ผู้จัดการรายวัน – กลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง คุ้ยพบปมกรมที่ดินสั่งเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดินหลายสิบแปลงของเครือสหวิริยาที่ใช้ตั้งโรงเหล็กเดิม รวมทั้งแนววางสายพานลำเลียงขนถ่ายถ่านหินและสินแร่ ส่วนสถานการณ์ในพื้นที่ตึงเครียด ชาวบ้านยื่นหนังสืออบต.ค้านบริษัทขอเช่าที่สาธารณะสร้างโรงถลุงเหล็ก เจอทีมสมานฉันท์ขว้างก้อนหินใส่รถอีก ด้านม็อบต้านโรงไฟฟ้าสยามเอนเนอร์ยี ปิดถนนยืดเยื้อเรียกร้องยกเลิกโครงการ
นางจินตนา แก้วขาว แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด เปิดเผยว่า สถานการณ์ในพื้นที่อ.บางสะพาน มีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากการเข้ามาตรวจสอบโครงการก่อสร้างโรงถลุงเหล็กเครือสหวิริยา ของชาวบ้านที่พบปมปัญหาหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ การออกเอกสารสิทธิที่ดิน ฯลฯ ซึ่งล่าสุดจากการตรวจสอบเรื่องที่ดินของบริษัทที่ระบุอยู่ในอีไอเอ พบว่าแนวสายพานลำเลียงที่ใช้ขนถ่ายถ่านหินและสินแร่เหล็ก มีปัญหาถูกกรมที่ดินสั่งเพิกถอนเอกสารสิทธิ ซึ่งข้อมูลนี้ผู้แทนของบริษัทไม่ได้ชี้แจงต่อคณะผู้ชำนาญการแต่อย่างใด
นางจินตนา กล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบยังพบอีกว่าที่ดินหลายสิบแปลง ซึ่งกรมที่ดินสั่งเพิกถอน เมื่อประมาณเดือนธันวาคม 2550 ถือครองโดยบริษัทหลายบริษัทในเครือของสหวิริยาทั้งสิ้น ในเบื้องต้นของการตรวจสอบข้อมูล แปลงที่ดินตอนนี้เป็นที่ตั้งของโรงงานเดิม โดยเฉพาะในส่วนของท่าเรือน้ำลึกซึ่งมีการนำที่ดินไปค้ำประกันกับธนาคารนครหลวงไทย เพื่อขอกู้เงินมา 971 ล้านบาท ซึ่งทางกลุ่มฯ เชื่อว่ายังมีที่ดินอีกมากที่มีปัญหา
แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ฯ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังยื่นตรวจสอบเรื่องทุจริตที่ดินร่วม 1,000ไร่ ทั้งโครงการใหม่และเก่า ของอุตสาหกรรมเหล็กเครือสหวิริยา เพราะสงสัยว่ามีการใช้พื้นที่ป่าชายเลน ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าคุ้มครอง ซึ่งเป็นสมบัติของส่วนรวม แต่ถูกนำไปใช้เป็นพื้นที่ก่อสร้างสายพานลำเลียง ลานกองวัตถุดิบจากท่าเรือในโครงการก่อสร้างโรงถลุงเหล็กได้อย่างไร อีกทั้งที่ผ่านมาก็มีการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมรีดเหล็กในที่ดินสาธารณะของส่วนรวมอีกด้วย
“นี่คือปมสำคัญที่นำไปสู่การฉีกหน้ากาก ขัดผลประโยชน์มหาศาลถึงกับต้องยิงแกนนำ เพื่อให้เลิกขุดคุ้ยประเด็นนี้ เพราะจะกระทบทั้งโรงงานเดิมและโรงถลุงที่กำลังจะสร้างใหม่” นางจินตนา กล่าว
อนึ่ง เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึงและกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด ประมาณ 200 คน ได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อนายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่รำพึงและสำนักงานที่ดินจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สาขาบางสะพาน เพื่อคัดค้านการเช่าที่สาธารณะหมู่ที่ 1 ต.แม่รำพึง ของบริษัทสหวิริยา เพื่อใช้ในการก่อสร้างโครงการโรงถลุงเหล็ก โดยชาวบ้านพบการติดประกาศที่สำนักงานที่ดิน ที่ประกาศไว้เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2551 จากนั้นในช่วงขากลับขบวนรถขับผ่านโรงแรมเวสเทิร์น มีชายวัยรุ่นกว่า 30 คน ขว้างปาก้อนหินและขวดใส่รถชาวบ้านพร้อมกับยิงปืนขู่อีก 3 นัด ทำให้รถกระบะกระจกแตก 1 คันและอีกหลายคันมีร่องรอยจากการถูกขว้างปา
ก่อนหน้านี้ เมื่อคืนวันที่ 15 กรกฎาคม ระหว่างขบวนชาวบ้านจากประจวบฯ เดินทางไปคัดค้านการพิจารณาอีไอเอของโรงถลุงเหล็กเครือสหวิริยาที่สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) มีเหตุการณ์รถโดยสารและรถปิกอัพถูกขว้างปาจนกระจกแตก ถูกโรยเรือใบบนถนนเพชรเกษมหวิดเกิดอุบัติเหตุใหญ่ และถัดจากนั้นเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม นายสุพจน์ ส่งเสียง แกนนำของกลุ่มอนุรักษ์ฯ ถูกคนร้ายยิงใส่บ้านพัก จำนวน 5 นัด
***ปิดถนนต้านโรงไฟฟ้าสยามเอ็นเนอยี่
วานนี้ (23 ก.ค.) การชุมนุมของกลุ่มต่อต้านโรงไฟฟ้าเสม็ดเหนือ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา บริเวณหน้าวัดสนามช้าง บนถนนสาย 304 ฉะเชิงเทรา – กบินทร์บุรี ยืดเยื้อเป็นวันที่สองโดยผู้ชุมนุมกว่าหนึ่งพันคน ยังคงปักหลักชุมนุมกันอย่างเหนียวแน่น หลังการเจรจาไกล่เกลี่ยและบันทึก 4 ข้อ ของนายอานนท์ พรหมนารท ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อช่วงเย็นวานนี้ไม่เป็นผล โดยแกนนำยังยืนยันปักหลักชุมนุมยืดเยื้อ และจะเจรจากับรมว.กระทรวงพลังงาน และรมว.กระทรวงทรัพยากรฯ เท่านั้น พร้อมกับแจกแถลงการณ์ให้ผู้ขับขี่รถยนต์ที่สัญจรผ่านไปมาได้รับทราบเหตุผลในการชุมนุม
ในแถลงการณ์ ระบุถึงความไม่ตั้งใจจริงในการแก้ไขปัญหาของภาครัฐ หลังจากได้เคยทำหนังสือยืนยันคัดค้านการก่อตั้งโรงไฟฟ้าหลายสิบครั้ง ส่งไปถึงยังหลายหน่วยงาน แต่เรื่องได้เงียบหายไปทั้งหมด รวมถึงการนำอามิสสินจ้างสิ่งตอบแทน เข้ามาก่อให้เกิดความแตกแยกในพื้นที่ และการทิ้งใบปลิวข่มขู่เอาชีวิตของแกนนำผู้คัดค้าน โดยชาวบ้านหวั่นเกรงว่าจะเกิดสงครามความแตกแยก จนเกิดเหตุร้ายต่อผู้คัดค้านการก่อตั้งโรงไฟฟ้า เหมือนกับม็อบต่อต้านโรงงานถลุงเหล็ก ที่ประจวบคีรีขันธ์ และยังเชื่อว่าการดำเนินโครงการก่อตั้งโรงไฟฟ้า ภาคเอกชนของกระทรวงพลังงาน อาจมีความไม่ถูกต้องโปร่งใสตามขั้นตอน
แกนนำชาวบ้านได้ประกาศบนเวทีผ่านเครื่องกระจายเสียงว่า จะไม่เปิดเส้นทาง หากผู้มีอำนาจในรัฐบาลไม่ลงมาเจรจายุติโครงการโรงไฟฟ้า
ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน มีกลุ่มรักษ์บางปะกง ซึ่งเป็นแนวร่วมต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินที่สามารถไล่โรงไฟฟ้าถ่านหินของบริษัท อิตัลไทย ซึ่งมีแผนจะก่อสร้างที่บางปะกง ได้สำเร็จ ส่งตัวแทนมาสมทบ ร่วมชุมนุมปิดถนนด้วย