xs
xsm
sm
md
lg

ท่องเที่ยวแม่ฮ่องสอนหมดยุค“กินบุญเก่า” ปะด่องหาย-ปายสิ้นมนต์-น้ำมันแพง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 กะเหรี่ยงคอยาว  1 ในจุดขายสำคัญทางการท่องเที่ยวของแม่ฮ่องสอน ซึ่งวันนี้ กำลังจะกลายเป็นอดีตแล้ว
ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – หมดยุค “กินบุญเก่า” อย่างแท้จริง สำหรับการท่องเที่ยวแม่ฮ่องสอน หลัง “กะเหรี่ยงคอยาว”ถูกนายทุนต่างถิ่นดึงออกนอกพื้นที่ – เมืองปาย เริ่มสิ้นมนต์ แถมเจอวิกฤตพลังงานซ้ำเติมอีก ขณะที่แผนพัฒนาเส้นทางคมนาคมใหม่ยังมองไม่เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ ล่าสุดกลุ่มทุนท่องเที่ยวเร่งปั้น “ทัวร์ญี่ปุ่นถอยทัพยุคสงครามโลกครั้งที่ 2” เชื่อม 3 จังหวัด หวังดึงพี่ยุ่น เข้า 200,000 คนต่อปี

“เกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าการท่องเที่ยวของแม่ฮ่องสอน พึ่งพิงกะเหรี่ยงคอยาว – เมืองปาย เฉพาะกะเหรี่ยงคอยาว สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามามากกว่า 300,000 คน/ปี คิดเฉพาะค่าเข้าดูหัวละ 200-250 บาท ก็มีเงินสะพัดมากกว่า 100 ล้านบาท/ปี ไม่รวมกิจกรรมต่อเนื่องอื่น ๆ ทำให้มีเงินจากการท่องเที่ยวเข้าพื้นที่ปีละกว่า 1 พันล้านบาท ขึ้นไปทั้งสิ้น” นายสุพจน์ กลิ่นปราณีต นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าว

เขาบอกว่า แต่ 2-3 ปีที่ผ่านมามนต์เสน่ห์ของกะเหรี่ยงคอยาว หรือชนเผ่าปะด่อง ที่อพยพโยกย้ายหนีภัยสงครามมาจากพม่า เริ่มหมดความขลัง เพราะสามารถดูที่ไหนก็ได้ เนื่องจากส่วนหนึ่งมีการนำกะเหรี่ยงคอยาวออกจากพื้นที่แม่ฮ่องสอนไปอยู่ อีกส่วนหนึ่งก็มีกลุ่มกะเหรี่ยงคอยาวจากพม่าลักลอบเข้ามาทำงานมากขึ้น จนปัจจุบันมี “หมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาว” ให้นักท่องเที่ยวเข้าชมหลายจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นที่เชียงใหม่ เชียงราย หรือแม้แต่สัตหีบ ชลบุรี ก็มีอยู่หลายครอบครัว

“เดี๋ยวนี้ถ้าจะดูกะเหรี่ยงคอยาว เขาไม่มาแม่ฮ่องสอน ไปดูที่อื่นถูกกว่า แต่มาแม่ฮ่องสอนมีต้นทุนสูงถึง 5,000 กว่าบาท/หัว เพราะค่าเดินทางที่แพงขึ้น ไม่มีใครเสียเวลา 2-3 วันมาดูกะเหรี่ยงคอยาวถึงแม่ฮ่องสอนอีกต่อไป”

โดยเฉพาะนโยบายการย้ายกะเหรี่ยงคอยาวไปอยู่ “หมู่บ้านอนุรักษ์วิถีชีวิตกะเหรี่ยงคอยาว” ที่บริเวณบ้านน้ำเพียงดิน หรือบ้านห้วยปูแกง ต.ผาบ่อง อ.เมืองแม่ฮ่องสอน โดยย้ายกะเหรี่ยงจาก 2 หมู่บ้านคือ บ้านในสอย – ห้วยเสือเฒ่า มารวมอยู่ที่บ้านน้ำเพียงดิน ประมาณ 70 ครอบครัว บนเนื้อที่ดินกว่า 103 ไร่ ช่วงปี 49-50 ที่ผ่านมา แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีระบบสาธารณูปโภครองรับ นักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางเข้าถึงได้ ทำให้กลุ่มกะเหรี่ยงคอยาวในหมู่บ้านอนุรักษ์ฯของจังหวัด หมดทางทำมาหากิน ซึ่งแน่นอนว่าเขาก็ต้องดิ้นรนหาทางรอดไปอยู่ที่อื่นด้วย

ไม่เพียงเท่านั้นสำนักงานคณะกรรมการเพื่อผู้อพยพและผู้ลี้ภัยแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. Committee for Refugees and Immigrants: USCRI) ได้ออกมาเปิดเผยว่าประเทศไทยมักมีการบังคับโยกย้ายให้ผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงคอยาวให้ไปตั้งถิ่นฐานในหมู่บ้านการท่องเที่ยวที่อยู่ใกล้กับชายแดน

นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดแม่ฮ่องสอน เปิดเผยอีกว่า ส่วนเมืองปาย ที่ขึ้นชื่อแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกนั้น มาถึงวันนี้ก็เจอปัญหาการตัดราคาของผู้ประกอบการ ทั้งเรื่องที่พัก – อาหาร ฯลฯ จนทำให้คุณภาพการให้บริการลดลง บั่นทอนศักยภาพของการดึงดูดนักท่องเที่ยวไปมาก แม้ว่าปัญหาเรื่องทัวร์ยาเสพติดจะลดลง เพราะกลุ่มแบ็กแพกหันไปเที่ยวทางแพร่-น่าน ที่ใกล้ชายแดน สปป.ลาว ซึ่งสามารถหายาเสพติดได้ง่ายกว่าก็ตาม

เขาย้ำว่า จะเห็นได้ว่าวันนี้เมืองปายมีปัญหาคุณภาพการให้บริการนักท่องเที่ยว ขยะล้นเมือง ซึ่งนั่นเป็นสิ่งบั่นทอนการท่องเที่ยวในระยะยาวของเมืองแห่งนี้อยู่ตลอดเวลา ถ้าไม่แก้ไขสุดท้ายก็จบ

นายสุพจน์ ยังบอกอีกว่า นอกจากนี้แม่ฮ่องสอนยังมีปัญหาเรื่องต้นทุนค่าขนส่ง – ค่าเดินทาง ที่แพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะปัญหาน้ำมันแพง ขณะที่ข้อเสนอเกี่ยวกับแผนพัฒนาเส้นทางคมนาคมเข้าสู่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ก็ยังไม่รู้อนาคต ไม่ว่าจะเป็นการสร้างกระเช้าลอยฟ้า ที่ต้องทุ่มงบมหาศาล หรือแม้แต่การขุดเจาะอุโมงค์ จาก อ.สะเมิง – จ.เชียงใหม่ ที่จะช่วยย่นระยะการเดินทางเหลือ 180 กม. สามารถไปกลับเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน ได้ภายใน 3 ชั่วโมง ที่ศึกษากันมาหลายครั้ง ก็ยังไม่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นได้

ทั้งนี้ เพราะมีคำถามตามมาเหมือนกันว่า การทำอุโมงค์-ถนนเชื่อมแม่ฮ่องสอน เส้นใหม่ ที่ต้องใช้เงินลงทุน 20,000 ล้านบาทโดยประมาณนั้น จะคุ้มทุนหรือไม่ เมื่อต้องแลกกับรายได้จากการท่องเที่ยวของจังหวัดที่ทำเงินได้ปีละ 1,600 กว่าล้านบาท และประชากร 300,000 คน รัฐบาลเองก็คงต้องถามว่า แล้วจะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายคืน ดังนั้นโครงการนี้ก็ยังเป็นไปในลักษณะ “ศึกษา และศึกษา” เท่านั้น

“แม่ฮ่องสอน ที่เคยขึ้นชื่อเป็นเมืองสามหมอก วันนี้ต้องหาทางออกอย่างเร่งด่วน ก่อนที่จะสูญสิ้นศักยภาพด้านการท่องเที่ยว”





นายสุพจน์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามสิ่งที่เราหวังตอนนี้ก็คือ การโปรโมต การท่องเที่ยวเส้นทางถอยทัพของกองทัพญี่ปุ่นยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เชื่อมโยงกับลำพูน เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เข้าด้วยกัน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ-เอกชน กำลังเร่งทำแผนพัฒนากันอยู่

เริ่มจากลำพูน ที่มีเอกสาร - หลักฐานทางประวัติศาสตร์ของกองทัพญี่ปุ่นที่เข้ามา เชื่อมถึงบ้านป่าแป๋ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ที่มีของใช้ทหารญี่ปุ่น – ศพทหารญี่ปุ่น อยู่ – อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ที่มีสะพานข้ามแม่น้ำปาย ที่ทหารญี่ปุ่นสร้างขึ้น วัดน้ำพู และหลักฐานของกองทัพญี่ปุ่นอีกจำนวนมาก ต่อมาถึงพื้นที่ใกล้กับ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ที่ “ปางหมู” และบ้านต่อแพ ใกล้กับ อ.ขุนยวม ที่เป็นจุดอพยพถอยทัพเข้าพม่าของกองทัพญี่ปุ่น เป็นต้น

“เส้นทางเหล่านี้ทางญี่ปุ่นก็เข้ามาศึกษา และการันตีแล้ว แตกต่างจากที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวบางรายเคยทำเมื่อหลายปีก่อน ที่บางรายนำเอากระดูกหมา มาหลอกลวงนักท่องเที่ยว”

เขาเชื่อมั่นว่า แนวทางการพัฒนาเส้นทางทัวร์ทหารญี่ปุ่นยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่จะใช้งบพัฒนาไม่เกิน 5 ล้านบาทนี้ จะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวเฉพาะจากญี่ปุ่นเข้ามาแม่ฮ่องสอนได้ไม่น้อยกว่า 200,000 คน/ปี ทั้งยังสามารถโปรโมตเป็นแหล่งท่องเที่ยวในตลาดโลกได้อย่างแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น