xs
xsm
sm
md
lg

ปูดรัฐหันสนใจเกษตรกรหวังสกัดร่วมพันธมิตรฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอรรคพล สรสุชาติ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง (พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์) กล่าวปฏิเสธข้อครหาที่ว่า นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ อดีตรองประธาน สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนพัฒนาเกษตรกรชุดใหญ่ ให้เป็นรักษาการเลขาธิการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรชั่วคราว ในระยะเวลา 1 เดือน ไม่ได้เข้ามารักษาการเลขาฯในนาม ของพรรคชาติไทย แทนนายเสริมศักดิ์ ชื่นเจริญ รักษาการเลขาธิการกองทุนคนเก่า ที่ถูกร้องเรียนว่าการแต่งตั้งตำแหน่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย จนกว่า ศาลปกครองจะมีคำวินิจฉัยว่าการตั้งนายนคร ศรีพิพัฒน์ เป็นเลขาธิการกองทุนฯ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ รวมถึงกรณีปลดนางจุฬารัตน์ นิรัติศยกุล อดีตรักษาการเลขาธิการกองทุนว่าเป็นธรรมหรือไม่
นายอรรคพล กล่าวว่า นายสังศิต ถือเป็นกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูฯ ตามกฎหมาย โดยได้รับการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมา จากที่สมาชิกเกษตรกร เสนอชื่อนายสังศิต กับนายสมยศ ภิราญคำ รองประธานคณะกรรมการบริหารกองทุน ฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร โดยสมาชิก 30 คนได้เลือกนายสังศิตด้วยคะแนน 22 เสียง ต่อ 9 เสียง ดังนั้นใครที่ไม่สบายใจก็ขอให้ดูมติจากที่ประชุมเป็นสำคัญ เพราะไม่มีการทุบโต๊ะแต่งตั้งตามข้อครหา
นายอรรพล กล่าวว่า วันที่ 22 ส.ค.นี้จะมีการประชุมกองทุนฯ ที่กระทรวงเกษตร และสหกรณ์ หลังจากที่นายสังศิตได้แถลงวิสัยทัศน์ไปเมื่อวันที่ 11 ส.ค.ที่ผ่านมา เพื่อดำเนินการเป็นไปตามระเบียบของกฎหมายกองทุนฟื้นฟูฯ
ขณะที่ น.ส.วิรินทิรา นาทองบ่อจรัส รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายสังศิต ไม่ได้เป็นสมาชิกหรือที่ปรึกษาพรรคชาติไทย แม้จะมีความ สนิมสนมกับพล.สนั่น สมัยอยู่พรรคมหาชน ก็ตาม
แหล่งข่าวจากกองทุนฟื้นฟูฯ แจ้งว่า ในวันที่ 22 ส.ค.นี้ ถือว่าเป็นการประชุมกองทุนฯครั้งแรก หลังจาก 3 สัปดาห์ที่นายสังศิต เข้านั่งรักษาการเลขาธิการ กองทุนฯ โดยงานแรกตั้งเป้าที่แก้ปัญหาโครงสร้างภายในของกองทุนฟื้นฟูใหม่ โดยเฉพาะประเด็นเด็กฝากทางการเมืองที่เข้ามาหาผลประโยชน์ รวมทั้งเรื่องบประมาณการเลือกตั้งคณะกรรมการบอร์ดจำนวน 40 คนที่มาจากสายเกษตรกร ที่ผ่านมา ต้องใช้เงินในการเลือกตั้งถึงคราวละ 60 ล้านบาท แต่ดำรงตำแหน่งวาระ 2 ปี
ขณะที่การเลือกตั้งทั่วประเทศมีกรมการปกครองเป็นผู้จัดเลือกตั้งให้ตามสัญญา 2 ปีต่อครั้ง ซึ่งในปี 2552 ก็จะมีการเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง ขณะที่งบประมาณปี 2552 ในส่วนของกองทุนฟื้นฟูฯ มี 170 ล้านบาทแบ่งได้เป็นเงินบริหารจัดการอาทิ เงินเดือน เบี้ยเลี้ยงจำนวน 110 ล้านบาทและ 60 ล้านเพื่อใช้ในการเลือกตั้ง
ขณะเดียวกันยังมีแผนในการจัดจ้างองค์กรภายนอกมาวางระบบการเงิน-การบัญชี โดยจะเชื่อมกับกรมบัญชีกลางในการขอดูงบประมาณได้ตลอดซึ่งความโปร่งใสจะทำให้ทุกฝ่ายมั่นใจในการใช้เงินขอกองทุนฟื้นฟูฯในอนาคต
ด้านแหล่งข่าวเกษตรซึ่งเป็นสมาชิกกองทุนฯ เปิดเผยว่า หลังจากที่รัฐบาลชุดนี้ เข้ามาบริหารกองทุนฯ มีความพยายามที่จะปรับองค์กรและจัดสรรงบประมาณบางส่วนลงมาพัฒนาองค์กรฟื้นฟูในระดับภาคและจังหวัด ถึงแม้ไม่มากนักแต่ก็มีการอ้างว่า สามารถทำให้สมาชิกกองทุนฯ ก้าวหน้าไปได้ระดับหนึ่ง
ทั้งนี้ เห็นว่า การสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรดังกล่าวเป็นเพียงงบประมาณ เตรียมความพร้อมในการจัดทำแผนองค์กร เพื่อเข้าสู่กระบวนการขอรับงบประมาณฟื้นฟูต่อไป ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าในห้วงเวลาดังกล่าว กลุ่มเกษตรกรในหลายจังหวัดกำลังประสบปัญหา ด้านเศรษฐกิจ และการจำหน่วยผลผลิต ส่งผลให้สมาชิกส่วนใหญ่ เดินทางไปร่วมชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหา บางกลุ่มประท้วงในจังหวัด บางกลุ่มเดินทางไปปักหลักใน กทม. และบางกลุ่มเดินทางเข้าร่วมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ร่วมขับไล่รัฐบาล เป็นสิ่งที่น่าสังเกตว่าโครงการดังกล่าว มีการดำเนินการมานานแต่ไม่นำเงินให้กับเกษตรกร เพิ่งนำเงินผ่าน ธ.ก.ส.ให้เกษตรกรในช่วงที่รัฐบาลกำลังวิกฤต สาเหตุน่าจะมาจากการสกัดคนไม่ให้เข้าร่วมกับกลุ่มพันธมิตรฯ นั่นเอง
การสนับสนุนเงินทุนดังกล่าวยังไม่ถึงกลุ่มเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกองทุน ส่วนใหญ่ ที่ยังคงต้องการพัฒนาการทำงานเช่นกัน สาเหตุมาจากกลุ่มการเมืองที่เข้าไป ครอบงำสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรทำให้กลุ่มที่ได้รับงบประมาณเป็นกลุ่มชาวบ้านในข่ายที่สามารถเชื่อมโยงการเมืองได้เท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น