xs
xsm
sm
md
lg

ร่วมคิด-ชวนคุยกับ ก.ล.ต.:การกำกับดูแลการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในไทย (1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หลังจากที่ได้ทำความรู้จักกับสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีการซื้อขายอยู่ในตลาด TFEX กันมาหลายตอนแล้ว ในวันนี้จะมาเล่าถึงการกำกับดูแลการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าโดยทางการว่า จะช่วยคุ้มครองประชาชนผู้ลงทุนให้สามารถลงทุนได้อย่างมั่นใจได้อย่างไรบ้าง

พ.ร.บ. สัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ต้นปี 2547 โดยมีวัตถุประสงค์ประการหนึ่งเพื่อรองรับการเกิดศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือที่รู้จักกันในชื่อของตลาดอนุพันธ์ (TFEX) โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของทางการเพื่อคุ้มครองผู้ลงทุนไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกหลอกลวง หรือได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมจากผู้ประกอบธุรกิจ รวมทั้งกำกับดูแลให้ตลาดมีระบบป้องกันความเสี่ยงที่ได้มาตรฐาน มีความโปร่งใสในเรื่องของราคา รวมถึงระบบการชำระราคาที่มีความมั่นคง

ในการกำกับดูแลตามกฎหมายสัญญาซื้อขายล่วงหน้านั้น เรื่องหลักๆ ที่ ก.ล.ต. ให้ความสำคัญเรื่องแรก คือการอนุญาตให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสามารถเข้ามาประกอบธุรกิจได้ ผู้ที่เกี่ยวข้องในที่นี้หมายรวมถึงทั้ง ผู้ให้บริการ และตลาดอนุพันธ์ ซึ่งผู้ให้บริการในตลาดอนุพันธ์นั้น ได้แก่ ตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (หรือโบรกเกอร์) ผู้ค้าสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ที่ปรึกษาสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ผู้จัดการเงินทุนสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งผู้ให้บริการเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นนิติบุคคลหรือสถาบันการเงิน เช่น บริษัทหลักทรัพย์ ธนาคารพาณิชย์ เป็นต้น

วัตถุประสงค์ในการอนุญาตผู้ให้บริการเหล่านี้ ก็เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้ที่จะเข้ามาประกอบธุรกิจหรือให้บริการเป็นผู้ที่มีความพร้อมทั้งทางด้านเงินทุน มีฐานะทางการเงินที่เหมาะสม มีการประกอบธุรกิจที่เป็นมาตรฐาน มีระบบป้องกันความเสี่ยงรวมถึงระบบควบคุมภายในที่ดีไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะเข้ามาทำธุรกิจสำหรับรูปแบบในการอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ หากเป็นผู้ให้บริการกับผู้ลงทุนรายย่อยทั่วไป จะต้องได้รับใบอนุญาตจาก ก.ล.ต. เสียก่อน และจะถูกกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด เนื่องจากผู้ลงทุนรายย่อยอาจยังไม่มีความรู้ความชำนาญ หรือไม่มีความคุ้นเคยเกี่ยวกับธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้ามากนัก เพราะเป็นเรื่องใหม่สำหรับตลาดทุนไทย ผู้ให้บริการจึงควรต้องมีการดำเนินงานที่ได้มาตรฐาน ไม่มีการกระทำที่ไม่เป็นธรรมหรือเอาเปรียบต่อผู้ลงทุนได้ แต่หากเป็นผู้ให้บริการเฉพาะกับผู้ลงทุนสถาบัน จะเป็นเพียงการมาขึ้นทะเบียนกับ ก.ล.ต. แทนการขอใบอนุญาต และกฎเกณฑ์ในการกำกับดูแลก็จะผ่อนคลายลง เนื่องจากถือว่าผู้ลงทุนสถาบันเป็นผู้ลงทุนที่มีความรู้ความชำนาญและสามารถปกป้องคุ้มครองตนเองได้ในระดับหนึ่งแล้ว

นอกจากผู้ให้บริการที่เป็นนิติบุคคลแล้ว ในธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้านั้นยังมีบุคคลธรรมดาที่เราเรียกว่าผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งก็คือพนักงานของผู้ให้บริการในธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้านั่นเอง ทำหน้าที่ติดต่อ ชักชวน ให้คำแนะนำ หรือวางแผนเกี่ยวกับการซื้อขายหรือการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าให้แก่ผู้ลงทุน ซึ่งบุคคลเหล่านี้ก็ต้องได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. เช่นกันโดยต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติตามที่ ก.ล.ต. กำหนด เช่น ไม่มีลักษณะต้องห้าม ผ่านการทดสอบหลักสูตรความรู้ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น เพื่อให้มั่นใจได้ว่า มีความรู้ความชำนาญอย่างแท้จริงและสามารถให้คำแนะนำเกี่ยวกับกลไกการทำงานของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้เป็นอย่างดี และเมื่อได้รับความเห็นชอบเป็นผู้ติดต่อผู้ลงทุนแล้ว บุคคลเหล่านี้ก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ลงทุนเป็นหลัก

สำหรับในการอนุญาตให้มีการจัดตั้งตลาดอนุพันธ์หรือศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้านั้น ก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากเป็นตลาดที่รองรับการซื้อขายของบุคคลทั่วไปและประชาชนจำนวนมาก ตลาดอนุพันธ์จะประสบความสำเร็จในการดำเนินกิจการได้ก็ขึ้นอยู่กับทั้งตัวสินค้าและความสามารถของตัวตลาดเอง ในการดูแลการดำเนินกิจการให้มีความโปร่งใสและเป็นธรรมในการซื้อขาย ตลอดจนสร้างความมั่นใจให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องได้ว่าจะมีการปฏิบัติตามสัญญา ดังนั้น การจัดตั้งศูนย์ซื้อขายจะทำได้เมื่อได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. เสียก่อน โดยต้องมีโครงสร้างเป็นบริษัทมหาชนจำกัด และมีคุณสมบัติด้านแหล่งเงินทุนที่เพียงพอต่อการดำเนินการและความเสี่ยงด้านต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งมีความสามรถในการกำกับดูแลสมาชิกให้ปฏิบัติตามมาตรฐานและจรรยาบรรณที่ดี มีกระบวนการตัดสินข้อพิพาทการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่เป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญคือการมีสำนักหักบัญชีที่สามารถควบคุมและรองรับความเสี่ยงต่อคู่สัญญาทั้งหมดได้ ซึ่งปัจจุบัน ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของบ้านเราที่เป็นที่รู้จักกันดีคือตลาด TFEX โดยมีสำนักหักบัญชี หรือ TCH เป็นบริษัทแยกต่างหากจากตลาดอนุพันธ์ ซึ่งก็ต้องได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. เช่นกัน

ในคราวหน้าจะมาพูดคุยเกี่ยวกับการกำกับดูแลการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในเรื่องอื่นๆ กันต่อว่าจะคุ้มครองผู้ลงทุนให้เกิดความมั่นใจในการเข้ามาลงทุนได้อย่างไร ท่านผู้อ่านสามารถอ่านบทความย้อนหลังได้ที่ www.sec.or.th > ความรู้ผู้ลงทุน > การให้ความรู้ผ่านสื่อ > บทความ
กำลังโหลดความคิดเห็น