xs
xsm
sm
md
lg

รัฐประหารมอริเตเนียหลังส.ส.ตบเท้าถอนตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอยเตอร์/เอเอฟพี – คณะนายทหาร “มอริเตเนีย” ที่ก่อรัฐประหารโค่นล้มประธานาธิบดีผู้มาจากการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยเป็นครั้งแรกของประเทศออกจากตำแหน่ง ให้สัญญาเมื่อวานนี้(7) ที่จะจัดการเลือกตั้งประมุขของชาติแบบเสรีและโปร่งใสในเร็ววัน ภายหลังนานาประเทศแสดงความไม่พอใจการกระทำของพวกเขา ถึงแม้จะได้รับการสนับสนุนจากนักการเมืองในประเทศจำนวนมาก
ทั้งนี้ในวันพุธ (6) ประธานาธิบดี ซิดี โมฮาเหม็ด โออูลด์ เชก อับดัลลาฮี แห่งมอริเตเนีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหม่ล่าสุดในทวีปแอฟริกา ได้ถูกขับไล่ออกจากตำแหน่ง และถูกจับกุมตัวพร้อมกับนายกรัฐมนตรี โดยผู้บัญชาการเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของเขาเองที่ชื่อ โมฮาเหม็ด โออูลด์ อับเดลาซิซ ได้นำกำลังทหารบุกเข้ายึดทำเนียบประธานาธิบดีและที่ทำการของนายกรัฐมนตรี โดยไม่มีการยิงต่อสู้แต่อย่างใด
ยิ่งกว่านั้น คณะรัฐประหารยังได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภาจำนวนมาก ซึ่งก่อนหน้านี้เคยให้การสนับสนุนประธานาธิบดีอับดัลลาฮีมาก่อน อีกทั้งกลุ่ม ส.ส. ที่ไม่พอใจรัฐบาลเดิม และได้ถอนตัวออกจากพรรครัฐบาล ก็มีแผนการที่จะรวมตัวเพื่อสนับสนุนคณะรัฐประหารในวันพฤหัสบดี และพวกเขากล่าวด้วยว่าการรัฐประหารถือเป็นขั้นตอนหนึ่งเพื่อไปสู่เสถียรภาพในประเทศ
“นี่เป็นจังหวะที่จะแก้ไขและปรับแนวทางเพื่อให้พวกเราเดินหน้าเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตย” มุสตาฟา โออูลด์ อะเบเดอราห์มาเน ส.ส. คนหนึ่งกล่าว
ความตึงเครียดทางการเมืองในมอริเตเรียนั้นคุกรุ่นมาหลายสัปดาห์แล้ว จากการที่พวก ส.ส. ในพรรครัฐบาล (พีเอ็นดีดี-เอดีไอแอล) บางคนไม่พอใจที่ประธานาธิบดีบริหารประเทศโดยไม่ปรึกษาหารือกับพวกตน และในวันจันทร์ (4) ก็พากันถอนตัวออกจากพรรค
ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีอับดัลลาห์ก็พยายามหาทางปลดอับเดลาซิซออกจากตำแหน่งพร้อมกับผู้บัญชาการทหารระดับสูงหลายนาย เนื่องจากเขาเชื่อว่ากลุ่มทหารเหล่านี้เป็นผู้ยุยงให้เกิดความขัดแย้งในรัฐสภา จนนำมาสู่การรัฐประหารดังกล่าว โดยที่คำสั่งแรกของสภาแห่งรัฐก็คือยกเลิกคำสั่งของประธานาธิบดีที่ปลดของพวกเขาไปก่อนหน้านี้
อันที่จริง ประธานาธิบดีอับดัลลาห์เพิ่งได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว โดยมีอับเดลาซิซคอยสนับสนุนเช่นกัน หลังจากที่มอริเตเนียต้องปกครองด้วยระบอบเผด็จการมาตั้งแต่เกิดเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อปี 2005
แต่ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเกิดวิกฤตหลายเรื่องด้วยกัน ทำให้เขาสั่งปลดรัฐบาลชุดหนึ่งเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และรัฐบาลชุดต่อมาก็เพิ่งลาออกเมื่อเดือนที่แล้วเนื่องจากคาดว่าจะถูกลงมติไม่ไว้วางใจ
ส่วนประชาคมโลกซึ่งเคยฝากความหวังกับประเทศประชาธิปไตยหน้าใหม่แห่งนี้ต่างออกมาประณามการรัฐประหาร ไม่ว่าจะเป็นสหประชาชาติ หรือสหภาพแอฟริกา รวมทั้งสหรัฐฯ และไนจีเรียซึ่งเป็นพี่ใหญ่ในภูมิภาคแอฟริกา
“นโยบายของเราก็คือ การกระทำดังกล่าวอาจส่งผลกระทบอย่างหนักต่อความช่วยเหลือและความร่วมมือของเราต่อมอริเตเนีย” รัสเซลล์ บรู๊คส์ โฆษกสำนักงานกิจการแอฟริกันของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าว
มอริเตเนียนั้นเป็นผู้ผลิตน้ำมันหน้าใหม่ล่าสุดของทวีปแอฟริกา แม้ว่าปริมาณน้ำมันยังต่ำกว่าที่คาดหวังไว้ก็ตาม แต่มอริเตเนียก็กำลังเปิดให้สัมปทานการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติ และดึงดูดนักลงทุนจำนวนมากเข้าไปลงทุนในแหล่งแร่เหล็กอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น