xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ด ทอท.ยื้อไม่ฟันแทกส์ เดินหน้าทำสุวรรณภูมิเฟส 2

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการรายวัน – บอร์ดทอท.ยังไม่ฟันแทกส์ อ้างเพิ่งเริ่มทำงาน ตั้งคณะทำงานศึกษาข้อมูลทั้งหมด ก่อนเสนอให้บอร์ดอีกครั้ง 26 มี.ค. “ปิยะพันธ์” ยันปัญหาใหญ่ ต้องเร่งแก้ไขการตัดสินใจต้องรอบคอบ พร้อมตั้งกรรมการสรรหา เอ็มดีและเดินหน้า สุวรรณภูมิเฟส 2 มูลค่า 7.7 หมื่นล้านบาท คาดแบ่งระยะลงทุนเพื่อเร่งและให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจไม่ปกติ ขณะที่"โสภณ" เผย 27 ก.พ.นี้ บอร์ดการบินไทยถกแผนฟื้นฟูเตรียมชงครม.

นายปิยะพันธ์ จัมปาสุต ประธานคณะกรรมการบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยภาย หลังการประชุมวานนี้ (24ก.พ.)ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาแนวทางการแก้ปัญหาการให้บริการรถเข็นกระเป๋า ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งบริษัทไทยแอร์พอร์ต กราวด์ เซอร์วิสเซส จำกัด (แทกส์) เป็นผู้รับสัมปทานดำเนินการจัดหาและบริหาร โดยได้รับทราบรายงานจากฝ่ายบริหารทอท. และคณะกรรมการตรวจการจ้าง แต่การยกเลิกสัญญานั้นจะต้องพิจารณาทั้งในข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย ให้ชัดเจที่สุด ดังนั้นที่ประชุมจึงตั้งคณะกรรมการจากบอร์ดขึ้นมาศึกษาข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และแนวทางการแก้ปัญหาโดยมี นายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ เป็นประธาน และให้สรุปรายงานต่อบอร์ดอีกครั้งในการประชุมวันที่ 26 ก.พ.นี้

"จากข้อมูลที่ทอท.รายงานพบว่าปัจจุบันรถเข็นกระเป๋าขาดจำนวนไปถึง 6,000 คัน จากที่สัญญากำหนดไว้ที่ 9,000 คัน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องเร่งแก้ไข เพราะกระทบต่อให้บริการของสนามบิน แต่เนื่องจากบอร์ดชุดนี้เพิ่งได้รับการแต่งตั้งจากผู้ถือหุ้น การตัดสินเรื่องนี้ต้องรอบคอบที่สุด"นายปิยะพันธ์กล่าว

นายปิยะพันธ์กล่าวว่า บอร์ดยังได้แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหากรรมการผู้อำนวยการทอท. โดยมีนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อธิบดีกรมทางหลวงเป็นประธาน และมีนายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ , นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ และนายประสงค์ พูนธเนศ เป็นกรรมการ และตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณากำหนดค่าตอบแทนของกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ มีนายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ เป็นประธาน โดยเห็นว่า ทอท.ขาดผู้บริหารสูงสุดมาเกือบ 7 เดือน ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อองค์กรขนาดใหญ่

นอกจากนี้ บอร์ดได้รับทราบนโยบายของนายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม ซึ่งได้มีการตั้งคณะทำงานฟื้นฟูและพัฒนาเครือข่ายการขนส่งทางอากาศ โดยจะสานต่อการดำเนินโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 การขยายท่าอากาศยานภูเก็ต เพื่อรองรับ เที่ยวบินเช่าเหมาลำ ( Charter Flight) และเครื่องบินเจ็ท และการใช้ประโยชน์ท่าอากาศยานดอนเมือง ให้เป็นศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ศูนย์ฝึกการบินพลเรือน Custom Free Zone รองรับ เที่ยวบินเช่าเหมาลำ และ Cargo เหมาลำ

นายปิยะพันธ์กล่าวว่า ทอท.มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 มูลค่า 77,885 ล้านบาท เพราะขณะนี้สุวรรณภูมิใกล้จะเต็มขีดความสามารถแล้ว แต่การลงทุนในภาวะเศรษฐกิจขณะนี้อาจจะต้องพิจารณาอีกครั้ง เพราะการขยายสุวรรณภูมิตามแผนจะต้องใช้เวลาประมาณ 7 ปีในขณะนี้ ทอท.จะต้องเร่งแก้ปัญหาความแออัดของสุวรรณภูมิในช่วง 2-3 ปีนี้ จึงเป็นไปได้ที่อาจจะต้องเร่งทำในบางส่วนก่อน ซึ่งมั่นใจว่าภายในปีนี้ จะสามารถเริ่มต้นดำเนินโครงการได้

อย่างไรก็ตาม เพื่อสนับสนุนนโยบายและมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของรัฐบาล ทอท.ได้ออกมาตรการในการจูงใจสายการบินให้มาใช้บริการท่าอากาศยานของทอท. ทั้ง 6 แห่ง โดยลดค่าธรรมเนียมการขึ้นลงอากาศยาน (Landing Fee) ลง 50% และยกเว้นค่าจอดอากาศยาน (Parking Fee) ตลอด 24 ชม.จากเดิมที่จะได้จอดฟรี 3 ชม. สำหรับเที่ยวบินประจำตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 52 ตั้งแต่ 00.01 น. ถึง 30 ก.ย. 52 เวลา 24.00 น. โดยทอท.จะสูญรายได้จากมาตรการดังกล่าวทั้ง 8 เดือนประมาณ 400 ล้านบาท โดยคาดว่ามาตรการดังกล่าวจะจูงใจให้สายการบินมาทำการบินมากขึ้นและทำให้ทอท.มีรายได้จากภาษีสนามบินและประเทศมีรายได้จากนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นทดแทน

นายเสรีรัตน์กล่าวว่า ปัญหาแทกส์ขณะนี้ต้องรอผลการศึกษาของคณะทำงานที่บอร์ดตั้งขึ้น ซึ่งในส่วนของทอท.ได้เสนอข้อมูลไปให้ทั้งหมดแล้ว ซึ่งแทกส์ผิดสัญญา มานานและมีค่าปรับกว่า 1,300 ล้านบาท แล้ว

บอร์ดบินไทยถกแผนฟื้นฟู27ก.พ.นี้

นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม กล่าวว่า ในวันที่ 27 ก.พ.นี้ คณะกรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จะมีการหารือในรายละเอียดของแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทย พร้อมเสนอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาแผนฟื้นฟูดังกล่าวเสนอให้ที่ประชุม ครม. พิจารณาต่อไป ซึ่งสัปดาห์ก่อนได้มีการหารือในบางส่วน แต่เห็นว่ายังต้องมีการปรับปรุงและเน้นความสำคัญเกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านการตลาด การปรับเปลี่ยนเส้นทางการบิน และปรับที่นั่งให้มีความเหมาะสมเพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอยบนเครื่องให้เกิดประโยชน์ และเป็นการแก้ไขปัญหาการขาดทุนสะสมในระยะต่อไป

อย่างไรก็ตาม สำหรับการคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมจะมานั่งประธานบอร์ดการบินไทยช่วงเดือนเม.ย.นี้ ยังไม่ได้ข้อสรุป แต่เบื้องต้นบุคคลที่มีคุณสมบัติในตำแหน่งดังกล่าวคงต้องเป็นที่ยอมรับของภาคเอกชน มีความรู้ความสามารถในการบริหารธุรกิจให้มีความสามารถในการแข่งขันได้ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวเช่นนี้ ต้องสามารถสร้างความมั่นใจได้ว่าจะนำการบริษัทฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปได้ โดยเฉพาะต้องเป็นคนที่มีเวลาให้กับการทำงานเต็มที่ พร้อมจะเข้ามาทำงานในหน้าที่นี้เต็มตัวด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น