xs
xsm
sm
md
lg

สศก.ชี้ราคาสินค้าเกษตรลด พืชอาหาร-พลังงานตลาดดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน -สศก.เตือนราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดเริ่มปรับลด เหตุผลผลิตทยอยออกมากระจุกตัว โดยเฉพาะข้าว แต่ภาพรวมผลผลิตในช่วงครึ่งปีหลังยังดี วัดดัชนีได้ร้อยละ 113.48 กลุ่มพืชอาหารและพลังงานมีแนวโน้มการผลิตเพิ่มรองรับความต้องการของตลาด

นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สศก. ได้ประเมินสถานการณ์การผลิตสินค้าเกษตรในช่วงครึ่งปีหลังจากนี้โดยคาดว่าจะมีผลผลิตดีกว่าปีที่ผ่านมา  เป็นดัชนีได้ร้อยละ 113.48 เปรียบเทียบกับปีที่แล้วได้ดัชนี 187.72 ตัวที่เพิ่มสำคัญ คือ พืชอาหาร เพิ่ม 7.32 % ทั้งข้าวและอ้อยโรงงาน รวมทั้งปาล์มน้ำมันเพิ่มประมาณ 23.2 % โดยปริมาณผลผลิตพืชเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น  เช่น   ข้าวนาปี 23.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วจากเดิม 23.3 ล้านตัน ข้าวนาปรัง 8.7 ล้านตัน จากเดิมปีที่แล้วอยู่ที่ 6.8 ล้านตัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 3.7 ล้านตัน จากปีที่แล้ว 3.6 ล้านตัน มันสำปะหลัง 28.53 ล้านตัน จากปีที่แล้ว 25.5 ล้านตัน อ้อยโรงงานลดลงเล็กน้อยเหลือ  72.6 ล้านตัน จากปีที่แล้ว  76.7 ล้านตัน ยางพารา 3.1 ล้านตัน จากปีที่แล้ว 3 ล้านตัน ปาล์มน้ำมัน 7.8 ล้านตัน จากปีที่แล้ว 6.3 ล้านตัน ขณะที่สถานการณ์ราคาโดยรวมก็คาดว่าจะดีกว่าปีนี้ 143.2 % ขณะที่ปีที่แล้วอยู่ที่ 110.5 % โดยเฉพาะสินค้าประเภทพืชอาหารและน้ำมัน ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง เป็นต้น

ส่วนสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรโดยรวมดีกว่าปีที่แล้ว ดัชนีราคาปีนี้อยู่ที่ร้อยละ 143.2 ขณะที่ปีที่แล้วอยู่ที่ร้อยละ 110.5 สินค้าที่มีราคาสูงจะอยู่ในกลุ่มพืชอาหารและน้ำมัน ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง

ด้านนายมณฑล เจียมเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวเพิ่มเติมถึงสถานการณ์การผลิตสินค้าเกษตรว่า ในช่วงนี้สินค้าเกษตรเกือบทุกตัวมีผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก ส่งผลให้ราคาปรับตัวลงเล็กน้อย โดยเฉพาะข้าวที่มีการปรับราคาจาก 12,500 บาท/เกวียน ลดลงมาอยู่ที่เฉลี่ยประมาณ 11,500 บาท/เกวียน ข้าวโพดจากราคา 9.80 บาท/กก. ปรับลดลงมาอยู่ที่ 8 บาทเศษ/กก. มันสำปะหลังจากราคา 2.20 บาท/กก. ปรับลดลงมาอยู่ที่ 1.80-1.90 บาท/กก. ซึ่งราคาที่ปรับลดลงยังไม่ได้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเกษตรกรมากนัก เนื่องจากราคาจำหน่ายสินค้าเกษตรทุกรายการของปีนี้ดีกว่าปีที่ผ่านมามาก แต่ถ้านำมาเปรียบเทียบกับรายจ่ายที่สูงขึ้นของเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นค่าปัจจัยการผลิตโดยเฉพาะปุ๋ยเคมี น้ำมันเชื้อเพลิง และที่สำคัญคือเรื่องภาวะเงินเฟ้อ จะเห็นได้ว่ารายได้ที่แท้จริงของเกษตรกรปรับขึ้นน้อยมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น