xs
xsm
sm
md
lg

เรียกร้องภาครัฐ-ตลาดจริงจังปฏิรูปกฎระเบียบการเงินโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี – วิกฤตการเงินโลกอาจจุดชนวนให้เกิดเสียงเรียกร้องให้บรรดารัฐบาลและตลาดต่างๆ มีกฎระเบียบกำกับดูแลที่เคร่งครัดขึ้น กระนั้น นักวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตว่าหลังภาวะสินเชื่อตึงตัวผ่านพ้นไปครบขวบปี มาตรการปฏิรูปตลาดยังคงไม่คืบหน้าไปถึงไหน
มาตรการปฏิรูปดังกล่าวมักเล็งเป้าสำคัญที่สุดไปที่บรรดาวาณิชธนกิจ ที่ถูกกล่าวหาว่าอนุมัติสินเชื่อเสี่ยงโดยไม่เลือกหน้า ก่อนจะซื้อหรือขายผลิตภัณฑ์การเงินที่เชื่อมโยงกับสินเชื่อนั้น อันเป็นต้นเหตุให้ตลาดซับไพรม์สหรัฐฯ ล่ม
นอกจากนี้ พวกบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ก็ถูกวิจารณ์เช่นกันว่า ร่วมผสมโรงให้ตลาดเงินโลกปั่นป่วน ด้วยการจัดเรตติ้งแก่ตราสารหนี้บางประเภทแบบมีปัญหา แถมยังเงียบเฉยไม่ออกมาส่งสัญญาณเตือนใดๆ ขณะที่ความหายนะกำลังคืบคลานเข้ามา
เดือนเมษายนที่ผ่านมา บรรดารัฐมนตรีคลังของกลุ่มผู้นำอุตสาหกรรม 7 ชาติ (กลุ่มจี7) อนุมัติชุดมาตรการเสนอแนะจากที่ประชุมเพื่อเสถียรภาพทางการเงิน (เอฟเอสเอฟ) เพื่อปรับปรุงแนวทางการปฏิบัติของธนาคารและตลาดการเงิน
อย่างไรก็ดี จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการนำมาตรการเสนอแนะดังกล่าว ที่มีเป้าหมายในการปรับปรุงแนวทางการปฏิบัติและความโปร่งใสโดยปราศจากข้อจำกัดด้านพฤติกรรม มาใช้แต่อย่างใด
ต่อมาในเดือนกรกฎาคม คณะกรรมาธิการยุโรปผลักดันมาตรการในลักษณะเดียวกันเพื่อตรวจสอบบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ
แอนดริว เฮย์เนส ผู้บรรยายวิชากฎหมายการธนาคารระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยวูล์ฟแฮมป์ตันในอังกฤษ อธิบายชี้ถึงท่าทีความเคลื่อนไหวเหล่านี้ว่า “ภาครัฐต้องแสดงให้เห็นว่าได้ลงมือทำบางอย่างแล้ว”
อีกแผนการที่ตั้งเป้าหมายไว้สูง ซึ่งนำเสนอโดยเฮนรี พอลสัน ขุนคลังแดนอินทรี เมื่อเดือนมีนาคมคือ การยกเครื่องระบบการควบคุมของสหรัฐฯ และส่งเสริมบทบาทการติดตามตรวจสอบของธนาคารกลางแห่งสหรัฐฯ แต่มันก็ประสบภาวะชะงักงันเช่นเดียวกัน
แพทริเซีย แมคคอย ศาสตราจารย์กฎหมายและกฎข้อบังคับด้านการธนาคารและหลักทรัพย์ มหาวิทยาลัยคอนเนตทิคัต ฟันธงว่าจะไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นจนกว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯจะผ่านไปแล้ว และหลังจากทำเนียบขาวได้ผู้นำคนใหม่นั่นแหละ บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือและวาณิชธนกิจก็จะออกมาต่อต้านการออกหรือปรับปรุงกฎระเบียบให้มีความเข้มงวดขึ้น กันอย่างขนานใหญ่
อาการแทรกซ้อนอื่นๆที่ต้องระวังคือ แม้มีการประกาศเปลี่ยนแปลงการดำเนินการเพื่อเพิ่มความโปร่งใสและการเปิดเผยข้อมูล แต่บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือรายยักษ์ใหญ่ที่สุดของโลกทั้งสามราย ได้แก่ สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์, มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ และฟิตช์ ยังคงได้รับเงินค่าจ้างจากบริษัทที่รับบริการจัดอันดับ
นอกจากนั้น เป็นที่คาดหมายว่า ข้อเสนอของคณะกรรมการกำกับดูแลหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ (เอสอีซี) หน่วยงานรัฐที่เป็นผู้ควบคุมบริษัทจัดอันดับ ที่ออกมาในเดือนมิถุนายน จะส่งผลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ขณะเดียวกัน วาณิชธนกิจและบริษัทจัดอันดับแทบจะไม่วิตกกังวลใดๆ กับการตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลการธนาคารระดับนานาชาติชุดใหม่ที่เสนอโดยจี7 ซึ่งจะมีการรวบรวมสมาชิกจากหลายๆ ประเทศ เนื่องจากไม่มีแนวโน้มว่าคณะกรรมการชุดนี้จะมีวิธีการทำงานที่ถือว่าเป็นผู้คุมกฎระดับโลกย่างแท้จริง
กระนั้น เฮย์เนสทิ้งท้ายว่าความกดดันในตลาดได้บีบให้วาณิชธนกิจ บริษัทจัดอันดับ และนักลงทุนประเมินแนวทางต่อความเสี่ยงใหม่ และคงต้องใช้เวลาอีกกว่าสิบปี จึงจะกล้าท้าทายความเสี่ยงแบบที่ผ่านมาในรอบขวบปีนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น