ตุลาการศาล รธน.ไต่สวนคดีลูกจ้าง “สมัคร” จัดชิมไปบ่นไป เจ้าหน้าที่สรรพากรส่อยื้ออ้างต้องรอสิ้นปีจึงตรวจสอบการเลี่ยงภาษีหรือไม่ ด้าน “วสันต์” อัด กกต.สอบแค่พ้นตัว ไม่มีรายละเอียดเชิงลึก โยนศาลหาข้อมูลเอาเอง ขณะที่กกต.ยอมรับไม่ทันเล่ห์กรมสรรพากรเบี้ยวแจง
วันนี้ (26 ส.ค.) คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีนายชัช ชลวร เป็นประธาน ออกนั่งบัลลังก์เพื่อไต่สวนคำร้องที่ประธานวุฒิสภาส่งคำร้องของ ส.ว. และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรี ของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เนื่องจากเป็นพิธีกรดำเนินรายการชิมไปบ่นไป และรายการยกโขยงหกโมงเช้า ขัดตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) และมาตรา 267 ประกอบ มาตรา 182 วรรคสาม และมาตรา 91
โดยวันนี้ (26 ส.ค.) ศาลนัดไต่สวนพยานบุคคล จำนวน 3 ปาก ประกอบด้วย นายศานิต ร่างน้อย อธิบดีกรมสรรพากร พล.อ.ยอดชาย เทพยสุวรรณ ประธานอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นางดาริกา รุ่งโรจน์ พนักงานบัญชีของบริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด อย่างไรก็ตาม ในส่วนของนายศานิตได้มอบให้นายประสงค์ พูนธเนศ เป็นผู้แทนมารับการไต่สวนแทน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ทำหน้าที่ตามกระบวนการของศาลไต่สวนนายประสงค์ก่อน โดยได้สอบถามถึงขั้นตอนการเสียภาษี โดยเฉพาะในส่วนของพิธีกรจะต้องเสียภาษีอย่างไร ถือเป็นเงินเดือนหรือไม่ โดยนายประสงค์ได้ชี้แจงขั้นตอนและระบุว่า บริษัท เฟซ มีเดีย รู้ขั้นตอนการเสียภาษีเป็นอย่างดี และอยู่ในการตรวจสอบของกรมสรรพากร ไม่มีประวัติการเลี่ยงภาษี และการเสียภาษีก็มีการหักเป็นรายได้ที่หักภาษี ณ ที่จ่ายเหมือนกัน ซึ่งการเสียภาษีของพิธีกรนั้นจะอยู่ใน ภงด.3 ที่จะแยกเป็น 3 ส่วน คือ ผู้รับเหมา ค่าจ้างคนทำของอื่นๆ และทนาย ซึ่งพิธีกรก็จัดอยู่ในส่วนนี้ ไม่ถือเป็นลูกจ้าง
นายจรัล ตุลาการได้ถามถึงช่วงเวลา 3 เดือนที่บริษัท เฟซ มีเดียไม่ได้จ่ายให้กับผู้ถูกร้อง ในฐานะที่เป็นผู้เชี่ยวชาญรู้สึกว่ามีพิรุธหรือไม่ นายประสงค์ กล่าวตอบว่า ในกรณีดังกล่าวก็เคยเกิดขึ้นกับบริษัทอื่นทั่วไป หากมีการหลบเลี่ยงไม่จ่ายภาษี ซึ่งกรมสรรพากรสามารถตรวจสอบได้จากงบกำไรขาดดุล เพราะตัวเลขจะต้องตรงกัน โดยเราจะสามารถตรวจสอบได้ในช่วงสิ้นปี สำหรับกรณีนี้เรายังไม่สามารถบอกได้ว่ามีความพยายามเลี่ยงภาษีหรือไม่ ในขณะนี้เพราะถ้าจะตรวจสอบการเงินในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย. 2551 เราจะต้องรอถึงสิ้นปีว่าบริษัทดังกล่าวนี้ได้หลบเลี่ยงในการใช้จ่ายเงินในช่วงเวลาดังกล่าวหรือไม่ เพราะจะสามารถตรวจสอบได้ในบัญชีงบดุลปลายปี ที่แต่ละบริษัทจะต้องนำส่งกรมสรรพากร
ด้าน นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา ในฐานะผู้ร้องที่ 1 ได้ถามนายประสงค์ถึงการยื่นแบบภาษี โดยนายประสงค์ได้ชี้แจงถึงวิธีการยื่นภาษีว่ามีสองแบบ คือ การยื่นผ่านระบบคอมพิวเตอร์ และการยื่นด้วยกระดาษ แต่ท้ายที่สุดข้อมูลก็จะมารวมกัน สามารถตรวจสอบได้ และยืนยันในระบบไอทีที่สามารถครอบคลุมและได้ข้อมูลชัดเจน
ด้าน นายธนา เบญจาทิกุล ทนายความนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ได้สอบถามถึงว่าการจ่ายเงินค่าจ้างให้กับนักแสดงหรือพิธีกร ได้เสียภาษีรายได้ในหมวดใด ซึ่งนายประสงค์ ยืนยันว่า อยู่ในหมวด ภงด.3 (แบบแสดงรายการการเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย) ที่ไม่ได้อยู่ในข่ายลูกจ้าง หรือที่เป็นค่าจ้างของนักแสดง
จากนั้น พล.อ.ยอดชาย ได้ขึ้นเบิกความ โดยตุลาการได้สอบถามถึงหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่านายกรัฐมนตรีได้รับผลประโยชน์อย่างไรจากบริษัท เฟซ มีเดีย ว่า หลังจากที่ผู้ถูกร้องเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กลับตรวจไม่พบหลักฐานในการเสียภาษี จากนั้นตุลาการได้สอบถามถึงรายได้ที่ได้รับจากการจัดรายการที่ลงคำสัมภาษณ์ในหนังสือสกุลไทยว่าได้รับเงินเดือน 80,000 บาท เมื่อสมัยที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.หรือไม่ ซึ่ง พล.อ.ยอดชาย กล่าวว่า ไม่ได้มีการตรวจสอบในเรื่องนี้ เพราะนายสมัครยังไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีขณะนั้น และคิดว่ามีประโยชน์ต่อศาลหรือไม่ จึงไม่คิดไปสืบสวนถึงขนาดนั้น
ทำให้ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ตุลาการ ได้กล่าวขึ้นว่า จริงอยู่ในการสืบสวนอบสวนต้องตรงไปตรงมา และควรทำอย่างกว้างขวางให้ครอบคลุมทั้งซ้ายและขาว เพื่อจะให้ได้ข้อมูลที่กระชับในประเด็นต่างๆ และเกินการเปรียบเทียบในประเด็นต่าง ไม่ใช่ให้ศาลต้องมาหาข้อมูลเอาเอง เพราะข้อมูลที่ กกต.ให้กับศาลมาไม่ได้ลงลึกในรายละเอียด เป็นเพียงการสอบเพื่อให้เสร็จพ้นหน้าที่เท่านั้นใช่หรือไม่ ที่พูดไม่ใช่ว่าสอน นี่เป็นเพียงการแนะนำในการทำงาน ซึ่ง พล.อ.ยอดชาย ได้กล่าวตอบว่า ได้ทำเต็มความสามารถแล้ว ประกอบกับกรมสรรพากรไม่ได้ให้ข้อมูล เพราะติดขัดในข้อกฎหมายในการขอข้อมูล และกรรมการสืบสวนสอบสวน อีกทั้งกกต.กลางได้เร่งให้คณะทำงานของตนให้ทำให้เสร็จโดยเร็ว จึงได้ข้อมูลมาเพียงเท่านี้
จากนั้น นางดาริกาได้ขึ้นเบิกความ ศาลได้สอบถามถึงการจ่ายค่าจ้างพิธีกร โดยนางดาริกา กล่าวยืนยันว่านายสมัครได้ค่าจ้างเฉพาะค่าพิธีกรเป็นค่าจ้างนักแสดงที่นำส่งสรรพากร แต่หลังจากที่นายสมัครรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้จ่ายค่าจ้างให้เป็นจำนวนมากกว่า 100,000 บาท เหมือนกับก่อนหน้ารับตำแหน่ง เพราะมีค่าน้ำมันรถให้ครั้งละ 3,000 บาท เป็นค่าเดินทาง ซึ่งค่าน้ำมันถือเป็นค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ด ไม่รวมอยู่ในค่าจ้าง นอกจากนี้ยังได้ชี้แจงด้วยว่า บางครั้งที่จ่ายค่าตอบแทนให้นายกรัฐมนตรี ต่อเดือนไม่เท่ากัน เพราะบางครั้งถ่ายทำไปแล้ว ไม่ได้จ่ายทุกเทป ต้องขึ้นอยู่กับการออกอากาศ พร้อมกับมีการยืนยันว่า การจ่ายเงินให้กับนาย สมัคร นั้นจะมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้วทุกครั้ง อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่นายสมัครมาเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ไม่ได้มีการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทแต่อย่างใด ประกอบกับช่วงหกเดือนแรกเกิดวิกฤตทางการเมือง ช่องที่ออกอากาศรายการได้ยกเลิกไปทำให้สปอนเซอร์บางรายถอนตัว ทำให้รายได้ของบริษัทลดลง
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกด้วยว่า ภายหลังการไต่สวนพยานแล้วเสร็จ ประธานศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านรายงานกระบวนการพิจารณา ได้นัดไต่สวนพยานอีก 2 ปาก ประกอบด้วย ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 หรือผู้แทน และผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 หรือผู้แทน ในวันพรุ่งนี้ (27 ส.ค.) เวลา 09.30 น.