ศูนย์ข่าวศรีราชา-การเคหะแห่งชาติรุกแผนตลาดครั้งใหญ่หวังปิดการขายโครงการบ้านเอื้ออาทรกว่า 2.7 แสนยูนิตทั่วประเทศให้ได้ใน 3 ปีหลังพบดีมานด์เทียมที่เกิดจากเงื่อนไขการจองซึ่งไม่มีเงินมัดจำทำลูกค้ายกเลิกเพียบ เหตุจากการก่อสร้างที่ล้าช้าเพราะการเบี้ยวสัญญาของผู้รับเหมาจำต้องเร่งหาผู้ดำเนินการใหม่ ขณะที่โครงการใดแล้วเสร็จไม่ถึง 50% ตามสัญญาจะยึดคืนเพื่อหาผู้ดำเนินการต่อไป
นายศิริโรจน์ ชาวปากน้ำ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและขายโครงการบ้านเอื้ออาทร สังกัดการเคหะแห่งชาติ เผยถึงปัญหาสำคัญที่ทำให้การขายโครงการบ้านเอื้ออาทรที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2546 ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ จนทำให้รัฐบาลต้องปรับลดเป้าก่อสร้างจากเดิม 6 แสนยูนิตทั่วประเทศ เหลือเพียง 2.7 แสนยูนิต เพื่อให้เหมาะสมกับภาวะการตลาดว่า เป็นเพราะยอดยกเลิกจองจำนวนมากของกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่งเป็นลูกค้าเป้าหมายของโครงการ โดยพบว่าปัญหาส่วนหนึ่งมาจากเงื่อนไขการจองที่ไม่ผูกมัดโดยไม่เก็บเงินมัดจำทำให้ลูกค้า เมื่อพบว่าโครงการที่จองไว้ก่อสร้างล้าช้าก็พากันยกเลิกจอง ขณะที่ผู้รับเหมาบางส่วนที่ไม่มีเงินก่อสร้างหรือแม้แต่ขาดแคลนแรงงานก็พากันหนีงานกลางคันจนทำให้โครงการไม่สามารถดำเนินการต่อได้
ขณะที่การเข้าถึงการจองของลูกค้าบางกลุ่มที่ไม่สามารถลางานในวันปกติได้ ซึ่งก่อนหน้านี้การเคหะฯได้เปิดให้มีการจองเฉพาะในวันและเวลาราชการเท่านั้น ทำให้ลูกค้ากลุ่มนี้เข้าไม่ถึงการจองและเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าวการเคหะฯ จึงได้ปรับเงื่อนไขการเข้าถึงการจองใหม่ ด้วยการทุ่มงบประมาณจำนวนหนึ่งกระจายบูทการจองไปยังห้างสรรพสินค้าและงานแฟร์ที่จัดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งจะทำให้กลุ่มผู้ไม่สามารถลางานในเวลาราชการได้เข้าถึงโครงการมากขึ้น
"ในปีนี้เราตั้งเป้าหมายการขายในพื้นที่ต่างๆ ไว้ที่ 7 หมื่นยูนิต ซึ่งปัจจุบันการเคหะฯได้ก่อสร้างโครงการบ้านเอื้ออาทรแล้วเสร็จจำนวน 1.47 แสนยูนิต และจะส่งมอบให้ผู้จองได้เข้าอยู่ก่อน 5 หมื่นอยู่นิต โดยคาดว่าจำนวนที่เหลืออีกกว่าแสนยูนิต เราจะเร่งก่อสร้างให้แล้วเสร็จและปิดการขายให้ได้ภายใน 3 ปีนับจากนี้ โดยงบประมาณในการดำเนินการก่อสร้างบ้านเอื้ออาทรทั้ง 2.7 แสนยูนิต การเคหะฯใช้เงินจำนวนทั้งสิ้น 3.97 แสนล้านบาท"
นายศิริโรจน์ ยังเผยถึงการแก้ไขปัญหาการหนีงานของกลุ่มผู้รับเหมาในพื้นที่ต่างๆ จนส่งผลเสียต่อเป้าการขายของการเคหะฯด้วยว่า ในเบื้องต้นสำหรับผู้รับเหมาที่หนีงานและไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง การเคหะฯได้ดำเนินการตามกฎหมายและส่งฟ้องศาลไปบ้างแล้ว ขณะเดียวกันก็เปิดหาผู้รับเหมาใหม่เพื่อให้ดำเนินการต่อ ส่วนโครงการใดที่การก่อสร้างแล้วเสร็จไม่ถึง 50% ของข้อตกลงที่วางไว้ การเคหะฯจะเรียกงานคืนและหาผู้รับเหมารายใหม่เพื่อให้ดำเนินการต่อไป
ส่วนลูกค้ารายใดที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาที่กล่าวเบื้องต้นการเคหะฯจะเสนอให้ย้ายไปอาศัยอยู่ในโครงการใหม่แทน แต่หากลูกค้ายืนยันที่จะจองโครงการเดิมก็จะขอความร่วมมือให้ลูกค้ารอจนกว่าการก่อสร้างโครงการจะแล้วเสร็จ หรือหากผู้ใดต้องการเงินคืนการเคหะฯ ก็จะชำระให้
อย่างไรก็ดี การเคหะฯได้ประเมินเป้าหมายการขายในปีนี้ว่า อาจจะต่ำกว่าการประเมิน 5 พันยูนิต ซึ่งเป็นผลมาจากความไม่สงบทางการเมืองและราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นที่อาจฉุดการตัดสินใจของกลุ่มเป้าหมาย แต่เพื่อเป็นการส่งเสริมการขายการเคหะฯได้ปรับเงื่อนไขการผ่อนชำระจากเดิม 30 ปีเป็น 35 ปีและลดอัตราชำระขั้นต่ำ จากเดิม 2.4 พันบาทต่อเดือนเหลือเพียง 1.8-2 พันบาทต่อเดือนอีกด้วย
ขอขยับราคาบ้านอีก3หมื่นต่อหลัง
หลัง ก.ย.51 อ้างปัญหาขาดทุน
นายศิริโรจน์ เผยอีกว่า หลังเดือนกันยายน 2551 การเคหะฯจะขอปรับราคาขายโครงการอีกหลังละ 3 หมื่นบาทจากเดิม 3.9 แสนบาทเป็น 4.2 แสนบาท เหตุเพราะที่ผ่านมาการเคหะฯ ต้องแบกรับภาระขาดทุนจากการดำเนินงานและค่าวัสดุที่เพิ่มสูงขึ้นจนทำให้ราคาต้นทุนต่อหลังอยู่ที่ 5.3 แสนบาท ซึ่งในเร็วๆ นี้จะส่งเรื่องเพื่อขอความเห็นชอบจาก ครม.และคาดว่าลูกค้าโครงการจะยอมรับกับเหตุผลของการปรับราคาขายใหม่
อย่างไรก็ดี แม้จะมีผู้ให้ความเห็นว่าตัวบ้านเอื้ออาทรไม่น่าจะมีความมั่นคง ตนขอยืนยันว่าวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างบ้านแต่ละหลัง รวมทั้งคอนโดมิเนียมเป็นวัสดุที่ได้มาตรฐาน มอก.ขณะที่การก่อสร้างจะมีคณะกรรมการเข้าตรวจสอบการดำเนินงานของผู้รับเหมาให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่ตกลงไว้ จึงขอยืนยันว่าโครงการบ้านเอื้ออาทรมีความมั่นคงและปลอดภัย 100%
"ในเรื่องของการเป็นชุมชนใหญ่ เนื่องจากแต่ละโครงการจะมีผู้เข้ามาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากนั้น เราได้ว่าจ้างบริษัทเอกชนเข้ามาดูแลเรื่องความเรียบร้อยและสาธารณูปโภคต่างๆ รวมทั้งพนักงานรักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งในช่วง 5 ปีแรกการเคหะฯจะเป็นผู้จ่ายค่าส่วนกลางให้แก่ลูกค้าทั้งหมด หลังจากนั้นลูกค้าจะต้องตั้งคณะกรรมการเพื่อดูแลกันเอง"
ส่วนสถาบันการเงินที่การเคหะฯมอบหมายให้เป็นผู้ปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าโครงการนอกจากธนาคารอาคารสงเคราะห์แล้ว ยังมีธนาคารออมสินและหากลูกค้ารายใดไม่ผ่านการอนุมัติของธนาคาร 2 แห่งนี้ ก็ยังมีสหกรณ์เครดิตยูเนียนไว้รองรับ และเพื่อเป็นการกระตุ้นการขายระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม-7 กันยายนจะจัดงานมหกรรมที่อยู่อาศัยใหญ่กระตุ้นยอดขายกรุงเทพฯ หลังจากวันที่ 24 กรกฎาคม-4 สิงหาคมได้รณรงค์การขายในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศรวมทั้งจังหวัดชลบุรี