน้ำมันถือเป็นค่าใช้จ่าย เบ็ดเตล็ด ไม่รวมอยู่ในค่าจ้าง
นอกจากนี้ยังได้ชี้แจงด้วยว่า บางครั้งที่จ่ายค่าตอบแทนให้นายกรัฐมนตรี ต่อเดือนไม่เท่ากัน เพราะบางครั้งถ่ายทำไปแล้ว ไม่ได้จ่ายทุกเทป ต้องขึ้นอยู่กับการออกอากาศ พร้อมกับมีการยืนยันว่า การจ่ายเงินให้กับนายสมัคร นั้นจะมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้วทุกครั้ง
อย่างไรก็ตามในช่วงที่นายสมัครมาเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ไม่ได้มีการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทแต่อย่างใด ประกอบกับช่วงหกเดือนแรกเกิดวิกฤตทางการเมือง ช่องที่ออกอากาศรายการได้ยกเลิกไปทำให้สปอนเซอร์บางรายถอนตัว ทำให้รายได้ของบริษัทลดลง
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกด้วยว่า ภายหลังการไต่สวนพยานแล้วเสร็จ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้อ่านรายงานกระบวนการพิจารณา ได้นัดไต่สวนพยานอีก 2 ปาก ประกอบด้วย ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 หรือผู้แทน และ ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 หรือผู้แทน ในวันนี้ (27 ส.ค.) เวลา 09.30 น.
กำลังโหลดความคิดเห็น