xs
xsm
sm
md
lg

“บุญสร้าง” พร้อมแล้วขับไล่เขมรพ้นแผ่นดินไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์
ผบ.สส.เตรียมเสนอล้อมรั้วรอบตัวประสาทพระวิหาร ยันคนไทยไม่ยอมเสียพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.กม.แน่นอน พร้อมผลักดันชาวกัมพูชาออกนอกพื้นที่โดยด่วน แต่กระทรวงต่างประเทศ ต้องให้ความร่วมมือ จี้ “บัวแก้ว” เร่งแจ้งยกเลิกแถลงการณ์ไปยังประเทศและองค์กรต่างๆ เพราะขณะนี้เพียงแจ้งระงับเท่านั้น เผยห่วงบางคนรักต่างชาติมากกว่าคนไทย พร้อมเตือนรัฐบาลอย่าสักแต่อ้างมาจากเลือกตั้งแล้วทำอะไรไม่ให้ประชาชนรู้

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 13 ก.ค. 51 ที่ห้องประชุมวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร(วปอ.) ถนนวิภาวดีรังสิต พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) เป็นประธานการประชุมเพื่อระดมความคิดเห็นในการกำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินการบริหารจัดการพื้นที่พิพาท : กรณีศึกษาปราสาทเขาพระวิหาร โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ ความมั่นคง นักวิชาการ พลเรือน ทหาร เช้าร่วมคับคั่ง อาทิ นายปองพล อดิเรกสาร ประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก พล.ท.แดน มีชูอรรถ เจ้ากรมแผนที่ทหาร พล.ท.นิพัทธ์ ทองเล็ก เจ้ากรมกิจการชายแดนทหาร ผอ.กองสำรวจพื้นที่ อศ.ทร. นายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ นายสมปอง สุจริตกุล อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส นายชุมพร ปัจจุสานนท์ อาจารย์ประจำคระนิติศาสตร์ จุลาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ผอ.สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ(ISIS)จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ ผอ.สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายกฤต ไกรจิตติ อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศอย่างไรก็ตาม ไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าสังเกตการณ์รวมทั้งบันทึกภาพแต่อย่างใด

พล.อ.บุญสร้าง แถลงภายหลังการประชุม 7 ชั่วโมง ว่า ในการสัมมนาทางวิชาการครั้งนี้จะไม่มีการอ้างอิงถึงผู้พูด ทั้งนี้ การประชุมได้เชิญนักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิร่วมระดมความคิดเพื่อช่วยฝ่ายข้าราชการอีกทางหนึ่ง โดยมีข้อเสนอแนะจากการสัมมนาดังนี้ 1. ควรให้โปร่งใส ให้ประชาชนมีส่วนรับรู้ โดยที่ประชุมเสนอแนะให้กระทรวงการต่างประเทศทำเอกสารชี้แจงที่ชัดเจน เข้าใจง่าย โดยเฉพาะแถลงการณ์ร่วมกับกัมพูชา ทั้งทางบกและทางทะเล 2. ควรมีหน่วยค้นคว้าวิจัยระดมสมองศึกษาอย่างละเอียด โดยสถาบันวิจัยทางยุทธศาสตร์อาจร่วมประชุมสัมมนาอีก 3. ควรมีเอกภาพทางความคิด นโยบาย และมีนโยบายที่ชัดเจนเพื่อให้เกิดอำนาจต่อรอง 4. ควรดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ 5. ควรแจ้งยกเลิกคำแถลงการณ์ร่วม ไปยังประเทศและองค์ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ เพราะปัจจุบันเป็นเพียงการระงับเท่านั้น

พล.อ.บุญสร้าง กล่าวว่า การสัมมนาทางวิชาการครั้งนี้ช่วยลดความขัดแย้งทางความคิด ได้ในระดับหนึ่ง เพราะบุคคลที่เกี่ยวข้องได้รับทราบข้อมูลที่ชัดเจนยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามเรื่องนี้เป็นเรื่องซับซ้อน ละเอียดอ่อน จึงต้องใช้ความรอบคอบและมีความรู้ที่เพียงพอ ทั้งนี้ที่ประชุมเตรียมเสนอแนะให้กระทรวงการต่างประเทศผ่านทาง นายกฤต ไกรจิตติ อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายกระทรวงการต่างประเทศ เตรียมการเพื่อให้เกิดความพร้อมในการที่กัมพูชาจะส่งข้อมูลให้คณะกรรมการมรดกโลกให้ทันกำหนด ภายในวันที่ 1 ก.พ. 2552 ไม่เช่นนั้นจะดำเนินการไม่ทัน

เมื่อถามว่า ข้อมูลในส่วนของกองทัพจะดำเนินการอย่างไร พล.อ.บุญสร้างกล่าวว่า ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ได้ประท้วงหลายครั้ง ก็มีคณะกรรมการดำเนินการ คือ กระทรวงการต่างประเทศ ในกรณีที่ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่พิพาทเป็นประเด็นร้อนอยากให้คนของกัมพูชาออกไป ถ้าอยู่ต้องมีหลักฐานในการอาศัยพื้นที่ของไทย ต้องมีระบบ ทหารจะดำเนินการในระดับที่พอจะทำได้ ทั้งนี้กรณีเส้นเขตบริเวณปราสาทพระวิหารในอดีตมีรั้วแต่หายไป ทางกระทรวงการต่างประเทศจะต้องหารือกับกัมพูชาและสร้างรั้วให้เหมือนเดิม เมื่อหารือแล้วค่อยมาแจ้งกองทัพ

เมื่อถามว่า เป็นห่วงในเรื่องการบริหารจัดการพื้นที่ทับซับซ้อนหลังจากขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจะดูแลพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรอย่างไร พล.อ.บุญสร้างกล่าวว่า ที่ประชุมไม่ได้มีการหารือเรื่องนี้มากนัก

เมื่อถามว่ากรณีที่ให้ 7 ประเทศมาดูแลพื้นที่บริเวณปราสาทพระวิหาร พล.อ.บุญสร้างกล่าวว่า มีความเห็นที่ต่างกัน 2-3 คนเห็นไม่เหมือนกันบางท่านไม่มีข้อมูลเพียงพอ ในที่ประชุมจึงขอให้หาความรู้เพิ่มเติมในเรื่องนี้

เมื่อถามว่าแสดงว่าจะมีการหารือกันต่อในอนาคตใช่หรือไม่ พล.อ.บุญสร้างกล่าวว่า คาดว่าจะมีการจัดขึ้นอีกครั้ง

เมื่อถามว่า ที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการให้ 7 ประเทศเข้ามาบริหารจัดการดูแลพื้นที่หรือไม่ พล.อ.บุญสร้างกล่าวว่า ส่วนใหญ่ไม่มีความรู้เพียงพอในจุดนี้ มีเพียง 2-3 คนเท่านั้นที่รู้แต่ก็เห็นไม่ตรงกัน ส่วนข้อมูลนั้นไม่จำเป็นต้องส่งให้กระทรวงต่างประเทศดำเนินการเนื่องจากอธิบดีกรมสนธิสัญญาฯ ได้เข้ามาฟังเกี่ยวกับกระทรวงการต่างประเทศและรับเรื่องล้อมรั่วเส้นเขตแดนบริเวณปราสาทไปดำเนินการ

เมื่อถามว่าเล็งเห็นปัญหาในอนาคตที่จะตามาหรือไม่ พล.อ.บุญสร้างกล่าวว่า มีมิติทางด้านวิชาการ ทางศาสนาและวัฒนธรรมต่างๆ อยากให้เป็นประโยชน์ต่อชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น แต่การที่ชาวบ้านถูกโลกตะวันตกยัดเยียดเพื่อให้การท่องเที่ยว ตนคิดว่าเงินทองก็ไม่สำคัญนักเนื่องจากประเทศไทยก็ไม่ได้ยากจน เราเป็นตัวของตัวเอง แต่ก็ไม่ได้คัดค้าน ต้องดูแลประชาชนของเราด้วย

เมื่อถามถึงแถลงการณ์ร่วมที่ระงับจะแจ้งไปมีผลทันทีหรือไม่ พล.อ.บุญสร้าง กล่าวว่า มีผลทันทีต่อไปเราต้องคิดอะไรของเราเอง

เมื่อถามถึงข้อเสนอแนะที่จะส่งผ่านรัฐบาล หรือนายกรัฐมนตรีนั้น พล.อ.บุญสร้าง กล่าวว่า ในส่วนที่เกี่ยวข้องจริงๆ คือกระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อถามว่าคลายความกังวลเรื่องการสูญเสียดินแดนและอธิปไตยหรือไม่ พล.อ.บุญสร้างกล่าวว่า เป็นปัญหาที่ตอบยาก ปัญหาพวกนี้ไม่เคยคิดว่าจะมีคนถาม เรื่องที่ขอขึ้นทะเบียนตัวปราสาท มีพื้นที่เล็กน้อยประมาณ 50 ไร่รอบตัวปราสาทจะมีการดำเนินการตามขั้นตอน ใช้เวลา 1 ถึง 2 ปี

“เราคงไม่โง่พอที่จะทำให้พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรหลุดหายไปหรอกนะ ถ้าเราทำหลุดหายไปคงสมควรที่จะไม่ให้หลุดหายต้องรู้ทันอะไรต่างๆ ผมเชื่อมั่นว่าไม่หลุด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผมจะทำเองประชาชนจะต้องช่วยกันติดตามดูแล สอดส่องไม่ให้ผิดพลาดพลั้งเผลอให้มันหลุดลอยไป ถ้าหลุดลอยไปผมก็ต้องยกนิ้วก้อย โกรธกันตลอดชาติ เพราะเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นเราดูอยู่อย่างนี้”พล.อ.บุญสร้างกล่าว

เมื่อถามว่า นอกจากดินแดนพระวิหารเป็นมรดกโลก ความรู้สึกของประชาชนเกิดความรุนแรงเรื่องลัทธิชาตินิยม พล.อ.บุญสร้างกล่าวว่า ถ้าแถลงให้โปร่งใสทำให้ประชาชนรับทราบซึ่งตนก็หวังว่าทางกัมพูชาจะดำเนินการเช่นเดียวกัน ส่วนเรื่องของผู้หลักผู้ใหญ่กระทรวงการต่างประเทศจะเชิญมาประชุม JBC (คณะกรรมการปักปันเขตแดน) คงจะลดอะไรไปได้เยอะ ชาวกัมพูชาก็เช่นเดียวกัน

เมื่อถามว่าที่บอกว่าจะไม่เสียค่าโง่ให้กับ 7 ประเทศมีนักวิชาการท้วงติงมาก พล.อ.บุญสร้างกล่าวยอมนรับว่า ใช่ๆ แต่ที่ประชุมไม่ได้บอกว่าจะไปร่วมเพราะไม่รู้รายละเอียด ฝากสื่อช่วยคิดช่วยเตือนจะได้ตื่นตัวเรื่อง 7 ประเทศ

เมื่อถามว่าใครเป็นคนชี้ขาดเรื่องจะเข้าร่วม 7 ประเทศ พล.อ.บุญสร้าง กล่าวว่า อย่างน้อยที่สุด กระทรวงการต่างประเทศ แต่ถ้าระดับนี้คงถึงครม.หรือฝ่ายบริหารระดับสูง

เมื่อถามว่ากองทัพเป็นห่วงเรื่องความอ่อนไหวระดับไหน พล.อ.บุญสร้างกล่าวว่า เราก็เป็นห่วง เชื่อมั่นว่าประชาชนตื่นตัว ก็ช่วยได้มาก เรื่องความตื่นตัวเราคงไม่เสียท่า เสีย 4.6 ตารางกิโลเมตร วันนี้ตนได้ความรู้เยอะอะไรที่ค้างคาใจก็ช่วย แต่จะพูดอะไรมากไม่ได้ เพราะไม่มีหน้าที่โดยตรง แต่ทหารต้องมีสปิริตดูแล หาความรู้ ส่วนจะไปพูดต้องดูว่ามีหน้าที่โดยตรงหรือไม่ เนื่องจากจะไปก้าวก่ายหน่วยงานอื่น ถ้าไม่พูด แต่ถ้าเกิดความสูญเสียอะไรตนก็จะพูด ถ้าไม่ถึงขนาดนั้นก็ให้หน่วยงานที่ดูแลดำเนินการ เดี๋ยวจะเกิดความสับสน

เมื่อถามว่าความเคลื่อนไหวของประชาชนในการล่ารายชื่อทวงคืนปราสาทเขาพระวิหาร พล.อ.บุญสร้าง กล่าวว่า น่าคิดเหมือนกันแต่ในที่ประชุมยังไม่ได้พูดชัดว่าจะทวงคืน ด้านการดูแลพื้นที่ชายแดนในส่วนของทหาร มีหน้าที่ดูแลตามรัฐธรรมนูญ อธิปไตยและเส้นเขตแดนอยู่ตรงไหน กระทรวงการต่างประเทศต้องเป็นคนบอกมา เพราะต้องตกลงกับประเทศข้างเคียงด้วย

เมื่อถามว่าที่ประชุมพอใจกับการดำเนินงานของเจ้ากรมแผนที่ทหารหรือไม่พล.อ.บุญสร้าง กล่าวว่า เขาได้ชี้แจงตามเทคนิค

เมื่อถามว่าแสดงว่าที่ผ่านมาฝ่ายบริหารได้หารือกับกองทัพในเรื่องการเซ็นสนธิสัญญาใช่หรือไม่ พล.อ.บุญสร้างกล่าวว่า เป็นเรื่องทางเทคนิค อย่างที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน เช่นเรื่องการประชุมคณะกรรมการชายแดน อย่างเรื่อง General Border Committee ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน หรือเรื่อง JBC เจ้ากรมแผนที่ทหารเป็นประธานทำหน้าที่ทางเทคนิค

“ยอมรับว่าในอนาคตต้องรอบคอบให้มากขึ้น เพื่อไม่ให้เสียรู้เขา ทุกเรื่องโดยเฉพาะเรื่องใหญ่ แต่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับประเทศข้างเคียงต้องรู้ทัน คนไทยเสียรู้ด้วยกันอาจจะไม่เป็นไร แต่เรื่องที่เกี่ยวกับประเทศข้างเคียงเป็นเรื่องที่เราต้องรู้ทัน ต้องศึกษาลึกซึ้งเตรียมการแต่เนิ่น คาดการณ์ถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้น เตรียมคิดแก้ปัญหาล่วงหน้า พลเรือนต้องแจ้งทหารที่ทำหน้าที่ชายแดนทั้งหลาย ต้องศึกษาประวัติศาสตร์เกี่ยวกับชายแดนที่รับผิดชอบ ภูมิศาสตร์ประวัติศาสตร์เป็นมาอย่างไร ช่วยได้ ในที่สุดแล้วคนในพื้นที่ศึกษารายละเอียดทำให้รู้รายละเอียดมากขึ้น ความรู้ทางประวัติศาสตร์สำคัญจะได้เป็นบทเรียน ถ้าเรารู้น้อยเวลาต่อสู้ตรงนั้นตรงนี้เราจะเสียท่าได้ง่าย”พล.อ.บุญสร้างกล่าว

เมื่อถามถึงกรณีที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เตรียมยื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช.ให้ดำเนินคดีกับเจ้ากรมแผนที่ทหาร และอธิบกดีกรมสนธิสัญญาฯ ได้หาทางออกช่วยเหลืออย่างไร พล.อ.บุญสร้างกล่าวว่า ต้องดูมีเรื่องอะไรบ้าง เป็นเรื่องทางกฎหมาย ธรรมดาของประชาธิปไตยต้องสู้กัน

เมื่อถามถึงกรณีที่ทหารแต่งเครื่องแบบเต็มยศขึ้นเวทีพันธมิตร พล.อ.บุญสร้าง กล่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงตรวจสอบเรียกตักเตือน เพราะไม่ถูกต้องตามนโยบายของกองทัพ ส่วนเรื่องของพล.อ.ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมตั้งคณะกรรมการ ตนคงไม่ต้องพูดอะไรมาเพราะเป็นถึงระดับนั้นแล้ว

เมื่อถามว่าเกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายการเมืองกับฝ่ายทหารหรือไม่ พล.อ.บุญสร้าง กล่าวว่า ทั้งหมดนี้ก็แล้วแต่คณะกรรมการยืนยันว่าไม่ใช่ปัญหาระหว่างการเมืองกับทหาร ดำเนินการตามปกติ

เมื่อถามว่า มีการเตรียมบทเรียนครั้งนี้ไม่ให้เกิดขึ้นกับพื้นที่อื่นหรือไม่ พล.อ.บุญสร้างกล่าวว่า 1. ต้องเอาข้อมูลให้ประชาชนรับทราบคิดว่า อะไรคือปัญหา วันนี้เรื่องสำคัญในสังคมยุคใหม่ คนต้องต่อสู้ในเรื่องความรู้ไม่ใช่เรื่องกำลัง ประเทศที่มีกำลังมาก เดี๋ยวนี้ถ้าโง่ ไม่รู้เรื่อง ไปขึ้นศาลก็แพ้คนอื่น ก็คือเสียดินแดน โดยประเทศอื่นไม่ต้องใช้กำลังแม้แต่คนเดียว เพราะเป็นเรื่องของกฎหมาย

เมื่อถามว่า ก่อนหน้านี้ถ้ามีการเปิดเผยแถลงการณ์ร่วมต่อสาธารณชน วันนี้จะมีปัญหาหรือไม่ พล.อ.บุญสร้างกล่าวว่า ไม่อยากพูดอะไรขนาดนั้น เพราะอาจจะไม่เป็นอย่างนั้นก็ได้ แต่การดำเนินงานที่โปร่งใสเปิดเผยต่อสาธารณะให้สื่อและนักวิชาการรับทราบเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นความชอบธรรมที่ประชาชนจะได้รับทราบเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรง ก็จะเกิดความรู้สึกการมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ รวมถึงเป็นการเปิดโอกาสให้บุคคลที่มีความสามารถมาช่วย เจ้าหน้าที่ ข้าราชการ นักการเมือง เพื่อไม่เกิดความผิดพลาด

“หากเปิดเผยประชาชนรับทราบจากแหล่งเดียวกัน รู้ไปพร้อมๆ กัน วันหนึ่งมีวิกฤติจะได้ไม่แตกแยก เพราะมีส่วนร่วมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นสปิริตของความเป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่หมายถึงไปเลือกตั้งไปลงคะแนนขายเสียง ซื้อเสียง ถึงแม้การเลือกตั้งจะสะอาดบริสุทธิ์ แต่ประชาธิปไตยมีอะไรมากกว่านั้นเยอะที่เราต้องแสดง ไม่ใช่รับเลือกตั้งมาแล้วจะทำอะไรไม่ให้ประชาชนรู้เรื่องเลย ไม่ใช่สปิริตประชาธิปไตย” พล.อ.บุญสร้าง กล่าว

เมื่อถามว่า เสียรู้คนต่างชาติ กับเสียรู้คนไทยด้วยกันอย่างไหนเจ็บปวดกว่ากัน พล.อ.บุญสร้างกล่าวว่า ก็แล้วแต่คน บางคนรักชาวต่างประเทศมากกว่า บางคนรักคนไทยมากกว่า ก็ต้องดูกันต่อไป

ด้าน ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ทางสถาบันไม่ยอมรับการขึ้นทะเบียนมรดกโลกของกัมพูชา รวมถึงไม่ยอมให้ 7 ประเทศมาร่วมบริหารพื้นที่ระหว่างไทย –กัมพูชา อย่างไรก็ตาม บรรยากาศการสัมมนาเป็นไปด้วยดี มีการแลกเปลี่ยนความเห็นหลากหลาย แต่ในส่วนของข้อสรุปยังมีความเห็นที่ไม่ตรงกันอยู่บ้าง

พล.อ.บุญสร้าง เปิดเผยเพิ่มเติมว่า มีข้อเสนอให้กระทรวงการต่างประเทศเตรียมข้อมูล ข้อคิดเห็นของฝ่ายไทยให้พร้อมก่อนที่กัมพูชาจะส่งข้อมูลให้คณะกรรมการมรดกโลกในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2552 รวมถึงให้หารือกับฝ่ายกัมพูชาว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่หากจะมีการล้อมรั้วบริเวณปราสาทพระวิหาร

สำหรับพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร พล.อ.บุญสร้าง กล่าวว่า คนไทยคงจะไม่ยอมสูญเสียพื้นที่ในส่วนนี้แน่นอน ส่วนที่มีชาวกัมพูชามาตั้งรกรากนั้น ฝ่ายทหารจะเร่งดำเนินการผลักดันออกไปจากพื้นที่ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือจากกระทรวงการต่างประเทศ ทั้งนี้ ในที่ประชุมยังไม่มีข้อสรุปว่าไทยควรจะเข้าเป็นคณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศ หรือ ICC เพื่อร่วมบริหารจัดการปราสาทพระวิหารหรือไม่เนื่องจากยังไม่มีความรู้เพียงพอ

ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กล่าวอีกว่า การทำเอกสารเกี่ยวกับพื้นที่ทับซ้อนทางบก และทางทะเล ระหว่างไทย-กัมพูชา การจัดสัมมนาทางวิชาการให้ประชาชนรับรู้จะสามารถคลายข้อห่วงกังวลและเกิดเอกภาพทางความคิดได้

พล.อ.บุญสร้าง ย้ำว่า การดำเนินการใดๆ ต้องโปร่งใส ให้ประชาชนมีส่วนรับรู้ ดังนั้น กระทรวงการต่างประเทศ ควรทำเอกสารที่เข้าใจง่ายชี้แจงในทุกเรื่องที่เกี่ยวข้อง ทั้งแจ้งยกเลิกแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาไปยังประเทศและองค์กรต่างๆ เนื่องจากปัจจุบันเป็นเพียงแจ้งระงับเท่านั้น

ผบ.สส.กล่าวอีกว่า การสัมมนาในวันนี้ ทำให้ได้รับข้อมูลที่ชัดเจนมากขึ้น และลดความขัดแย้งทางความคิดได้ในระดับหนึ่ง ในส่วนของกองทัพยืนยันมีหน้าที่ดูแลอธิปไตย แต่การดำเนินการในพื้นที่พิพาท เป็นหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น