xs
xsm
sm
md
lg

ว่าด้วยการเมืองใหม่

เผยแพร่:   โดย: สันติ ตั้งรพีพากร

การเมืองเป็นเรื่องของอำนาจ ที่กลุ่มคนจำนวนหนึ่ง ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจบริหารประเทศ สนองตอบผลประโยชน์ให้แก่สังคม ตามสถานภาพของการเป็น “ตัวแทน”ของตน ถ้าเป็นตัวแทนกลุ่มคนส่วนน้อย เช่น กลุ่มทุน ก็จะมุ่งทำประโยชน์ให้แก่กลุ่มทุน ถ้าเป็นตัวแทนประชาชนส่วนใหญ่ ก็จะทำประโยชน์ให้แก่ประชาชนเป็นสำคัญ

จากอดีตจนถึงปัจจุบัน การเมืองไทยยังเวียนวนอยู่ในเรื่องของการใช้อำนาจเพื่อคนกลุ่มน้อยอย่างชัดเจน ไม่เป็นผลดีต่อประเทศชาติและประชาชน และในที่สุดก็ไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชน เกิดการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ นำโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในฐานะหัวขบวนของขบวนการการเมืองภาคประชาชน

การเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งนี้ แบ่งเป็นสองระยะ คือ ระยะที่หนึ่ง ตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์-19 กันยายน 2549 เป็นการต่อต้าน “ระบอบทักษิณ” ขับไล่รัฐบาลที่พรรคไทยรักไทยเป็นแกนนำ ระยะที่สอง เริ่มตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2551 มีเป้าหมายชัดเจนคือ ล้มเลิกการเมืองแบบเก่าที่ถือเอาผลประโยชน์ของคนกลุ่มน้อยเป็นตัวตั้ง และสร้างการเมืองแบบใหม่ที่ถือเอาผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่เป็นตัวตั้ง ขึ้นแทนที่

การเมืองใหม่ ในความหมายรวมจึงเป็น “อำนาจใหม่ อำนาจประชาชน” การสร้างการเมืองใหม่ ก็คือการสร้างอำนาจใหม่ อำนาจประชาชน ขึ้นแทนที่อำนาจเก่า อำนาจทุน โดยวางกรอบไว้อย่างชัดเจนว่า จะต้องดำเนินไปภายในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้การเมืองแบบใหม่ยังประโยชน์สูงสุดต่อปวงประชามหาชน โดยเชิดชูไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จึงจะสามารถสะท้อนถึงความเป็นเอกลักษณ์ของประชาชาติไทยได้อย่างชัดเจนในสายตาชาวโลก

การเมืองใหม่ เป็นกระบวนการสั่งสมอำนาจของประชาชน เกิดขึ้นในท่ามกลางการเคลื่อนไหว “โค่นล้ม” อำนาจเก่า ล้มล้างการเมืองเก่า

“หัวใจ”
คือ ขบวนการการเมืองภาคประชาชน ที่มีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นเจ้าภาพ มีการกำหนด “ภารกิจใจกลาง” ไว้ที่การสร้างอำนาจประชาชนให้เติบใหญ่ พัฒนาขยายตัวได้อย่างยั่งยืน เพื่อเป็นฐานอำนาจการเมืองภาคประชาชนในระยะยาว

“วิธีการ” เริ่มตั้งแต่การจุดเทียนปัญญา ให้ข้อมูลข่าวสาร บวกกับการปลูกฝังแนวคิดการเมืองแบบใหม่ ด้วยการใช้ตัวอย่างรูปธรรมทั้งในอดีตและปัจจุบันเป็นวัตถุดิบ วิเคราะห์แยกแยะและประมวลจนเกิดเป็นข้อสรุป ให้เห็นทิศทางของการเคลื่อนไหว และเป้าหมายที่จะต้องบรรลุ ติดอาวุธทางปัญญาให้แก่มวลชน ด้วยการเผยแพร่ผ่านสื่อดิจิตอล เช่น เอเอสทีวี คลื่นวิทยุชุมชน และอินเทอร์เน็ต ไปสู่ประชาชนชาวไทยทั้งประเทศ และชุมชนชาวไทยในต่างประเทศทั่วโลก ซึ่งได้นำไปสู่การรวมตัวจัดตั้งกันขึ้นในหมู่มวลชน เคลื่อนไหวประสานกันทั่วทั้งประเทศและทั่วโลก ก่อตัวเป็นอำนาจทรงพลวัตของประชาชน

นัยสำคัญของการเมืองใหม่ จึงประกอบด้วย

1. ขบวนการการเมืองภาคประชาชนเป็นเจ้าภาพ นำโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

2. ดำเนินยุทธศาสตร์จุดเทียนปัญญา ใช้ปัญญาเป็นอาวุธ ติดอาวุธให้มวลชน ให้มวลชนเข้าถึงความจริงทุกวิถีทาง โดยเอาธรรมนำหน้า ยึดหลักสัมมา จากนี้ไปรวมตัวกันเข้า จัดตั้งกันเข้า เชื่อมโยงกันเข้าอย่างเป็นพลวัตในระดับบูรณาการทั่วทั้งประเทศและในต่างประเทศ ขยายการจัดตั้ง ดำเนินการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ค่อยๆ พัฒนาเติบใหญ่ไปสู่ความเป็น

1) ฐานรองรับการเคลื่อนไหวต่อสู้ระยะยาว ในทุกรูปแบบ

2) ฐานกำลังอันแข็งแกร่งและยั่งยืนของขบวนการการเมืองภาคประชาชน

3) หลักประกันของชัยชนะน้อยใหญ่ทั้งหลายทั้งปวง

4) พลังดึงดูดกลุ่มมวลชนที่มีความแปลกแยกทางความคิดในช่วงต้นๆ ค่อยๆปรับตัวเข้าหาและยอมรับความถูกต้องของขบวนการการเมืองภาคประชาชน

5) ตัวกำหนดขีดขั้นการตัดสินใจของบุคลากรในกลไกรัฐ เช่น ทหาร ข้าราชการ ตำรวจ ฯลฯ ในการให้การสนับสนุน กระทั่งเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการการเมืองภาคประชาชน

3. คุณสมบัติของขบวนการการเมืองภาคประชาชนที่สำคัญคือ มีความเป็นอิสระเป็นตัวของตัวเองทั้งทางความคิดและทางการปฏิบัติ ไม่ตกเป็นเครื่องมือใดๆ ของอำนาจอิทธิพลที่มีอยู่ทั้งในและต่างประเทศ มุ่งมั่นที่จะสร้างอำนาจของภาคประชาชนให้เป็นอำนาจใหม่กำหนดทิศทางพัฒนาทางการเมืองของประเทศไทย เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของประเทศชาติและความผาสุกของปวงชนชาวไทย หลักๆ ก็คือ

1) ด้วยการเสริมสร้างอำนาจใหม่ของประชาชนให้ใหญ่โตท่ามกลางการเคลื่อนไหวติดอาวุธทางปัญญาให้แก่ปวงประชามหาชนทั่วทั้งประเทศและในต่างประเทศ ขยายฐานอำนาจภาคประชาชนทั้งทางปริมาณและคุณภาพ ในท่ามกลางการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ด้วยความทรหดอดทน และในท่ามกลางการต่อสู้เอาชนะการตีโต้ของกลุ่มอำนาจทุนสามานย์ในรูปแบบต่างๆ และจากทุกทิศทุกทางอย่างต่อเนื่อง อย่างกล้าหาญชาญชัย สะสมชัยชนะในทุกขั้นตอน

2) ด้วยการสรุปบทเรียน เสริมสร้างจุดแข็ง ขจัดข้ออ่อนภายในขบวนการการเมืองภาคประชาชนอย่างทันกาล โดยเน้นความสามัคคี ปรองดอง สมานฉันท์ ให้โอกาส ให้อภัย ให้กำลังใจแก่กันและกันอยู่เสมอ

ทั้งหมดที่กล่าวมานั้น จัดอยู่ในส่วนของ “การเมืองพื้นฐาน”ของการเมืองใหม่ ซึ่งได้ทำมาแล้วและกำลังทำอยู่ เป็นกิจกรรมพื้นฐานของขบวนการการเมืองภาคประชาชน ที่จะดำเนินต่อไปเรื่อยๆ แม้เมื่อเราได้สร้างกลไกมาตรฐานทางการเมืองขึ้นมาแล้ว เช่น สภาประชาชน รัฐบาลประชาชน และระบบตรวจสอบที่กำกับโดยขบวนการการเมืองภาคประชาชน เป็นต้น

ทั้งนี้ การสร้างกลไกมาตรฐาน และกำหนดให้การทำงานของกลไกพื้นฐานเหล่านั้นเป็นไปอย่างถูกต้อง ทรงประสิทธิภาพ เราเรียกว่า “การเมืองมาตรฐาน”

“การเมืองมาตรฐาน” เป็นสิ่งที่เราต้องช่วยกันคิดช่วยกันออกแบบ แล้วทำการ “คลอด” ออกมาด้วยกระบวนการที่มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง สะท้อนความเรียกร้องต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ได้อย่างแท้จริง

“การเมืองมาตรฐาน” ของการเมืองใหม่

ประกอบด้วย 3 กลไกหลักทางการเมือง อันได้แก่

1. สภาประชาชน ประกอบด้วยผู้แทนประชาชนที่แท้จริง ที่ประชาชนเลือกตั้งมาด้วยมือของตัวเอง ด้วยวิธีการเลือกตั้งที่ทุกฝ่ายยอมรับว่าดีที่สุด สามารถได้ผู้แทนที่แท้จริงของตน

2. รัฐบาลประชาชน ประกอบด้วยกลุ่มบุคคลที่ดีมีคุณภาพ ซื่อสัตย์ ทรงคุณธรรม มีความสามารถสูง สามารถทำหน้าที่บริหารประเทศด้วยความรับผิดชอบสูงสุดต่อประชาชน โดยผ่านกระบวนการรับรองของสภาประชาชนอย่างสมบูรณ์

3. ระบบการตรวจสอบของประชาชน ประกอบด้วยศาล องค์กรอิสระ สื่อมวลชน ที่ยึดมั่นในความเที่ยงธรรม เป็นเวทีเปิดที่ประชาชนสามารถใช้เป็นช่องทางดำเนินการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลในทั่วทุกด้าน

ความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองพื้นฐานกับการเมืองมาตรฐาน ก็คือ “การเมืองพื้นฐานที่เข้มแข็ง คือที่มาของการเมืองมาตรฐานที่ดี การเมืองมาตรฐานที่ดี จะช่วยให้การเมืองพื้นฐานพัฒนาเติบใหญ่ เข้มแข็งยิ่งขึ้น”
กำลังโหลดความคิดเห็น