xs
xsm
sm
md
lg

หมักบิดเบือนกลบเรื่องฉาว พาลพันธมิตรฯใส่เสื้อลูกจีนรักชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน- "หมัก" ตาขวาง ด่าสื่อแต่เช้าหลัง "แก๊ง3เกลอหัวกลม" เข้าไปเป่าหู เดือดหัวข่าวผู้จัดการ แถมพาลกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ใส่เสื้อ"ลูกจีนรักชาติ" อ้างทำเกินขอบเขต สั่งสันติบาลหาช่องจัดการ "สนธิ" เฉ่ง"หมัก"เฉาฉุ่ย! พูดจาบิดเบือน สร้างความแตกแยกในชาติ ย้ำลูกจีนรักชาติ ดีกว่าลูกพระยาขายชาติ ท้าให้มาจับคนใส่เสื้อ"ลูกจีนรักชาติ" ขณะที่ตำรวจงงไม่รู้จะเอากฎหมายข้อไหนไปจับ ด้าน"คำนูณ" ระบุร่าง กม.จัดระเบียบการชุมนุมฯ เป็น กม.เผด็จการ ที่แม้แต่นปก. ยังค้าน เพราะขัดหลักนิติรัฐ เลือกปฏิบัติ ห้าม "ม็อบทั่วไป" แต่ไม่ห้าม"ม็อบเชลียร์" แฉเคยโดน สนช.ตีตกมาแล้ว เพราะจำนนด้วยเหตุผล ไม่ใช่องค์ประชุมไม่ครบ ฝ่ายค้านจวก"หมัก" พยายามหาเรื่องเบนประเด็น จากปัญหาทุจริต และความแตกแยกในพรรค ลั่นจะคัดค้าน กม.เผด็จการถึงที่สุด ขณะที่เลขาฯ กฤษฎีกาชี้ กม.นี้ขัดรัฐธรรมนูญ

เมื่อเวลา 09.10 น. วานนี้( 5 ส.ค.) นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เดินทางมาถึงตึกเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยก่อนเข้าห้องประชุม นายสมัคร ลงจากรถประจำตำแหน่ง และเดินตรงมาหาผู้สื่อข่าวและช่างภาพที่รอทำข่าว พร้อมกับกวาดตามองด้วยสีหน้าถมึงทึง จากนั้นได้โชว์หนังสือพิมพ์"ผู้จัดการรายวัน" พร้อมกับกล่าวว่า จะบอกให้รู้ว่า หนังสือพิมพ์ที่พาดหัว "หมัก’ติดหนวดเขียนเองรธน." จะบอกให้ฟังว่า ตนไม่ได้เป็นคนเขียนเองหรอก ไม่ต้องว่าใครหรอก เขากำลังปรับปรุงแก้ไข จะถามว่าถ้าเขาปรับปรุงแก้ไขอย่างนี้ คนที่ชอบปลุกระดม เดือดร้อนไหม ต้องการถามเท่านี้เอง และจะบอกให้ฟังด้วยว่า คนที่กำลังนั่งเขียนรัฐธรรมนูญต่างหาก เวลานี้ที่จะขอเตือนเอาไว้ ที่กำลังจะปลุกระดมให้ถึงขนาด ภายใน 7 วัน คนที่เคยไปเชียงใหม่แล้วไม่ไป แล้วนั่งเขียนรัฐธรรมนูญ จะเอาให้เสร็จ ไอ้ 30 / 70 และไอ้คนปลุกระดมบนเวที ที่เดี๋ยวนี้ ถึงขนาดเอาเรื่องเชื้อชาติกันมาแล้ว

"ใส่เสื้อปลุกระดม ลูกจีนมากู้ชาติ ผมกำลังให้สันติบาลเขาดำเนินการในเรื่องนี้ มันเกินเขตเกินขอบกันไปแล้ว ผมขอเตือนเอาไว้เท่านั้น เดี๋ยวจะว่าไม่รู้ กำลังนี้จะให้เขาจัดการเรื่องคนที่ดำเนินการ คือเวลานี้จะเอากันให้จบสิ้น นั่งเขียนรัฐธรรมนูญแล้วจะเอากันให้พังให้หมด บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร ไม่คิดถึงกันแล้ว ผมขอเตือนให้รู้ไว้เท่านั้น" นายสมัคร คำรามขู่

ผู้สื่อข่าวถามว่า ข้อความจากเอกสารที่นำมาแจกผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 4 ส.ค. เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 ได้มาจากไหน นายสมัคร กล่าวว่า เป็นข้อความที่เขาจะเสนอในที่ประชุม เป็นธรรมดา ทำไม ใครจะคิดปรับปรุงเสนออะไรไม่ได้หรือ มีกฎหมายอะไรห้ามเสนอหรือ

เมื่อถามว่าส.ส.เป็นผู้เสนอ หรือเป็นร่างจากฝ่ายไหน สามารถเปิดเผยได้หรือไม่ นายสมัครกล่าวว่า ทำไมต้องบอกว่าเป็นใคร ต้องใส่ชื่อกำกับคนเสนอไว้ด้วยหรือ เมื่อถามว่า จะให้สันติบาลดำเนินการกับกลุ่มพันธมิตรฯ ใช่หรือไม่ นายสมัคร กล่าวปฏิเสธว่า ไม่ใช่ดำเนินการกับพันธมิตรฯ หรอก เวลาที่ใครปราศรัย เวลาที่ใครขึ้นไปพูดปราศรัยบนเวที ใส่เสื้อเรียก เอาลูกจีน มาช่วยกอบกู้ชาตินั้น กำลังให้เขาสอบดูว่า มันจะเกินขอบเขตหรือเปล่า แล้วคนที่มาเขียนหนังสือบอกว่า ตนร่างรัฐธรรมนูญเอง จะขอเตือนคนที่กำลังร่างไว้ 30/70 ที่จะเอากันให้ได้ ภายใน 3 วัน 7 วัน

"ผมขอให้รู้ไว้ว่า เรารู้ทุกอย่างที่กำลังดำเนินการอยู่ แล้วผมกำลังให้ตำรวจเขาจัดการในเรื่องนี้ คือจะเอากันให้บ้านเมืองพังกันโดยไม่ดูหัว ดูหาง ไม่ดูอะไรกันเลย ผมเตือนไว้เท่านั้น เดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน" นายสมัคร กล่าวย้ำ พร้อมกับเดินขึ้นตึกประชุม ครม.โดยไม่ตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่จี้ถามถึงการดำเนินการกับกลุ่มพันธมิตรฯ ทั้งนายสนธิ ลิ้มทองกุล นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ และนายพิภพ ธงไชย แกนนำกลุ่ม ทีเดียวเลยหรือไม่

**"3 เกลอ"ย่องเป่าหู"หมัก"**

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 08.00 น. ก่อนที่นายสมัคร จะลงมาพบผู้สื่อข่าวนั้น นายวีระ มุสิกพงศ์ นายจตุพร พรหมพันธ์ และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตแกนนำ นปก. ในฐานะผู้ดำเนินรายการ"เรื่องจริงวันนี้" ทางสถานีโทรทัศน์ เอ็นบีที ได้เดินทางเข้าพบนายสมัคร ที่ตึกไทยคู่ฟ้า เป็นเวลากว่า 1 ชั่วโมง ซึ่งภายหลังการเข้าพบทั้ง 3 คนลงมาจากตึกด้วยสีหน้าบอกบุญไม่รับ ขณะที่ผู้สื่อข่าวพยายามซักถามถึงสาเหตุการเข้าพบครั้งนี้ ทั้งหมดต่างปฏิเสธ บอกเพียงว่า มาเยี่ยมเยือนตามปกติ คุยเรื่องงาน ไม่มีอะไรมาก ส่วนนายวีระ อ้างว่ามาคุยเรื่องการจัดงาน 116 วัน งานวันแม่

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ แหล่งข่าวทำเนียบฯ เปิดเผยว่านายวีระได้เข้าพบเพื่อแจ้งเตือนให้นายกฯทราบว่า ขณะนี้มีกลุ่มที่อยู่เบื้องหลังพันธมิตรฯ กำลังเคลื่อนไหวที่จะยึดอำนาจรัฐบาล ถึงขั้นที่ว่า มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเตรียมไว้แล้ว เพราะรัฐธรรมนูญปี 50 ต้องถูกฉีกแน่นอน โดยระบุว่า เป็นกลุ่มบุคคลเดิมที่เคลื่อนไหวก่อนหน้านี้ และมาพูดคุยถึงกรณีที่ กลุ่มพันธมิตรฯ ปลุกระดมคนไทยเชื้อสายจีนกู้ชาติ ซึ่งทันทีที่พูดเรื่องนี้ นายกฯได้กล่าวว่า "เรื่องนี้พวกคุณไม่ต้องพูด เดี๋ยวผมพูดเอง"

จากนั้นนายสมัคร ได้เดินทางไปยังตึกสำนักเลขาธิการครม. และไปพบนักข่าวก่อนเข้าร่วมประชุม ครม.

**"สนธิ"เฉ่ง"หมัก"เฉาฉุ่ย!**

เมื่อเวลาประมาณ 21.30 น.วันเดียวกันนี้ นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ขึ้นเวทีที่สะพานมัฆงานฯ โดยเริ่มถามผู้ร่วมชุมนุมว่า ลูกจีน อยู่ที่ไหน และลูกไทยอยู่ที่ไหน ลูกแขก ลูกญวนอยู่ที่ไหน จากนั้นได้เล่าย้อนอดีตถึงประวัติของครอบครัวของตนเองตั้งแต่สมัยสมัยที่ก๋งอพยพมาจากประเทศจีน มาตั้งรกรากในจ.สุโขทัย และแต่งงานกับย่า ซึ่งเป็นคนไทย และมีการเปลี่ยนนามสกุลเป็นลิ้มทองกุล ซึ่งมีการคงความเป็นแซ่ลิ้มเอาไว้

นายสนธิ ยังเล่าให้ฟังถึงความภาคภูมิใจในความเป็นเชื้อจีน แต่ทุกคนก็เป็นคนไทย อยู่ในเมืองไทย และยกตัวอย่างสมัยเรียนหนังสือที่อัชสัมชัญ ศรีราชา หรือสมัยเรียนที่สหรัฐฯ ว่ามีเพื่อต่างเชื้อชาติมากมายทั้ง แขก จีนไทย ฝรั่ง แต่ทุกคนก็เป็นคนไทย

นายสนธิ กล่าวว่า ทำไมต้องเป็นคนจีนรักชาติ เพราะตนเองขอเป็นตัวแทนของคนธรรมดาที่ทำมาค้าขายโดยสุจริต และเป็นตัวแทนคนจีนมาสู้กับนักการเมืองที่เป็นลูกจีนสัตว์นรก ในรัฐบาลนี้ ซึ่งเหมือนกับลูกแขก ลูกไทยก็มาช่วยกัน

"คุณสมัครคุณมาพูดให้แบ่งแยกทำไม เพราะถ้าลูกจีนรักชาติ อย่างนั้นลูกพระยา มันก็ขายชาติ และไม่ว่าจะเป็นลูกอะไรก็ตาม ขอให้รักชาติก็พอแล้ว ดังนั้นเลิกพูดได้แล้วว่า พ่อผมเป็นพระยา มันจะมีประโยชน์อะไร" นายสนธิ ระบุ และว่าเวลานี้ลูกจีนที่โบ๊เบ๊ กำลังทำเสื้อลูกพระยาขายชาติออกมาแจกแล้ว

"ยิ่งอยู่ก็ยิ่งเห็นความถ่อย พูดได้ไงว่า ใส่เสื้อลูกจีนแล้วทำให้แตกแยก คุณสมัคร ภาษาแต้จิ๋วบอกว่า เฉาฉุ่ย " นายสนธิ ระบุ และว่า คนที่มาร่วมชุมนุมที่นี่ไม่ว่าฟ้าถล่มทลายเขาก็จะไม่ถอยเพราะว่ายังมี นายสมัคร เป็นนายกฯอยู่ พร้อมกับย้ำว่า ลูกจีน ลูกไทย ลูกแขก หรือลูกไหนๆ รักชาติดีกว่าลูกพระยาขายชาติ

จากนั้น นายสนธิ ได้ร้องเพลงจีน ที่เป็นภาษาจีนกลาง ที่มีความหมายว่าทำไมต้องร้องให้ให้กับประเทศไทย เพราะบ้านเมืองซวยเพราะ มีนายกฯ ชื่อสมัคร และย้ำว่าคนไทยมีหลายเชื้อชาติ แต่รักชาติมากกว่า นายสมัคร และเวลานี้ไม่รู้จะทำอะไรแล้ว ต้องมาหาเรื่องแม้กระทั่งเสื้อยืดคอกลมสีขาว

**วิปรัฐบาลงงนายกฯไม่เคยปรึกษา**

นายสามารถ แก้วมีชัย ประธานวิปรัฐบาล กล่าวถึงกรณีที่ นายสมัคร ออกมาเปิดประเด็นเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 63 เป็น "บุคคลย่อมมีสิทธิ เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ และปราศจากอาวุธ โดยไม่มีการสร้างข้อมูลเท็จเอามากล่าวหา ไม่ปลุกระดมประชาชนให้หลงผิด ไม่ใช้สื่อโฆษณาชวนเชื่อ ไม่บังคับ และไม่จ้างวานกลุ่มบุคคลใดๆ ให้มาร่วมชุมนุม" ว่า วิปรัฐบาล และคณะอนุกรรมการศึกษา คณะอนุกรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญของวิปรัฐบาล ที่มีนายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ไม่เคยหารือประเด็นนี้มาก่อน แต่เมื่อนายกฯ นำเสนอเรื่องนี้วิปรัฐบาล ก็จะหารือกันในการประชุมวันนี้ ( 6 ก.ค.) แต่จากการติดตามถ้อยคำ มาตรา 63 ที่นายกฯ ได้ยก ร่างนั้น โดยส่วนตัวเห็นว่า การเขียนรัฐธรรมนูญ จะต้องเขียนให้กระชับ กระทัดรัด ไม่ใช้ถ้อยคำฟุ่มเฟือย เพราะหากเขียนอะไรในรัฐธรรมนูญมากกินไป อาจจะทำให้การปัญหาในการปฎิบัติ และการแก้ไขได้ ดังนั้นควรจะเขียนกฎหมายอื่นขึ้นมารองรับมากกว่า

" รัฐธรรมนูญถือเป็นหน้าตาของประเทศ ซึ่งคนอื่นจะเห็นถึงสิทธิ เสรีภาพ ของประชาชนคนไทย แม้ว่าขณะนี้สถานการณ์บ้านเมืองจะมีปัญหาก็ตาม แต่ถ้าไปเขียนอะไรในรัฐธรรมนูญมากเกินไป จะเป็นการสะท้อนปัญหาของประเทศให้คนอื่นดูด้วย" ปธ.วิปรัฐบาลกล่าว

**อ้างกม.สลายม็อบเรื่องบังเอิญ**

นายสามารถ ยังกล่าวถึงการที่นายจุมพฎ บุญใหญ่ ส.ส. สกลนคร พรรคพลังประชาชน เสนอร่าง พ.ร.บ. จัดระเบียบการชุมนุมในที่สาธารณะ ว่าได้สอบถามนายจุมพฎแล้ว ซึ่งก็ได้รับการยืนยันว่า เป็นเรื่องบังเอิญ ที่มาสอดรับกับแนวคิดของนายกฯพอดี ซึ่งวิปรัฐบาล จะมีการหารือว่า ร่างกฎหมายนี้ มีความจำเป็นที่จะต้องผลักดัน เป็นเรื่องด่วนหรือไม่ เพราะขณะนี้มี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญหลายฉบับ ที่จะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จ ตามกรอบเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนด ดังนั้น หากไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน ก็อาจชลอได้

**ยันยื่นแก้รธน.ไม่รอผลสรุปกมธ.**

นาย สามารถ ให้สัมภาษณ์อีกครั้ง ภายหลังการประชุม ร่างการแก้รัฐธรรมนูญ 50 ในส่วนของ ส.ส. พลังประชาชนว่า พรรคคงไม่รอให้กมธ. สรุปผลการศึกษารธน. แล้วเสร็จหากมีการขยายเวลาออกไปอีก ทั้งนี้หลังวันที่ 18 ส.ค. ทาง ส.ส.ในส่วนของพรรคพลังประชาชน จะยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 เข้าสภาฯอย่างแน่นอน โดยนำประเด็นที่สำคัญของผลการศึกษารธน.ที่ส่วนใหญ่ที่ส่วนใหญ่แล้วเสร็จแล้ว นำมาประกอบการร่าง รธน. เนื่องจากใน ส่วนของการขยายเวลานั้น เป็นเรื่องการปรับแต่งถ้อยคำเท่านั้น

**แฉกม.ติดหนวดเคยโดนสนช.ตีตก**

สำหรับ กรณีนายจุมพฏ บุญใหญ่ ส.ส.สกลนคร พรรคพลังประชาชน และคณะ ได้เสนอ ร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบการชุมนุมในที่สาธารณะ พ.ศ....เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรนั้น

นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ตนไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะเป็นกฎหมายที่ขัดแย้งกับปรัชญาการปกครองด้วยนิติรัฐ และมีลักษณะที่ปฏิเสธสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญของประชาชนแล้ว เงื่อนเวลาของการเสนอ ยังเป็นไปเพื่อแก้ปัญหาทางการเมืองให้กับรัฐบาลโดยตรง

"อันที่จริงน่าจะตั้งชื่อกฎหมายฉบับนี้เสียเลยว่า ร่าง พ.ร.บ.ห้ามพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยชุมนุมทางการเมือง และห้าม ASTV ถ่ายทอดสดการชุมนุม ก็จะตรงกว่า"

นายคำนูณ กล่าวด้วยว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ เป็นร่างเดียวกับที่ พล.ต.อ.อิสระพันธ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา อดีตรอง ผบ.ตร. และสนช. เป็นผู้เสนอเมื่อวันที่ 18 ก.ค.50 และได้มีการพิจารณาในที่ประชุมสนช. วาระแรก เมื่อวันที่ 15 ส.ค.50 ซึ่งสมาชิกสนช.ส่วนใหญ่ได้อภิปรายคัดค้าน อาทิ นายโคทม อารียา นางเตือนใจ ดีเทศน์ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ นายสมชาย แสวงการ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง รวมทั้งนายคำนูณ สิทธิสมาน และในที่สุด พล.ต.อ.อิสระพันธ์ ได้ขอถอนร่างออกไป โดยยังไม่มีการลงมติ

ดังนั้นการที่นายจุมพฏ ให้สัมภาษณ์ว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นร่างเดียวกับที่ สนช.เคยเสนอ แต่ที่ประชุมสนช.ไม่ได้พิจารณา เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบนั้น จึงไม่ตรงกับความเป็นจริง เพราะได้มีการพิจารณาแล้ว แต่มีผู้คัดค้านจำนวนมาก และจำนนด้วยเหตุผล จนต้องถอนร่างออกไป

"ผมไม่เข้าใจว่า ก่อนหน้านี้เวลาเอ่ยถึง สนช. พรรคพลังประชาชนมักพูดว่า เป็นสภาเผด็จการ แต่ทำไมในกรณีนี้ คุณกลับหยิบเอาร่างกฎหมายจากสภาที่คุณเรียกว่า สภาเผด็จการ มาใช้ และจริงๆแล้ว ร่างกฎหมายนี้ แม้แต่สภาที่พวกคุณเรียกว่าสภาเผด็จการ ก็ยังไม่รับ"

นายคำนูณ กล่าวด้วยว่า ยังมีข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่ง ที่อยากจะให้พรรคพลังประชาชนรับทราบว่า ร่าง กฎหมายฉบับนี้ แม้แต่กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปก.) เองก็ยังคัดค้าน โดยได้เดินขบวนมายิ่นหนังสือต่อ ประธาน สนช. เมื่อวันที่ 15 ส.ค.50 โดยผูที่นำมายื่นคือ นายเมธาพันธ์ โพธิธีรโรจน์ ประธาน นปก.รุ่น 2 และนางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ไม่รู้ว่าวันนี้ อดีตแกนนำ นปก.ที่ได้ดิบได้ดีอยู๋ในรัฐบาลนี้ จะยังจำได้ และมีจุดยืนเดิมอยู่หรือเปล่า

**ห้ามม็อบต้าน-หนุนม็อบเชลียร์**

นายคำนูณ กล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ มีเนื้อหาที่ไม่ชอบด้วยเหตุ ด้วยผล ของปรัชญาประชาธิปไตยอยู่มากมาย ซึ่งตนได้เคยอภิปรายไว้อย่างกว้างขวางแล้ว เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 50

ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญที่อยากจะชี้ให้เห็นคือ ร่างกฎหมายนี้ มีการเลือกปฏิบัติ แบ่งการชุมนุมของประชาชนออกเป็นสองกลุ่ม โดยกลุ่มที่หนึ่ง เป็นประชาชนทั่วไป อยู่ในการบังคับของกฎหมาย จะชุมนุมในที่สาธารณะต้องขออนุญาต และได้รับอนุญาตเสียก่อน แต่กลับไปยกเว้นมิให้ใช้ปฏิบัติแก่ "การชุมนุมที่ทางราชการเป็นผู้จัด"

"ลักษณะการเลือกปฏิบัติเช่นนี้ ขัดกับสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองไว้ พูดภาษาชาวบ้านง่ายๆ คือ ห้ามม็อบทั่วไป แต่ไม่ห้ามม็อบเชลียร์ ที่ทางราชการเป็นผู้จัด" นายคำนูณ กล่าว

**"ชูศักดิ์"ไม่เลิกบิดเบือน**

นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กฎหมายที่นายจุมพฎเสนอ เป็นกฎหมายค้างในยุคของ สนช. ที่ไม่ผ่าน เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ ดังนั้นเราจึงนำเอาถ้อยคำมาทั้งหมด เพียงแต่เปลี่ยนชื่อเรื่องเท่านั้น โดยหลักการการชุมนุมในที่สาธารณะโดยสงบปราศจากอาวุธ เป็นหลักการที่เป็นเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ

"รัฐธรรมนูญปี 40 กับ 50 เขียนเหมือนกันว่า การชุมนุมขัดต่อประโยชน์สาธารณะ การใช้ที่สาธารณะ การใช้ทางสาธารณะของประชาชน เช่น ไปกีดขวางถนน ใช้ทางสาธารณะไม่ได้ โรงเรียนไม่สะดวก เขาจึงเขียนไว้ในวรรค สอง ว่า การจำกัดสิทธิ เสรีภาพ ตามวรรคหนึ่ง ให้กระทำได้เพื่อประโยชน์สาธารณะ นานาอารยะประเทศเขามีกฎหมายทำนองนี้ ว่าถ้าจะจัดชุมนุมให้ดำเนินการอย่างไร ต้องมีสถานที่ มีระยะเวลา ต้องมีข้อจำกัด ห้ามมีอาวุธ ห้ามดื่มสุรา เป็นต้น เป็นรายละเอียดที่ทุกประเทศเขาทำเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ที่วิจารณ์กันอยู่ประเด็นคือกฎหมายนี้ไม่ได้ไปจำกัดสิทธิ เสรีภาพ ของคนที่จัดการชุมนุม เพียงแต่เป็นกฎหมายที่ต้องการจัดระเบียบการชุมนุม ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยไม่กระทบต่อประโยชน์สาธารณะของประชาชน" นายชูศักดิ์กล่าว

นายชูศักดิ์ กล่าวต่อว่า ความจริงนายจุมพฎ เสนอมานานแล้ว แต่ตนเห็นว่า เมื่อมีการพูดเรื่อง มาตรา 63 ตนจึงบอกว่า บ้านเมืองควรจะมีกฎหมายนี้ โดยไม่ได้ไปตกลงอะไรกับนายจุมพฎ และไม่รู้ว่า นายจุมพฎได้เสนอไว้

เมื่อถามว่า แต่จังหวะมาสอดคล้องกับที่นายกรัฐมนตรี พูดเรื่องมาตรา 63 จึงดูเหมือนว่ารัฐบาลตั้งป้อมตอบโต้กลับทางกลุ่มพันธมิตรฯ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ไม่ใช่ เพียงแต่นายกฯ มองประเด็นของท่าน และเชื่อว่าท่านไม่ได้ดูรายละเอียดกฎหมายที่ค้างอยู่ เพียงแต่เห็นว่า การชุมนุมควรจะมีข้อจำกัดบ้าง เพราะไปกระทบผลประโยชน์ของประชาชนโดยทั่วไป ท่านเป็นนักกฎหมายเก่า ก็เขียนขึ้นมา แต่ท้ายที่สุด รายละเอียดก็จะไปมีอยู่ในกฎหมายประกอบ ที่ว่าการจัดการชุมนุมในที่สาธารณะของนายจุมพฎเข้าพอดี

**รัฐบาลเลือกตั้ง แต่ชงกม.เผด็จการ**

นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีต ส.ว. กล่าวว่าสมัยรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีการเสนอกฎหมายที่มีเนื้อหาคล้ายๆกัน คือห้ามชุมนุมบนทางหลวงทั่วประเทศ โดยมีเจตนาไม่ต้องการให้มีการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งในช่วงนั้นได้มีการเสนอศาลรธน. ตีความ ซึ่งศาลรธน.วินิจฉัยว่า การห้ามชุมนุม ขัดแย้งรัฐธรรมนูญว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ดังนั้น การเสนอร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบการชุมนุมในที่สาธารณะของพรรคพลังประชาชนในครั้งนี้ น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับความเห็นของนายสมัคร ที่กล่าวว่า ต้องการแก้ไขรธน. มาตรา 63 ที่ว่าด้วยเสรีภาพในการชุมนุม และสมาคม

ขณะเดียวกัน นายเจิมศักดิ์ ได้แสดงความแปลกใจที่ว่า รัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง แต่กลับเสนอกฎหมายที่มีเนื้อหาเป็นเผด็จการ

**นปช.ก็ยังรับไม่ได้กับกม.เผด็จการ**

นายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เสนอรัฐบาลให้ถอนร่างพ.ร.บ. ฉบับนี้ เพราะเห็นว่า หากมีกฎหมายลักษณะนี้จะเป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตย เพราะเป็นการห้ามชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชน รวมทั้งได้กำหนดให้ผู้ชุมนุม ต้องขออนุญาตจากรัฐบาล หากต้องการชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง และไม่มีประชาธิปไตยที่ไหนในโลกที่มีกฎหมายแบบนี้

นายสุธาชัย แสดงความกังวลด้วยว่าหากกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ จะเป็นการลิดรอนสิทธิการชุมนุมเรียกร้องขอความเป็นธรรมของประชาชน ที่ใช้การชุมนุมเพื่อต่อรองกับเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรม

อย่างไรก็ตาม การเสนอร่าง กฎหมายครั้งนี้ น่าจะมีสาเหตุมาจากที่รัฐบาล ต้องการแก้ปัญหาการชุมนุมที่ยืดเยื้อของกลุ่มพันธมิตรฯ แต่การออกกฎหมายห้ามการชุมนุม เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ เพราะเป็นการไม่ยอมรับสิทธิของประชาชน ในการชุมนุมตามระบอบประชาธิปไตย แม้ตนจะไม่เห็นด้วย กับการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯก็ตาม

** กฤษฎีกาชี้กม.สลายม็อบขัดรธน.**

คุณพรทิพย์ จาละ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ในฐานะอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวว่า กรณีที่ ส.ส.พรรคพลังประชาชน เสนอร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบการชุมนุมในที่สาธารณะพ.ศ.... นั้น เป็นเรื่องของส.ส.ไม่น่าเกี่ยวกับรัฐบาล เพราะหากมีการเสนอข้อกฎหมายที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 กฎหมายนั้นก็จะต้องตกไป เพราะมาตรา 63 เขียนไว้อย่างไร จะเป็นการออกกฎหมายเพื่อจำกัดเสรีภาพของประชาชนหรือไม่

**ตร.หนุน พ.ร.บ.จัดระเบียบม็อบ**

ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) พล.ต.ต.สุรพล ทวนทอง รองโฆษกตร. กล่าวถึง กรณีที่ ส.ส. เสนอ ร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบการชุมนุมในที่สาธารณะเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯพร้อมกับที่รัฐบาล ผลักดันการแก้รธน. มาตรา 63 ในประเด็นสิทธิการชุมนุมว่า เรื่องการแก้ไขกฎหมายเป็นหน้าที่ของส.ส. ส่วนการผลักดันการเสนอ พ.ร.บ การชุมนุมในที่สาธารณะที่ ตร.จะปรับปรุงแก้ไขจากร่างอันเก่า เพราะ ตร.เห็นว่ามีความจำเป็น แต่เมื่อทางรัฐบาลมีการผลักดันกฎหมายในลักษณะนี้เป็นการแสดงว่า หลายฝ่ายก็เห็นความสำคัญว่า ควรมีเครื่องมือในการควบคุมการชุมนุมตามสิทธิของประชาชน โดยเคารพสิทธิของประชาชนส่วนอื่นที่เห็นต่างด้วย

"ตร.เห็นด้วยกับแนวความคิดที่สมควรมีกฎหมาย หรือเครื่องมือที่จะมาควบคุมการชุมนุมให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และให้ประชาชนได้รับสิทธิต่างๆ อย่างเท่าเทียมกัน" รองโฆษกตร.กล่าว

**ตร.งงให้จับคนใส่เสื้อ"ลูกจีนรักชาติ"**

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่นายกฯ ให้ตำรวจสันติบาล ตรวจสอบกรณีที่มีผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ ใส่เสื้อที่มีขอความว่า"ลูกจีนรักชาติ" นั้น รองโฆษกตร. กล่าวว่า ยังไม่มีหนังสือคำสั่งในเรื่องนี้มาที่ตร.หรือ กองบัญชาการตำรวจสันติบาล อย่างไรก็ตามหากสั่งการมา ตำรวจก็ต้องตรวจสอบ แต่ว่าเข้าข่ายความผิดใดหรือไม่ คงยังไม่สามารถตอบได้ เพราะยังไม่เข้าข่ายความผิดชัดเจน ไม่เหมือนการใส่เสื้อที่มีรูปลามก ซึ่งผิดชัดเจน ทั้งนี้ต้องดูองค์ประกอบอื่นด้วย ซึ่งนายกฯ อาจมองรวมถึงการปราศรัย อย่างไรก็ตาม หากมีการตรวจสอบจริงต้องมาหารือกันในเรื่องข้อกฎหมายเสียก่อน

รองโฆษกตร. กล่าวว่าวันนี้ ตนจะไปชี้แจงกรณี ที่ชมรมคนรักอุดร ไล่ทำร้ายกลุ่มพันธมิตรฯ ที่จ.อุดรธานี ต่อคณะกรรมาธิการตำรวจสภาผู้แทนราษฎร อย่างไรก็ตาม ภายในสัปดาห์นี้จะได้รับทราบผลการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงของจเรตำรวจ

**"อภิสิทธิ์"ค้านกม.สลายม็อบถึงที่สุด**

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลจะผลักดันให้สภาพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ควบคุมการชุมนุม และแก้ไขรธน.มาตรา 63 ว่า เป็นการสร้างปมความขัดแย้งในสังคมขึ้นมาใหม่ จึงอยากให้รัฐบาลทบทวนท่าทีนี้ด้วย หากต้องการความสมานฉันท์

"ถ้าหยิบเรื่องนี้ขึ้นมา ก็ทำให้การเมืองติดหล่มอยู่กับความขัดแย้ง ตัวกฎหมายเอง ถ้าไม่แก้รัฐธรรมนูญ ก็ไม่น่าจะชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และเป็นกระบวนการที่ต้องตีความ ซึ่งก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา ผมเห็นว่า ขณะนี้การชุมนุมก็เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ส่วนผู้ได้รับผลกระทบ ก็ได้ใช้ช่องทางของศาลอยู่แล้ว โดยก่อนหน้านี้ก็มีคำพิพากษาของศาลที่มาช่วยจัดระเบียบการชุมนุม ก็เหมาะสมดีแล้ว ให้ฝ่ายตุลาการเป็นผู้กำหนดขอบเขต จะได้ไม่มีปัญหา เพราะถ้าต่อไปวันข้างหน้า ใช้ฝ่ายบริหารมาเป็นผู้ให้อนุญาตกำหนดทุกสิ่งทุกอย่างจะยิ่งเป็นปัญหามากขึ้น เพราะกลุ่มไหนที่มาชุมนุมสนับสนุนรัฐบาล รัฐบาล ก็อาจจะให้จัด แต่กลุ่มไหนที่ไม่ถูกใจรัฐบาล ก็อ้างกฎหมายมาจำกัดสิทธิเสรีภาพ คืออยากให้คิดให้ยาว อย่าไปคิดเฉพาะว่า วันนี้รัฐบาลนี้ไม่พอใจการชุมนุมของกลุ่มนี้ แล้วก็เลยจะไปแก้กฎหมายเพื่อทำลายหลักการสำคัญ ซึ่งจะยิ่งฟ้องว่า ที่พูดเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมด ไม่ได้มีความคิดที่จะแก้ไขให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นอย่างที่อ้างเลย และที่อ้างว่าต้องแก้ เพราะว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากเผด็จการ แต่กลับไปแก้ให้มีความเป็นเผด็จการมากขึ้น ยิ่งเป็นการยืนยันว่า ไม่มีเจตนาที่จะให้รัฐธรรมนูญสมบูรณ์ ผมจะคัดค้านจนถึงที่สุด และไม่เชื่อว่ารัฐบาลจะทำสำเร็จ และยิ่งเป็นเงื่อนไขความวุ่นวาย ผมอยากจะพูดย้ำไปยังรัฐบาลอีกครั้งว่า ผมเป็นฝ่ายค้าน แต่ผมไม่ต้องการเห็นความวุ่นวาย ต้องการเห็นรัฐบาลเดินหน้าแก้ปัญหาให้ประชาชน แล้วยุติเรื่องนี้เสีย" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

**จวก"หมัก"ปูดแก้ ม.63 กลบข่าวโกง**

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ประธานวิปฝ่ายค้าน แถลงภายหลังการประชุม ว่าขณะนี้เกิดความสับสนจากกรณีที่ทางวิปรัฐบาล ระบุว่าจะมีการยื่นแก้ไขรธน. ในวันที่ 18 ส.ค. ภายหลังกมธ.วิสามัญศึกษารัฐธรรมนูญฯ พิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว แต่ปรากฏว่า เมื่อทางวิปฝ่ายค้านเชิญทางกมธ. มาชี้แจงข้อเท็จจริง ซึ่งทางกมธ. กลับบอกว่า ยังมีอีกหลายคณะที่ยังไม่สามารถพิจารณาให้แล้วเสร็จได้ในวันที่18 ส.ค. ดังนั้นการที่วิปรัฐบาลระบุว่า จะยื่นแก้ไขในวันดังกล่าว จึงถือว่าเป็นความพยายาม ที่จะรวบรัด เพื่อให้สอดรับกับความตั้งใจของพรรคพลังประชาชน และเห็นว่าหากกมธ. ยังศึกษาเรื่องรัฐธรรมนูญ ยังไม่แล้วเสร็จ ทางวิปรัฐบาลไม่ควรออกมาแถลงท่าทีใดๆ เพราะจะเป็นการสร้างความขัดแย้งทางด้านการเมือง ให้ลุกลามบานปลาย

นายสาทิตย์ กล่าวว่า เห็นได้ชัดจากกรณีที่กลุ่มพันธมิตรฯ ออกมาระบุว่า หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็จะมีการเคลื่อนไหวใหญ่ทันที ซึ่งหากวิปรัฐบาลยอมยุติการเสนอแก้ไขรธน. และประกาศท่าทีให้ชัดเจนว่าจะรอผลการศึกษาของกมธ.เสียก่อน คิดว่าสถานการณ์การเมืองโดยรวมก็น่าจะดีขึ้น และรัฐบาลไม่ควรเติมประเด็นให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น โดยเฉพาะการที่นายสมัคร ออกมาเปิดประเด็นแก้ไข มาตรา 63 ที่ว่าด้วยเรื่องสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ และปราศจากอาวุธนั้น ซึ่งถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประเทศที่ปกครองระบอบประชาธิปไตย

" แต่นายกฯพยายามเปิดประเด็นต่อเนื่องถึง 2 ครั้ง ถือว่ามีความเคลือบแฝงคือ นายกฯแถลงแก้ไข มาตรา 63 สอดรับกับลูกพรรค เสนอร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดระเบียบการชุมนุมในที่สาธารณะ ซึ่งไม่ท่าทีว่าจะถอนร่างกฎหมายฉบับนี้ออกไป เพราะต้องไปจัดการกับพันธมิตรฯโดยตรง และต้องการสร้างกฎหมาย หรือเครื่องมือขึ้นมาจัดการกับกลุ่มพันธมิตรฯ หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพื่อจะก่อให้เกิดปัญหากับสิทธิขั้นพื้นฐานกับประชาชนทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมเรียกร้อง ราคาหอม กระเทียม ปัญหาหนี้สิน ที่ดิน หรือแม้แต่นักเรียนที่ชุมนุม ก็ต้องขออนุญาตก่อน ถ้าไม่ขออนุญาต ก็จะมีความผิดตามกฎหมาย ซึ่งเรื่องนี้ ลึกๆแล้ว นายกฯ ต้องการสร้างประเด็นขึ้นมา เพื่อกลบเกลื่อนปัญหาอื่นๆ ที่เกิดขึ้นภายในพรรคมากกว่า" นายสาทิตย์กล่าว

นายสาทิตย์ กล่าวว่า อย่างเรื่องคนใกล้ชิดของนายกฯ มีการไปรับผลประโยชน์ ทั้งในกรณีรถเมล์ ที่มีการไปคุยที่ฮ่องกง เรื่องเช็ค 10 ล้านบาท หรือเรื่องการฟอกเงินโดยผ่านเต็นท์รถ นอกจากนี้วิปฝ่ายค้านยังจับตามองนายกฯในกรณีที่เปิดประเด็นเพื่อกลบเกลื่อนการที่นายกฯไปเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายความร่วมมือในการลงทุนระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชน ซึ่งฝ่ายค้านกำลังจับตามองในเรื่องนี้ว่า มีประเด็นที่เกิดขึ้นอย่างน้อย 2 เรื่อง คือ 1. การแต่งตั้งบุคคลไปดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการ พีพีพี.นั้น มีความน่าสงสัยมากว่า นายกฯไปเป็นประธาน เพราะมีการตั้ง นายธีรพล นพรัมภา เลขาธิการนายกฯไปเป็นรองประธานฯ และล่าสุด มีการอนุมัติงบเมกกะโปรเจกต์ กว่า 1 แสนล้านบาท และ

2. การตั้งคณะกรรมาธิการดังกล่าว ขัดต่อรัฐธรรมนูญ การลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนหรือไม่ ซึ่งฝ่ายค้านกำลังศึกษาอยู่ จึงเห็นว่าการเปิดประเด็นของนายกฯ กรณีมาตรา 63 นั้น เป็นการตั้งใจเปิดประเด็นเพื่อกลบปัญหาภายในพรรค และการทุจริตคอร์รัปชั่น การเข้าไปจัดการเมกกะโปรเจกต์ ของตัวเอง และน่าสังเกตุว่า สอดคล้องกับกรณีที่คนภายในพรรคพลังประชาชน กำลังหาทุนไปจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ เพราะฉะนั้น เรื่องนี้จะต้องตรวจสอบอย่างจริงจัง

นายสาทิตย์ กล่าวต่อว่า หากพรรคพลังประชาชน ยืนยันที่จะหยิบยกร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบชุมนุมในที่สาธารณะ มาพิจารณา วิปฝ่ายค้านจึงมีมติ 2 ข้อ คือ 1. เราจะต่อสู้คัดค้านกฎหมายฉบับนี้ถึงที่สุด ตั้งแต่ยื่นร่าง และ 2. หากกฎหมายฉบับนี้ผ่านโดยเสียงข้างมาก ฝ่ายค้านก็จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป

**ชี้พปช.สร้างเงื่อนไขให้"แม้ว" ลี้ภัย**

นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า สิ่งที่พรรคพลังประชาชนกำลังกระทำในขณะนี้ คือ การใช้กระแสความขัดแย้งในบ้านเมือง มาเป็นเกมการเมือง เพื่อสร้างความแตกแยกในสังคม โดยเฉพาะการเสนอแก้ไขรธน. มาตรา 63 และผลักดันร่างพ.ร.บ. จัดระเบียบการชุมนุมในที่สาธารณะ

"ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้เกิดความรุนแรงทางการเมือง นำพาสังคมเข้าสู้ทางตัน และภาวะไร้ระเบียบ ซึ่งสุดท้ายจะนำไปสู่เงื่อนไขของการรัฐประหาร ซึ่งยืนยันว่า การรัฐประหารไม่ว่าจะเกิดโดยฝ่ายใดก็ตาม ก็จะเป็นประโยชน์ต่อ พ.ต.ท.ทักษิณและครอบครัว ที่จะขอลี้ภัยต่างประเทศ"

นายสุริยะใส กล่าวด้วยว่า เท่าที่ทราบมา มีข้าราชการระดับสูงของกระทรวงต่างประเทศ ได้พยายามทำเรื่องติดต่อไปยังประเทศ แถบยุโรป เพื่อขอให้ พ.ต.ท.ทักษิณ และครอบครัว ลี้ภัย ซึ่งเป็นการดำเนินการก่อนที่จะมีคำพิพากษาคดีเลื่ยงภาษีหุ้นชินฯ ของคุณหญิงพจมาน ด้วยซ้ำ แต่การดำเนินการดังกล่าว ได้รับการปฏิเสธ เพราะรัฐบาลประเทศดังกล่าว เห็นว่า ยังไม่มีเหตุเพียงพอที่จะทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ และครอบครัว พำนักพักพิง อีกทั้งระบบศาลยุติธรรมยังน่าเชื่อถืออยู่

นอกจากนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ และครอบครัว ยังมีสิทธิในฐานะผู้ต้องหา และจำเลย ในการต่อสู้คดี แต่เงื่อนไขเดียวที่จะสามารถลี้ภัยได้ ก็คือ ภาวะหลังรัฐประหาร โดยจะใช้ประเด็นความขัดแย้งในสังคมขณะนี้เป็นเงื่อนไข และไม่จำเป็นว่าฝ่ายเดียวกันจะจัดตั้งรัฐบาลก็ได้ ตนขอเรียกแผนการเหล่านี้ ว่า แผนการเผาบ้านตนเอง คือ เอาตนเองให้รอด ส่วนบ้านจะถูกเผา ก็เป็นเรื่องของบริษัทประกัน และประชาชนคนไทย ความพยายามของเจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศ จริงหรือไม่ รมต.คนใหม่ และปรัดกระทรวงจะต้องตอบต่อสังคม

นายสุริยะใส กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเป้าหมายการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรรคพลังประชาชน จะใช้ยุทธวิธี ลับ ลาง พราง พันธมิตรฯ ยังยืนอยู่ที่จุดยืนเดิม คือ จะคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างถึงที่สุด จนกว่าคดีความของ พ.ต.ท.ทักษิณ จะสิ้นสุด จะไม่ตกหลุมพรางและจะพยายามสื่อสารต่อสาธารณต่อความเป็นจริง
กำลังโหลดความคิดเห็น