ปัญหาคลื่นกัดเซาะชายฝั่ง กลายเป็นสถานการณ์ที่ยังไม่อาจหาบทสรุปในการป้องกันได้ และที่ต้องหาทางป้องกันโดยเร็ว ก็เพราะในไม่ช้านี้ชายหาดของไทยทั้งทางฝั่งของทะเลอ่าวไทย และอันดามันคงไม่เหลือพื้นที่ในการเป็นแหล่งท่องเที่ยว แหล่งทำอาชีพของชาวประมงชายฝั่ง ตลอดจนการกัดเซาะนี้อาจถึงขั้นกลืนกินที่อยู่อาศัยของประชาชนอีกด้วย
เหตุนี้เองทำให้กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่รับหน้าเสื่อในการดูแลเรื่องดังกล่าว ร่วมมือกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ ทำการศึกษาวิจัย “โครงการสำรวจและศึกษาการเปลี่ยนแปลงของตะกอนชายฝั่งทะเล” โดยได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการประยุกต์ใช้ “ปะการังเทียม” ในการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง
ผศ.พยอม รัตนมณี อาจารย์ประจำภาควิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการศึกษาวิจัยบูรณาการชายฝั่งทะเล การใช้ปะการังเทียมป้องกันการกัดเซาะ (กรณีศึกษาหาดสมิหลา) ให้ข้อมูลว่า การกัดเซาะของชายฝั่งทะเลที่เกิดขึ้นในเมืองไทยเกิดได้จากสาเหตุต่างๆ เช่น
1.กิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ที่ไปก่อสร้างอาคาร หรือสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ลงในทะเล หรือแม่น้ำลำคลอง 2.การที่สมดุลของธรรมชาติเปลี่ยนไป ทั้งคลื่นลม พายุ และฤดูกาล ที่เปลี่ยนแปลงไปจนยากจะคาดเดา 3.สมดุลของตะกอน ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมของมนุษย์ที่จะรบกวน และเปลี่ยนแปลงความสมดุลในการเคลื่อนย้ายของตะกอน และ 4.การทรุดตัวของแผ่นดิน ที่จะต่ำลงเรื่อยๆ จากการสูบน้ำใต้ดินไปใช้
ผศ.พยอม อธิบายต่อว่า สำหรับสถานการณ์โดยภาพรวมทั่วพื้นที่ชายหาดของไทยที่ยาว 2,600 กิโลเมตรนั้น เรียกได้ว่าเข้าขั้นวิกฤตรวมแล้วทั้งสองฝั่งทั้งฝั่งอ่าวไทย และอันดามันกว่า 600 กิโลเมตร แต่ชายฝั่งอ่าวไทยจะได้รับผลกระทบที่รุนแรงและน่าเป็นห่วงกว่า เนื่องจากสภาพพื้นที่ที่เป็นหาดทรายถูกกัดเซาะง่าย โดยอยู่ในส่วนที่ประสบปัญหากว่า 500 กิโลเมตร และการกัดเซาะขั้นรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้นต่อปีเฉลี่ยแล้วชายฝั่งถูกกัดเซาะไปกว่า 5 เมตร ทำให้แต่ละปีปริมาณที่พื้นดินหายไปกว่าแสนไร่
“พื้นที่ที่ต้องได้รับการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนเนื่องจากพื้นที่เหล่านั้น เป็นพื้นที่ชุมชน สถานที่สำคัญ และมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ในส่วนของปัญหาในการเข้าไปสำรวจพื้น สิ่งที่น่าห่วงคือโครงการแต่ละโครงการกลัวผลกระทบจะเกิดขึ้นกับชาวบ้าน แต่เราก็ต้องนำข้อมูล การศึกษาต่างๆ เพื่อไปอธิบายให้ชาวบ้านเข้าใจ ว่าเขาเห็นด้วยหรือไม่ แต่สำหรับเรื่องนี้เขาก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เพราะการกัดเซาะของชายฝั่งทะเลนั้นเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อการทำอาชีพของเขาเช่นกัน ทั้งไม่มีชายฝั่งไว้เพื่อขึ้นปลา อีกทั้งคลื่นยังกัดเซาะชายฝั่งมาจนเกือบถึงที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นความเดือดร้อนที่เขารับรู้ได้” ผศ.พยอม อธิบาย
สำหรับแนวคิดในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งโดยวิธีการใช้ปะการังเทียมในการป้องกัน หัวหน้าทีมวิจัย อธิบายว่า การวางปะการังเทียมป้องกันชายฝั่งนั้น จะช่วยบรรเทาคลื่นลม ที่เข้าซัดชายฝั่งให้ลดความรุนแรงลงได้ นอกจากนี้ ตัวปะการังเองยังเป็นประโยชน์ต่อระบบนิเวศน์ที่จะเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อชายฝั่ง และไม่ทำลายทัศนียภาพของชายหาด โดยการทำการวิจัยครั้งนี้ได้จัดทำแบบจำลองทางกายภาพ ที่ห้องปฏิบัติการวิศวกรรมชลศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มอ.เพื่อศึกษาพฤติกรรมด้านชลศาสตร์ของแท่งปะการังเทียมก่อนมีการดำเนินการวางปะการังในพื้นที่จริง ซึ่งผลการทดลองออกมาเป็นที่น่าพอใจ เพราะสามารถกรองคลื่น และลดความรุนแรงของคลื่นในการซัดเข้าชายฝั่งได้กว่า 70% นี่จึงเป็นแนวทางในการลดการกัดเซาะชายฝั่งได้
ดังนั้น โครงการวิจัยชิ้นนี้ จึงได้นำร่องที่บริเวณหาดสมิหลา จ.สงขลา ที่มีพื้นที่การกัดเซาะของชายฝั่งเข้าขั้นวิกฤต โดยหัวหน้าทีมวิจัยให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หาดสมิหลานั้น มีความยาวกว่า 2 กิโลเมตร ถูกจัดเป็นพื้นที่ที่มีการกัดเซาะที่รุนแรง เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2545 ซึ่งได้มีการแก้ปัญหาในหลายวิธี เช่น การวางรอดักทราย ทำเขื่อนกันคลื่น เพื่อป้องกัน แต่ปรากฏว่า การกัดเซาะกลับเกิดขึ้นใหม่ในพื้นที่ใกล้เคียง จึงแก้ปัญหาต่อโดยใช้หินไปโยนไว้ตามชายหาด นำตะกร้าใส่หินมาวาง กระทั่งวางกระสอบทรายตามแนวชายหาด เพื่อกันคลื่นแต่ก็พบว่ายังไม่สามารถป้องกันได้ จึงนำร่องการแก้ปัญหาโดยการนำปะการังเทียมมาใช้
“วัสดุที่ใช้ก่อสร้างนั้นเป็นคอนกรีตล้วน เรียกว่า มาลีนไทด์ ซึ่งเป็นคอนกรีตที่ไม่ถูกกัดเซาะจากน้ำเค็ม ข้อดีพบว่าหากมองจากมาตรการเก่าๆ ที่ใช้ป้องกันนั้นจะมีข้อจำกัดหลายด้าน เช่น 1.เมื่อก่อสร้างแล้วแทนที่จะป้องกันในพื้นที่นี้ได้ แต่คลื่นก็ไปกัดเซาะในบริเวณอื่นแทน 2.งบประมาณสูง 3.ทัศนียภาพชายหาด เมื่อก่อสร้างแล้วจะไม่น่าดู เพราะการนำหินไปทิ้งตามชายหาด ทิ้งในทะแล หรือการทำเป็นกำแพงขึ้นมาเหนือน้ำ เพื่อป้องกันจะส่งผลกระทบในเรื่องของทัศนียภาพอย่างมาก ทำให้ชายหาดไม่น่ามอง 4.ส่วนของนิเวศทางทะเล ซึ่งการทำโครงการเกี่ยวกับธรรมชาตินั้นต้องมีส่วนช่วยในการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลเช่นกัน” หน.ทีมวิจัย ให้ภาพ
ผศ.พยอม บอกถึงขั้นตอนการวางปะการังเทียมตามแนวชายฝั่งหาดสมิหลา ว่า เริ่มต้นจากการสำรวจวางผัง กำหนดจุดในการวาง แล้วนำแผ่นใยสังเคราะห์ไปปูพื้น จากนั้นนำหินมาวางเรียงในชั้นแรก เพื่อเป็นตัวรองรับปะการังเพื่อไม่ให้จมลงไปในทราย จึงนำปะการังไปจัดเรียงเป็นแนว เพื่อป้องกันความรุนแรงของคลื่น ที่ระดับน้ำลึก 4 เมตร โดยความสูงของชั้นหินรองพื้นหนาประมาณ 1.5 เมตร และตัวปะการังที่สูง 1.8 เมตร หนักกว่า 3 ตัน รวมแล้วจะมีความสูงของตัวปะการังอยู่ที่ 3.3 เมตร ซึ่งจะเหลือส่วนที่จมน้ำถึงผิวน้ำกว่า 60 เซนติเมตร ตรงนี้เองจะเป็นตัวชะลอความแรงของคลื่นได้ ซึ่งจะเริ่มลงมือวางปะการังเทียมในเดือนเมษายนปีหน้า
นอกจากชายฝั่งหาดสมิหลาแล้ว ตลอดแนวชายฝั่งของ จ.นราธิวาส หาดนราทัศน์ ขึ้นมาจนถึงแนวชายหาด จ.ปัตตานี จนถึงแนวชายฝั่ง จ.สงขลา ที่หาดนาทับ หาดสะกอม และหาดสมิหลาพื้นที่โครงการนำร่อง ขึ้นไปจนถึงชายฝั่ง จ.นครศรีธรรมราช นี่เป็นเพียงบางส่วนของฟื้นที่เสี่ยงภัย ชายหาดที่ได้รับผลกระทบขั้นรุนแรงจากวิกฤตของการกัดเซาะชายฝั่ง
“คณะทีมงานวิจัยได้ลงมือศึกษา ค้นคว้า หาข้อมูลทั้งจากต่างประเทศ และภายในประเทศเรื่องของการกัดเซาะชายฝั่งทะเล เป็นเวลากว่า 8 เดือน แต่เวลาที่ทำมาโดยตลอดรวมแล้วถึง 2 ปี ใช้งบกว่า 5 ล้านบาทในการทำวิจัย และโครงการนำร่องที่หาดสมิหลาใช้งบสูงถึง 85 ล้านบาท ดังนั้น จึงคาดหวังให้โครงการนี้ช่วยแก้ไขปัญหา หรือแบ่งเบาภาวะการกัดเซาะชายหาดให้ได้มากที่สุด แต่โครงการปะการังเทียมนี้ก็ใช่ว่าจะใช้ได้กับทุกพื้นที่ที่ประสบปัญหา เนื่องจากสภาพคลื่นลม สภาพพื้นที่แตกต่างกัน ดังนั้น ต้องมีการทำการวิจัยต่อไปในพื้นที่ต่างๆ โดยเร็วที่สุดหาแนวทางป้องกัน” หน.ทีมวิจัย ทิ้งท้าย