xs
xsm
sm
md
lg

ด้วยรักและกังวลพ่อแม่ยุ่นแห่สังสรรค์ หาคู่ใส่พานกลัวลูกเกาะคานไม่ยอมลง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเจนซี - พ่อแม่ชาวอาทิตย์อุทัยขึ้นชื่อเรื่องการดูแลเอาใจใส่ลูกไม่พ้นชาติอื่นๆ ช่วยลูกไปทุกอย่างกระทั่งการเอนทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยไปจนถึงหางานทำ มาถึงยุคนี้ยังเพิ่มภาระใหม่ในการเป็นพ่อสื่อแม่ชัก ที่สำคัญอาการนี้ไม่ได้เป็นแค่บางครอบครัว แต่ทั่วถึงระดับทั้งประเทศเลยทีเดียว

ตามธรรมเนียมดั้งเดิมของญี่ปุ่นนั้น พ่อแม่จะต้องดูแลลูกไปจนกว่าจะลูกจะออกเรือน ซึ่งมักเกิดขึ้นในเร็วกว่าคนสมัยนี้มาก

แต่ความที่ลูกๆ อยู่ติดบ้านนานขึ้น ทั้งเนื่องจากความไม่แน่นอนเรื่องงาน และความไม่พร้อมจะประนีประนอมกับคนอื่น พ่อแม่จึงเริ่มหวั่นไหวและแห่กันไปงานจับคู่ที่จัดขึ้นอย่างเอิกเกริกตามโรงแรมและศูนย์ประชุมต่างๆ

โฆษกโอ-เน็ต บริษัทที่ให้ความช่วยเหลือเครือข่ายคนโสดให้ได้พบกับคนที่มีแนวโน้มว่าจะพัฒนาเป็นคู่ชีวิตในอนาคต เผยว่าพ่อแม่มากมายกังวลที่ลูกเลยวัยที่จะแต่งงานแต่งการไปแล้ว ขณะที่คนโสดจำนวนมากพอกันก็รู้สึกว่าพ่อแม่กำลังกดดันตนเอง

การจับคู่ถือเป็นประเพณีอย่างหนึ่งของญี่ปุ่นที่คนรุ่นหลังๆ ส่วนใหญ่ไม่เคยรู้มาก่อน เพราะมองว่าความรักคือเรื่องของคนสองคนที่ตามหากันและกัน

แต่พ่อแม่ที่มีความกังวลเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกวันในสังคมที่ชาย-หญิงมากมายเลือกที่จะสร้างครอบครัวช้าลง หรือบางคนขออยู่เป็นโสดตลอดชีวิต

รายงานจากทางการแดนปลาดิบระบุว่า เมื่อสามปีที่แล้ว 71.5% ของชายหนุ่มอายุ 25-29 ปียังไม่แต่งงาน เทียบกับแค่ 47.1% ในปี 1990 ขณะที่ 32% ของผู้หญิงอายุ 30-34 ปียังเป็นโสด เทียบกับเพียงแค่ครึ่งเดียวของจำนวนดังกล่าวในปี 1990

มิชิโกะ ไซโตะ ที่ปรึกษาด้านการสมรส เจ้าของ ‘ออฟฟิศ แอนน์’ ในฮอกไกโด ริเริ่มจัดปาร์ตี้จับคู่สำหรับพ่อแม่ตั้งแต่ปี 2000

หนังสือพิมพ์ญี่ปุ่นเรียกปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วประเทศนี้ว่า ‘ปาร์ตี้จับคู่ตัวแทนสื่อรัก’ ซึ่งจนถึงขณะนี้มีการจัดกิจกรรมแบบนี้มาแล้วใน 13 เมืองรวมประมาณ 6,500 งาน

“มีพ่อแม่มากมายมาขอคำแนะนำ ฉันจึงตัดสินใจเริ่มต้นจัดงานปาร์ตี้เพื่อให้พ่อแม่เหล่านี้มีโอกาสพบและพูดคุยแลกเปลี่ยนปัญหากัน

“คนที่ได้แต่งงานกับคนรักถือว่าโชคดี แต่อีกหลายคนเรื่องนี้คงเกิดยาก การจับคู่ไม่ได้เป็นเรื่องของการตกหลุมรักแบบรัญจวนชวนฝัน แต่เป็นการค่อยๆ พัฒนาความสัมพันธ์จนกลายเป็นความรัก” ไซโตะบอก

ศาสตราจารย์มาซาฮิโร ยามาดะ ผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษาปรากฏการณ์ครอบครัวจากมหาวิทยาลัยชูโอ ชี้ว่าความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และการที่พ่อแม่ขยายบทบาทการสนับสนุน เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้อัตราการแต่งงานในญี่ปุ่นถดถอยลง

“ถ้าคุณถูกกดดันให้ย้ายออกจากบ้านเพื่อดูแลตัวเองตั้งแต่หนุ่มสาวเหมือนในยุโรปและสหรัฐฯ คงเป็นธรรมชาติที่คนเราจะทำแบบนั้นด้วยการหาคนอีกคนช่วยแบ่งเบาภาระ”

ผู้เชี่ยวชาญมากมายสำทับว่า ความคาดหวังของคนโสดที่ยังดูแลตัวเองไม่ได้และพ่อแม่เป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง

“พ่อแม่ที่เติบโตขึ้นมาในช่วงทศวรรษ 1950-1960 และทำงานในยุคเศรษฐกิจฟองสบู่ ไม่มีวันเข้าใจว่าหนุ่มสาวยุคนี้มีโนวโน้มน้อยลงที่จะได้รับการจ้างงานเต็มเวลา” ยามาดะอธิบายและว่า

“พ่อแม่ที่มีลูกสาวที่ยังไม่แต่งงานจะเฝ้ามองหาชายหนุ่มฐานะดีให้ลูก”

ไซโตะรับลูกว่า ผู้หญิงมักจะช่างเลือกและคาดหวังว่าสามีจะปรนเปรอไลฟ์ไสตล์หรูหราเหมือนที่เคยได้รับจากพ่อแม่

“พวกเธออยากได้ผู้ชายที่ทั้งหล่อทั้งรวย แม่ๆ หลายคนมาปาร์ตี้เพราะต้องการหาผู้ชายมีรายได้ปีละ 10 ล้านเยน (92,650 ดอลลาร์) เป็นลูกเขย”

กระนั้น การแต่งงานไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอันใดสำหรับหนุ่มสาวแดนซากุระที่ยังหางานมั่นคงทำไม่ได้ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว จึงดูเหมือนว่าจะมีแต่พ่อแม่เท่านั้นที่ตื่นเต้นกับปาร์ตี้จับคู่

“ฉันไปปาร์ตี้เพื่อหาผู้ชายดีๆ ให้ลูกสาว แต่เธอไม่เคยพอใจเลย ฉันเองกระดากใจนิดหน่อยเหมือนกันที่ต้องทำแบบนี้ แต่ถ้าอยู่เฉยๆ ลูกสาวอาจอยู่หมู่บ้านคานทองไปตลอดชีวิต” แม่คนหนึ่งที่ไม่ประสงค์ออกนาม ระบายความในใจ
กำลังโหลดความคิดเห็น