xs
xsm
sm
md
lg

โครงการผันน้ำงึมฯ 7.6 หมื่นล้าน :ความจริงที่คนอีสานต้องรู้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หนองแดนเมือง หนองน้ำธรรมชาติที่บ้านแดนเมือง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย จะถูกปรับให้มีความจุเพิ่มขึ้นเป็น 500,000 ลบ.ม. เพื่อรับน้ำจากอุโมงค์ผันน้ำลอดใต้แม่น้ำโขงและผันต่อไปยังห้วยหลวง
รายงาน

มนตรี จันทวงศ์
โครงการฟื้นฟูนิเวศวิทยาในภูมิภาคอินโดจีนและพม่า

ในที่สุด คณะรัฐมนตรีก็ได้เห็นชอบในหลักการ “โครงการผันน้ำงึม-ห้วยหลวง-ลำปาว” ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามมติผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรจัดการน้ำและการชลประทาน งบประมาณ 76,760 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 2552-2556 โดยจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติการดำเนินโครงการต่อไป

แนวผันน้ำน้ำงึม-ห้วยหลวง-ลำปาว ที่คณะรัฐมนตรีเพิ่งลงมติเห็นชอบในหลักการไปนั้น เป็นการผันน้ำจากท้ายเขื่อนน้ำงึมจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว) เข้าคลองผันน้ำความยาว 17 กิโลเมตร ผ่านอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำโขง มายังอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง จ.อุดรธานี และต่อไปยังหนองหาร กุมภวาปี

แบ่งเป็นระยะที่ 1 การใช้น้ำในประเทศห้วยหลวง-หนองหาร-กุมภวาปี ระยะเวลา 4 ปี และระยะที่ 2 การใช้น้ำจากนอกประเทศ น้ำงึม-ท่อลอดน้ำโขง-ห้วยหลวง ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี ได้ปริมาณน้ำรวมทั้งสิ้น 2,580 ล้านลูกบาศก์เมตร ครอบคลุมพื้นที่ชลประทาน 3.2 ล้านไร่

การเร่งรีบผลักดันโครงการผันน้ำงึมจาก สปป.ลาว มาใช้ในภาคอีสานของประเทศไทย เป็นสิ่งที่เราได้เห็นตั้งแต่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีเข้ารับตำแหน่ง และได้ใช้เวทีในรายการ “สนทนาประสาสมัคร” ออกมาตอกย้ำแผนการนี้เป็นระยะ ๆ

อาการเร่งรีบ รวบรัด เช่นนี้ ทำให้เกิดคำถามถึงหลักธรรมาภิบาลและความโปร่งใสในการดำเนินการ เพราะข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโครงการที่สาธารณชน รวมถึงผู้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงควรต้องรู้ กลับยังไม่มีการเปิดเผย ในขณะที่ภาพความล้มเหลวเก่า ๆ ของโครงการจัดการน้ำหลายต่อหลายโครงการ เช่น โครงการผันน้ำโขง-ชี-มูล ที่ก่อให้เกิดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมมากมาย ก็ยังคงตามหลอกหลอนคนอีสานไม่สิ้นสุด
 

การผลักดันโครงการผันน้ำมูลค่าหลายหมื่นล้านนี้เกิดขึ้น ในรัฐบาลแทบทุกยุคสมัย นักการเมืองหลายต่อหลายรายมักใช้โครงการจัดหาน้ำเพื่อเรียกคะแนนนิยมจากพี่น้องชาวอีสาน ไม่ว่าจะเป็นโครงการผันน้ำโขง-ชี-มูล ปี 2534, โครงการโครงข่ายน้ำแห่งชาติ ปี 2546 (National water grid system), โครงการน้ำแก้จน ปี 2546 และโครงการชลประทานระบบท่อนำร่อง ปี 2540-2542

แต่ที่ผ่านมาหลายโครงการก็พิสูจน์ให้เห็นถึงความล้มเหลว ทั้งในแง่ผลประโยชน์ที่อ้างไว้เมื่อตอนผลักดันโครงการซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นจริง อีกทั้งยังก่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ติดตามมามากมาย เช่น ปัญหาการแพร่กระจายของดินเค็มจากโครงการโขง-ชี-มูล ซึ่งจนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่สามารถแก้ไขได้ หรือปัญหาความไร้ประสิทธิภาพของโครงการชลประทานระบบท่อนำร่อง 10 โครงการ ที่ถูกตรวจพบโดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินในปี 2546 ก็ยังหาผู้รับผิดชอบไม่ได้จนถึงปัจจุบัน

มาวันนี้รัฐบาลพยายามเดินหน้าโครงการผันน้ำงึมมูลค่ากว่าเจ็ดหมื่นล้านบาท โดยที่ยังมิได้เปิดเผยถึงข้อมูลด้านสำคัญ ๆ ของโครงการต่อสาธารณะ เช่น พื้นที่เป้าหมาย, แนวผันน้ำ, การผันน้ำด้วยแรงโน้มถ่วงหรือการสูบน้ำ โดยเฉพาะ “ค่าน้ำ” ที่เกษตรกรต้องจ่าย รวมไปถึงผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมที่ครอบคลุมพื้นที่มหาศาล

ในเรื่องของความคุ้มทุน และค่าน้ำที่เกษตรกรต้องจ่าย (ซึ่งเป็นประเด็นที่นายกรัฐมนตรียังไม่เคยพูดถึง) ก็เป็นเรื่องที่น่าเคลือบแคลง

จากรายงานการศึกษาเบื้องต้นของโครงการ ระบุว่า พื้นที่โครงการทั้งหมดแบ่งเป็นพื้นที่ดอนเพื่อการปลูกพืชพลังงาน เช่น อ้อย และมันสำปะหลัง ประมาณ 3.1 ล้านไร่ และที่เหลือเป็นพื้นที่ลุ่มทำนาเพียง 1 แสนไร่เท่านั้น ทั้งนี้โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากต้นทุนของโครงการค่อนข้างสูงมาก ดังนั้น หากนำน้ำมาเพื่อปลูกพืชพลังงานจะเกิดความคุ้มทุนมากกว่าการทำนา

แต่จากการคำนวณค่าน้ำที่ต้องจ่าย (ที่ระดับความคุ้มทุนของโครงการ) เท่ากับ 2.41 บาทต่อน้ำ 1 ลูกบาศก์เมตร (ยังไม่รวมค่าซื้อน้ำจากสปป.ลาว) และต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเพื่อสูบน้ำอีกลูกบาศก์เมตรละ 0.4683 บาท (ราคาปี 2548) ซึ่งยังไม่รวมค่าไฟฟ้าผันแปรและภาษีมูลค่าเพิ่ม

ดังนั้น เกษตรกรในพื้นที่โครงการผันน้ำงึมจะต้องมีภาระในการจ่ายค่าน้ำและค่าไฟฟ้าอย่างต่ำประมาณ 3 บาทต่อลูกบาศก์เมตร (ซึ่งเป็นตัวเลขค่าน้ำที่ถือว่าสูงมากสำหรับเกษตรกรทั่วไป) และหากเกษตรกรในพื้นที่โครงการหันมาปลูกพืชพลังงาน รายงานอ้างว่าจะช่วยให้เกษตรกรจะมีรายได้สุทธิเพิ่มขึ้น 6,368 บาท/ไร่ แต่ตัวเลขนี้ก็เป็นผลการศึกษาแบบด่วนสรุป เพราะไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าพืชพลังงานยังปราศจากอนาคตที่แน่ชัด

ในเรื่องผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม แน่นอนว่าคลองผันน้ำขนาดใหญ่ (กว้าง 50-80 เมตร) ตามแนวส่งน้ำหลัก 5 เส้นทางนั้น จะต้องเวนคืนที่ดินซึ่งเป็นชุมชนและที่ทำกินจำนวนมากถึง 11,256.76 ไร่ (ทั้งนี้ยังไม่รวมการก่อสร้างระบบส่งน้ำอีก 75 โครงการย่อย)

นอกจากนี้ แนวส่งน้ำยังผ่านเขตพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์รวม 4,231.59 ไร่ ซึ่งในจำนวนนี้เป็นพื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1A ประมาณ 950 ไร่ และพื้นที่ชลประทานของโครงการ 3.2 ล้านไร่ ซึ่งกระจายในจังหวัดสกลนคร อุดรธานี ขอนแก่น หนองบัวลำภู และกาฬสินธุ์ (แม้จะไม่ซ้อนทับกับโครงการโขง-ชี-มูล) ก็อยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของดินเค็มเช่นกัน

จากรายงานการศึกษาฯ ได้ระบุให้โครงการผันน้ำงึมต้องดำเนินการการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เต็มทั้งโครงการ 3.2 ล้านไร่ ไม่ใช่เฉพาะแนวผันน้ำหลักเท่านั้น เพราะฉะนั้น ก่อนการเดินหน้าโครงการ ก็ย่อมต้องทำการศึกษาผลกระทบด้านต่าง ๆ ให้ครอบคลุมพื้นที่เหล่านี้ทั้งหมด และต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติปี 2535 อีกทั้งรัฐธรรมนูญพ.ศ. 2550 มาตรา 67 ยังได้ระบุให้ต้องมีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และต้องจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ก่อนดำเนินการด้วย

ทั้งนี้ เพราะหากรัฐรวบรัดผลักดันโครงการผันน้ำงึม โดยปราศจากกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและการศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน ย่อมสร้างความวิตกกังวลว่า โครงการนี้อาจเดินซ้ำรอยความล้มเหลวเหมือนเช่นโครงการอื่น ๆ ที่ผ่านมา เรามีบทเรียนความล้มเหลวให้เห็นมามากมายเหลือเกินแล้ว และสังคมไทยคงไม่อยากเห็นงบประมาณแผ่นดินมูลค่าอีกหลายหมื่นล้านของประเทศต้องมลายหายสิ้นไป เพียงเพื่อแลกกับความล้มเหลวซ้ำซาก และทิ้งบาดแผลซ้ำเติมให้แก่คนอีสานอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ประตูน้ำห้วยหลวง จะยกระดับน้ำห้วยหลวงรองรับการผันน้ำมาจากเขื่อนน้ำงึม เพื่อผันน้ำต่อไปยังสถานีสูบน้ำที่บ้านถ่อนนาเพลิน อ.พิบูลย์รักษ์ จ.อุดรธานี เพื่อสูบน้ำต่อไปยังหนองหานกุมภวาปีและแม่น้ำสงคราม
กำลังโหลดความคิดเห็น