xs
xsm
sm
md
lg

ตัวแปรใหม่ กฎเกณฑ์ใหม่ การเมืองใหม่ สังคมใหม่ ชีวิตใหม่ (1) (ว่าด้วยการขับเคลื่อนสังคมไทยให้พ้นจากวังวนวิกฤต เข้าสู่มิติแห่งอนาคตอันรุ่งโรจน์และดีงาม)

เผยแพร่:   โดย: สันติ ตั้งรพีพากร

วิธีการใดที่สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนถ่ายกลุ่มผู้ใช้อำนาจบริหารประเทศ จากกลุ่มคนที่มุ่งแสวงประโยชน์เพื่อตนเองหรือกลุ่มตน เป็นกลุ่มคนผู้ถือเอาผลประโยชน์ของประชาชนชาวไทย ซึ่งก็คือคนส่วนใหญ่ในสังคมไทย เป็นที่ตั้ง ไม่ว่าจะมาจากฝ่ายใด ซ้ายหรือขวา ก้าวหน้าหรือล้าหลัง ล้วนแต่ “ถูกต้อง” และ “ดี” ทั้งนั้น

ขอให้ทุกผู้ทุกนามที่มีอุดมการณ์ร่วมกัน ในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้พ้นจากวิกฤต ประชาชนชาวไทยมีชีวิตใหม่ จงมารวมตัวกันเข้า ทำในสิ่งที่ “ถูกต้อง” และ “ดี” โดยไม่แบ่งแยกว่าเป็น “ซ้าย -- ขวา” “ก้าวหน้า -- ล้าหลัง”


ประเทศไทยได้เดินมาถึง “จุดเปลี่ยน” ทางประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญแล้ว เมื่อขบวนการการเมืองภาคประชาชนได้ผงาดขึ้น แสดงตนเป็น “เจ้าภาพตัวจริง” ในการขับเคลื่อนสังคมไทยให้พ้นจากห้วงวิกฤต และสร้างประเทศไทยใหม่ตามเจตจำนงของปวงชนชาวไทยต่อไป

ณ วันนี้ ในสภาพที่เราๆ ท่านๆ กำลังประสบอยู่ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ต่างตระหนักชัดแล้วว่า ชีวิตคนไทยกำลังตกอยู่ในห้วงวิกฤต อนาคตมืดมน แม้ไม่ใช่คนไทยทั้งหมด แต่ก็เป็นคนไทยส่วนใหญ่ ที่ดำเนินชีวิตอยู่ในกรอบกำหนดของการใช้อำนาจการเมืองของนักการเมือง เจ้าหน้าที่ ข้าราชการ ซึ่งก็คือกลุ่มผู้มีอำนาจบารมี ในบริบทของสังคมโลกยุคโลกาภิวัตน์ ส่วนคนไทยที่อยู่เหนืออำนาจ หรือสังกัด เกาะยึด อิงแอบอยู่ในกลุ่มของผู้ใช้อำนาจ ซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อย อาจไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับวิกฤต ไม่ตระหนักถึงความตีบตันของคนส่วนใหญ่ เพราะพวกเขาดำเนินชีวิตอยู่บนฐานของความได้เปรียบในแทบทุกด้าน มีอภิสิทธิ์รอบด้าน กระทั่งในบางกรณีก็สุดที่กฎหมายจะเอื้อมถึง เพียงแต่ว่าพวกเขาในที่สุดก็หนีไม่พ้น “กฎแห่งกรรม”

จึงเป็นเหตุผลสำคัญว่า เมื่อใดที่กลุ่มคนส่วนใหญ่เดือดร้อน ตกอยู่ในห้วงวิกฤต คนส่วนน้อยก็ใช่ว่าจะลอยตัวอยู่เหนือวิกฤตนั้นได้ เพราะถึงที่สุดแล้ว เมื่อมองลึกถึงทุกวิกฤตของคนส่วนใหญ่แล้ว ล้วนมีเหตุมาจากการ “กระทำ” ของกลุ่มคนส่วนน้อยนั่นเอง

มันเป็นความสัมพันธ์ของสองด้านของเหรียญ ในลักษณะที่เป็นคู่ขัดแย้งกันที่ต่างเป็นเหตุปัจจัยหรือเงื่อนไขของวิกฤตที่ดำรงอยู่ในสังคมไทย

อีกนัยหนึ่ง มันเป็น “ซีโร่-ซัม” เกม ถ้าฝ่ายหนึ่งได้ อีกฝ่ายก็ต้องเสีย ผู้ใช้อำนาจได้ ผู้ถูกใช้อำนาจก็เสีย ไม่ใช่ “วิน-วิน” เกม

“วิน-วิน” เกม คืออะไร? ก็คือการใช้อำนาจของผู้ใช้อำนาจเป็นไปในลักษณะที่ยังประโยชน์แก่ผู้ถูกใช้อำนาจเป็นหลัก คณะผู้ใช้อำนาจมุ่งใช้อำนาจเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ ทุกอย่างที่ทำไปล้วนสร้างเสริมคุณภาพชีวิตของคนส่วนใหญ่ในสังคม ผู้ใช้อำนาจ “ได้” ใช้ความรู้ความสามารถ “ได้” สร้างความเจริญรุ่งเรืองในด้านต่างๆ ให้แก่สังคม “ได้” สร้างโอกาสให้แก่ประชาชนส่วนใหญ่ เกิดความปรองดองสมานฉันท์ ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมกันถ้วนหน้า ขณะที่ผู้ถูกใช้อำนาจก็ “ได้” สิ่งต่างๆ บนฐานของการ “ได้” ของผู้ใช้อำนาจนั่นเอง

อีกนัยหนึ่ง ผู้ใช้อำนาจกับผู้ถูกใช้อำนาจต่าง “ได้” บนฐานเดียวกัน ประกอบเข้าเป็นคนละด้านของเหรียญที่ไม่ใช่คู่ขัดแย้งหรือ “คู่กัด” ซึ่งกันและกัน แต่เป็นคนละด้านที่เสริมสร้างความเป็นเอกภาพของเหรียญเดียวกัน

“วิน- วิน” เกม จึงเป็นทางออกที่ถูกต้องเพียงหนึ่งเดียว ในการพาประเทศชาติก้าวพ้นจากวิกฤต เปิดศักราชใหม่ให้แก่การสร้างชีวิตใหม่ให้แก่ประชาชนชาวไทย

ดังนั้น ณ วันนี้ การขับเคลื่อนการเมืองประเทศไทยให้พ้นจากบริบทของ “ซีโร่ - ซัม” เกม ไปสู่บริบทของ “วิน-วิน” เกม ซึ่งก็คือการเปลี่ยนกลุ่มผู้ใช้อำนาจบริหารประเทศจากตัวแทนผลประโยชน์ของคนกลุ่มน้อย มาเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ จึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่สุด และเป็นภารกิจสำคัญสูงสุดร่วมกันของปวงชนชาวไทย

วิกฤตระดับโครงสร้าง

ประวัติศาสตร์การใช้อำนาจบริหารประเทศของกลุ่มผู้ใช้อำนาจทางการเมืองของประเทศไทย โดยเฉพาะเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2475 ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีกลุ่มผู้ใช้อำนาจบริหารประเทศผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้ามาทำหน้าที่กันมากหน้าหลายตา หลักๆ ก็คือกลุ่มทหารและกลุ่มทุน แต่ทุกกลุ่มเลยก็ว่าได้ ล้วนแต่มุ่งใช้อำนาจสนองความต้องการของตนเอง ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ตักตวงผลประโยชน์ เสริมฐานอำนาจกลุ่มตนเป็นหลัก การใดที่จะทำให้ประชาชนเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้ ก็ไม่ทำ ปล่อยให้พวกเขาตะเกียกตะกายดิ้นรนไปวันๆ เกิดสภาวะใครดีใครอยู่ มือใครยาวสาวได้สาวเอา โดยฝ่ายรัฐหรือกลุ่มผู้ใช้อำนาจทำเป็นทองไม่รู้ร้อน เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ เพราะมัวสาละวนอยู่แต่กับเรื่องของการเสาะหาช่องทางตักตวงผลประโยชน์เข้าตัว

ผลก็คือ ประชาชนส่วนใหญ่ถูกต้อนไปอยู่ฟากหนึ่ง ขณะที่กลุ่มคนส่วนน้อยกระจุกตัวอยู่ในมุมของตน เกิดการแยกขั้วอย่างชัดเจนในสังคมไทย เกิดความแปลกแยกต่อกันระหว่างคนไทยด้วยกัน ทั้งทางด้านการดำเนินชีวิตและอารมณ์ความรู้สึก ค่านิยม จึงเกิดความไม่เข้าใจกัน ไม่ตระหนักในความต้องการของแต่ละฝ่าย เมื่อเกิดมีปัญหากระทบต่อชีวิต ก็หนีไม่พ้นที่จะบานปลายไปเป็นวิกฤตน้อยใหญ่ไม่สิ้นสุด กล่าวโทษซึ่งกันและกันจ้าละหวั่น และมักจะลงเอยด้วยการกระทบกระทั่งกัน มีการใช้ความรุนแรงเข้าใส่กัน กระทั่งใช้กำลังอาวุธเข่นฆ่าซึ่งกันและกัน ซึ่งแน่ละ กว่า 70 ปีที่ผ่านมา ผู้ที่ตกเป็นเป้าของการใช้กำลังเข่นฆ่า ส่วนใหญ่ก็คือประชาชน

ผลที่ตามมาก็คือ ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขให้ตกไปอย่างแท้จริง ขณะที่บาดแผลจากการปราบปรามเข่นฆ่าประชาชนได้กลายเป็น “แผลใจ” ที่ยากจะลบเลือนได้

การขับเคลื่อนของประวัติศาสตร์ชาติไทยในห้วง 70 กว่าปีที่ผ่านมา จึงเป็นกระบวนการสั่งสมของวิกฤตแห่งชาติ เป็นผลจากโครงสร้างทางการเมืองโดยตรง เนื่องจากระบบการเมืองเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เปิดช่องให้ผู้มีความทะเยอทะยาน จ้องแสวงประโยชน์ใส่ตน สามารถก้าวขึ้นมาอยู่ในฐานะผู้ใช้อำนาจบริหารประเทศ กอบโกยโกงกินอย่างตะกละตะกลาม โดยไม่ต้องถูกตรวจสอบหรือลงโทษจริงๆ

พูดไปทำไมมี ในความเป็นจริง เวทีการเมืองของประเทศไทย ก็คือเวทีเสรี ที่เปิดฟรีให้กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ในสังคมไทยเข้าไปแย่งยึดอำนาจการบริหารประเทศ ทั้งในรูปแบบเผด็จการทหารและเผด็จการรัฐสภา เมื่อใดที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้รับชัยชนะ ทั้งด้วยวิธีการทำรัฐประหาร (ใช้ปืน) หรือด้วยการซื้อเสียงในการเลือกตั้ง (ใช้เงิน) ซึ่งก็คือใช้อำนาจปืนหรืออำนาจเงินเป็นใบเบิกทาง พวกเขาก็จะตั้งหน้าตั้งตากอบโกยผลประโยชน์เข้าตัว พร้อมกับวางเส้นวางสายโยกย้ายสับเปลี่ยนเจ้าหน้าที่รัฐและข้าราชการ เสริมสร้างฐานอำนาจทางการเมืองของพวกตนไว้อย่างเหนียวแน่น หมุนเวียนเปลี่ยนไปอยู่เช่นนั้น จนกลายเป็นวัฏจักรที่ไม่มีวันจบสิ้น

พฤติกรรมสั่งสมของกลุ่มผู้ใช้อำนาจบริหารประเทศเหล่านี้ ได้กระตุ้นให้คนไทยจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ “ตื่นตัว” ตระหนักถึงหายนะที่จะเกิดขึ้นกับประเทศชาติและคนไทยโดยรวม เมื่อมีโอกาสก็จะรวมตัวกัน นำเสนอวิธีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข ปฏิรูประบบการใช้อำนาจบริหารประเทศของกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ แต่ก็ล้มเหลวมาโดยตลอด ในที่สุดจึงมีการเสนอแนวทางการใช้อำนาจบริหารประเทศภายใต้การกำกับโดยตรงของขบวนการการเมืองภาคประชาชน เรียกกันย่อๆ ว่า “ประชาชนเป็นเจ้าภาพ”

จุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์

วันที่ 25 พฤษภาคม 2551 ทันทีที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จัดชุมนุมใหญ่ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ ประกาศทำสงคราม “ครั้งสุดท้าย” กับ “ระบอบทักษิณ” ก็ได้เผยนัยของการที่จะทำการพลิกประวัติศาสตร์ด้วยพลังมวลชนอย่างชัดเจน โดยมุ่งมั่นที่จะต่อสู้ทุกรูปแบบในกรอบของกฎหมายรัฐธรรมนูญ และด้วยสันติวิธี ปลุกประชาชนทั้งประเทศให้ตื่นขึ้นด้วย “ไฟปัญญา” สร้างอำนาจใหม่อันยิ่งใหญ่ขึ้นมา เพื่อถอนรากถอนโคนการเมืองเลือกตั้งแบบเก่า ที่กลุ่มทุนครอบงำผูกขาดให้หมดไปจากประเทศไทย แล้วสถาปนาการเมืองแบบใหม่ที่ประชาชนเป็น “เจ้าภาพ” ขึ้นแทนที่ เปิดทางให้กระบวนการประชาธิปไตยของประชาชนดำเนินไปในกรอบของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้อย่างเป็นจริง

หากทำได้สำเร็จ การเมืองของประเทศไทยก็จะก้าวพ้นจาก “วงจรอุบาทว์” พัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขก็จะดำเนินไปอย่างเป็นพลวัต เกิดกระบวนการถักทอต่อเชื่อมไปในทุกๆ ด้าน เสริมเพิ่มความสมบูรณ์ขึ้นในตัวเองยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เมื่อนั้น การเมืองไทยก็จะเข้มแข็ง มีชีวิตชีวา สามารถสนองตอบความต้องการของประชาชนชาวไทยได้อย่างแท้จริง มีความเป็นประชาธิปไตยที่คนไทยส่วนใหญ่พึงพอใจที่สุด

เป็นไปได้มากว่า ณ วันนี้ ขบวนการการเมืองภาคประชาชน นำโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มีความพร้อมที่จะปฏิบัติภารกิจทางประวัติศาสตร์ยิ่งกว่าครั้งใดๆ ในการล้มเลิกระบบ “ประชาธิปไตยตัวแทน” ที่กลุ่มทุนครอบงำผูกขาด เป็นระบบ “ประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วม” อันเป็นการเมืองที่ภาคประชาชนกำกับ จากการเมืองเพื่อผลประโยชน์ของคนกลุ่มน้อย เป็นการเมืองเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ จากการเมืองที่ฉ้อฉล สกปรก น่ารังเกียจ เป็นการเมืองที่โปร่งใส สะอาด น่าเลื่อมใส ในกรอบของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ได้เริ่มต้นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2475

โอกาสที่จะทำสำเร็จมีสูงมาก เพราะพวกเขากำลังทำในสิ่งที่คนไทยส่วนใหญ่ต้องการ และสอดคล้องอย่างยิ่งกับกระบวนการพัฒนาทางการเมืองของประเทศกำลังพัฒนาก้าวหน้าในย่านเอเชียแปซิฟิก ที่เน้นการรับใช้ประชาชน กลุ่มผู้ใช้อำนาจบริหารประเทศถือเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นตัวตั้ง ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

จนถึงวันนี้ ขบวนการการเมืองภาคประชาชนที่นำโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วไปทั่วประเทศ ดุจไฟลามทุ่ง ไม่ว่าการชุมนุมที่สะพานมัฆวานรังสรรค์จะลงเอยในรูปใด ขบวนการการเมืองภาคประชาชนจะยังคงพัฒนาขยายตัวต่อไป ดำเนินการต่อสู้จนกระทั่งสามารถสถาปนาระบบการเมืองที่ประชาชนเป็นเจ้าภาพได้ในที่สุด

อีกนัยหนึ่ง การเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จะได้รับการยกระดับขึ้นสู่ความเป็นการเมืองที่ยังประโยชน์สูงสุดแก่ปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริง สอดคล้องอย่างยิ่งกับสภาพเป็นจริงของประเทศไทย

เป็นการเมืองของคนไทยจริงๆ (ยังมีต่อ)
กำลังโหลดความคิดเห็น