xs
xsm
sm
md
lg

ความชอบธรรมที่มีเงื่อนไข

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

ประเทศไทยมีการเปลี่ยนระบอบการเมืองในทางโครงสร้าง แต่ผู้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง ไม่ได้มีวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย มิหนำซ้ำยังมีความเข้าใจที่ผิดเพี้ยนไปจากหลักปฏิบัติที่ดีของประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาด้วย

การเป็นประชาธิปไตยเฉพาะทางโครงสร้างก่อให้เกิดปัญหาสำคัญหลายประการคือ

1. พรรคการเมืองจัดตั้งเมื่อผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม และมีลักษณะเป็นองค์กรทางธุรกิจมากกว่าองค์กรทางการเมือง โดยมีบทบาทจำกัดเฉพาะการแข่งขันเพื่อเอาชนะในการเลือกตั้งเท่านั้น

2. มีความเข้าใจผิดว่า การมาจากการเลือกตั้งก่อให้เกิดความชอบธรรมสมบูรณ์แบบ ทั้งๆ ที่การมาจากการเลือกตั้งเป็นเพียงการได้มาซึ่งความชอบธรรมขั้นต้นเท่านั้น กล่าวคือ เป็นความชอบธรรมที่มีเงื่อนไข รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะต้องบริหารประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่โกงกิน และได้รับการยอมรับจากประชาชนเพราะผลงาน ไม่ใช่เพราะมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น

3. รัฐบาลเป็นฝ่ายการเมือง มีข้าราชการประจำ และระบบบริหารราชการเป็นเครื่องมือ รัฐมนตรีเป็นฝ่ายการเมือง มีอำนาจสูงสุดในการกำกับบริหารราชการในกระทรวง การตัดสินใจของรัฐมนตรี แม้จะได้รับข้อมูลความเห็นจากข้าราชการ แต่ก็ต้องถือว่าเป็นความรับผิดชอบของรัฐมนตรี จะไปโทษหรือโยนความผิดให้ข้าราชการประจำไม่ได้

4. ในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา คณะรัฐมนตรีเป็นองค์กรการตัดสินใจสูงสุดทางการบริหาร มติของคณะรัฐมนตรีผูกพันคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ คณะรัฐมนตรีจึงมีความรับผิดชอบร่วมกัน หรือที่เรียกว่า Collective Responsibility แต่สำหรับคณะรัฐบาลชุดนี้ได้มีการปฏิเสธหลักสำคัญที่สุดข้อนี้ โดยไม่ยอมรับผิดชอบร่วมกันในเรื่องเขาพระวิหาร

5. ในระบอบประชาธิปไตย รัฐมนตรีจะต้องระวังรักษาเกียรติภูมิของตนเอง เหตุการณ์หรือการใดที่เกิดความด่างพร้อย ตามธรรมเนียมปฏิบัติที่ดี รัฐมนตรีจะต้องลาออกจากตำแหน่ง แต่ในประเทศไทย แม้จะมีข่าวว่านักการเมืองเรียกสินบนจากโครงการต่างๆ ก็ไม่ยอมลาออก

นักการเมืองมักจะกล่าวอยู่เสมอว่า พวกเขามาจากการเลือกตั้งซึ่งหมายความว่า พวกเขามีความชอบธรรม แต่ไม่เข้าใจว่า การที่จะมีความชอบธรรมหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติงาน และการประเมินของประชาชน

นักวิชาการบางคนติด “กับดักประชาธิปไตย” คือมีทัศนะต่อประชาธิปไตยว่า ประชาธิปไตยมีความดีอยู่ในตัวของมันเอง แต่ประชาธิปไตยเป็นเพียงวิธีการปกครองแบบหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่า เมื่อมีระบอบประชาธิปไตยแล้ว จะเกิดผลดีต่อสังคมและประชาชนเสมอไป

ประชาธิปไตยเป็นระบอบการเมืองที่ให้หลักประกันทางสิทธิเสรีภาพแก่ประชาชน วางหลักการถ่วงดุล ตรวจสอบทางอำนาจได้ ไม่ปล่อยให้อำนาจบางฝ่ายครอบงำอำนาจฝ่ายอื่นได้ แต่ถ้าเรานำเอาประชาธิปไตยมาใช้เพียงส่วนเดียวคือ ส่วนของการเข้าสู่อำนาจโดยผ่านการเลือกตั้ง แต่ไม่ได้พิจารณาถึงการทำงานของรัฐบาลภายใต้กระบวนการประชาธิปไตย ว่าเป็นอย่างไร ก็นับว่าเป็นความเข้าใจผิดในหลักและวิธีการของประชาธิปไตยอย่างมหันต์

โดยปกติแล้ว แม้นักการเมืองจะไม่ใช่คนดีหรือคนเก่งที่สุดของสังคม แต่ก็มีหลักประกันว่า การทำงานในระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยจะเหนี่ยวรั้งไม่ให้นักการเมืองปฏิบัติตัวในทางมิชอบ ทั้งนี้นักการเมืองจะต้องยอมรับธรรมเนียมปฏิบัติ โดยเฉพาะหลักการรับผิดชอบร่วมกันด้วย มิใช่อ้างแต่หลักการบางอย่างที่มีผลดีต่อตนเอง แต่ไม่ยอมรับหลักสำคัญด้านอื่นๆ ที่มีผลร้าย

ด้วยเหตุนี้เอง นักการเมืองหลายคนจึงปราศจากเกียรติภูมิและศักดิ์ศรี แม้จะมีตำแหน่งใหญ่โตก็ตาม บางคนเป็นนักแบล็กเมล์ บางคนพัวพันกับบ่อนพนัน และขบวนการค้ายาเสพติด

เมื่อการกวาดล้างนักการเมืองเหล่านี้ มิอาจอาศัยกลไกและกระบวนการทางนิติบัญญัติได้ เราจึงเห็นบทบาทของฝ่ายตุลาการที่เพิ่มมากขึ้น นักการเมืองจึงบ่นว่า ศาลทำให้ฝ่ายบริหารไม่อาจปฏิบัติงานได้ ในอำนาจอธิปไตยสามด้านนี้ ในที่สุดฝ่ายตุลาการก็จะมีบทบาทสำคัญในการเอานักการเมืองออกจากตำแหน่ง ในเมื่อนักการเมืองไม่ทำตามธรรมเนียมปฏิบัติ

ถ้าเราต้องการให้ระบอบการเมืองแบบนี้คงอยู่ต่อไปโดยไม่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่การเมืองใหม่ นักการเมืองโดยระบอบก็ต้องเข้าใจว่า การมาจากการเลือกตั้งไม่ได้ทำให้เกิดความชอบธรรมโดยไม่มีเงื่อนไข รัฐบาลจะต้องมีความรับผิดชอบร่วมกัน แต่ที่มีคนออกมาชุมนุมขับไล่ก็เพราะช่องทางในการที่รัฐบาลจะออกไปตามวิถีทางประชาธิปไตยมันไม่มี ประชาธิปไตยกลายเป็นยันต์คุ้มกันรัฐบาล ประชาชนจึงต้องการการเปลี่ยนแปลง
กำลังโหลดความคิดเห็น