xs
xsm
sm
md
lg

รัฐธรรมนูญ 2550 กำลังทำงาน สร้างการเมืองสุจริต รักษาประโยชน์ส่วนรวม

เผยแพร่:   โดย: ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง

“การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตนเช่นนี้ เป็นการจงใจกระทำขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 เป็นการกระทำมิชอบ น่าจะต้องถูกถอดถอนจากตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 270 ด้วย”

1. ศาลฎีกา ได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง(ใบแดง)นายยงยุทธ ติยะไพรัช กรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน กรณีทุจริตเลือกตั้ง

เท่ากับว่า เข้าข่ายตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 วรรค 2 เป็นเหตุให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง จะต้องดำเนินการยุบพรรคพลังประชาชนต่อไป

2. ศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดว่าแถลงการณ์ร่วมกรณีปราสาทพระวิหาร ที่คณะรัฐมนตรีไปทำร่วมกับกัมพูชานั้น เป็นหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 และต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาเสียก่อน

เท่ากับว่า รัฐมนตรีทั้งคณะได้กระทำขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ

3. ศาลฎีกา ยังได้รับคดีที่ คตส.ดำเนินการไต่สวนชี้มูลความผิดและฟ้องร้อง พ.ต.ท.ทักษิณ และพวก เข้าสู่การพิจารณาแล้วหลายคดี โดยที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดเป็นบรรทัดฐานแล้วว่า การปฏิบัติหน้าที่ของ คตส. ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะได้รับการรับรองไว้โดยรัฐธรรมนูญ 2549 และมาตรา 309 ในรัฐธรรมนูญ 2550 !

น่าสลดใจอย่างยิ่ง... แทนที่นายกรัฐมนตรี พรรคพลังประชาชน และผู้อยู่เบื้องหลัง จะเกิดสำนึกหรือละอายในความผิดของตน โดยหันกลับไปมองพฤติกรรมการกระทำผิดของตน พยายามปรับปรุงแก้ไขตัวเอง และแสดงความรับผิดชอบในการกระทำของตนเอง แต่กลับปรากฏว่า เหล่าบรรดาผู้กระทำผิดหันไปกล่าวโทษรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 หาว่ารัฐธรรมนูญทำให้เกิดปัญหายุ่งยาก จะต้องเร่งรัดใช้อำนาจรัฐในมือดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญโดยด่วนที่สุด

ทั้งๆ ที่ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ประกาศใช้บังคับเมื่อวันที่ 24 ส.ค.2550 ก่อนหน้าที่จะมีการเลือกตั้ง และพรรคพลังประชาชนก็ลงสมัครรับเลือกตั้งภายใต้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่เมื่อตนเองกำลังจะได้รับผลกระทบจากการกระทำผิดรัฐธรรมนูญ กลับจะใช้อำนาจแก้ไขบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ตนและพรรคพวกไม่ต้องรับผิดจากการกระทำของตนเอง

ล่าสุด คิดอุกอาจ ถึงขนาดจะดันเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร โดยจะให้ผ่าน 3 วาระรวด !

ไม่น่าเชื่อว่า ประเทศชาติจะมีนักการเมืองที่เหิมเกริมขนาดนี้ ลุแก่อำนาจถึงเพียงนี้

รัฐธรรมนูญ 2550 เป็นการบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นมาจากฐานเดิมของรัฐธรรมนูญ 2540 โดยอาศัยหลักว่า “ของดีคงไว้ ข้อบกพร่องแก้ไข และให้สิทธิประโยชน์แก่ประชาชนมากขึ้น” เพราะรัฐธรรมนูญ 2540 นั้น แม้จะมีส่วนดีอยู่ไม่น้อย แต่ก็ถูกระบอบทักษิณใช้อำนาจบิดเบือนกลไก บิดผันเจตนารมณ์ บั่นเซาะ ทำลายเนื้อในจนเหลือแต่เปลือกนอก เสมือนว่า “รัฐธรรมนูญตายแล้ว” ตั้งแต่ช่วงปลายของรัฐบาลพรรคไทยรักไทย

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เพิ่งประกาศใช้บังคับยังไม่ถึง 1 ปี สิทธิและผลประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญยังไม่ทันได้คลอดออกมาสู่ประชาชนอย่างเต็มที่ เต็มเม็ดเต็มหน่วย เปรียบเสมือนเครื่องยนต์ที่เพิ่งยกเครื่องใหม่ก็ยังทำงานไม่เต็มสูบ ไม่เต็มกำลัง เพิ่งจะอุ่นเครื่องเท่านั้น

ไม่ปรากฏว่า ประเทศชาติจะมีปัญหาจากการใช้บังคับรัฐธรรมนูญ 2550 คงมีแต่เพียงนักการเมืองและพรรคการเมืองที่ทุจริต กระทำผิดรัฐธรรมนูญ จนต้องถูกดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น

ขณะนี้ ผู้ที่กำลังจะเป็นจะตาย หรือจะได้รับผลกระทบจากการใช้บังคับรัฐธรรมนูญ ก็มีแต่เพียงนักการเมืองทุจริต เป็นคนกลุ่มหนึ่ง ผู้จงใจกระทำผิดรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่สำหรับประชาชนชาวไทยทั้งหลาย หากเรามีการใช้บังคับรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างตรงไปตรงมา ครบถ้วน เราจะได้การเมืองที่ดีกว่าแบบที่เป็นอยู่ ประชาชนจะได้รับสิทธิและผลประโยชน์ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ถ้วนทั่ว ทั้งยังจะช่วยแก้ปัญหาความเดือดร้อนในชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิผล

พิจารณาโดยใจเป็นธรรม จะเห็นว่า บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 ก็ดี มาตรา 190 ก็ดี ซึ่งสถาบันตุลาการได้ใช้เป็นพื้นฐานในการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามอำนาจหน้าที่นั้น ล้วนแต่เป็นบทบัญญัติที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 เพื่อปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชนส่วนรวมทั้งสิ้น

1. มาตรา 237 วรรค 2 มีไว้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการซื้อเสียงและการทุจริตการเลือกตั้งอย่างเด็ดขาด เอาจริงเอาจัง โดยไม่ไว้หน้า หากกรรมการบริหารพรรคทุจริตเลือกตั้งจนได้รับใบแดง ก็ต้องดำเนินการเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคการเมืองนั้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองใด

ประการสำคัญ บทบัญญัติดังกล่าว เป็นข้อเสนอจากประชาชน ให้เพิ่มเติมเข้ามาภายหลังจากที่ สสร. ได้ออกไปรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ ผมจึงได้ร่วมกับ สสร.ทำการแปรญัตติเพิ่มเติมเข้าไปตามเจตนารมณ์ของประชาชน

2. มาตรา 190 มีไว้เพื่อปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์สาธารณะ มิให้ฝ่ายบริหารใช้อำนาจรัฐไปทำข้อตกลงสำคัญๆ กับต่างชาติ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อประเทศชาติส่วนรวม ก็จะต้องดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริง(เบื้องต้น)ต่อสังคม และนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา อันเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทยเสียก่อนที่จะไปแถลงการณ์หรือให้สัตยาบัน เพื่อป้องกันมิให้ฝ่ายการเมืองในรัฐบาลแอบมุบมิบ นำผลประโยชน์ของชาติไปแลกเปลี่ยนหรือต่อรองเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวของกลุ่มการเมืองพวกพ้องและผู้มีพระคุณทางการเมืองของตนเอง

ประการสำคัญ บทบัญญัติดังกล่าว เป็นข้อเสนอจากองค์กรภาคประชาสังคม และได้ปรึกษากรมสนธิสัญญาฯ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อป้องกันปัญหาที่ระบอบทักษิณเคยใช้อำนาจรัฐไปแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวจากการทำสัญญาระหว่างประเทศ ทำเอฟทีเอ เอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจพวกพ้อง แต่ส่งผลกระทบเป็นภาระต่อเกษตรกรรายย่อยและประชาชนทั่วไป

3.มาตรา 309 ได้ช่วยมิให้บรรดาคดีต่างๆ ของ พ.ต.ท.ทักษิณและพวก ถูกล้มคดี หรือตัดตอนออกไปจากกระบวนการยุติธรรมของศาล โดยที่ผู้ถูกกล่าวหายังคงมีสิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ เพราะผู้ถูกกล่าวหาสามารถนำข้อเท็จจริง เอกสาร พยานหลักฐานของตน มาเปิดเผย นำเสนอ เพื่อต่อสู้คดี พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองในชั้นศาลได้ตามปกติ เฉกเช่นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั่วไป

ถ้ามั่นใจว่าตนเองบริสุทธิ์ ก็ไม่จำเป็นต้องไปวิ่งเต้น เสนอสินบน หรือพยายามล้มคดี ตัดตอนคดี ด้วยการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญ
 
ทั้งหมด จะเห็นได้ว่า ขณะนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 กำลังทำงาน

โดยเฉพาะการปฏิรูปการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งมุ่งจะลดการผูกขาดการใชอํานาจรัฐ การใช้อำนาจโดยไม่เป็นธรรม การดําเนินการทางการเมืองของนักการเมืองที่ขาดความโปรงใส ขาดคุณธรรมและจริยธรรม ตลอดจนคุ้มครองการใชสิทธิ เสรีภาพ และผลประโยชน์ของประชาชน

ผู้มีอำนาจรัฐที่หน้ามืดตามมัว ปราศจากสำนึกความรับผิดชอบ กระทำผิดแล้วไม่ยอมรับผิด แต่กลับลากชะตากรรมของประเทศชาติเข้าไปร่วมแบกรับกรรมชั่วของนักการเมืองทุจริต ดิ้นรนทางการเมือง พยายามรักษาอำนาจของตัวไว้โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อส่วนรวม ดื้อรั้นที่จะอยู่ในอำนาจต่อไป เพียงเพื่อจะใช้อำนาจรัฐเพื่อช่วยเหลือตนเองและตอบสนองผู้มีพระคุณทางการเมืองของตนเองต่อไป โดยไม่นำพาต่อคุณธรรม จริยธรรม และสำนึกความรับผิดชอบต่อประเทศชาติส่วนรวม

ยิ่งเมื่อศาลตัดสินแล้ว พิพากษาชี้ขาดออกมาแล้ว หาก ส.ส.พรรครัฐบาล ยังจะลุแก่อำนาจ เร่งรัดแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป เพียงเพื่อฟอกความผิดของตัว ช่วยเหลือตัวไม่ต้องรับผิด การแก้ไขรัฐธรรมนูญเช่นนี้ น่าจะขัดรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 122 เพราะเป็นการใช้อำนาจกระทำการเพื่อประโยชน์ส่วนตน เพื่อพรรคการเมืองของตน พรรคพวกของตน ที่อาจจะถูกยุบพรรคและดำเนินคดี

ไม่ใช่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ “ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต-เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย” และ “โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์” อันเป็นหน้าที่ของ ส.ส. และ ส.ว.

การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตนเช่นนี้ เป็นการจงใจกระทำขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 เป็นการกระทำมิชอบ น่าจะต้องถูกถอดถอนจากตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 270 ด้วย

ยิ่งดิ้น ยิ่งรัดแน่น ยิ่งดื้อด้าน บ้านเมืองยิ่งเสียหาย

รัฐบาลชุดนี้ หมดความชอบธรรมที่จะอยู่ในอำนาจรัฐต่อไปแล้ว !
กำลังโหลดความคิดเห็น