xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯปรับทิศทางนโยบายอิหร่าน ยอมส่งทูตเจรจาโครงการนิวเคลียร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอยเตอร์/เอเอฟพี - เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯเผยเมื่อวันอังคาร (15) ว่าสหรัฐฯ กำลังปรับทิศทางนโยบายต่ออิหร่านโดยยอมส่ง วิลเลียมส์ เบิร์นส์ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการเจรจาเรื่องโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน ซึ่งฆาเบียร์ โซลานา ประธานด้านนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป และชาติมหาอำนาจ คือ จีน รัสเซีย ฝรั่งเศส อังกฤษ และเยอรมนี มีกำหนดพบปะกับซาอีด จาลิลี ตัวแทนเจรจาจากอิหร่าน ในวันเสาร์(19)นี้ ที่นครเจนีวา
ที่ประชุมจะหารือกันในเรื่องท่าทีของอิหร่านต่อข้อเสนอเมื่อเดือนที่แล้วของชาติมหาอำนาจ เพื่อให้อิหร่านยอมล้มเลิกโครงการนิวเคลียร์ ซึ่งโลกตะวันตกเชื่อว่ามีเป้าหมายที่การสร้างระเบิดนิวเคลียร์ ทว่าอิหร่านยืนกรานตลอดมาว่าเป็นโครงการพัฒนานิวเคลียร์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า
ก่อนหน้านี้สหรัฐฯ เคยกล่าวว่าจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเตรียมเปิดเจรจากับอิหร่านทุกรูปแบบ จนกว่าอิหร่านจะยอมหยุดการเพิ่มสมรรถนะแร่ยูเรเนียมเสียก่อน และการส่งเบิร์นส์ไปร่วมหารือในครั้งนี้ สหรัฐฯก็ยังกำหนดบุหลักการพื้นฐานอย่างชัดเจนว่าเบิร์นส์ไม่ได้มีบทบาทเป็นผู้แทนการเจรจา และจะไม่พบปะเป็นการส่วนตัวกับจาลิลีด้วย แต่เขาจะยืนยันจุดยืนของสหรัฐฯ ว่าอิหร่านต้องหยุดเเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียม ก่อนการเจรจาอย่างเป็นทางการจะเริ่มต้น
"บิล เบิร์นส์จะยืนยันว่าเงื่อนไขการเจรจายังคงเหมือนเดิม" เจ้าหน้าที่ซึ่งไม่ยอมเปิดเผยชื่อผู้หนึ่งบอก และว่า "ครั้งนี้ถือเป็นการมีส่วนร่วมแบบครั้งเดียวที่จัดขึ้นเพื่อแสดงถึงความมีเอกภาพ (ในหมู่ชาติมหาอำนาจ) และเนื้อหาสาระก็จะชัดเจนมาก"
เขายังเสริมอีกว่า การที่สหรัฐฯ เข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้ไม่ได้บ่งชี้ว่าจะมีการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเต็มรูป
ทั้งนี้ อิหร่านและสหรัฐฯ ตัดสัมพันธ์ทางการทูตกันมาตั้งแต่หลังการปฏิวัติอิหร่านในปี 1979 แต่สหรัฐฯ เคยจัดประชุมกับอิหร่านหลายครั้งในประเด็นที่อิหร่านเข้าไปแทรกแซงในอิรัก
เมื่อเดือนมิถุนายน โซลานาได้เสนอกับอิหร่านว่าชาติมหาอำนาจจะให้ความช่วยเหลือแก่อิหร่านเป็นชุดทั้งทางด้านเศรษฐกิจและด้านอื่นๆ เพื่อให้อิหร่านยอมหยุดพัฒนาโครงการนิวเคลียร์ที่ล่อแหลมต่ออันตราย แต่อิหร่านก็ปฏิเสธที่จะหยุดการเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมตามคำเรียกร้องของหกชาติมหาอำนาจก่อนที่จะเปิดการเจรจากันอย่างเป็นทางการ
หลังจากนั้น ความตึงเครียดทางการเมืองก็เพิ่มขึ้นเมื่ออิหร่านทดสอบยิงขีปนาวุธในอ่าวเปอร์เซียเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และสหรัฐฯ ได้ออกมาเตือนว่าพร้อมจะปกป้องชาติพันธมิตรของตนเช่นกัน จนทำให้ราคาน้ำมันทะยานขึ้นทำสถิติสูงสุดครั้งใหม่หลายครั้งด้วยกัน
สหรัฐฯ ระบุว่าที่ตัดสินใจเข้าร่วมการเจรจาก็เพื่อใช้ประโยชน์จากสิ่งที่ดูเหมือนเป็นการ "ถกเถียงกัน" ในเรื่องการวางจุดยืนของอิหร่านต่อข้อเสนอเรื่องนิวเคลียร์ และเพื่อแสดงว่าสหรัฐฯ นั้นต้องการที่จะหาทางฝ่าทางตันนี้ไปให้ได้
นอกจากนั้น การที่สหประชาชาติแซงก์ชันอิหร่านไปสามครั้ง รวมทั้งการแซงก์ชันระดับทวิภาคีจากสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป คงเริ่มทำให้อิหร่านเดือดร้อน ตอนนี้จึงเป็นเวลาเหมาะที่จะใช้ประโยชน์จากจุดนี้ อีกทั้งถือเป็นทางเลือกหนึ่งของมาตรการทางการทูตที่สหรัฐฯ ประกาศจะใช้เป็นหลักในการรับมือกับอิหร่านด้วย
ทางด้าน เดวิด เจอร์เกน อดีตที่ปรึกษาให้กับทั้งประธานาธิบดีบิล คลินตัน และ โรนัลด์ เรแกน ได้ให้สัมภาษณ์โทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นว่า สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนี้ถือเป็นการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่จากนโยบายเดิมๆ โดยที่ก่อนหน้านี้อิหร่านได้เคยส่งสัญญาณว่าอาจจะต้องการให้มีการทำข้อตกลงกันให้ได้ คณะรัฐบาลสหรัฐฯจึงเห็นประโยชน์ที่จะทดลองพิสูจน์ดู
อนึ่ง เมื่อวานนี้ อยาโตลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน ได้ออกมาแถลงย้ำว่า อิหร่านจะไม่ยอมถูกบังคับให้ทำอะไรที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของตนเอง
"อิหร่านได้ตัดสินใจที่จะเข้าร่วมในการเจรจากัน แต่จะไม่ยอมรับการข่มขู่คุกคามใดๆ ทั้งนั้น" สถานีโทรทัศน์ของทางการอิหร่านอ้างคำพูดของผู้นำสูงสุด โดยที่คาเมเนอีกล่าวยืนยันอีกว่า "ไม่มีอำนาจใดๆ สามารถมาริบเอาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ของอิหร่านไปได้"
กำลังโหลดความคิดเห็น