xs
xsm
sm
md
lg

กรมขนส่งทางน้ำฯเมินเสียงทักท้วง กรมขนส่งทางน้ำฯเมินเสียงทักท้วง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปัญหาคลื่นกัดเซาะชายฝั่ง ทวีความรุนแรงมากขึ้น เป็นผลมาจากการแก้ไขปัญหาที่ผิดวิธีของกรมขนส่งทางน้ำฯ และแม้จะมีการท้วงติงแต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนอง
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี ยังคงเดินหน้าสร้างเขื่อนกันคลื่นแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่ง ล่าสุดจ้างบริษัทที่ปรึกษาเจ้าเดิมเตรียมแก้ปัญหาบริเวณ ต.เขารูปช้าง อ.เมืองสงขลา ขณะที่นายกเทศมนตรี คัดค้านไม่ให้มีการถมหินรุกล้ำลงไปในทะเล เกรงส่งผลเสียหายหนักกว่าเดิม แนะปลูกผักบุ้งทะเลยึดชายหาด นักวิศวกรรมสมุทรศาสตร์ หนุนแก้ปัญหาโดยยึดหลักธรรมชาติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ได้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นโครงการแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่ง ต.เขารูปช้าง อ.เมืองสงขลา ซึ่งเทศบาลตำบลเขารูปช้าง ได้ทำเรื่องของบประมาณไป ที่กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี

กรมการขนส่งทางน้ำฯได้ว่าจ้างบริษัท ซีสเปคตรัม จำกัด ให้เป็นที่ปรึกษาในการสำรวจและออกแบบก่อสร้าง ซึ่งภาพรวมของการรับฟังความคิดเห็น คือ ชาวบ้านส่วนใหญ่เห็นด้วย ที่จะให้ก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นขึ้นมาแก้ปัญหา แต่ขอให้มีการผสมผสานการใช้ประโยชน์พื้นที่ให้เต็มที่ ระหว่างการท่องเที่ยวและการประมง รวมทั้งให้มองถึงผลกระทบในระยะยาวที่จะตามมาด้วย

ในขณะที่นายประสงค์ บริรักษ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลเขารูปช้าง กล่าวว่า โครงการนี้ตนได้เสนอแนวทางป้องกัน และแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในเขตเทศบาลตำบลเขารูปช้างไปยังกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี กระทรวงคมนาคม เมื่อปี 2549 แต่กรมการขนส่งทางน้ำฯ เพิ่งส่งบริษัทที่ปรึกษาเข้ามาจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนเพื่อทำการศึกษาและออกแบบโครงการตามที่เสนอไป

“พื้นที่ที่เสนอให้ทำโครงการอยู่ในแนวชายหาดระยะทาง 5 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่หมู่ 3 และหมู่ 7 ของตำบลเขารูปช้าง ผมได้เสนอแนวคิดเบื้องต้นในการป้องกันและแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งว่า ต้องไม่ทำให้ภูมิทัศน์ที่เป็นหาดทรายสูญเสียไป ขณะเดียวกันต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมด้วย”

นายประสงค์ กล่าวอีกว่า ตนได้เสนอให้ใช้รูปแบบการป้องกันคลื่น โดยสร้างสิ่งก่อสร้างให้อยู่บนชายฝั่งและไม่เห็นด้วยที่จะก่อสร้างล่วงล้ำลงไปในทะเล เหมือนที่กรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม ดำเนินการไปแล้วในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อป้องกันคลื่นกัดเซาะมาถึงถนน รวมระยะทางประมาณ 200 เมตร

“ผมไม่เห็นด้วยที่จะแก้ปัญหาด้วยการถมหินลงไปในทะเล เหมือนที่ทำกันอยู่ที่บ้านบ่ออิฐ ต.เกาะแต้ว อ.เมืองสงขลา เพราะนั่นเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามากกว่า อาจส่งผลกระทบในระยะยาว ในส่วนของ ต.เขารูปช้าง ขณะนี้จำเป็นจะต้องมีการป้องกันปัญหาที่อาจจะรุนแรงเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต ซึ่งหากเกิดการกัดเซาะรุนแรง ก็จะส่งผลเสียหายในทางเศรษฐกิจด้วย เพราะพื้นที่ดังกล่าวมีโรงงานขนาดใหญ่หลายแห่ง และถนนเลียบชายหาดเป็นเส้นทางทำมาหากินที่สำคัญของชาวบ้านในพื้นที่ด้วย”

นายประสงค์ กล่าวอีกว่า การแก้ปัญหากัดเซาะชายหาดควรต้องสอดคล้องกับธรรมชาติ โดยหลังจากทำโครงการป้องกันและแก้ปัญหานี้แล้ว ก็จะปลูกต้นผักบุ้งทะเลบนชายหาดด้วย เพราะผักบุ้งทะเลมีรากลึก ซึ่งจะสามารถยึดผืนทรายเอาไว้ได้ เหมือนในอดีตที่ชายหาดอยู่ได้ เพราะมีต้นผักบุ้งทะเลช่วยไว้ส่วนหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของความคืบหน้าของโครงการนั้น เมื่อผลการศึกษาออกมาแล้วไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็จำเป็นจะต้องนำมาพิจารณากันอีกครั้งหนึ่ง โดยการดำเนินการต้องยึดความคิดเห็นและความต้องการของประชาชนเป็นหลัก

ด้าน รศ.ดร.สมบูรณ์ พรพิเนตพงศ์ วิศวกรสมุทรศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า เห็นด้วยกับแนวคิดของนายกเทศมนตรีตำบลเขารูปช้าง ที่เสนอให้มีการแก้ปัญหาโดยศึกษาสภาพของธรรมชาติเป็นหลัก และไม่ควรไปก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างหรือถมหินรุกล้ำลงไปในทะเล เพราะจะเกิดผลเสียหายที่เราคาดไม่ถึงตามมาได้ เหมือนกรณีที่เกิดขึ้นกับพื้นที่อ่าวไทยในหลายๆ พื้นที่ โดยมีสาเหตุมาจากการก่อสร้างโครงสร้างทางวิศวกรรมรุกล้ำลงไปในทะเล

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลทางวิชาการสมุทรศาสตร์ พบว่าชายหาดของ จ.สงขลา ได้รับความเสียหายถูกคลื่นกัดเซาะอย่างรุนแรง โดยเป็นผลกระทบที่เกิดจากการสร้างเขื่อนกันคลื่นริมปากน้ำนาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา ที่ส่งผลให้กระแสคลื่นเปลี่ยนทิศทางทำให้แนวชายหาดหลายพื้นที่ถูกคลื่นกัดเซาะได้รับความเสียหายเป็นลูกโซ่ รวมทั้งชายหาดบริเวณ ต.เขารูปช้าง อ.เมืองสงขลา ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น