xs
xsm
sm
md
lg

กรณีพระวิหาร

เผยแพร่:   โดย: วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ทั้งก่อนและหลังคณะกรรมการมรดกโลกจะมีมติรับรองให้พระวิหารที่เสนอโดยประเทศกัมพูชาเป็นอีก 1 มรดกโลกนั้น การเคลื่อนไหวคัดค้านกรณีนี้ในไทยแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะใหญ่ๆ ลักษณะแรก เป็นการเคลื่อนไหวที่ยอมรับไม่ได้ที่พระวิหารเป็นของกัมพูชา ลักษณะที่สอง ยอมรับว่าพระวิหารเป็นของกัมพูชาตามคำตัดสินของศาลโลกเมื่อปี 2505 แต่ไม่ยอมรับพื้นที่รอบพระวิหาร โดยเฉพาะพื้นที่ด้านซ้ายขวา

ดูเผินๆ แล้วจะเห็นได้ว่า ทั้งสองลักษณะข้างต้นจะต่างกันมาก คือลักษณะแรกดูจะโหยหาในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้และมองไม่เห็นแม้แต่ความหวังที่จะได้มา กับลักษณะที่สองที่มีการแยกแยะว่าอะไรเป็นของเขาอะไรเป็นของเรา ว่ากันไปตามความเป็นจริง

แต่ถ้าดูดีๆ แล้วจะพบว่า ทั้งสองลักษณะนี้ง่ายต่อการโน้มนำให้มีการใช้ประเด็นชาตินิยมสอดแทรกเข้ามาได้ง่าย ส่วนที่ว่าเมื่อสอดแทรกเข้ามาแล้วจะทำงานได้อย่างมีพลังขนาดไหนนั้นมีปัจจัยหลายอย่างด้วยกัน และมีนักวิชาการหลายท่านได้แสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับประเด็นนี้เอาไว้ไม่น้อย คือห่วงว่าดีไม่ดีจะนำไปสู่การสร้างความจงเกลียดจงชังทางเชื้อชาติขึ้นมาโดยใช่เหตุ และอาจนำไปสู่ความรุนแรงไปอีกทอดหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม เท่าที่สังเกตดูตั้งแต่เริ่มเกิดเรื่องขึ้นมา (ในไทย) แม้ผมจะเห็นว่ามีบางคนบางกลุ่มที่แสดงออกด้วยความรู้สึกชาตินิยมระหว่างเคลื่อนไหวก็ตาม แต่ความรู้สึกนั้นก็ยังไม่ได้ล้ำเข้าไปในพรมแดนแห่งความเกลียดชังทางเชื้อชาติแต่อย่างใด

และหากใครจะแย้งว่า แล้วที่เรียกร้องให้มีการเคลียร์พื้นที่ทับซ้อนที่มีชาวเขมรมาอาศัยอยู่นั้น ไม่ใช่ชาตินิยมหรือไร ผมก็ยังเห็นว่า คนที่รู้สึกอย่างนั้นมักเป็นคนนอกพื้นที่ ส่วนที่ไม่รู้สึกอย่างนั้นแต่เรียกร้องให้เคลียร์ก็เพราะเกรงว่าจะมีผลในทางกฎหมายหรืออะไรอื่นที่จะทำให้ไทยต้องสูญเสียอะไรไปอีก

การไม่ล้ำเข้าไปในพรมแดนแห่งความเกลียดชังดังเช่นขณะนี้ ดีกว่าสมัยที่ผมยังเป็นเด็กมากมายหลายเท่า สมัยนั้น (หลังจากศาลโลกตัดสินให้พระวิหารเป็นของกัมพูชาไปแล้ว) มีการตอบคำถามชิงรางวัลผ่านรายการวิทยุว่า “สีอะไรที่คนไทยเกลียดที่สุด?” คำตอบคือ “สีหนุ” ว่ากันถึงขนาดนั้นเลยทีเดียว

โชคดีที่ผู้ตอบในวันนั้นตอบผิด เพราะถึงจะพลาดรางวัลไปอย่างน่าเสียดาย แต่รางวัลนั้นคงไม่มีคุณค่าหรือราคาค่างวดมากนัก หากต้องนำไปแลกกับความสูญเสียที่พึงจะเกิดจากความเกลียดชัง

สำหรับอารยชนแล้วพึงรำลึกเสมอว่า ความเกลียดชังแม้เพียงได้เกิดขึ้นในใจโดยไม่ได้ส่งผลเป็นการกระทำก็ตาม ก็ไม่นับเป็นเรื่องที่ดีแม้แต่น้อย โดยเฉพาะความเกลียดชังที่ตั้งอยู่บนความไม่รู้จริง

และเพราะยังไม่ล้ำเข้าไปในพรมแดนแห่งความเกลียดชังดังในขณะนี้ ผมจึงถือว่าเป็นเรื่องดี ฉะนั้น ใครที่เป็นห่วงว่าจะเสียความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชานั้น ก็ยังน่าที่จะวางใจได้อยู่ (อย่างน้อยก็จนถึงวันที่ผมเขียนบทความชิ้นนี้อยู่ใน 9 กรกฎาคม 2551) ประเด็นคำถามก็คือว่า ก็ในเมื่อประเด็นชาตินิยมเข้ามาเกี่ยวข้องกับปัญหาพระวิหารไม่มาก แล้วอะไรเล่าที่ทำให้ปัญหาพระวิหารดูไปเหมือนมีประเด็นชาตินิยมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเต็มๆ จนเกิดความเป็นห่วงเป็นใยกันขึ้นมา?

คำตอบแรกสุดและง่ายที่สุดก็คือ เป็นเพราะมีบางคนบางกลุ่มที่แสดงออกเช่นว่าจริงๆ แต่เนื่องจากการแสดงออกเช่นนี้ยังไม่ขยายไปสู่ความเกลียดชังดังที่ผมกล่าวไปแล้ว คำตอบต่อมาจึงต้องแยกแยะและพิจารณาทำความเข้าใจให้ดี หาไม่แล้วอาจนำไปสู่ความเกลียดชังเอาได้ง่ายๆ คำตอบที่ว่าก็คือ เป็นเพราะการเคลื่อนไหวครั้งนี้มีประเด็นที่ชัดเจนกว่าเมื่อปี 2505 เป็นลำดับดังนี้

หนึ่ง ฝ่ายไทยยอมรับว่าพระวิหารเป็นของกัมพูชาตามคำตัดสินของศาลโลก แต่ไม่ยอมรับพื้นที่รอบข้างพระวิหารว่าเป็นของกัมพูชาไปด้วย สอง จากข้อแรก ฝ่ายไทยจึงเสนอให้ขึ้นทะเบียนมรดกโลกร่วมกัน อันถือเป็นข้อเสนอที่เป็นไปตามเกณฑ์ที่ทั่วโลกใช้ปฏิบัติกันเมื่อมีปัญหาที่คล้ายหรือเหมือนกันนี้ แต่ข้อเสนอนี้กัมพูชาไม่ยอม (เรื่องนี้เป็นข่าวน้อยมาก) และสาม รัฐบาลของ คุณสมัคร สุนทรเวช ภายใต้การดำเนินการของ คุณนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ ได้เจรจากับกัมพูชาจนตกลงกันได้ว่า พื้นที่ทับซ้อนที่เป็นปัญหาอยู่นั้นเป็นของไทย และตัวพระวิหารเป็นของกัมพูชา (ซึ่งเป็นอยู่แล้วอย่างน้อยก็หลังปี 2505 เรื่อยมา)

จากประเด็นความเคลื่อนไหวที่ลำดับมาอย่างย่อๆ นั้น จะเห็นได้ว่า ภาพบังตาจะอยู่ตรงรอยต่อของข้อสองและสาม ที่ว่าเป็นภาพบังตาก็เพราะ คุณนพดล ได้แถลงต่อชาวไทยมาโดยตลอดว่า ไทยไม่เสียดินแดนแม้แต่ตารางนิ้วเดียว เกี่ยวกับเรื่องนี้ถ้าถามว่า จริงไหม? ก็ต้องตอบว่า จริง! แต่ถ้าถามว่า ตรงตามที่ฝ่ายไทยเสนอก่อนที่จะเกิดรัฐบาล คุณสมัคร หรือไม่ (ข้อสอง)? คำตอบก็คือ ไม่!

ฉะนั้น ภาพบังตาที่ผมว่าจึงมีอยู่หลายภาพด้วยกัน ภาพแรกสุด คือภาพที่จู่ๆ กัมพูชายอมรับให้พื้นที่ทับซ้อนเป็นของไทยอย่างเซื่องๆ (ซึ่งเราไม่ควรลืมด้วยว่า คุณนพดล เคยแถลงว่า กัมพูชาไม่ต้องการให้เรื่องนี้แพร่หลาย เพราะเกรงว่าชาวเขมรจะไม่พอใจ โดยเฉพาะช่วงที่กำลังจะมีการเลือกตั้งในกัมพูชาขณะนี้ด้วย)

แต่ถ้าเรากลับภาพนี้มาดูกันอีกด้านหนึ่ง เราก็จะเห็นเป็นอีกภาพว่า ยังไงๆ กัมพูชาก็ไม่ยอมให้พระวิหารเป็นมรดกโลกร่วมกับไทยเป็นอันขาด ส่วนจะเพราะอะไรนั้นคงมีหลายคำตอบ แต่เท่าที่นึกออกตอนนี้ผมเดาเอาเองว่า อาจเป็นเพราะการบริหารจัดการที่ไทยจะเป็นฝ่ายได้เปรียบ และจะทำให้เป็นฝ่ายที่ได้ประโยชน์มากกว่า

ภาพต่อมา เป็นภาพที่ คุณนพดล ได้ดำเนินการตรงข้ามกับจุดยืนแรกเริ่มของฝ่ายไทยที่ให้พระวิหารมรดกร่วมกันกับกัมพูชา ภาพนี้ทำให้เกิดคำถามว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ คุณนพดล ทำตรงข้ามเช่นนั้น หรือรู้ทั้งรู้ว่า ถึงยังไงจุดยืนนี้จะได้รับการปฏิเสธจากกัมพูชาอยู่ดี ก็ยังมีคำถามถามกลับอีกว่า แล้วทำไม คุณนพดล จึงต้องไปยอมกัมพูชาด้วยเล่า ก็ในเมื่อจุดยืนที่ว่านี้เป็นเกณฑ์มาตรฐานที่ทั่วโลกใช้ปฏิบัติกันเมื่อเกิดความไม่แน่นอนหรือมีปัญหาในเรื่องพื้นที่ที่ตั้งในเชิงภูมิศาสตร์

เรื่องนี้เป็นประเด็นการต่อรองเนื้อๆ ไม่เกี่ยวกับชาตินิยม และถ้ากัมพูชาไม่ยอม ไทยก็คงไม่ยอมให้พระวิหารเป็นมรดกโลกเช่นกัน ฉะนั้น การที่ คุณนพดล ไปยอมกัมพูชาเช่นนี้จึงเท่ากับไทยเป็นฝ่ายเสียเปรียบนั่นเอง จึงเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ถ้าหากภาพนี้จะฉายให้เราเห็นว่า คุณนพดล เองก็ไปยอมรับข้อเสนอของกัมพูชาอย่างเซื่องๆ เช่นกัน

แต่ที่ดูหนักข้อกว่าก็คือ ของกัมพูชานั้นมีเหตุผลทางการเมือง (เลือกตั้ง) แต่ของไทยกลับถูกมองว่าเป็นเพราะมีข้อตกลงเรื่องการลงทุนทางด้านพลังงานในอนาคตของใครบางคน อันเป็นการแลกเปลี่ยนกันอย่างเซื่องๆ เช่นนั้น เรื่องนี้ผมไม่ได้กล่าวหาอย่างลอยๆ เพราะเป็นเรื่องที่เขมรปูดขึ้นมาเอง

เห็นแล้วยังว่า ภาพที่ผมลำดับมานั้นไม่มีประเด็นชาตินิยมที่ตรงไหนเลย เป็นเรื่องของผลประโยชน์แห่งชาติของสองประเทศล้วนๆ และเป็นผลประโยชน์ที่ตั้งอยู่บนหลักเกณฑ์ปฏิบัติระหว่างประเทศ แต่ที่มีการมองไปในประเด็นชาตินิยมนั้นก็เพราะว่า ชาตินิยมนั้นบางครั้งอาจเป็นเรื่องเดียวกับผลประโยชน์แห่งชาติจริงๆ ทั้งที่ผลประโยชน์แห่งชาติไม่จำเป็นเสมอไปที่จะต้องเป็นเรื่องเดียวกับชาตินิยม

และสำหรับผลประโยชน์แห่งชาติเรื่องพระวิหารคราวนี้จะมีผลประโยชน์ส่วนตัวอยู่เบื้องหลังดังที่เขมรปูดขึ้นมาหรือไม่นั้น เวลาคงพิสูจน์ให้เห็นในอีกไม่นาน

ที่แน่ๆ คือ ผลประโยชน์ส่วนตัวที่นำผลประโยชน์แห่งชาติไปแลกนั้น ง่ายที่จะนำไปสู่ประเด็นชาตินิยมเสียยิ่งกว่าเมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศเสียอีก อย่างน้อยคนที่ทำเช่นนั้นก็ต้องถูกประณามอย่างเบาะๆ ในเบื้องต้นว่า “ขายชาติ” อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น แต่กระนั้น ผมก็ยังมองไม่เห็นว่า ชาตินิยมที่ว่านี้จะนำไปสู่ความเกลียดชังคนเขมรได้ยังไงอยู่ดี นอกจากไทยเกลียดไทยด้วยกันเท่านั้น

และถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ต่อให้ คุณนพดล ถูกกดดันให้ลาออก ถูกปลดออก ถูกถอดถอน หรือถูกประณามอย่างสาดเสียเทเสียอย่างไร ก็ไม่ใช่สาระที่ คุณนพดล จะต้องมาใส่ใจอีกต่อไป เพราะ คุณนพดล ได้บรรลุในสิ่งที่กุนซือของระบอบทักษิณเรียกว่า “ชัยชนะอีกก้าวหนึ่งของทุนนิยมโลกาภิวัตน์” ไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งก็ไม่เกี่ยวอะไรกับชาตินิยมอีกเช่นกัน (แหะ...แหะ....)
กำลังโหลดความคิดเห็น