xs
xsm
sm
md
lg

อังคารสีเหลือง 26 สิงหาคม 2551...อารยะขัดขืนขั้นสุดท้าย !??

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยถือกำเนิดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2549 หลังการชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้านำเดี่ยวโดยคุณสนธิ ลิ้มทองกุลเมื่อวันที่ 4 – 5 กุมภาพันธ์ 2549

ณ ห้วงเวลานั้น บังเอิญพอดีที่เป็นกาลครบรอบ 20 ปีเต็มแห่งชัยชนะของพลังประชาชนในการโค่นล้มผู้นำเผด็จการที่ยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ไม่ใช่ในประเทศไทย แต่เป็นประเทศฟิลิปปินส์ มีคนพูดเรื่องนี้บนเวทีหลายคน บางคนถึงกับพูดว่าถ้าพันธมิตรฯกำหนดยุทธศาสตร์ดี ๆ มีโอกาสสูงที่ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย

สุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรฯ แถลงข่าวโดยอ้างสิทธิประการหนึ่ง...

“อารยะขัดขืน”

ทำให้ผมเขียนบทความในพื้นที่ตรงนี้เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2549 ชื่อย้าวยาวว่า “เดือนกุมภาพันธ์...สีเหลือง...อารยะขัดขืน...ชุมนุมต่อเนื่อง...เฟอร์ดินาน อี มาร์กอส...และทักษิณชินวัตร” วันนี้ ผมไม่รู้ว่าเหตุการณ์วันพรุ่งนี้จะดำเนินไปและจบลงในลักษณะใด เพราะฐานภาพตัวเองเปลี่ยนไป จึงขอนำบางตอนของบทความเมื่อ 2 ปีเศษ ๆ มาลงซ้ำอีกครั้ง
...........

ขึ้นชื่อว่า “กฎหมาย” ไม่ใช่มีแต่เพียงด้านที่ประชาชนต้องปฏิบัติตาม หากมีด้านที่เป็น”'สิทธิ” ที่จะไม่ปฏิบัติตามด้วยเช่นกัน สิทธิที่ว่านี้ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า...

“Civil Disobedience”

ในภาษาไทยนั้น อาจารย์สมชาย ปรีชาศิลปะกุล นำมาใช้เป็นครั้งแรกว่า...

“สิทธิดื้อแพ่งต่อกฎหมาย”

ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นักวิชาการสันติวิธี เห็นว่าคำ “ดื้อแพ่ง” ออกจะใกล้เคียงกับ “ดื้อด้าน” ฟังดูแล้วไม่เพราะ จึงเสนอให้ใช้คำแปลใหม่เป็น...

”อารยะขัดขืน”

ความหมายโดยสรุปก็คือ เป็นหลักการที่นำมารองรับความชอบธรรมในการกระทำในเชิงละเมิดกฎหมายบางบทบางฉบับของผู้คัดค้านต่อต้านนโยบายรัฐ อาทิ ชุมนุมโดยสันติ หรือแม้กระทั่งปิดถนน, ล้อมทำเนียบรัฐบาล, ปีนกำแพงทำเนียบ และ ฯลฯ รวมทั้งการใช้เครื่องขยายเสียง

แม้จะยังมีข้อโต้แย้งทางวิชาการอีกมาก แต่ก็นับว่านี่คือหนึ่งในสิทธิมนุษยชนยุคใหม่ ที่เรียกกันว่าสิทธิมนุษยชนรุ่นที่ 3 (The Third Generation of Human Rights) จำพวกเดียวกับสิทธิที่จะมีสันติภาพ, สิทธิที่จะมีการพัฒนา, สิทธิที่จะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี, สิทธิในการเป็นเจ้าของสมบัติอันร่วมกันของมนุษยชาติ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิชุมชน (Community's Right) ที่รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ 2540 และ 2550 บัญญัติไว้ชัดเจน

สิทธิมนุษยชนรุ่นที่ 3 เหล่านี้ ณ วันนี้คือกรอบความคิดใหม่ของสหประชาชาติ

ซึ่งนักวิชาการกฎหมายมหาชนถือว่าสำคัญถึงขั้นเป็นเงื่อนไขแห่งความอยู่รอดของมนุษยชาติทีเดียว

อันที่จริง Civil Disobedience นี้ในบ้านเรามีมาตั้งแต่รัชสมัยรัชกาลที่ 6 นักศึกษาประวัติศาสตร์กฎหมายน่าจะจำคดีนายคิด, นายใย ราษฎรในบังคับสยามแห่งเมืองสิงห์บุรี ไม่ยอมรับการเกณฑ์แรงงานไปเก็บผักตบชวา โดยอ้างเหตุผลที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเพราะกฎหมายไม่เป็นธรรม ผู้ใช้กฎหมายไม่เป็นธรรมได้ดี

การใช้สิทธิชุมนุมโดยสงบเพื่อแสดงความคิดเห็น, สนับสนุน, คัดค้าน หรือขับไล่ เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่ดำรงอยู่คู่ขนานไปกับประชาธิปไตยโดยผู้แทน นั่นคือรูปแบบของ “ประชาธิปไตยอย่างมีส่วนร่วม” และ/หรือ “ประชาธิปไตยโดยตรง” ที่จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อประชาชนเป็นพลเมืองที่กระตือรือร้น หรือ Active Citizen ที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองตลอด ตั้งแต่ร่วมเคลื่อนไหว, ร่วมผลักดัน, ร่วมตัดสินใจ, ร่วมลงมือ และร่วมตรวจสอบ ไม่ใช่แค่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งแล้วหยุด ปล่อยให้นักการเมืองเป็นผู้รับเหมาทำแทนเท่านั้น

จริง ๆ แล้ว Active Citizen นี้ไม่ใช่ “ม็อบ” อันเป็นความหมายเชิงลบที่ชอบเรียกกันรวม ๆ

จริง ๆ แล้ว Active Citizen นี้เป็นคุณูปการต่อระบอบประชาธิปไตย เพราะในทางการเมืองนั้นไม่มีเทพ ไม่มีนักบุญ-นักบวชหรือเสือมังสวิรัติ ไม่มีรัฐธรรมนูญใดจะเขียนกรอบป้องกันคนโกงได้มีประสิทธิภาพ มีแต่จะต้องเปิดโอกาสให้เกิด Active Citizen ขึ้นมาเป็นแกนหลักของ Civil Society ให้ได้

เพียงแต่คนไทยส่วนใหญ่มักจะไม่คุ้นเคย ไม่ชอบ เห็นว่าเป็นความวุ่นวาย
วัฒนธรรมการเมืองของสังคมไทยนั้นประชาชนไม่ยอมเหนื่อย จึงมักจะชอบผู้นำที่ซื่อสัตย์ ฉลาด และขยัน มากกว่าผู้นำธรรมดาๆ ที่จูงตัวไปร่วมกันบริหารและตัดสินใจ และร่วมต่อสู้ในเรื่องต่างๆ
ทิ้งไว้แค่นั้น....

มาพูดถึงความเหมือนในการชุมนุมเดือนกุมภาพันธ์ 2529 ที่ฟิลิปปินส์กับการชุมนุมเดือนกุมภาพันธ์ 2549 ที่กรุงเทพฯ บ้างดีกว่า

สีเหลือง การชุมนุมทั้งสองใช้สัญลักษณ์สีเหลืองเหมือนกัน เพียงแต่อาจจะต่างที่มา
นางคอราซอน อาควิโน ภรรยาของนายเบนิญโญ (นินอย) อาควิโน แต่งกายด้วยชุดเหลืองในวันที่สามีเธอถูกยิงตายเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2526 เป็นสีเหลืองที่ได้อิทธิพลมาจากเพลง Tie a yellow ribbon around the old oak tree อันเป็นเพลงที่มีจังหวะสนุกสนาน แสดงให้เห็นถึงความปีติยินดีที่สามีจะได้กลับมาสู่มาตุภูมิ
ส่วนสีเหลืองในบ้านเรามาจากสัญลักษณ์ของธรรมะ และสถาบันพระมหากษัตริย์

ปลายเดือนกุมภาพันธ์ การชุมนุมต่อเนื่องเพื่อโค่นล้มมาร์กอส เริ่มต้นเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2529 ส่วนการชุมนุมต่อเนื่องเพื่อขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรจะเริ่มต้นในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2549

การชุมนุมต่อเนื่อง การชุมนุมเมื่อ 20 ปีที่แล้วที่ฟิลิปปินส์ใช้เวลา 5 วัน พอถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2529 มาร์กอสก็ขึ้นเฮลิคอปเตอร์บินหนีออกจากทำเนียบมาลากันยัง

ชัยชนะที่ไม่สูญเสียเลือดเนื้อของทุกฝ่าย การชุมนุมขับไล่มาร์กอสระหว่าง 21-25 กุมภาพันธ์ 2529 (และต่อเนื่องเพื่อ “เช็กบิล” ถึง 29 กุมภาพันธ์ 2529) แม้จะเผ็ดร้อน ดุเดือด เข้มข้น แต่ก็เป็นการชุมนุมโดยสันติ อหิงสา ไม่มีอาวุธ และจบลงโดยไม่มีการสูญเสียเลือดเนื้อ เพราะปัจจัยสำคัญคือทหารเข้าข้างประชาชน ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาล ส่วนการชุมนุมในอีก 5 วันข้างหน้ายังไม่รู้ว่าจะยุติลงอย่างไร

ไหนๆ ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยทั้งที ก็น่าจะซ้ำรอยให้ครบถ้วนบริบูรณ์
โดยเฉพาะในประการสุดท้าย !

.............

เหตุการณ์วันพรุ่งนี้จะดำเนินไปและจบลงในลักษณะใด ผมไม่ทราบ

ทราบแต่ว่าการชุมนุมต่อเนื่องในประเทศไทยดำเนินมาในปี 2549 นับเฉพาะที่ต่อเนื่องจริง ๆ ไม่เว้นวรรคก็ 33 วัน และในปี 2551 นี้ หากนับจนถึงพรุ่งนี้ก็อีก 94 วัน

วันพรุ่งนี้...วันอังคารสีเหลือง....
วันพรุ่งนี้....วันอังคารที่ 26 สิงหาคม 2551 !

กำลังโหลดความคิดเห็น