xs
xsm
sm
md
lg

โพธิสัตตบูรณาเทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 5)

เผยแพร่:   โดย: ดร.สุวินัย ภรณวลัย

5. จอมคนของหวงอี้ (ต่อ)

ไม่มีใครตระหนักดีถึง “ความไร้พลังของปัจเจก” ในการเปลี่ยนแปลงสังคมได้ดีไปกว่า ปราชญ์นักรบ เนื่องเพราะไม่ว่าคนเราจะพยายาม “เคลื่อนไหว” แค่ไหนก็ตาม แต่ พลังแห่งปฏิบัติการ ของปัจเจกนั้น ย่อมมีขีดจำกัดในตัวของมันเอง ซึ่งถูกกำหนดโดย ข้อจำกัดทางประวัติศาสตร์ ของสภาพสังคมโดยรวมที่ประชาชนจำนวนมากยังไม่ตื่นตัวทางการเมือง และถูกครอบงำทางความคิด ทั้งโดยวาทกรรมและโดยผลประโยชน์เฉพาะหน้าที่ กลุ่มผู้ได้อำนาจกลับคืนหยิบยื่นหรือปรนเปรอให้

แต่แม้กระนั้นก็ตาม ภายใต้ข้อจำกัดทางประวัติศาสตร์เช่นนี้ ปรัชญาเชิงปฏิบัติการ ของ ปราชญ์นักรบ จักต้องเป็นดังอุปมาอุปไมยดังต่อไปนี้เสมอ กล่าวคือ ถึงแม้ว่าคนเราเพียงคนเดียวอาจมีเรี่ยวแรงเพียงน้อยนิด เพียงแค่สามารถผลักบานประตูให้เปิดออกได้ก็จริง แต่ด้วยแรงเพียงน้อยนิดแค่นี้แหละ ถ้าหากอยู่ในจังหวะที่เหมาะสม และอยู่ในสถานที่ที่เหมาะสม มันก็เพียงพอแล้วที่จะใช้แรงเพียงแค่นี้ผลักพวงมาลัยของรถโดยสารที่บรรทุกคนเต็มคันรถ ซึ่งกำลังวิ่งดิ่งจะลงเหวให้สามารถเบี่ยงเบนทิศทางจนรอดพ้นจากอุบัติภัยได้

ปรัชญาเชิงปฏิบัติการ ของ ปราชญ์นักรบ จักเป็นเช่นอุปมาอุปไมยข้างต้นนี้เสมอ ซึ่งทำให้ “พลังเพียงน้อยนิดของปัจเจก” ในบางครั้งก็สามารถเปลี่ยนโฉมหน้าของประวัติศาสตร์ได้ แม้ว่ามันจะไม่เกิดขึ้นบ่อยครั้งนักก็ตาม

หากแม้นตกอยู่ในสถานที่ แม้แต่ปฏิบัติการเช่นนี้ก็ยังทำอะไรไม่ได้แล้ว ปราชญ์นักรบ ควรกระทำตนเยี่ยงไร?

เขาย่อมละทิ้ง แนวทางเคลื่อนไหวเชิงปัจเจก แล้วหันไป เคลื่อนไหวทางความคิด เป็นหลักแทน โดยที่ เป้าหมายแห่งความคิดของปราชญ์นักรบ ย่อมไม่ได้มีเป้าหมายเพียงแค่เป็นตัวแทนผลประโยชน์ของชนชั้นใดชนชั้นหนึ่ง เพื่อที่จะเป็นปฏิปักษ์กับอีกชนชั้นหนึ่ง ซึ่งเป็นอุดมการณ์อันคับแคบ หากแต่เป้าหมายแห่งความคิดของเขาจะต้องมุ่งไปที่การกอบกู้โลกทั้งโลก หรือใต้หล้าทั้งผองอย่างทั้งหมดทั้งสิ้น และถือสิ่งนี้เป็น “วิชัน” ของตัวเขา

การผลักดันและเผยแพร่ความคิดที่เป็น วิชัน ของเขาให้กลายเป็น ขุมพลังทางความคิด ที่มี วิชัน แห่งการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนดุจเป็น “เทียนแห่งธรรม” ที่ส่องปัญญาให้แก่ผู้คนในใต้หล้า จึงเป็นเส้นทางที่หลีกเลี่ยงได้ยากของ ปราชญ์นักรบ ยามเผชิญกับสถานการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่มีข้อจำกัด และไม่เอื้ออำนวยต่อการเคลื่อนไหวของปัจเจก

แต่ถ้าหากสถานการณ์ทางประวัติศาสตร์ ยังคงมีความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนแปลงแม้เพียงน้อยนิด ปราชญ์นักรบ ก็ย่อมไม่ลังเลใจที่จะทุ่มเททุกอย่างที่เขามีอยู่ในตัวเพื่อไปเปลี่ยนแปลงมัน

อันที่จริง ทั้งปฏิบัติการและความคิดของ ปราชญ์นักรบ บางทีมันก็ผุดบังเกิดออกมาจาก พลังแห่งการสร้างสรรค์ ของตัวเขาซึ่งมักแฝงไว้ด้วยความทุกข์ตรม และการดิ้นรนแสวงหาของผู้ที่รังสรรค์มันออกมาไม่มากก็น้อย โดยที่ผู้นั้นก็ต้อง “ก้าวข้าม” ความท้อแท้ หดหู่ สิ้นหวังครั้งแล้วครั้งเล่าของตัวเขาเอง กว่าที่ตัวเขาจะสามารถเอาชนะจิตใจส่วนที่เป็นด้านมืด หรือด้านลบของตนเองได้แล้วก้าวออกมายืนหยัดท้าทายโลกได้อีกครั้ง

เมื่อใช้มุมมองเชิงปรัชญาแห่งปฏิบัติการของ ปราชญ์นักรบ ดังข้างต้น ไปอ่านมหากาพย์นิยายกำลังภายในเรื่อง “มังกรคู่สู้สิบทิศ” ของ หวงอี้ อีกครั้ง เราจะพบว่า หวงอี้ ได้ทำงานที่ท้าทายมาก เพราะเรื่องที่ หวงอี้ แต่งเรื่องนี้เป็นประวัติศาสตร์ที่คนจีนส่วนใหญ่เขารู้เรื่องกันหมดแล้ว แต่ หวงอี้ ยอดเยี่ยมมากที่ยังกล้าเอามาเขียนเป็นนิยายใหม่ได้อีก โดย หวงอี้ ได้เล่าเรื่องใหม่ซ้อนขึ้นมาจากข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ของช่วงนั้นได้อย่างไม่ติดขัดราวกับว่ามันเป็น “ประวัติศาสตร์คู่ขนาน” ที่ดำรงอยู่จริงๆ ควบคู่ไปกับ “ประวัติศาสตร์ตามข้อเท็จจริง” กล่าวคือ มันสามารถกลายเป็น “ความจริงของประวัติศาสตร์” ได้ในเชิงจินตนาการ หากผู้อ่านได้เข้าไปร่วมในโลกแห่งความฝันเดียวกับหวงอี้ ซึ่งเป็นผู้แต่ง

หากเราท่านคนอ่านได้เข้าไปร่วมเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ในโลกแห่งจินตนาการร่วมกับ เหล่าจอมคน ที่ หวงอี้รังสรรค์ขึ้นมาได้ไม่ช้าก็เร็ว เราท่านคนอ่านก็ย่อมมีพลังที่จะออกไปขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ในโลกแห่งความเป็นจริงของพวกเราได้เช่นกัน เมื่อเวลานั้นมาถึง เพราะสิ่งที่คนเราคิดอยู่ในใจเสมอนั้น ย่อมปรากฏออกมาเป็นการกระทำเสมอไม่ช้าก็เร็ว และนี่แหละคือคุณค่าแห่งการอ่านวรรณกรรมกำลังภายในของ หวงอี้ ในยุคสมัยของพวกเรา

ใน “มังกรคู่สู้สิบทิศ” เรื่องนี้ หวงอี้ ได้รังสรรค์ฮีโร่แนวใหม่ขึ้นมาสองคน คนหนึ่งคือ โค่วจง ซึ่งเป็นสุดยอดของผู้นำแบบโลกียะ อีกคนหนึ่งคือ ฉีจื่อหลิง ซึ่งเป็นจอมคนแบบเหนือโลกหรือโลกุตตระ

วิชันแบบ โค่วจง คือการทำ การเมืองแบบข้ามพ้นตัวตน หรือ การเมืองฝ่ายเบื้องบน เขาจึงเป็นฮีโร่หรือผู้กล้าที่แท้จริงที่ยอมเสียสละ ไม่คิดเป็นฮ่องเต้ ทั้งๆ ที่มีโอกาส แต่กลับช่วยเหลือหลี่ซื่อหมินให้ได้เป็นฮ่องเต้ เพราะพิจารณาแล้วเห็นว่า หลี่ซื่อหมินมีความเหมาะสมที่สุด และจะนำความสันติสุขกลับคืนให้แก่แผ่นดินสามารถยุติสงครามแย่งชิงความเป็นใหญ่ได้

เคล็ดลับของการเป็น จอมคนแห่งปราชญ์นักรบ ในวรรณกรรมของ หวงอี้ นั้นอยู่ที่ คนผู้นั้นจะต้องสามารถหล่อหลอมจิต สมาธิ และลมปราณของตนเข้าด้วยกันให้เป็นหนึ่งเดียวให้ได้เสียก่อน โดยที่ เคล็ดจันทร์ในบ่อ เป็นสุดยอดของเคล็ดทางจิตและสมาธิที่ทำให้กระบวนการกลายเป็น จอมคน ของ โค่วจง กับ ฉี่จื่อหลิง สมบูรณ์

หวงอี้ ได้บรรยาย เคล็ดจันทร์ในบ่อ ที่มังกรคู่ทั้งสองคนนี้ค้นพบโดยบังเอิญดังต่อไปนี้...

ทั้งสองคนมาถึงบ่อน้ำแห่งหนึ่ง ทั้งคู่กระแทกลงนั่งลงที่ริมรั้วขอบบ่อ โค่วจง ชะโงกศีรษะมองไปในน้ำ ขณะนั้นดึกมากแล้ว เขาเห็นน้ำที่ก้นบ่อสะท้อนภาพฉายกลางเวหา ต้องกล่าวว่า

“นี่ สมควรเรียกว่า จักรวาฬในบ่อ ที่กล่าวขวัญกันแล้ว” ฉีจื่อหลิง พลันอุทานดังเอ๊ะออกมา สร้างความสงสัยใจแก่ โค่วจง จนถามว่า

“ท่านมองดูจันทร์ภายในบ่อหรือ? มีอันใดน่าแตกตื่นตกใจ?”

ดวงตาของ ฉีจื่อหลิง ทอแววครุ่นคิด กล่าวว่า

“ข้าพเจ้าคล้ายเกาะกุมได้อันใด แต่ยากบ่งบอกออกมา”

โค่วจง งงงันวูบหนึ่งค่อยก้มศีรษะมองดูเงาสะท้อนภายในบ่อใหม่ ประจวบปรากฏเมฆคล้อยลอยผ่าน เงาจันทร์บัดเดี๋ยวลับหาย บัดเดี๋ยวปรากฏในใจพลอยบังเกิดเป็นรสชาติยากบรรยาย

ฉีจื่อหลิง ส่งเสียงปานละเมอว่า

“อาจารย์ของท่านมักเอื้อนเอ่ยมิใช่หรือว่า ทุกสรรพสิ่งเพียบพร้อมสมบูรณ์อยู่ในตัวเอง บ่อน้ำนี้คือ ความเพียบพร้อมสมบูรณ์อยู่ในตัวเอง น้ำในบ่อเปรียบเสมือนขุมพลังภายในกายผู้คน หากสามารถสงบจิตใจย่อมสามารถสะท้อนสภาพแวดล้อมทั้งมวลได้” สภาวะจิตแบบจันทร์ในบ่อ เป็นสภาวะที่ผู้นั้นสามารถขจัดความกลัว ความหวาดวิตกกังวลภายในใจให้หมดไปในห้วงขณะนั้นได้อย่างสิ้นเชิง จนจิตใจของผู้นั้นใสกระจ่างดุจน้ำใสภายในบ่อสามารถสะท้อนสภาพแวดล้อมทุกรูปแบบได้

จิตจึงปราศจากการคิดถึงผลแพ้ชนะ ไม่มุ่งมาดไม่ปรารถนา ไม่ไหวหวั่นพรั่นใจ ไร้ความคิด ไร้สิ่งกีดขวางภายในใจ สามารถมองทุกสิ่งจากศูนย์กลางภายในของตัวเองออกไปได้อย่างไร้ตัวตน มีแต่ “ความตระหนักรู้อันยิ่ง” ที่สะท้อนได้แม้แต่ความเร้นลับของจักรวาฬ...

เคล็ดจันทร์ในบ่อ จึงเป็นเรื่องของการฝึกจิตในขั้นสูงที่จำเป็นสำหรับผู้ที่เป็น ปราชญ์นักรบ เคล็ดจันทร์ในบ่อนี้เป็นภูมิปัญญาขั้นสูงมากเท่าที่มนุษยชาติสามารถค้นพบได้ มันปรากฏอย่างเด่นชัดในการฝึกจิตแนวพุทธสาย เซน กับสายทิเบต

เคล็ดจันทร์ในบ่อนี้ ความสำคัญของมันอยู่ที่บ่อน้ำหรืออยู่ที่น้ำ มิใช่อยู่ที่ดวงจันทร์ หากเข้าใจเคล็ดนี้ว่าอยู่ที่ดวงจันทร์ โดยตีความว่าเพราะดวงจันทร์สะท้อนผิวน้ำซึ่งบ่งบอกถึงความไม่จีรังเป็นอนิจจัง มันก็จะเป็นการตีความไปอีกแบบหนึ่ง แต่มิใช่แบบ เซน

เพราะ เซน จะอธิบายเคล็ดจันทร์ในบ่อหรือการอ่านความหมายจากการเห็นปรากฏการณ์ภาพดวงจันทร์สะท้อนอยู่บนผิวน้ำว่า น้ำสามารถสะท้อนได้ทุกอย่าง ดวงจันทร์ที่ปรากฏอยู่บนผิวน้ำจึงเป็นการแสดงออกถึง ความสมบูรณ์พร้อมทุกขณะ ของตัวน้ำ

พุทธสายทิเบตโดยเฉพาะสาย ซ็อกเชน (มหาบริบูรณ์) ก็อธิบายเช่นเดียวกับเซนคือมองเหมือนกันว่า ชีวิตคือความสมบูรณ์พร้อมในทุกขณะ กล่าวคือ ชีวิตไม่ใช่ทุกข์ที่จะต้องดิ้นรนให้หลุดพ้นในสายตาของผู้ที่อยู่บนวิถีของโพธิสัตว์ แต่ชีวิตคือความสมบูรณ์พร้อมในทุกขณะที่เผยตัวออกมาในทุกสรรพสิ่งอย่างที่มันเป็นเช่นนั้นเอง โดยมันเป็นการเผยตัวของพุทธะหรือของธรรมจิต (Spirit) ในทุกๆ สิ่งอย่างทั้งหมดทั้งสิ้น โดยไม่มีข้อแม้ โดยไม่มีเงื่อนไข

เพราะนี่คือ โลกทัศน์จากระดับจิตของโพธิสัตว์ นั่นเอง เคล็ดจันทร์ในบ่อ จึงเป็นเคล็ดการฝึกจิตที่สำคัญยิ่งของ ปราชญ์นักรบ ในฐานะที่ ปราชญ์นักรบ เป็นรูปแบบหนึ่งในท่ามกลางรูปแบบที่หลากหลายของ โพธิสัตว์ ที่กำลังทำหน้าที่ของตนอยู่ การจะเข้าถึงเคล็ดจันทร์ในบ่ออย่างแท้จริงได้ จึงจำเป็นที่ผู้นั้นจะต้องเข้าถึงทั้ง โลกทัศน์ และ ระดับจิต ของ โพธิสัตว์ ไปด้วยพร้อมๆ กัน

ข้อดีของการฝึกจิตแบบเคล็ดจันทร์ในบ่อ (หรือเคล็ด ไร้ใจ ของ เซน) ก็คือ คนผู้นั้นจะสามารถแปลี่ยนการตระหนักรู้ โลกรอบตัวที่จืดชืด แห้งแล้ง ไร้ความหมายและเป็นนามธรรม ให้กลับคืนมาเป็นโลกรอบตัวที่มีชีวิตชีวาเปี่ยมความหมาย และเป็นรูปธรรมอีกครั้งได้ โลกที่ผู้นั้นมองด้วยสายตาใหม่ และความตระหนักรู้ใหม่แบบเคล็ดจันทร์ในบ่อนี้ จะกลับกลายเป็น โลกของชีวิตที่เปี่ยมไปด้วยความสมบูรณ์พร้อมในทุกขณะจิต ผู้นั้นสามารถมองดูโลกด้วยสายตาที่หมดความอยาก แล้วก็ไม่คิดไปช่วงชิงกับใครทั้งสิ้น เพราะไม่มีอะไรที่อยากได้อยากเป็นอีกต่อไปแล้ว

สภาวะจิตแบบนี้ มิได้หมายความว่าคนผู้นั้นหมดไฟแล้ว ตรงกันข้ามคนผู้นั้นกลับมีไฟ มีพลังสร้างสรรค์ที่เปี่ยมล้น แต่ผู้นั้นเป็นอิสระจากความปรารถนาที่จะครอบครองสิ่งต่างๆ เพราะไม่มีสิ่งใดเลยที่ไม่ใช่ของเขา ไม่เป็นของเขา สรรพสิ่งในจักรวาฬล้วนเกี่ยวเนื่องกับคนผู้นั้นอย่างแน่นแฟ้น การเคลื่อนไหวของผู้นั้นเป็นแค่ “ลีลา” หนึ่งในท่ามกลางความหลากหลายแห่งลีลาการเคลื่อนไหวของสรรพสิ่งในจักรวาฬเท่านั้น

ว่าแต่ว่า คนเราจะสามารถฝึกเคล็ดจันทร์ในบ่อในชีวิตประจำวันได้อย่างไร? (ยังมีต่อ)
กำลังโหลดความคิดเห็น