xs
xsm
sm
md
lg

ความเชื่อเรื่อง ‘รัฐชาติ’กับ ‘การปล้นโลกยุคใหม่’ (1)

เผยแพร่:   โดย: ยุค ศรีอาริยะ

ผลงานชิ้นที่แล้ว ผมเขียนเรื่อง วิวาทะเขาพระวิหาร โดยชี้ว่า การวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ไทยที่ได้รับอิทธิพลหรือรับแนววิเคราะห์มาจากโลกตะวันตกเรื่องรัฐชาติ และย้ำเน้นความแตกต่างทางชนชาติแนวคิดนี้มีส่วนทำให้เราเข้าใจ ‘ตัวตน’ หรือ ‘ประวัติศาสตร์’ ของความเป็นไทยในอดีตที่ตายตัว แปรเปลี่ยนไม่ได้

คนไทยในอดีตก็คือ ชาวสยาม หรือ เสียม หรือ คนในชนชาติไต จะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ ส่วนฝ่ายกัมพูชาคือ ขอม ไทยกับขอมจึงแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง และต้องทำสงครามสู้รบกัน

วันนี้ พอเราหยิบประวัติศาสตร์กัมพูชามาอ่าน จะพบว่า ‘อารยธรรมกัมพูชา’ มีรากมาจากนครวัด และเมื่อหยิบประวัติศาสตร์ไทยขึ้นมาอ่านบ้าง ก็พบว่า ‘อารยธรรมของไทย’ เริ่มต้นมาจากอาณาจักรสุโขทัย

เราไม่เคยตระหนักว่า นี่คือการเขียนประวัติศาสตร์ ‘ความเป็นขอม’ และ ‘ความเป็นไทย’ จากมุมมองและแนวคิดทางโลกตะวันตก แบบแยกเขาแยกเรา

เราไม่เคยคิดว่าทั้ง ‘ไทย’ และ ‘กัมพูชา’ อาจจะมีฐานกำเนิดมาจากวัฒนธรรมนครวัดด้วยกันทั้งคู่

ฐานคิดแบ่งแยกเขาและเราแบบที่ชัดเจนและเด็ดขาดเช่นนี้ มีที่มาจากแนวคิดในเชิงประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของบรรดาชนเผ่าต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นรากที่มาของวัฒนธรรมตะวันตก

บรรดาชนเผ่าเหล่านี้ก่อกำเกิดขึ้น หรืออาศัยอยู่บนพื้นที่ที่ไม่ค่อยอุดมสมบูรณ์มากนัก อย่างเช่นในเขตหนาว หรือเขตทะเลทราย ความไม่อุดมของพื้นที่ทำให้ชนเผ่าต่างๆ ต้องทำสงคราม ต่อสู้ แย่งชิงพื้นที่ที่อุดม และปล้นชิงทรัพยากรจากชนเผ่าอื่น

ถ้าเราดูหนังเรื่อง เจงกิสข่าน จะเข้าใจที่มาของสายคิดทางวัฒนธรรมแบบนี้ ที่ต้องอพยพโยกย้าย มีชีวิตอยู่กับการสู้รบ การปล้นชิง และสงครามตลอดเวลา

วัฒนธรรมสายนี้มองโลกแบบแยกเขา แยกเรา แบ่งเป็นชนเผ่า เป็นชนชาติที่แน่นอน และเป็นที่มาของความเชื่อเรื่อง ‘รัฐชาติ’ หรือ ‘ประเทศที่มีพรมแดน’ แน่นอน

แต่ฐานวัฒนธรรมที่เรียกว่า ไทย ขอม มอญ ก่อกำเนิดขึ้นบนสายวัฒนธรรมลุ่มน้ำ มีวิถีชีวิตอยู่ในเขตหรือบนพื้นที่ลุ่มน้ำซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์อย่างยิ่ง

ในสมัยโบราณ จำนวนพื้นดินที่อุดมมีมาก มากกว่าจำนวนผู้คนที่อาศัยอยู่ การต่อสู้เพื่อช่วงชิงพื้นที่และทรัพยากรจึงไม่เกิดขึ้นมากนัก คนเหล่านี้มีชีวิตวัฒนธรรมที่ค่อนข้างสงบ มีการผสมประสานกันทางชนชาติ และวัฒนธรรมค่อนข้างสูง

เกือบทุกพื้นที่ในแต่ละลุ่มน้ำ หรือในแต่ละเมือง เราจะพบคนต่างชนชาติอาศัยอยู่ร่วมกัน แต่งงานกัน มีทั้งที่นับถือศาสนาหรือความเชื่อเดียวกัน หรือต่างกัน ทุกคนล้วนใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน ราวว่า ทุกคนคือญาติพี่น้องกัน และสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่างกันได้

วัฒนธรรมสายน้ำจึงเป็นที่มาของวัฒนธรรมแบบเปิด และวัฒนธรรมแบบผสมประสาน รวมทั้งเป็นที่มาของวัฒนธรรมแบบบ้านพี่เมืองน้อง

บรรดาชุมชนตามลุ่มน้ำจึงเปิดรับวัฒนธรรมจากที่ต่างๆ และแปรเปลี่ยนไปตามความรุ่งเรืองของวัฒนธรรมซึ่งรุ่งเรืองขึ้นในแต่ละช่วงประวัติศาสตร์

วัฒนธรรมที่รุ่งเรือง ซึ่งก่อตัวขึ้นในแต่ละช่วงก็ไม่จำเป็นต้องมีฐานกำเนิดในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เอง แต่สามารถก่อเกิดขึ้นจากดินแดนที่อยู่ห่างไกลได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก อินเดีย และจีน

‘ความเป็นมอญ’ และ ‘ความเป็นขอม’ ในอดีตจึงเชื่อมกับ ‘ความเป็นอินเดีย’ ทางวัฒนธรรมในแต่ละช่วงประวัติศาสตร์

ทั้ง ความเป็นมอญ และความเป็นขอม เมื่อก้าวสู่ช่วงรุ่งเรืองสูงสุดก็สามารถพัฒนากลายเป็น ‘ใจกลาง’ หรือ ‘ศูนย์กลาง’ ทางวัฒนธรรมของผู้คนและชนชาติต่างๆ ในดินแดนแถบนี้ได้เกือบทั้งหมด

วัฒนธรรมในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของสายวัฒนธรรมโลก และแปรเปลี่ยนไปตามพลวัตของวัฒนธรรมโลกโบราณ และยังกลายเป็นศูนย์สำคัญในการผลิตซ้ำวัฒนธรรมโลกในสมัยโบราณ (โลกที่ไร้พรมแดนทางวัฒนธรรมมาตั้งแต่ยุคโบราณกาล)

ดังนั้น การเข้าใจการเคลื่อนตัวของประวัติศาสตร์วัฒนธรรมในกรอบของประเทศ (รัฐชาติ) และกรอบชนชาติที่ตายตัว จึงจำกัดอย่างยิ่ง

ในผลงาน วิวาทะเขาพระวิหาร ผมจึงเสนอความคิดว่า “ไทย คือมอญในยุคทวารวดี และสามารถแปรเปลี่ยนมาบริโภควัฒนธรรมขอมในยุคที่นครวัดรุ่งเรือง และต่อมาก็แปรเปลี่ยนเป็นสายวัฒนธรรมแบบพุทธ และพราหมณ์แบบอยุธยา ในยุคที่อยุธยารุ่งเรือง”

หากเข้าใจเช่นนี้ เขาพระวิหาร นครวัด และปราสาทหินทั้งหมด ก็เกี่ยวพันโดยตรงกับการเกิดก่อขึ้นของวัฒนธรรมที่เรียกว่า ‘ไท หรือ เสียม’ ที่มีมาจนถึงทุกวันนี้

สังคมศาสตร์ในกรอบ ‘รัฐชาติ’ หรือ ‘ประเทศ’


กรอบคิดเรื่อง ‘รัฐชาติ’ ไม่เพียงแต่สร้างมายาคติต่อการเข้าใจเรื่อง ‘ความเป็นไทยในอดีต’เท่านั้น ยังสามารถสร้างมายาคติต่อการเรียนรู้และการศึกษาเรื่องราวต่างๆ ในโลกปัจจุบัน

ไม่นานมานี้ ผมต้องไปวิจารณ์ผลงานทางสังคมศาสตร์ชิ้นหนึ่ง งานชิ้นนี้ดูไม่ต่างจากงานวิทยานิพนธ์ทั่วไป (ทั้งวิทยานิพนธ์ปริญญาโท และปริญญาเอก) วิทยานิพนธ์เหล่านี้ล้วนวิเคราะห์เรื่องราวต่างๆ ภายในกรอบว่าด้วย ‘ประเทศไทย’ หรือ ‘รัฐไทย’

นี่คือ มายาศาสตร์แบบหนึ่งในนามของสังคมศาสตร์ และสะท้อนถึงความล้มเหลวเกือบสิ้นเชิงของบรรดางานวิทยานิพนธ์ทางสังคมศาสตร์ที่ถูกผลิตขึ้นมาในประเทศไทย

เรื่องราวของโลก (หรือระบบโลก) อาจจะพูดไว้บ้างในบทแรก คล้ายกล่าวอ้างถึงในเชิงบทนำของงานเท่านั้น

อย่างเช่นในบทนำ หรือบทแรก ผู้เขียนจะเริ่มด้วยการกล่าวว่า โลกปัจจุบันกำลังเคลื่อนตัวสู่ช่วงโลกาภิวัตน์ และอธิบาย ‘โลกาภิวัตน์’ ว่าคืออะไรอย่างคร่าวๆ แล้วก็จบกันไป หลังจากนั้น ก็หันกลับมาวิเคราะห์เรื่องราวที่ก่อเกิดขึ้นในประเทศไทยราวกับว่า นี่คือความจริง 2 ตอนที่เชื่อมกันเท่านั้น แต่ไม่ได้ผนวกเป็นหนึ่งเดียวกัน

เราไม่ตระหนักว่า ทุกวันนี้ ‘ความจริงในชุดที่เรียกว่าระบบโลก’ กับ ‘ความจริงที่เรียกว่าประเทศไทย’ คือ สองความจริงที่ซ้อนทับกันและเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ หรือจะกล่าวว่า ประเทศไทยได้กลายเป็นส่วนที่แยกไม่ออกจากระบบโลกไปแล้ว.....และไปนานแล้ว

การเรียนรู้โลกแบบแยกส่วน แยกเฉพาะประเทศไทยนี้ ส่งผลให้นักวิชาการไทยปัจจุบันไม่สามารถเข้าใจความสำคัญของระบบโลก และความซับซ้อนของวิกฤตการณ์ที่ก่อเกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน

นอกจากนี้ ความไม่เข้าถึงความสลับซับซ้อนของระบบโลกและวิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ส่งผลให้เราคิดแก้ปัญหาอะไรแบบง่ายๆ

บางกลุ่มที่รักชาติมากๆ ก็คิดกันง่ายๆ ว่า ‘แค่ก่อรัฐประหารครั้งใหม่ ตั้งรัฐบาลใหม่ คิดการเมืองใหม่ เอาคนดีเข้ามาปกครอง แล้วประเทศจะรุ่งเรืองขึ้นได้อีกอย่างง่ายๆ’

รัฐประหาร 19 กันยา ได้สะท้อนมุมกลับต่อความเชื่อเรื่องคนดี และแก้ปัญหาแบบง่ายๆ
นอกจากนี้ ความล้มเหลวของรัฐประหาร 19 กันยา มีส่วนช่วยทำให้ระบอบทักษิณฟื้นกลับมาอีกครั้งหนึ่ง

ปัจจุบัน เราต้องตระหนักว่าโลกนี้ คือระบบโลกที่เป็นหนึ่งเดียวกัน เรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นล้วนมีความสลับซับซ้อนและยากจะแก้ไข

วันนี้ทุกปัญหาวิกฤตได้กลายเป็นปัญหาที่เกินว่ากรอบประเทศ ปัญหาที่ประชาชนคนไทยเจอก็คือ ปัญหาที่คนเวียดนาม คนจีน และคนอเมริกันต้องเผชิญ

ปัจจุบัน วิกฤตโลกทุกกระแสได้กลายเป็น ‘วิกฤตร่วมของคนทั่วโลก’
วันนี้ ไม่มีที่ไหนที่ไม่ต้องเผชิญวิกฤตสิ่งแวดล้อม และไม่มีที่ไหนในโลกที่ไม่เผชิญวิกฤตเศรษฐกิจ เริ่มจากน้ำมันราคาแพง วิกฤตเงินเฟ้อ และตามด้วยวิกฤตข้าวยากหมากแพง

ในเวลาเดียวกัน วิกฤตเศรษฐกิจที่หนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ ก็นำสู่การผันผวนทางการเมืองในระดับประเทศ จนกล่าวได้ว่า บรรดารัฐในโลกที่สามกำลังจะต้องเผชิญวิกฤตการเมืองที่ปั่นป่วนและวุ่นวาย

ที่สำคัญ ไม่มีที่ไหนในโลกที่ไม่ต้องเผชิญกับวิกฤตวัฒนธรรม (การแพร่ขยายของวัฒนธรรมน้ำเน่า ยาเสพติด ความรุนแรง และการค้ามนุษย์) พร้อมๆ กับการขยายตัวขึ้นของวิกฤตด้านสุขภาพ

สิ่งที่ไม่เหมือนกันก็เพียงแต่ว่า แต่ละประเทศจะมีความรุนแรง และมีลักษณะเฉพาะของวิกฤตที่แตกต่างกันไปบ้างเท่านั้น

นี่คือ สภาวะที่โลกทั้งใบเผชิญวิกฤตที่คล้ายกัน และเป็นวิกฤตที่ซ้อนทับกัน หนุนเนื่องซึ่งกันและกัน แบบหลายวิกฤตในเวลาเดียวกันเกือบทั่วทุกมุมโลก

นี่สะท้อนว่า ระบบโลกทั้งใบกำลังก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่


เวลาที่เกิดวิกฤตขนาดใหญ่ขึ้น คนไทยส่วนหนึ่งมักจะชอบหาแพะมารับบาป
ในกรณีของประเทศไทย แพะตัวแรกคือ คุณทักษิณ และระบอบทักษิณ แพะอีกตัวหนึ่งคือ อำมาตยาธิปไตย

บางฝ่ายเชื่อว่า ถ้าสามารถจัดการคนเพียงคนเดียว เรื่องราวทั้งหลายก็คงจะ...จบลง
จริงหรือ? หาก “ฆ่า” ...........วิกฤตที่รุนแรงทุกด้านจะจบสิ้นลง

บางฝ่ายก็หันไปโทษว่า พลังที่ล้าหลังที่สุดซึ่งสกัดกั้นการพัฒนาการของสังคมไทยและกดขี่ขูดรีดประชาชนไทยหนักหน่วงที่สุดคือ พวกเจ้า และพวกอำมาตยาธิปไตย

จำได้ว่าเคยมีเพื่อนคนหนึ่งถามผมเรื่องนี้ เพราะเขาชักไม่แน่ใจว่ารากของปัญหาคือ ระบอบทักษิณ หรือว่าคือ ระบอบอำมาตยาธิปไตย กันแน่

ผมตอบว่า
“แนวการมองหาแพะแบบนี้ ดูท่าจะหลงวิเคราะห์ระบบเศรษฐกิจการเมืองไทยภายใต้กรอบประเทศไทยอยู่นะ”

กล่าวง่ายๆ คือ คนไทยยังมองโลกในกรอบรัฐชาติ หรือประเทศไทยอยู่

ผมย้อนถามเพื่อนกลับไปว่า
“ปัจจุบัน เราสามารถเข้าใจการเมืองไทย เศรษฐกิจไทย และวัฒนธรรมไทยเฉพาะในกรอบประเทศไทยได้จริงๆ หรือ”

เพื่อนตอบว่า
“น่าจะไม่ได้”

ผมขยายต่อความ ว่า
บรรดานักสังคมศาสตร์ไทยจะวิเคราะห์ภายใต้กรอบคำว่า ‘ไทย’ อยู่เสมอ หากเราคิด หรือวิเคราะห์สังคมไทยภายใต้กรอบ ‘ไทย’ นี้ เราอาจจะได้คำตอบอย่างหนึ่ง แต่ถ้าคิดในกรอบระบบโลก เราอาจจะได้คำตอบอีกอย่างหนึ่ง

ปัจจุบัน ถ้าจะเข้าใจประเทศไทย ก่อนอื่น เราอาจจะต้องเดินออกจากกรอบ ‘ไทย’ เปิดมุมมองโลกให้กว้างที่สุด แล้วจึงหันกลับมามองที่ประเทศไทย

ถ้าเราศึกษาเรื่องระบบโลก เราจะพบว่า ‘ทุนโลก’ ที่เรียกว่าโลกาภิวัตน์ คือพลังสำคัญที่สุดซึ่งกำลังแผ่อำนาจครอบโลก และปล้นโลกใบนี้ทั้งใบ

คิดง่ายๆ ปัจจุบันราคาน้ำมันแพง เกิดวิกฤตเงินเฟ้อและฝืดในเวลาเดียวกัน
ใครเล่าที่อยู่เบื้องหลังการขึ้นของราคาน้ำมัน?
ใครเล่าหากำไรจากความทุกข์ของคนทั่วโลก?
วันนี้ มีการปั่นราคาวัตถุดิบ ปั่นราคาข้าว และปั่นราคาพืชผลของโลกอีก


ใครเล่าได้กำไร?

คำตอบคือ บรรดากองทุนเก็งกำไรระดับโลก รวมทั้งบรรดาบรรษัทยักษ์ใหญ่ที่สามารถผูกขาดระดับโลก

ปัจจุบัน ‘ทุนเก็งกำไรไร้พรมแดน’ สามารถหากำไรจากการก่อให้เกิดวิกฤต
ยิ่งวิกฤต ยิ่งเพิ่มกำไร

วิกฤตเหล่านี้ในเวลาเดียวกัน ได้กลายเป็นพลังอำนาจที่สามารถสกัดพัฒนาการของประเทศยากจนทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย
ใครเล่า คือ พลังที่อยู่เบื้องหลังการก่อวิกฤต?
ใครเล่าปล้นโลก และสกัดพัฒนาการของประเทศไทย?
ประชาชนไทยเองเคยได้รับบทเรียนประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญคือ ปรากฏการณ์ฟองสบู่พอง และแตกเมื่อปี 2540

ใครเล่าได้กำไรมหาศาลในช่วงที่ฟองสบู่พองตัว และใครเล่าได้กำไรอีก และอยู่เบื้องหลังการแตกครั้งนั้น !

คำตอบคือ ทุนเก็งกำไรที่ไร้พรมแดนได้ไปเต็มๆ
มีคนไทยบางกลุ่มก็ได้ประโยชน์เช่นกัน อย่างเช่น กลุ่มทุนที่คนไทยเรียกว่า ทักษิโณมิกส์ แต่หากจะตอบว่า ฝ่ายทักษิโณมิกส์ คือต้นตอของหายนะทั้งหมด ก็คงจะผิด

หลังรัฐประหาร19 จะกล่าวหาว่าฝ่ายอำมาตยาธิปไตยชั่วร้าย เลวทรามสุดๆ เพราะไปสกัดกั้นพัฒนาการ ก็ผิดอีกเช่นกัน เพราะการรัฐประหารครั้งนั้นเป็นเพียงปฏิกิริยาตอบโต้ หรือสกัดกั้นการขยายอำนาจของฝ่ายโลกาภิวัตน์ และทักษิโณมิกส์เท่านั้น

วันนี้ รากของวิกฤตโลกและวิกฤตไทยมีที่มาที่เดียวกัน ซึ่งก่อเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการขยายตัวของกระแสโลกาภิวัตน์

กระแสโลก ‘กระแสโลกาภิวัตน์’ นี้ ในเวลาเดียวกันคือ การปล้นโลกครั้งใหม่ ในนามของการก่อเกิดอารยธรรมโลกใหม่ ที่อ้างว่าจะนำโลกสู่ความรุ่งเรืองสูงสุด (ยังมีต่อ)

กำลังโหลดความคิดเห็น