xs
xsm
sm
md
lg

ผบ.ส.ส.เตรียมไล่เขมรพ้นแผ่นดินไทย จี้บัวแก้วล้อมรั้วปราสาทพระวิหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน -“บุญสร้าง” แขวะ “รัฐบาลลูกกรอก” รับเลือกตั้งมาแล้วทำตัว “อีแอบ” มุบมิบไม่แสดงสปิริตปชต. จี้ก.ต่างประเทศทำรั้วรอบ “ปราสาทพระวิหาร” เร่งแจ้งยกเลิกแถลงการณ์ไปยังประเทศและองค์กรต่างๆ เพราะขณะนี้ทำแค่แจ้งระงับเท่านั้น พร้อมผลักดันชาวกัมพูชาออกนอกพื้นที่พิพาท ด้านรองอธิบดีกรมเอเชียตะวันออกแนะรัฐบาลควรเข้าร่วมคกก. 7 ประเทศเพื่อรักษาสิทธิ เผยมติมรดกโลกให้กัมพูชาส่งแผนทั้งหมดในวันที่ 1 ก.พ.52 ชี้ไทยต้องดำเนินการให้เร็วที่สุด

วานนี้ (13 ก.ค.) ที่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธานในการประชุมระดมความเห็นในการกำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินการบริหารจัดการพื้นที่ข้อพิพาทกรณีศึกษาปราสาทพระวิหาร ร่วมกับ นายปองพล อดิเรกสาร ประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก นางสาวิตรี สุวรรณสถิตย์ คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก นายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการอิสระ นายสมปอง สุจริตกุล อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ นายกฤต ไกรจิตติ อธิบดีกรมสนธิสัญญา และกฎหมายกระทรวงการต่างประเทศ ขณะที่ฝ่ายทหาร ประกอบด้วย พล.ท.วรพงษ์ สง่าเนตร เจ้ากรมยุทธศาสตร์ทหาร พล.ท.แดน มีชูอรรถ เจ้ากรมแผนที่ทหาร และ พล.ท.นิพัทธ์ ทองเล็ก เจ้ากรมกิจการชายแดนทหาร เป็นต้น

จี้เร่งแจ้งยกเลิกแถลงการณ์ร่วม

พล.อ.บุญสร้างแถลงภายหลังการประชุม 7 ชั่วโมงว่า มีข้อเสนอแนะจากการสัมมนาดังนี้ 1. ควรให้โปร่งใส ให้ประชาชนมีส่วนรับรู้ โดยที่ประชุมเสนอแนะให้กระทรวงการต่างประเทศทำเอกสารชี้แจงที่ชัดเจน เข้าใจง่าย โดยเฉพาะแถลงการณ์ร่วมกับกัมพูชา ทั้งทางบกและทางทะเล 2. ควรมีหน่วยค้นคว้าวิจัยระดมสมองศึกษาอย่างละเอียด โดยสถาบันวิจัยทางยุทธศาสตร์อาจร่วมประชุมสัมมนาอีก 3. ควรมีเอกภาพทางความคิด นโยบาย และมีนโยบายที่ชัดเจนเพื่อให้เกิดอำนาจต่อรอง 4. ควรดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ 5. ควรแจ้งยกเลิกคำแถลงการณ์ร่วม ไปยังประเทศและองค์ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ เพราะปัจจุบันเป็นเพียงการระงับเท่านั้น

ทั้งนี้ การสัมมนาทางวิชาการครั้งนี้ช่วยลดความขัดแย้งทางความคิดได้ในระดับหนึ่ง เพราะได้รับทราบข้อมูลที่ชัดเจนยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามเรื่องนี้เป็นเรื่องซับซ้อน ละเอียดอ่อน จึงต้องใช้ความรอบคอบและมีความรู้ที่เพียงพอ ซึ่งที่ประชุมเตรียมเสนอแนะให้กระทรวงการต่างประเทศผ่านทาง นายกฤต ไกรจิตติ อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย เตรียมการเพื่อให้เกิดความพร้อมในการที่กัมพูชาจะส่งข้อมูลให้คณะกรรมการมรดกโลกให้ทันกำหนดภายในวันที่ 1 ก.พ. 2552 ไม่ใช่นั้นจะดำเนินการไม่ทัน

ไล่คนเขมรพ้นไทย-ทำรั้วรอบปราสาท

เมื่อถามว่า ข้อมูลในส่วนของกองทัพจะดำเนินการอย่างไร พล.อ.บุญสร้างกล่าวว่า ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ได้ประท้วงหลายครั้ง ก็มีคณะกรรมการดำเนินการ คือ กระทรวงการต่างประเทศ ในกรณีที่ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่พิพาทเป็นประเด็นร้อนอยากให้คนของกัมพูชาออกไป ถ้าอยู่ต้องมีหลักฐานในการอาศัยพื้นที่ของไทย ต้องมีระบบ ทหารจะดำเนินการในระดับที่พอจะทำได้

นอกจากนั้นกรณีเส้นเขตบริเวณปราสาทพระวิหารในอดีตมีรั้วแต่หายไป ทางกระทรวงการต่างประเทศจะต้องหารือกับกัมพูชาและสร้างรั้วให้เหมือนเดิม เมื่อหารือแล้วค่อยมาแจ้งกองทัพ ส่วนข้อมูลนั้นไม่จำเป็นต้องส่งให้กระทรวงต่างประเทศดำเนินการเนื่องจากอธิบดีกรมสนธิสัญญาฯได้เข้ามาฟังเกี่ยวกับกระทรวงการต่างประเทศและรับเรื่องล้อมรั้วเส้นเขตแดนบริเวณปราสาทไปดำเนินการ

เมื่อถามว่า คลายความกังวลเรื่องการสูญเสียดินแดนและอธิปไตยหรือไม่ พล.อ.บุญสร้างกล่าวว่า เป็นปัญหาที่ตอบยาก

“เราคงไม่โง่พอที่จะทำให้พื้นที่4.6ตารางกิโลเมตรหลุดหายไปหรอกนะ ผมเชื่อมั่นว่าไม่หลุด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผมจะทำเองประชาชนจะต้องช่วยกันติดตามดูแล สอดส่องไม่ให้ผิดพลาดพลั้งเผลอให้มันหลุดลอยไป”พล.อ.บุญสร้าง กล่าว

พล.อ.บุญสร้างกล่าวถึงความเคลื่อนไหวของประชาชนในการล่ารายชื่อทวงคืนปราสาทเขาพระวิหารว่า น่าคิดเหมือนกันแต่ในที่ประชุมยังไม่ได้พูดชัดว่าจะทวงคืน ด้านการดูแลพื้นที่ชายแดนในส่วนของทหาร มีหน้าที่ดูแลตามรัฐธรรมนูญ อธิปไตยและเส้นเขตแดนอยู่ตรงไหน กระทรวงการต่างประเทศต้องเป็นคนบอกมา เพราะต้องตกลงกับประเทศข้างเคียงด้วย

“ยอมรับว่าในอนาคตต้องรอบคอบให้มากขึ้น เพื่อไม่ให้เสียรู้เขา ทุกเรื่องโดยเฉพาะเรื่องใหญ่ ต้องศึกษาลึกซึ้งเตรียมการแต่เนิ่น คาดการณ์ถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้น เตรียมคิดแก้ปัญหาล่วงหน้า ต้องศึกษาประวัติศาสตร์เกี่ยวกับชายแดนที่รับผิดชอบ ถ้าเรารู้น้อยเวลาต่อสู้ เราจะเสียท่าได้ง่าย”พล.อ.บุญสร้าง กล่าว

ลั่นต้องทำให้โปร่งใส

เมื่อถามว่า ก่อนหน้านี้ถ้ามีการเปิดเผยแถลงการณ์ร่วมต่อสาธารณชน วันนี้จะมีปัญหาหรือไม่ พล.อ.บุญสร้างกล่าวว่า ไม่อยากพูดอะไรขนาดนั้น เพราะอาจจะไม่เป็นอย่างนั้นก็ได้ แต่การดำเนินงานที่โปร่งใสเปิดเผยต่อสาธารณะให้สื่อ และนักวิชาการรับทราบเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นความชอบธรรมที่ประชาชนจะได้รับทราบเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรง ก็จะเกิดความรู้สึกการมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ รวมถึงเป็นการเปิดโอกาสให้บุคคลที่มีความสามารถมาช่วยเพื่อไม่เกิดความผิดพลาด

“หากเปิดเผยประชาชนรับทราบจากแหล่งเดียวกัน รู้ไปพร้อมๆกัน วันหนึ่งมีวิกฤติจะได้ไม่แตกแยก เพราะมีส่วนร่วมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นสปิริตของความเป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่หมายถึงไปเลือกตั้งไปลงคะแนนขายเสียง ซื้อเสียง ถึงแม้การเลือกตั้งจะบริสุทธิ์ แต่ประชาธิปไตยมีอะไรมากกว่านั้นเยอะที่เราต้องแสดง ไม่ใช่รับเลือกตั้งมาแล้วจะทำอะไรไม่ให้ประชาชนรู้เรื่องเลย” พล.อ.บุญสร้าง กล่าว

เมื่อถามว่า เสียรู้คนต่างชาติ กับเสียรู้คนไทยด้วยกันอย่างไหนเจ็บปวดกว่ากัน พล.อ.บุญสร้างกล่าวว่า ก็แล้วแต่คน บางคนรักชาวต่างประเทศมากกว่า บางคนรักคนไทยมากกว่า ก็ต้องดูกันต่อไป

ก.ต.แนะรบ.เข้าร่วมคกก. 7ประเทศ

นายพิษณุ สุวรรณชฎ รองอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงกรณีที่คณะกรรมการมรดกโลกมีมติให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกและส่งผลให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศ (ICC) ตามข้อบังคับของมติคณะกรรมการมรดกโลก พร้อมกับบังคับให้กัมพูชาเชิญตัวแทนของไทยเข้าร่วมเป็น 1 ใน 7 ประเทศ เพื่อเปิดโอกาสให้ไทยได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการบูรณะปฏิสังขรณ์พัฒนาคุ้มครองคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากลของทรัพย์สินว่าการเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ ICC จะทำให้ไทยได้ประโยชน์ในการไตร่ตรองสิ่งที่เป็นประโยชน์ และจะได้ใช้เป็นช่องทางในการตรวจสอบ แสดงความเห็นในการทักท้วงเงื่อนไขต่าง ๆ หากมีการละเมิดดินแดนอธิปไตยของไทย ด้วยช่องทางปกติและช่องทางการทูต

ทั้งนี้ การเข้าร่วมกับคณะกรรมการ ICC อาจทำในส่วนองค์กร หรือสถาบัน แยกกับรัฐบาลก็ได้ ส่วนไทยจะเข้าร่วมเป็นคณะกรรม ICC หรือไม่นั้น เป็นหน้าที่ของประธานคณะกรรมการมรดกโลกของไทย จะนำเรื่องเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาต่อไป แต่ส่วนตัวเห็นว่าควรทำอย่างรวดเร็ว ก่อนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2552 ที่จะครบกำหนดให้ส่งเอกสารในการเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการร่วม พร้อมยืนยันเรื่องดังกล่าวไม่เกี่ยวกับพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร

นายพิษณุ กล่าวอีกว่า ส่วนมติของคณะกรรมการมรดกโลกที่ระบุให้กัมพูชาส่งเอกสารเป็นแผนที่ชั่วคราว แผนที่กำหนดขอบเขตของเขตกันชน และรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการเตรียมแผนบริหารจัดการภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งในส่วนของไทยคงต้องดำเนินการให้เร็วที่สุด คงไม่อาจตอบได้ว่าเมื่อไร

ไม่หวั่นถูกฟ้องดำเนินคดีอาญา

นายพิษณุ กล่าวถึงการที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เตรียมจะดำเนินคดีอาญากับข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ ว่าที่ผ่านมาได้ทำตามขั้นตอนทุกอย่าง ในการไปประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ที่ประเทศแคนนาดาก็ได้นำคำแย้งและข้อห่วงใยของประชาชนชาวไทยที่มีต่อเรื่องดังกล่าว รายงานต่อที่ประชุมจนสามารถผลักดันข้อเสนอของคนไทยให้ได้รับการบรรจุลงในมติของคณะกรรมการมรดกโลกทั้งหมดแล้ว ดังนั้น จึงต้องปล่อยให้เป็นกระบวนการกฎหมาย

ส่วนกรณีที่ มีกลุ่มคนไทยได้ชุมนุมขับไล่กลุ่มคนกัมพูชาที่พักอาศัยในพื้นที่ทับซ้อนบริเวณเขาพระวิหาร โดยให้เวลาถึงวันที่ 21 ก.ค. นี้ ในการย้ายออกไปจากพื้นที่ ไม่ฉะนั้นจะเข้ารื้อถอนชุมชนของคนกัมพูชา จะส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือไม่ นายพิษณุกล่าวว่า ในแถลงการณ์ของคณะผู้แทนไทยต่อคณะกรรมการมรดกโลก สมัยที่ 32 ได้ระบุชัดเจนว่า ประเด็นปราสาทพระวิหารเป็นส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์ในด้านต่างๆ ของสองประเทศ ซึ่ง 2 ฝ่ายต่างมีผลประโยชน์ร่วมกัน และไม่ว่าผลที่เกี่ยวกับปราสาทพระวิหารจะเป็นอย่างไร ทางรัฐบาลไทยจะดำเนินการอย่างเต็มที่ในการรักษาความสัมพันธ์ให้ก้าวหน้าต่อไป

ยันถอดถอน"นพดล" เป็นหน้าที่

นายอลงกรณ์ พลบุตร
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ที่นายกรัฐมนตรีกล่าวเท็จจงใจใส่ร้ายพรรคประชาธิปัตย์ กรณีที่มีการ ยื่นถอดถอนนายนพดล ปัทมะ ทั้งๆ ที่พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นถอดถอนก่อนที่นายนพดลจะลาออก เป็นการดำเนินการต่อเนื่องมาจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เนื่องจากการกระทำดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ อันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้มีจุดประสงค์ร้าย ดังนั้นเมื่อทำผิดรัฐธรรมนูญ ก็ไม่สมควรที่ดำรงตำแหน่งต่อไป และควรได้รับโทษสูงสุด ซึ่งนายกฯ ควรจะยอมรับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ยอมรับความผิด

ทั้งนี้พรรคได้เคยเสนอแนะไปก่อนหน้านี้แล้วว่า การขึ้นทะเบียนมรดกโลกปราสาทพระวิหารควรเป็นการดำเนินการร่วมกันของสองประเทศ แต่ปรากฎว่า รัฐบาล กลับปล่อยให้ทางกัมพูชา ไปขึ้นทะเบียนฝ่ายเดียว จนสร้างวิกฤตให้รัฐบาลเสถียรภาพสั่นคลอน ประชาชนสองประเทศไม่เข้าใจกัน ซึ่งเป็นเพราะรัฐบาลดื้อดึง ไม่ฟังเสียงฝ่ายค้าน นักวิชาการ สื่อมวลติติง ดังนั้นรัฐบาลต้องรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้น

นายอลงกรณ์ กล่าวต่อว่าในวันอังคารที่ 15 ก.ค. คณะกรรมการกิจการชายแดน ของสภาฯจะมีการประชุมกัน ซึ่งกรรมาธิการในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ จะเสนอให้มีการพิจารนาเรื่องนี้ โดยเชิญกรมสนธิสัญญา กรมแผนที่ทหาร และนายปองพล อดิเรกสารมาชี้แจง โดยเฉพาะประเด็นร่างแผนผังที่ปรับปรุงแล้ว ซึ่งเป็นพื้นที่ที่จะต้องจัดการร่วมของ 7 ชาติ แต่แปลกประหลาดที่ฝ่ายไทย ไม่มีแผนผังดังกล่าวอยู่ในมือ การให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนมรดกโลกฝ่ายเดียว จะส่งผลต่อการสูญเสียดินแดน และอธิปไตย ดังนั้นคณะกรรมาธิการจะตรวจสอบ และลงไปดูพื้นที่ เพื่อรับฟังความคิดเห็นสร้างความเข้าใจ และสร้างความสัมพันธ์อันดี ของทั้ง 2 ประเทศ ที่อาศัยอยู่บริเวณดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น