xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อเสือไม่ใช่เสือ

เผยแพร่:   โดย: ว.ร.ฤทาคนี

เป็นอีกวาระหนึ่งที่ขบวนการยุติธรรม และนิติธรรมได้สำแดงให้เห็นว่า ประเทศโดยมีระบอบตุลาการเป็นที่น่าเชื่อถือ ซึ่งในประเด็นนี้คนไทยจะต้องลองตรวจสอบดูผลการจัดอันดับขององค์การตรวจสอบความโปร่งใสสากลหรือ Transparency International -TI อันเป็นองค์กรอิสระประเมินความโปร่งใสของแต่ละประเทศ โดยเฉพาะระบบการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเบอร์ลิน เยอรมนี ก่อตั้งขึ้นในปี 1993 โดยมีวัตถุประสงค์อย่างชัดเจนในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของหน่วยงานราชการ รัฐบาล และนักการเมือง

TI มีบทบาทสำคัญในการกดดันสหประชาชาติให้ตระหนักถึงการคดโกงของนักการเมืองทุกระดับนำสู่ความยากจนไม่มีที่สิ้นสุดของชนระดับล่างในแต่ละประเทศและก่อให้เกิดความวุ่นวายทางการเมืองจนถึงขั้นสงครามกลางเมืองในที่สุด ทำให้สหประชาชาติจัดการประชุมต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นในวันที่ 31 ตุลาคม ค.ศ. 2003 และมีมติที่ 58/4 ให้ทุกชาติ ดำเนินการป้องกัน โดยต้องเอาผิดทางอาญา ให้มีการร่วมมือกันทุกชาติเป็นสากล และยึดทรัพย์สินที่โกงไปคืนสู่ประชาชนผ่านรัฐ และในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2008 ได้มีการลงนามยอมรับหลักการนี้ 107 ประเทศ เช่น ประเทศสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา กัมพูชา และไทย

ประเทศที่มีการโกงน้อยที่สุดในโลกคือ ประเทศเดนมาร์กในปี 2007 มีดัชนีความโปร่งใสอยู่ที่ 9.4 แต่น้อยจากปีที่ผ่านมา 0.1 สหราชอาณาจักร 8.4 สหรัฐอเมริกา 7.2 ประเทศไทยอยู่ที่อันดับที่ 84 จาก 179 ประเทศมีดัชนีความโปร่งใส 3.3 ขณะที่กัมพูชาอยู่อันดับที่ 162 มีดัชนีความโปร่งใสที่ 2.0

นอกจากนี้ยังมีองค์กรอิสระเชิงพาณิชย์อีกหลายองค์กรที่วิเคราะห์การทุจริตของรัฐบาล นักการเมืองและนักธุรกิจของแต่ละประเทศโดยทำการสอบสวน และเสนอข้อมูลการคดโกงให้กับบริษัทต่างๆ เพื่อจะได้เข้าใจในวัฒนธรรมการทุจริตในประเทศนั้นๆและต้องเตรียมเงินใต้โต๊ะจำนวนหนึ่งหากต้องการทำธุรกิจกับประเทศนั้นๆ เช่น คนไทยอาจจะเคยชินกับการคดโกงของคนไนจีเรียที่เป็นนักต้มตุ๋นอันดับหนึ่งในประชาคมคนโลภมากของไทย

หลังจากการพิพากษาคุณหญิงพจมาน ชินวัตร จำคุก 3 ปี เพราะจงใจหลีกเลี่ยงภาษีแต่ยังมีอีกสองศาลที่ต้องพิสูจน์ความผิดของเธออย่างสมบูรณ์ ปรากฏว่า เธอชิงหนีประกันและการฟังคำตัดสินอีกสองศาลโดยหนีพร้อมกับสามี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมีพฤติกรรมทุจริตประพฤติมิชอบที่มีพยานหลักฐานจนถึงขั้นถูกกล่าวหา 5 คดี และการทุจริตที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐคือ 1. การทุจริตโครงการจัดซื้อที่ดินมูลค่าตามสัญญา 772 ล้านบาท จากกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย 2. จัดซื้อกล้ายางมูลค่าตามสัญญา 1,440 ล้านบาท 3. ทุจริตโครงการจัดซื้อจัดจ้างปรับเปลี่ยนสายพานลำเลียงกระเป๋าผู้โดยสาร และเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิด CTX 9000 รัฐเสียหาย 1,500 ล้านบาท 4. โครงการออกสลากพิเศษเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว รัฐเสียหาย 37,790 ล้านบาท และ 5. การให้กู้โดยทุจริตของผู้บริหารธนาคารกรุงไทย รัฐเสียหาย 5,185 ล้านบาท

ส่วนพฤติกรรมรวยผิดปกติจากการใช้อำนาจรัฐเอื้อประโยชน์ต่อกิจการบริษัทชินคอร์ปอันเป็นธุรกิจครอบครัวรวม 6 รายการ คิดเป็นเงินที่รัฐเสียหายกว่าแสนล้านบาท ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต้องหนีการดำเนินคดีต่างๆ เหล่านี้ด้วยเช่นกัน แต่ก็นับว่ายังโชคดีเพราะมีหลายคดียังไม่สิ้นสุด แต่การที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชิงหนีเสียก่อนนั้นน่าจะเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญโดยยึดหลัก “ไปตายเอาดาบหน้า”แต่ไม่คิดว่าเขาจะยอมแพ้ง่ายๆ จึงต้องจับตาดูพฤติกรรมหลังชนฝาของเขาให้ดี

สำหรับคดีที่สิ้นสุดลงโดยจำเลยไม่อยู่รอฟังคำตัดสินได้แก่ คดีทุจริตที่ดินคลองด่าน และผู้กระทำผิดคือ นายวัฒนา อัศวเหม ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโกงชาติด้วยการใช้อำนาจข่มขู่หรือชักจูงให้ผู้อื่นร่วมออกโฉนดที่ดิน 1,900 ไร่ ทับที่สาธารณะ จำคุก 10 ปี แต่เพราะศาลนี้เป็นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยมีองค์คณะ 9 คน และมีศาลเดียวและคดีนี้มีความชัดเจนมากว่านายวัฒนา ทุจริตตามที่ถูกกล่าวหา

และเมื่อย้อนดูเหตุการณ์หนึ่งครั้งหลังสุดขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่นั้นก็ยืนยันว่า มีการทุจริตจริงและต้องการจัดการ โดยนายต่อตระกูล ยมนาค ประธานกองทุนสื่อประชาสังคมต้านคอร์รัปชั่น ได้พูดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 แต่ก็ไม่เห็นมีอะไรเกิดขึ้นและคดีไม่คืบหน้าซึ่งข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ พ.ต.ท.ทักษิณขณะเป็นนายกรัฐมนตรีพยายามที่จะทำให้คดีนี้จางหายไป เพราะนายวัฒนา สามารถบันดาลฐานการเมืองให้อดีตพรรคไทยรักไทยได้ และนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ก็พยายามที่ชะลอเรื่องนี้ไว้อย่างเต็มความสามารถจนถึงขนาดยอมขายพรรคชาติพัฒนาให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณอย่างไร้มูลค่า ซึ่งเรื่องนี้ นางดาวัลย์ จันทรหัสดี ชาวคลองด่านรู้ดี เพราะต่อต้านการที่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ส่งนายสุวัจน์รมว.ยุติธรรมมาคุมคดีนี้

นายวัฒนา อัศวเหม คงต้องใช้ชีวิตหนีคุกไทยในเขมรอีกนานแสนนาน และวิเคราะห์ได้ว่าคงจะต้องใช้เงินที่โกงจากการทุจริตที่ดินคลองด่านนี้จ่ายเบี้ยบ้ายรายทางให้กับเจ้าหน้าที่เขมรผ่าน นายพัด สุภาภานักธุรกิจ 2 สัญชาติเจ้าของกาสิโนเกาะกง เพื่อให้ตัวเองได้หนีรอดจากคุกไทย และน่าเสียดายเงินของคนไทยที่นายวัฒนาโกงไปแต่เอาไปให้คนเขมรใช้ ซึ่งเรื่องนี้น่าจะมีมาตรการทางนิติกรรมจัดการกับนายวัฒนา อัศวเหม ได้ หากทางการเขมรจะช่วยไทย เพราะถึงแม้ไม่มีข้อตกลงว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนก็ตาม แต่อย่าลืมว่าในอนาคตอาจจะมีนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามกับสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา หนีคดีอาญาใดอาญาหนึ่งมาอยู่เมืองไทย รัฐบาลไทยอาจจะไม่ร่วมมือส่งตัวไปให้ก็เป็นได้

อย่างไรก็ดี กรณีนายวัฒนา อัศวเหมต้องโทษ 10 ปี และกรณีที่มีการพิพากษาลงโทษคุณหญิงพจมาน ชินวัตร แล้ว Transparency International อาจจะไปปรับอันดับความโปร่งใสของไทยให้มีอันดับที่ดีขึ้นก็ได้ และ Transparency International อาจจะมีอิทธิพลโดยตรงกับรัฐบาลอังกฤษก็ได้ในประเด็นการวิเคราะห์ว่าเรื่องนี้เป็นอาชญากรแผ่นดินข้อหาทุจริตคดโกงในไทย ขณะเป็นนายกรัฐมนตรีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ควรต้องส่งตัวส่งศาลไทย เพราะอังกฤษเป็นสมาชิก TI ด้วยประเทศหนึ่ง

คนไทยควรใช้องค์กรนี้เป็นแรงกดดันให้สหประชาชาติหยิบยกเรื่องนี้เป็นวาระสำคัญ หากต้องการให้มติของสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริตคดโกงในรัฐบาลสมาชิกสหประชาชาติหมดสิ้นไปและมีความศักดิ์สิทธิ์ ก็ต้องพิจารณากรณีพ.ต.ท.ทักษิณอย่างคดีอาชญากรรมธรรมดา มิฉะนั้นแล้วประชาคมโลกคงต้องเห็น Blood Diamond ในแอฟริกาอย่างไม่รู้จบสิ้น ซึ่งสหประชาชาติต้องแทรกแซงช่วยเหลือและยุติสงครามกลางเมืองในประเทศที่มีปัญหา การฆ่าล้างโคตรในแอฟริกาไม่รู้จักจบสิ้นเพราะนักการเมืองในกลุ่มประเทศเหล่านั้นโกงบ้านโกงเมืองอย่างโหดเหี้ยมเพราะมติต่อต้านการทุจริตไม่ศักดิ์สิทธิ์ในที่หนึ่งที่ใดในโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น