xs
xsm
sm
md
lg

บอสECBปลอบประชาชนสู้เงินเฟ้อ ยอมทนรับเศรษฐกิจที่หดตัวพักหนึ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี – อีซีบีพยายามโน้มน้าวประชาชนให้เชื่อว่า การใช้ไม้แข็งจะทำให้ยูโรโซนหลุดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวไปได้ พร้อมยืนยันว่ามาตรการที่สร้างความเจ็บปวดระยะสั้นจะนำมาซึ่งผลประโยชน์ระยะยาว
ซิลเวน โบรเยอร์ นักเศรษฐศาสตร์ของนาทิซิส วาณิชธนกิจสัญชาติฝรั่งเศส วิจารณ์ภายหลังจากที่ฌอง-โคลด ทริเชต์ ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) เปิดเผยจุดยืนของอีซีบีระหว่างให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ในแถบยูโรโซน 4 ฉบับ ว่าขณะนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่อีซีบีจะต้องอธิบายให้ประชาชนรับรู้เกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อและนโยบายทางการเงิน
ความคิดเห็นของสาธารณชนกลายเป็นสนามสำคัญสำหรับการช่วงชิงความได้เปรียบ นับจากที่อีซีบีขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย แม้มีสัญญาณว่ากิจกรรมเศรษฐกิจกำลังชะลอตัวใน 15 ประเทศที่ใช้เงินยูโร
พวกนักการเมืองในยูโรโซนหลายราย กระตุ้นให้อีซีบีผ่อนคลายนโยบายที่เป็นตัวกำหนดเงื่อนไขการกู้ยืมของประชาชนราว 320 ล้านคน แม้ทราบดีว่าว่าเป้าหมายหลักของอีซีบีคือการควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่ทำสถิติสูงสุดที่ 4% เมื่อเดือนที่แล้วก็ตาม
ด้านอีซีบีแย้งว่า การเติบโตอย่างยั่งยืนจะได้รับการตอบสนองอย่างดีที่สุดด้วยการสร้างความมั่นใจต่อประชาชนว่า อีซีบีจะจำกัดอัตราเงินเฟ้อให้ต่ำกว่าระดับ 2% ถึงแม้การกระทำเช่นนี้ อาจฉุดให้เศรษฐกิจหดตัวสัก 2-3 เดือนก็ตาม
กิลเลส โมเอ็ก นักเศรษฐศาสตร์ของแบงก์ ออฟ อเมริกา บอกว่าในช่วงหลายๆ ปีที่ผ่านมา เรื่องอัตราดอกเบี้ยของอีซีบีไม่ค่อยทำให้เกิดความขัดแย้งอะไร เพราะพวกนักการเมืองในยุโรปคงไม่นึกว่าจะเห็นอัตราดอกเบี้ยสามารถลงไปอยู่ที่ 2% หลังการก่อตั้งสหภาพการเงินในปี 1999 ผ่านไปได้เพียง 3 ปี ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ตลาดที่อยู่อาศัยในประเทศอย่างสเปนและไอร์แลนด์บูมขึ้นมา
อย่างไรก็ดี สถานการณ์ในเวลานี้เปลี่ยนไปแล้ว การทำหรือไม่ทำอะไรเกี่ยวกับดอกเบี้ย ล้วนแต่จะทำให้เกิดความเจ็บปวดทั้งนั้น
เช่นเดียวกับเศรษฐกิจของทั่วโลก ปัจจุบัน ยูโรโซนต้องเผชิญวิกฤตราคาพลังงานและอาหาร ตลอดจนภาวะสินเชื่อตึงตัวที่เกิดจากวิกฤตการเงินโลก ที่ร่วมกันกดดันงบประมาณในครัวเรือนและจำกัดการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยหลายรายการ
ผู้ส่งออกยูโรโซนยังเจอปัญหายูโรแข็งค่าทำสถิติที่กว่า 1.60 ดอลลาร์ต่อยูโร รวมถึงสภาพเศรษฐกิจอ่อนแอในประเทศคู่ค้าสำคัญ ซึ่งทำให้ดีมานด์ยิ่งลดลง
ดุลการค้าของยูโรโซนกลายสภาพเป็นติดลบในเดือนพฤษภาคม ขณะที่ผลผลิตอุตสาหกรรมดิ่งลง และมีการปรับลดการคาดการณ์การเติบโต
ทั้งหมดนี้บีบให้ทริเชต์ต้องแสดงจุดยืนต่อสาธารณชน ซึ่งบ่อยครั้งด้วยการอ้างอิงถึงคนที่จนและอ่อนแอที่สุดที่อย่างน้อยยังสามารถป้องกันตัวเองจากภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่นการยืนกรานว่าค่าแรงที่เพิ่มขึ้นภายหลังวิกฤตน้ำมันในทศวรรษ 1970 ทำให้คนมากมายในยุโรปตกงาน เทียบกับที่มีการสร้างงาน 15.7 ล้านตำแหน่งนับจากสกุลเงินเดียวแจ้งเกิดเมื่อ 9 ปีที่แล้ว
ไมเคิล ชูเบิร์ต นักเศรษฐศาสตร์ของคอมเมิร์ซแบงก์ มองว่าวิธีที่ทริเชต์ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์หลายๆ ฉบับ ถือเป็นวิธีสื่อสารที่ได้ผล เนื่องจากนโยบายของอีซีบีนั้นต้องอิงกับการคาดการณ์ภาวะเงินเฟ้อ หรือความเชื่อในวงกว้างว่าราคาผู้บริโภคจะพุ่งรุนแรงหรือไม่ในอนาคต
การคาดการณ์ดังกล่าวมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจว่าจะซื้อเครื่องใช้ภายในบ้านหรือลงทุนในธุรกิจที่มีมูลค่านับสิบล้านยูโรหรือไม่ หรืออัตราดอกเบี้ยระยะยาวที่รัฐบาลต้องจ่ายเพื่ออุดหนุนงบประมาณ
โมเอ็กเสริมว่า การพูดแสดงความคิดเห็นของทริเชต์กับหนังสือพิมพ์ มุ่งหมายให้เป็นการสื่อสารไปยังผู้นำยุโรป ที่พยายามเข้าไปมีอิทธิพลในอีซีบี ซึ่งเป็นองค์กรอิสระตามสนธิสัญญามาสทริชต์ และการพยายามแทรกแซงดังกล่าวอาจส่งผลบางอย่าง เช่น ทำให้เกิดความเปราะบางภายในสถาบัน
โบรเยอร์ขานรับว่า มีความขัดแย้งในหมู่ผู้นำอียู เช่น ระหว่างประธานาธิบดีนิโคลาส์ ซาร์โกซีของฝรั่งเศส กับอีซีบี ตัวเขาเองนั้นมองว่าความสำเร็จของสกุลเงินยูโรจะเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจยุโรปชนิดถอนรากถอนโคน และบีบบังคับให้รัฐบาลต้องลงมือปฏิรูปวิธีการต่างๆทางอุตสาหกรรมที่ล้าสมัย โดยช่วงเก้าปีที่ผ่านมาแห่งการใช้เงินยูโร เป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น
โบรเยอร์ยังบอกอีกว่า จุดที่ไร้ประสิทธิภาพขณะนี้คือรูปแบบการเมืองของยุโรป หลังจากไอร์แลนด์ปฏิเสธร่างสนธิสัญญาลิสบอนเพื่อปูทางสู่การขยายสมาชิกภาพอย่างง่ายดายในอนาคต ทั้งที่อียูต้องการนโยบายเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นหนึ่งเดียวกัน
ทั้งนี้ ซาร์โกซีมีกำหนดเยือนไอร์แลนด์ในวันนี้ (21) เพื่อหาทางออกเกี่ยวกับร่างสนธิสัญญาดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น