xs
xsm
sm
md
lg

ความเรียงว่าด้วยการโค่นล้มรัฐบาลนายสมัครโดยไม่ผิดกฎหมาย (4)

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

4. เข้าใจวิธีโค่นล้มรัฐบาลนายสมัครโดยไม่ผิดกฎหมาย
ในบทความตอนที่ 1 ผมได้อ้างถึงทัศนะของล็อกในบทความของอาจารย์สมบัติว่า เมื่อประชาชนตระหนักแล้วเมื่อใดว่ารัฐบาลเป็นขบถ ประชาชนมีหน้าที่จะต้องปราบหรือโค่นล้มรัฐบาล โดยไม่ต้องคำนึงถึงตัวบทกฎหมายหรือกรอบทางรัฐธรรมนูญใดๆทั้งสิ้น ทั้งนี้มิใช่เพื่อยุติภาวะสงครามของรัฐบาลต่อประชาชนให้ประชาชนมีความปลอดภัยแต่อย่างเดียว แต่เพื่อจะให้สังคมพ้นจากภาวะธรรมชาติ กลับไปสู่ภาวะมีการปกครองตามสัญญาประชาคม คือมีรัฐบาลที่ชอบธรรมอีกต่อไป

การปฏิวัติรัฐประหารหรือยึดอำนาจซึ่งเกิดขึ้นบ่อยในประเทศด้อยพัฒนาส่วนมากจะไม่เข้ากฎเกณฑ์ข้างบนนี้ และเป็นแต่เพียงการแย่งชิงอำนาจปกครองกันระหว่างทหารกับทหาร ทหารกับพลเรือนหรือกองกำลังคนละฝ่าย ข้อยกเว้นที่โดดเด่น คือ ขบวนการประชาธิปไตยกองทัพโปรตุเกส (Armed Forces Movement ,1975) ที่กองทัพสามารถปราบเผด็จการพลเรือนและสร้างรากฐานอันมั่นคงให้กับประชาธิปไตยในประเทศและทวีปยุโรปได้

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ของไทย และการปฏิวัติรัฐประหาร 18 ครั้งโดยกองทัพไทย ไม่มีแม้แต่ครั้งเดียวที่มีเหตุผลสมบูรณ์เป็นการปราบรัฐบาลกบฎ ล้วนแต่เป็นวงจรอุบาทว์ทั้งสิ้น การยึดอำนาจของ คมช.เป็นเพียงการต่ออายุผู้นำกองทัพ เอาความชั่วร้ายของระบอบทักษิณมาเป็นข้ออ้าง ที่พอจะสงเคราะห์ได้มีอยู่เพียงครั้งเดียว คือ 14 ตุลาคม เมื่อนักศึกษา กรรมกร และประชาชนลุกฮือขึ้นขับไล่รัฐบาลทหาร

ผมขอเล่าถึงวิธีการการโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ในสหรัฐอเมริกา 3 วิธี คือ 1. บุกหรือลอบสังหารประธานาธิบดี 4 คน ได้แก่ ลินคอล์น การ์ฟิลด์ แมคคินลีย์ และ เคนเนดี และมีประธานาธิบดีถูกลอบยิงอีกหลายคนแต่ไม่ตาย 2. กรณีประธานาธิบดีนิกสัน ใช้สื่อหนังสือ นสพ. และทีวี การปล่อยความลับจากราชการระดับสูงถึงความผิดของประธานาธิบดี ใช้ข้อกฎหมายมัด และใช้จริยธรรมของสภาโดยผู้ที่ไม่ต้องการแปดเปื้อนกับประธานาธิบดีจากทั้ง 2 พรรค 3. ใช้สื่อ และการเคลื่อนไหวของประชาชน จนบรรลุเงื่อนไขของการลงประชามติถอดถอนผู้ว่าราชการรัฐแคลิฟอร์เนีย ทั้งหมดนี้ไม่มีข้อกล่าวหาวว่ารัฐบาลขบถหรือทำผิดกฎหมายร้ายแรงเลย

กรณีโค่นล้มมาร์กอส และแอสตราดานั้น ใช้การชุมนุมอันใหญ่หลวงของประชาชนหนุนเนื่องด้วยสื่อและปัญญาชน ผู้นำทางศาสนา เสียงในสภาสูงและสภาล่าง เสียงแตกภายในรัฐบาลเอง และที่เป็นปัจจัยชี้ขาด คือ กำลังแฝงและพลานุภาพของกองทัพที่ยืนอยู่เคียงข้างประชาชน วิธีนี้เป็นวิธีที่พลเอกสายหยุด เกิดผล เสนอให้นำมาใช้ในประเทศไทย

วิธีนี้เกิดคำถามขึ้นมา 4 ข้อ (1) จะเป็นไปได้หรือ (2) ถ้าเป็นไปได้จะได้ผลหรือกับรัฐบาลที่หนังหนาหน้าด้านอย่างรัฐบาลนายสมัคร (3) จะมีวิธีอื่นที่ดีกว่านี้หรือไม่ และ (4) วิธีไหนจึงจะศักดิ์สิทธิ์โค่นล้มรัฐบาลนายสมัครได้เด็ดขาด

ในขบวนการโค่นล้มรัฐบาลนายสมัคร ผมต้องขอสดุดีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ชุมนุม ณ สะพานมัฆวานรังสรรค์มากว่า 90 วัน พร้อมทั้งดาวกระจายไปในที่ต่างๆ และต่างจังหวัด เป็นสันติอหิงสาหาที่งดงามผู้ดีหาที่เปรียบมิได้ เป็นอภิมหานาฎกรรมการเมืองบันลือโลกที่หาดูที่อื่นมิได้นอกจากเมืองไทย น่าชมตำรวจ ทหาร และรัฐบาลด้วยที่มิลุแก่อำนาจ

แต่ที่เป็นพิเศษคือบุญบารมีและพระเมตตาของพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ ที่คุ้มเกล้าปวงประชา

ความผิดพลาดของรัฐบาลในเหตุการณ์หฤโหดไร้มนุษยธรรมที่อุดรธานี เหมือนกับความหฤโหดอื่นๆ ที่เกิดกับพสกนิกร ไม่มีทางที่จะพ้นสายพระเนตรและความโทมนัสของพระแม่แห่งแผ่นดินได้ ผมแน่ใจว่า แม่ทัพภาค แม่ทัพบก นายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการตำรวจ จะต้องได้ยินด้วยหูว่าพระองค์รับไม่ได้ที่เห็นคนไทยถูกเข่นฆ่าเยี่ยงนี้

หากเราเปลี่ยนแปลงได้ด้วยสันติวิธี ผมเชื่อว่า ผู้นำไทยคนใดคนหนึ่งน่าจะได้รับรางวัลโนเบลสันติภาพ ทำให้ประเทศไทยชื่อเสียงกระจรกระจาย

วิเคราะห์คำถามสี่ข้อ

(1) People Power แบบฟิลิปปินส์ กับปฏิวัติประชาชนแบบไทย พลเอกสายหยุดเสนอว่า เมื่อประชาชนตระหนักในความเลวร้ายของรัฐบาลจนทนไม่ไหว ประชาชนออกมาชุมนุมประท้วงอย่างกว้างขวางจนได้ที่แล้ว ทหารไม่ควรฉวยโอกาสปฏิวัติ แต่ควรสนับสนุนประชาชน โดยตั้งมั่นอย่างมีวินัยอยู่ในกรมกอง ประกาศสนับสนุนประชาชนอย่างเปิดเผย และข่มขู่ให้รัฐบาลยอมแพ้โดย Implied Force หรือพลังแฝง ซึ่งจะไม่ยอมฟังคำบังคับบัญชาของรัฐบาลอีกต่อไป

เปรียบเทียบจุดอ่อนจุดแข็งระหว่างฟิลิปปินส์กับไทย จะเห็นได้ว่าสื่อกับนักวิชาการของไทยด้อยคุณภาพกว่า อยู่ใต้อำนาจของรัฐบาลมากกว่า สื่อโทรทัศน์นอกจาก ASTV ล้วนแต่เผยแพร่น้ำเน่าและทัศนะทาส ปิดบังความรู้ ข้อเท็จจริงและทัศนะเปรียบเทียบมิให้ถึงประชาชน ผู้นำศาสนาของฟิลิปปินส์มีประชาชนที่เคารพนับถือเป็นปึกแผ่นและเอกภาพ เพราะฟิลิปปินส์เป็นคาทอลิกเกือบทั้งประเทศ พระสงฆ์ไทยส่วนใหญ่หวังพึ่งรัฐบาล ขาดความรู้ทางการเมือง มีทัศนะคติล้าหลัง วัดอย่างธรรมกายมีฉันทะทางทุนนิยมสามานย์และอำนาจนิยม พลังที่หนุนพันธมิตรฯ อยู่เช่น สันติอโศก และพระป่าสายหลวงตาบัวมีศักยภาพสูง แต่จะต้องระดมมาอย่างเป็นระบบสุดขีดความสามารถจึงจะเป็นกำลังคุ้มภัยพันธมิตรฯ ได้

สำหรับผู้แทนราษฎรฝ่ายค้านคือพรรคประชาธิปัตย์ของไทยเป็นกึ่งแก๊งเลือกตั้งและติดยึดความคิดสมบัติผลัดกันชม คอยฉวยโอกาสแต่จะเป็นรัฐบาล จึงพึ่งให้ช่วยสร้างสุญญากาศโดยการบีบคั้นรัฐบาลหรือขู่ว่าจะลาออกอย่างผู้แทนฟิลิปปินส์ไม่ได้

ปัจจัยชี้ขาดทั้งสองประเทศก็คือกองทัพ กองทัพไทยมีความล้าหลังในทางการเมืองมากกว่า และอยู่ใต้การชี้นำของผู้บังคับบัญชาที่ได้ดีเพราะการเมืองหรือเป็นทหารการเมืองที่มี popular orientation หรือความเห็นใจใกล้ชิดกับประชาชนไม่พอ กล่าวกันว่า 90 %ของนายทหารชั้นผู้บังคับบัญชาในกองทัพเรือ 60% ในกองทัพบก และ 30%ในกองทัพอากกศ ได้ดีมีตำแหน่งและลาภยศด้วยความอุปถัมภ์ของทักษิณและรัฐบาลพรรคไทยรักไทย จึงได้ถ่ายทอดความจงรักภักดีมาถึงรัฐบาลปัจจุบัน ผมไม่สามารถยืนยันได้ว่าที่กล่าวเช่นนี้ เท็จจริงเป็นประการใด

ดังนั้น ตอบคำถามข้อที่ 1 ได้ว่า การโค่นล้มสมัครเหมือนมาร์กอสกับแอสตราดานั้น คงจะไม่ง่าย แต่ก็อาจจะเป็นไปได้ ถ้าประชาชนมาชุมนุมกันอย่างมืดฟ้ามัวดิน และขยายแนวร่วมการสนับสนุนขึ้นเรื่อยๆ จนกองทัพรู้สำนึก

(2) แม้พันธมิตรฯ จะเป่านกหวีดพาคนทั่วประเทศออกมาเป็นล้าน รัฐบาลหนังหนาหน้าด้านอย่างนายสมัครจะยอมลาออกหรือ คำตอบก็คือ ยาก นายสมัครถือว่าตนกุมอำนาจในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และเป็นผู้บังคับบัญชาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยส่วนตัว นายสมัครมั่นใจในความจงรักภักดีของผู้บัญชาการทหารบก และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดยมีความมั่นคงของตำแหน่งและผลประโยชน์ที่ติดตามมาต่างตอบแทนกันทั้ง 3 ฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีสียงนินทาว่า ผบ.ทบ. ไม่มีความรู้ร้อนหนาวในทางการเมือง ผมไม่ทราบว่าจริงหรือไม่ ที่ผบ.ทบ. ยืนหยัดเหมือนผู้ไร้เดียงสาว่าตราบใดที่ (1) รัฐบาลไม่แก้รัฐธรรมนูญเพื่อช่วยทักษิณโดยเฉพาะ และ (2) ไม่มีการจลาจลต่อสู้กันจนนองเลือด กองทัพบกจะตั้งมั่นอยู่ในกรมกอง รักษาวินัยคอยฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชาตามกฎหมายเท่านั้น

จนป่านนี้ กองทัพยังไม่รู้อีกหรือว่ารัฐบาลขาดความชอบธรรม ไม่รู้อีกหรือว่ารัฐบาลนี้ปกป้องอดีตนายกฯ ทักษิณยิ่งกว่าปกป้องพระเจ้าอยู่หัว ไม่รู้อีกหรือว่ารัฐบาลนี้รักษาประโยชน์ของพวกพ้องยิ่งกว่าประโยชน์ของชาติบ้านเมือง เห็นแก่ความมั่งคั่งของพลพรรคยิ่งกว่าความผาสุกของประชาชน จนป่านนี้ยังไม่ได้ยินพระราชกระแสดำรัสหรือว่า “บ้านเมืองกำลังจะล่มจม เพราะใช้เงินไม่ระวัง” ฯลฯ

กองทัพเชื่อหรือว่า ปัญหาการเมืองต้องไปแก้กันในสภา กองทัพเชื่อหรือว่าคอยให้ศาลต่างๆ ตัดสินไปเรื่อยๆ ปัญหาต่างๆ ก็จะหมดไปเอง กองทัพไม่เห็นหรือว่าอดีตนายกฯ รวมทั้งผู้นำปัจจุบันได้พากันปฏิเสธความยุติธรรมของศาล และร่วมกันบ่อนทำลายสถาบันของศาลด้วยเล่ห์เพทุบายและความเท็จต่างๆ นานา

นายสมัครก็จะเล่นเด้งเชือกไปเรื่อยๆ อ้างโน่นอ้างนี่ แม้กระทั่งพระเจ้าอยู่หัว โดยไม่อายปาก ซื้อเวลาปล่อยให้พันธมิตรและประชาชนหมดแรงไปเอง

(3) และ (4) อาจรวมตอบเป็นข้อเดียวกันได้ และเป็นข้อที่สำคัญที่สุด และผมขอตอกย้ำว่า เราสมควรใช้แต่วิธีอหิงสาและอารยะขัดขืน (Non Violence & Civil Disobedience) เท่านั้น โปรดอย่าใช้วิธีลอบสังหาร จับตัวไปทรมาน หรือทำร้ายลูกเมียญาติพี่น้อง เพราะวิธีดังกล่าวไม่ถูกต้อง

ในวันที่ 26 สิงหาคม 2551 เป็นสงครามแตกหักครั้งสุดท้าย มุ่งทำลายการเมืองเก่าและรัฐบาลสมัครให้สิ้นซาก ผมขอเอาใจช่วยและเชิญชวนพี่น้องชาวไทยให้ออกมาสมทบกับพันธมิตรฯ อย่างมืดฟ้ามัวดิน ผมได้รับอินเทอร์เน็ตว่าพี่น้องชาวไทยในต่างประเทศก็จะพากันไปชุมนุมคู่ขนานหลายเมืองด้วยกัน พี่น้องที่เข้ากรุงเทพฯ ไม่ได้ ก็ขอให้รวบรวมกระทำเช่นกันในภูมิลำเนาของท่าน

ที่สำคัญที่สุดทหารหาญของชาติถึงเวลาที่ท่านจะออกมาได้แล้ว มาร่วมกับประชาชนต่อสู้เพื่อพิทักษ์ชาติและราชบัลลังก์ เร็วๆ นี้พลเอกกิตติ รัตนฉายา อดีพแม่ทัพภาคที่ 4 ได้ออกหนังสือ “คุณทหาร ขณะนี้คุณอยู่ที่ไหน และคุณเป็นใครกันแน่” เรียกร้องให้ทหารออกมาปฏิบัติตามคำปฏิญาณว่าจะยอมพลีชีวิตเพื่อชาติราชบัลลังก์เพราะปราศจากกองทัพ การต่อสู้จะยืดเยื้อบ่อนทำลายความมั่นคงของประเทศชาติและสถาบันไปเรื่อยๆ พลเอกกิตติสรุปสมการการต่อสู้ทางคณิตศาสตร์ไม่เปลี่ยนแปลง คือ พันธมิตรประชาชน+ผู้ถืออาวุธชนะ อำนาจรัฐ + อำนาจเงิน

อดีตเอกอัครราชทูตสุรพงษ์ ชัยนาม ได้เสนอบทความ 3 บทรวมกันเป็นหนังสือเล็กชื่อว่า “กองทัพกับประชาธิปไตย” ชี้ให้เห็นถึงความสามารถของกองทัพที่จะต่อสู้กับเผด็จการและสร้างสรรค์ประชาธิปไตย ด้วยวิธีการต่างๆ ตามแบบอย่างของกองทัพโปรตุเกสและตุรกี โดยไม่จำเป็นต้องใช้อาวุธเข้ายึดอำนาจเสมอไป เช่น ใช้วิธีรัฐประหารโดยออกประกาศ โดยแสดงความไม่เห็นด้วยและถอนการสนับสนุนรัฐบาล เป็นต้น และเตือนว่า ผู้นำทหารไทยอย่าปล่อยให้กองทัพตกเป็นตัวประกันโดยความไม่รู้ และติดยึดกับความคิดผิดๆว่าทหารต้องป้องกันรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเสมอไป

หากกองทัพคิดได้และเข้าใจว่ารัฐบาลสมัครขาดความชอบธรรมนำสถาบันกษัตริย์ไปเสี่ยง หลีกเลี่ยงกฎหมายและทำลายบ้านเมือง ยังไม่สายเกินไปที่กองทัพจะเข้าร่วมกับประชาชนด้วยวิธีต่างๆ ที่กล่าวไว้ในหนังสือ เพื่อยุติรัฐบาลนายสมัครให้เด็ดขาดเสียที

การต่อสู้กับรัฐบาลด้วยวิธีอหิงสานั้นมีอยู่ถึง 198 วิธีด้วยกัน แบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆได้ 3 ประเภท คือ (1) Civil Disobedience หรืออารยะขัดขืน ไม่ฟังคำสั่งของรัฐบาลหรือผู้บังคับบัญชา เช่น การชุมนุมของพันธมิตรฯ พลเอกกฤษณ์ สีวะรา ผบ.ทบ. ไม่ยอมทำตามคำสั่งรัฐบาลให้ยิงนักศึกษา หรือผบ.ทบ.และผบ.ตร.แห่งชาติปัจจุบันไม่ยอมทำตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีให้ปราบปรามพันธมิตรฯ ที่ชุมนุมเป็นต้น (2) Reverse Strike หรือการสไตร์กสวนทางโดยแปรคำสั่ง หรือสร้างบริการสำรอง ทำให้คำสั่งหรือบริการของรัฐบาลใช้ไม่ได้กลายเป็นหมัน เช่น รถไฟปล่ออยให้ผู้โดยสารขึ้นฟรีทุกชั้น รถบขส. ให้ขึ้นฟรีทุกคน หรือ ASTV ต่อสู้กับทีวีของรัฐบาลเป็นต้น (3) Direct Action คือมาตรการโดยตรงเพื่อเป็นการแก้เผ็ดรัฐบาล หรือสร้างความเห็นใจและมั่นใจในหมู่ประชาชน หรือการโต้ตอบการกระทำที่ไม่เป็นธรรมของรัฐบาลในเรื่องต่างๆ เป็นต้น

ผมเห็นว่า 198 วิธีนี้ เมืองไทยเรายังนำมาใช้ไม่ถึงครึ่ง และบางอย่างอาจจะไม่เหมาะสมกับวัฒนธรรมการเมืองไทย จึงอยากขอให้ท่านผู้อ่านช่วยกันคิดว่ายังมีวิธีใดที่จะนำมาเสริมให้พันธมิตรฯ ไปสู่ชัยชนะได้โดยง่าย ผมเห็นว่า Reverse Strike และ Direct Action โดยกลุ่มต่างๆ ที่สนับสนุนพันธมิตรฯ อยู่ เช่น พันธมิตรฯ ในแต่ละจังหวัด สหภาพรัฐวิสาหกิจทั้งหมด แพทย์อาวุโส ครูแพทย์ แพทย์ชนบท อาจารย์มหาวิทยาลัย ฯลฯ น่าจะเปิดเผยตนเองเป็นกลุ่มๆ และงัดเอาวิธีต่างๆ ที่เป็นอาวุธเฉพาะของกลุ่มออกมาใช้ และพากันออกมามากๆ ประกาศตัวให้ชัดเจน พร้อมกับอาวุธอหิงสาพิเศษของแต่ละกลุ่ม

2-3 วัน มานี้ ผมแนะนำวิธี Electronic Civil Disobeience ซึ่งใช้แพร่หลายในต่างประเทศ คือการทำสงครามข่าวทางอินเทอร์เน็ต โทรสาร และโทรศัพท์ นี่ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะสกัดโฆษณาชวนเชื่อของระบอบทักษิณได้ผล

ขอให้ประชาชนชนะ ขอให้รัฐบาลโจรจงพินาศ
กำลังโหลดความคิดเห็น