xs
xsm
sm
md
lg

บลูทูธ ‘ของวันพรุ่งนี้’ มีดีกว่าแค่หูฟัง ปฏิวัติการเดินทาง-ดูแลคนไข้ทางไกล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในอนาคตอันไม่นานเกินรอ เทคโนโลยีบลูทูธอาจวิวัฒนาการกลายเป็นบริการฉุกเฉินไร้สาย เมื่อผู้ใช้เกิดอาการหัวใจวายเฉียบพลันหรือผู้ป่วยเบาหวานเป็นลมหมดสติ

รายงาน ‘โลกไร้สายของวันพรุ่งนี้’ ของออฟคอม ผู้คุมกฎการสื่อสารของอังกฤษ แจงว่าเซนเซอร์ที่ฝังอยู่ในร่างกายของผู้ที่เสี่ยงหัวใจวายหรือเป็นโรคเบาหวาน จะช่วยให้แพทย์สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของคนไข้ได้จากระยะไกล โดยหาก ‘เครือข่ายในร่างกาย’ บันทึกว่าบุคคลนั้นหมดสติเฉียบพลัน ก็จะจัดการส่งสัญญาณเตือนผ่านสถานีฐานในบ้านไปยังแพทย์หรือโรงพยาบาลทันที

อนึ่ง เทคโนโลยีดังกล่าวที่อยู่ระหว่างการทดสอบในพอร์ตสมัท อังกฤษ ในขณะนี้ อาจนำไปใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ได้กินยาตามเวลา กลไกคือตลับยาจะส่งสัญญาณเตือนอัตโนมัติ แต่หากภายในระยะเวลาหนึ่งแล้วผู้ป่วยยังไม่ได้หยิบยากิน ระบบจะส่งข้อความถึงครอบครัวหรือผู้ดูแลของผู้ป่วยทันที

กระนั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพยังไม่มั่นใจเกี่ยวกับระดับการรั่วไหลของเซนเซอร์เข้าสู่ร่างกาย โดยขณะนี้ การวิจัยเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่เครือข่ายไร้สายความเร็วสูงจะปล่อยรังสีออกมายังอยู่ในระหว่างดำเนินการ

รายงานยังกล่าวต่อไปว่า เทคโนโลยีพิกัดตำแหน่งจากดาวเทียม (GPS) และเทคโนโลยีไร้สายระยะใกล้อาจปฏิวัติรูปแบบการเดินทางรวมถึงระบบความปลอดภัยบนท้องถนน อาทิ ระบบขนส่งอัจฉริยะที่บริษัทรถยนต์กำลังพัฒนาอยู่ในขณะนี้ จะช่วยให้รถสามารถสื่อสารระหว่างกันและส่งสัญญาณเตือนเมื่อมีการเบรกกระทันหัน

ในกรณีที่รถชน ระบบในรถยนต์จะโทรเข้าศูนย์บริการเหตุด่วนเหตุร้ายโดยอัตโนมัติ เทคโนโลยีนี้ยังควบคุมการเบรกอัตโนมัติเมื่อรถสองคันเข้าใกล้กันมากเกินไป

นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่กู้ภัยที่ไปถึงสถานที่เกิดเหตุอาจใช้คอมพิวเตอร์ขนาดเล็กดึงข้อมูลประวัติการรักษาพยาบาลที่เก็บอยู่ในนาฬิกาข้อมือของผู้ขับขึ้นมาใช้

ขณะนี้ คณะกรรมาธิการยุโรปกำลังหารือกันว่าควรอนุมัติระบบ ‘อี-คอลล์’ หรือระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินอัตโนมัติที่จะออกสู่ตลาดในปี 2011 หรือไม่ โดยการทดสอบก่อนหน้านี้ชี้ว่า เทคโนโลยีนี้จะช่วยลดเวลาที่เจ้าหน้าที่กู้ภัยเดินทางถึงสถานที่เกิดเหตุได้ถึง 10 นาที ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้ราว 15%

ออฟคอมเสริมว่า เทคโนโลยีการนำร่องด้วยระบบดาวเทียมขั้นสูงอาจช่วยให้ผู้ขับขี่สามารถหลีกเลี่ยงเส้นทางที่การจราจรติดขัด รวมถึงคำนวณว่าควรเปลี่ยนไปใช้บริการรถไฟหรือไม่

นอกจากนั้น เทคโนโลยีสื่อสารไร้สายยังเปิดโอกาสให้มีการฝังไมโครชิปในบรรจุภัณฑ์อาหาร ตัวอย่างเช่น หากผู้ที่แพ้ถั่วเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีถั่วเป็นส่วนผสมขึ้นมาโดยไม่ตั้งใจ ระบบจะส่งสัญญาณเตือนทันที

ออฟคอมสรุปว่า ระบบสื่อสารไร้สายได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้น ภาครัฐจึงควรพิจารณาวิธีเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับดีมานด์คลื่นความถี่วิทยุ หรือสเปรกตรัมในอนาคต รวมถึงป้องกันไม่ให้อุปกรณ์ไร้สายส่งสัญญาณรบกวนระบบสื่อสารเพื่อช่วยชีวิต อีกทั้งยังต้องศึกษาอย่างละเอียดเกี่ยวกับผลกระทบจากเทคโนโลยีนี้ต่อความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้
กำลังโหลดความคิดเห็น