xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัย มอ.ดันสร้าง ‘เขื่อนใต้น้ำ’ ป้องชายหาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – คณะนักวิจัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ยืนยันปะการังเทียม ทำหน้าที่เป็นแนวเขื่อนใต้น้ำ สามารถชะลอความแรงของคลื่น ป้องกันปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้ ขณะที่ผลการวิจัยยังไม่สามารถสรุปได้ว่าจะเกิดผลกระทบต่อพื้นที่ข้างเคียงมากน้อยเพียงใด ชี้ผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยให้ก่อสร้าง

หลายหน่วยงานยังคงพยายามแก้ปัญหา คลื่นกัดเซาะชายฝั่งอย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากที่การแก้ปัญหาด้วยวิธีสร้างเขื่อนหินกันคลื่นไม่สามารถยับยั้งการกัดเซาะได้ รวมทั้งยังส่งผลให้พื้นที่ข้างเคียงถูกคลื่นกัดเซาะได้รับความเสียหายออกไปเป็นลูกโซ่

ล่าสุด เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2551 ที่ โรงแรมรัชมังคลา พาวีเลี่ยน อ.เมืองสงขลา คณะนักวิจัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งรับผิดชอบโครงการสำรวจและศึกษาการเปลี่ยนแปลงของตะกอนชายฝั่งทะเล เพื่อศึกษาวิจัยการใช้ปะการังเทียมป้องกันชายฝั่งทะเล ได้จัดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นประชาชนเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่จะนำเสนอโครงการให้แก่เทศบาลนครนครสงขลา อนุมัติงบประมาณสำหรับดำเนินการจัดวางแนวปะการังเทียม ซึ่งมีลักษณะเหมือนเขื่อนใต้น้ำ โดยวางในพื้นที่นอก ชายหาดชลาทัศน์ เขตเทศบาลนครนครสงขลา

ผศ.พยอม รัตนมณี อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หัวหน้าโครงการ ได้สรุปผลการศึกษาวิจัยการใช้ปะการังเทียมป้องกันชายฝั่งทะเล ว่า พื้นที่ที่มีการศึกษาวิจัย คือ บริเวณชายหาดเก้าเส้ง เขตเทศบาลนครนครสงขลา ซึ่งเกิดการกัดเซาะอย่างหนักในช่วงปลายปี 2545 เป็นต้นมาโดยเทศบาลนครสงขลาได้แก้ปัญหาด้วยการถมหินลงไปในทะเล เพื่อให้เป็นเขื่อนป้องกันการกัดเซาะ

“การสร้างเขื่อนหินป้องกันปัญหาได้แค่ในระดับหนึ่ง ทั้งยังส่งผลกระทบต่อชายหาดทางด้านทิศเหนือที่ถูกคลื่นกัดเซาะออกไป จนต้องมีการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องไปจนถึงปี 2549 มีการแก้ปัญหาหลายวิธีทั้งใช้ตะแกรงหิน กระสอบทราย มาตรการส่วนใหญ่ใช้โครงสร้างแบบแข็ง ใช้งบประมาณค่อนข้างสูงและส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชายฝั่งข้างเคียง”

ผศ.พยอม กล่าวอีกว่า การใช้ปะการังเทียมแก้ปัญหากัดเซาะชายหาดเป็นการแก้ปัญหาแบบบูรณาการ ที่ใช้องค์ความรู้จากหลากหลายสาขาเพื่อให้การแก้ปัญหามีประสิทธิภาพ ไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ข้างเคียง โดยลักษณะเด่นของปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลคือยากที่จะหาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ใดที่หนึ่ง การแก้ปัญหาที่ผ่านมามักเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบเกี่ยวเนื่องตามมา ในขณะนี้หน่วยงานราชการ นักวิชาการ นักวิจัย ชาวบ้าน รวมถึงนักวิจารณ์ก็ยังหาคำตอบที่แน่ชัดไม่ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนของความพยายามแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่ง ส่วนใหญ่เป็นโครงการที่ทำขึ้น เพื่อแก้ปัญหาอันเป็นผลมาจากการปฏิบัติโดยขาดองค์ความรู้ของหน่วยงานราชการบางหน่วย เช่น การสร้างเขื่อนกันคลื่นและทราย บริเวณปากร่องน้ำหลายสิบแห่งในพื้นที่อ่าวไทย รวมทั้งการก่อสร้างอาคารหรือสิ่งรุกล้ำลงไปในทะเลจนส่งผลให้เกิดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งลุกลามออกไปเป็นลูกโซ่ สุดท้ายจึงต้องพยายามแก้ปัญหาด้วยหลากหลายวิธีการ แต่ก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่าวิธีใดจะสามารถยับยั้งสภาวะดังกล่าวได้

ในส่วนของการศึกษาวิจัยการใช้ปะการังเทียม ที่เป็นเสมือนเขื่อนกันคลื่นใต้น้ำ ปะการังดังกล่าวหล่อขึ้นมาจากซีเมนต์มีลักษณะเป็นรูพรุน ขนาดความสูง 1 เมตร 80 เซนติเมตร หนักประมาณ 3 -4 ตัน จำนวน 3,500 ก้อน นำไปวางขนานกับแนวชายหาดเป็นระยะทาง 2 กิโลเมตร ห่างจากชายฝั่งประมาณ 3 กิโลเมตร ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 85 ล้านบาท

“เมื่อคลื่นซัดเข้ามา แนวปะการังก็จะทำหน้าที่ชะลอความแรงของคลื่นที่เข้ามาปะทะกับฝั่ง เมื่อคลื่นผ่านแนวปะการังก็จะมีกำลังน้อยลงชายหาดก็จะไม่ถูกคลื่นกัดเซาะ และปะการังจะเป็นที่อยู่ของสัตว์น้ำได้ ซึ่งผลการทดลองในห้องแล็บพบว่าสามารถลดพลังงานคลื่นลงได้ประมาณ 60 – 70 เปอร์เซ็นต์ โครงสร้างก็จมอยู่ใต้น้ำไม่ทำลายทัศนียภาพชายหาดและมีราคาไม่สูงมากนัก” ผศ.พยอม กล่าว

ด้าน รศ.ดร.อุดมผล พืชน์ไพบูลย์ คณะทำงานผู้ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สรุปว่า จากการศึกษาวิจัยพบว่าระหว่างการดำเนินก่อสร้างโครงการ และหลังการจัดวางปะการังเทียมจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยมาก หากมีการควบคุมทุกอย่างให้เป็นไปตามแผนงาน

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนของพื้นที่ชายหาดทางด้านทิศเหนือของโครงการ ซึ่งหลายฝ่ายมีความเป็นห่วงว่าจะได้รับผลกระทบหรือไม่นั้น คณะผู้วิจัยไม่สามารถให้คำตอบที่แน่ชัดได้ว่า จะเกิดผลกระทบมากน้อยเพียงใด ระบุเพียงว่าอาจจะเกิดผลกระทบ ซึ่งภายหลังมีการก่อสร้างไปแล้ว จะมีการสำรวจชายหาดทางด้านทิศเหนือปีละ 1 ครั้ง เพื่อศึกษาผลกระทบ และถ้าพบว่ามีปัญหาการกัดเซาะก็ให้มีการแก้ไขอย่างเร่งด่วนต่อไป

ในส่วนของ รศ.ดร.วันชัย ธรรมสัจการ ผู้รับหน้าที่สำรวจการมีส่วนร่วมของชุมชน กล่าวสรุปว่าจากการจัดเวทีให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลต่างๆ ของโครงการพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะให้มีการใช้ปะการังเทียมป้องกันปัญหาการกัดเซาะชายหาด โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า เป็นปัญหาเร่งด่วนที่หน่วยงานผู้เกี่ยวข้องจะต้องเร่งแก้ไข

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้คณะนักวิจัยได้นำเสนอผลการศึกษาวิจัยด้านต่างๆ ให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาแล้ว โดยเฉพาะเทศบาลนครนครสงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายของโครงการ และหากเทศบาลฯอนุมัติโครงการ ก็จะสามารถลงมือก่อสร้างได้ในทันที
กำลังโหลดความคิดเห็น