xs
xsm
sm
md
lg

"สภาใหม่"คลองเตยส่อแห้ว กลับ"เกียกกาย"เจอม็อบต้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 11.00 น. วานนี้ (7 ก.ค.) นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฏร นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่ง พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สอง นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา นายนิคม ไวรัชยพานิช รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง น.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธานวุฒิสภาคนที่ สอง และนายวิทยา แก้วภารดัย รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตัวแทนผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ร่วมประชุมเพื่อคัดเลือกสถานที่สร้างรัฐสภาแห่งใหม่ โดยนายสมศักดิ์ กล่าวก่อนเข้าประชุมว่า การประชุมในวันนี้เป็นการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้อทุกฝ่ายมาหารือ เบื้องต้นคาดว่าน่าจะได้ข้อสรุป สถานที่สร้างรัฐสภาแห่งใหม่ได้หลังการประชุมครั้งนี้
นายสมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับความเห็นส่วนตัวหลังจากได้ไปดูสถานที่จริงมาแล้ว มีความเห็นว่าที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ใกล้สถานีแม่น้ำคลองเตย ซึ่งเป็นคลังน้ำมันของบริษัทเชลล์มีความเหมาะสม ส่วนที่ดินของกรมสรรพาวุธทหารบก แม้จะมีความเหมาะสมแต่เมื่อพิจารณาจากทัศนียภาพที่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา มีความสวยงามมากกว่า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการประชุมร่วมกันโดยใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ รองประธานสภาคนที่ 1 ให้สัมภาษณ์ว่า ในเบื้องต้นทุกฝ่ายเห็นว่า พื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย บริเวณคลองเตย เหมาะสมกับการสร้างสภาแห่งใหม่ และคาดว่าในการประชุมครั้งนี้ จะได้ข้อสรุปที่ชัดเจน แต่กลับไม่เป็นไปตามนั้น เนื่องจากติดปัญหาสหภาพการรถไฟ ทำหนังสือทักท้วงมา โดยสหภาพการรถไฟ ขอคิดค่าเช่าระยะเวลา 30 ปี ต่อพื้นที่จำนวน 260 ไร่ ในราคาหลักหมื่นล้านบาท พร้อมกับระบุว่า ที่ดินบริเวณดังกล่าว เตรียมที่จะนำไปก่อสร้างโครงการทางเชื่อมทางรถไฟ กับท่าเรือ ซึ่งทำให้ที่ประชุมขอกลับไปพิจารณาใหม่อีกครั้ง โดยมีการหยิบยกพื้นที่ของกรมขนส่งทางบก ย่านเกียกกาย เขตดุสิต จำนวน 119 ไร่ เข้ามาเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกในการพิจารณา
"ในระหว่างที่เสนอราคามาได้มีการโทรศัพท์ไปสอบถามกับกรมธนารักษ์ ซึ่งกรมธนารักษ์ แจ้งว่าในการซื้อขายที่ดินของการรถไฟ มีราคาอยู่ที่ 3,000 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งก็ต้องสอบถามไปยังการรถไฟว่า ทำไมถึงได้เสนอราคาสูงขนาดนั้น ที่ประชุมจึงได้มอบให้กรมธนารักษ์ไปคุยกับสหภาพ" นายสมศักดิ์กล่าว
นายสมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ตนพร้อมคณะจะลงพื้นที่บริเวณเกียกกาย (7 ก.ค.) เพื่อสำรวจดูที่ดินในบริเวณย่านเกียกกาย ซึ่งราคาที่ดินตรงนั้นเคยมีการเสนอกันที่ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่ง นายกรัฐมนตรีได้รับปากว่า จะช่วยเจรจากับทางฝ่ายทหารให้ และหากทุกฝ่ายพูดคุยกันได้ ก็เชื่อว่าตัวเลขจะสามารถลดลงมาอยู่ในระดับหลักพันล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่กำลังพอเหมาะได้ อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 24 ก.ค.นี้ จะมีการประชุมเพื่อหาข้อสรุปในเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง และหากมีข้อสรุปว่า จะใช้ที่ดินบริเวณย่านเกียกกาย ก็จะต้องมีการเจรจากับโรงเรียนโยธินบูรณะ ที่ตั้งอยู่ในบริเวณนั้น เพื่อขอให้ย้ายสถานที่ไปอยู่ในที่ใกล้เคียงกัน โดยนายกรัฐมนตรี รับปากที่จะช่วยจัดหาสถานที่ที่ใหญ่ว่าเดิม พร้อมกับจัดสร้างอาคารใหม่ให้ด้วย
สำหรับพื้นที่บริเวณคลังแสง อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ยังเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ได้สำรองเอาไว้ ซึ่งความเป็นไปได้นั้น ยังคงให้ความสำคัญกับพื้นที่เกียกกายมากกว่า เนื่องจากมีพื้นที่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา มากกว่าบริเวณคลังแสง รวมถึงสถานที่สำคัญไม่ว่าจะเป็น ทำเนียบรัฐบาล หรือศาล ก็ตั้งอยู่ในกทม. ดังนั้นจึงเห็นควรว่าอาคารรัฐสภา ก็น่าที่จะตั้งอยู่ในกทม. เช่นเดียวกัน
เมื่อถามว่า นายกรัฐมนตรีได้สอบถามในกรณีที่สหภาพการรถไฟทักท้วงมาอย่างไร นายสมศักดิ์ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้ถามกลับว่า นี่ประเทศไทยหรือเปล่า ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้ฝากให้ไปหาคำตอบในเรื่องนี้มาซึ่งคาดว่าจะได้คำตอบก่อนวันที่ 24 ก.ค.นี้ ที่จะมีการหารือในเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง

**ม็อบเกียกกายล้อมกรอบรองปธ.สภา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงบ่าย นายสมศักดิ์ และคณะประกอบด้วย พ.อ.อภิวันท์ และนายนิคม พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ และสื่อมวลชน ได้เดินทางไปดูพื้นที่ ย่านเกียกกาย โรงเรียนขนส่งทหารบก และโรงเรียนกองทัพบกอุปถัมภ์ช่างกล ขส.ทบ. โดยมีพ.อ.พิชัย ผลพันธิน ผอ.กองการศึกษาโรงเรียนขนส่งทหารบก ได้รายงานรายละเอียดพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งเบื้องต้น นายสมศักดิ์ และพ.อ.อภิวันท์ พอใจพื้นที่ดังกล่าว เนื่องจากพื้นที่หน้ากว้างกว่า 400 เมตร ติดแม่น้ำเจ้าพระยา โดยพื้นที่ 119 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ขอองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) 12 ไร่ โรงเรียนโยธินบูรณะ 8 ไร่ ส่วน ขส.ทบ. 58 ไร่ และพื้นที่ของศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ขณะที่ผลกระทบที่จะตามมาคือ นักเรียนจำนวน 3,000 คน ของโรงเรียนกองทัพบกอุปถัมภ์ ฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบุตรหลานข้าราชการ และประชาชนในทั่วไปในชุมชน นอกจากนี้ยังมีชุมชนองค์การทอผ้าที่มีกว่า 100 หลังคาเรือน รวมประมาณ 500 คน ซึ่งปัญหานี้นาย สมศักดิ์ มีความเห็นว่า เจราแก้ปัญหาไม่ยากนัก เพราะได้หาพื้นที่รองรับคือบริเวณวัดสลัก อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ประมาณ 200 กว่าไร่ แต่เมื่อรับการชี้แจงจาก พล.ท. ชัชวาลย์ อัคนิทัต รอง ผอ.สำนักการบริหาร กรมราชองครักษ์ว่า พื้นที่บริเวณเกียกกาย บางส่วน เป็นของกรมราชองครักษ์ ได้แบ่งพื้นที่มาจาก กทม. กำลังมีการก่อสร้างอาคารที่พักของข้าราชการ องครักษ์ และสนช. เคยมาดูแล้วแต่ก็ปฏิเสธไป
ด้านอุบล ม่วงทิม ประธานชุมชนองค์การทอผ้า ได้ชี้แจงว่า มีชาวบ้านกว่า 500 คนอาศัยนี้การที่จะตัดสินใจอะไรต้องไปถามชาวบ้านก่อน และขณะนี้กำลังมีการก่อสร้างโครงการบ้านมั่นคง 2 ชั้น และปรับปรุงสาธารณูปโภคใหม่ทั้งหมด ถ้าจะเอาจริง ก็ต้องมานั่งคุยกัน ไม่ใช่สั่งการด้วยปาก นอกจากนี้พื้นที่ดังกล่าวเคยเป็นที่เก็บวัสดุ และสิ่งของที่นายสมัคร สุนทรเวช จะนำไปแจกจ่ายประชาชน เมื่อสมัยเป็น ส.ส.ดุสิต ซึ่งนายกฯ ก็รู้ดีว่าที่ตรงนี้จะทำได้หรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังดูพื้นที่เสร็จแล้ว กำลังเดินทางกลับ ปรากฏว่า ชาวบ้านจากชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้าประมาณ 50 คน ได้กรูเข้ามาล้อมขวางขบวน และล้อมรถตู้ที่นายสมศักดิ์ พ.อ.อภิวันท์ และนายนิคม ที่นั่งมาด้วยกัน พร้อมกับกระชากประตูรถ จนทุกคนต้องลงจากรถตู้ มาเจราทำความเข้าใจกับกลุ่มชาวบ้าน ซึ่งชาวบ้านได้ล้อมกรอบทั้ง 3 คน ไม่ให้ไปไหนได้ ทำให้ พ.อ.อภิวันท์ ต้องชี้แจงว่า ที่มาดูพื้นที่นี้ เพียงมาดูเฉยๆ แต่ชาวบ้านตะโกนกลับมาว่า ไม่ตัดสินก็ดี เพราะขณะนี้หลายครอบครัว กำลังปรับปรุงบ้านใหม่ตามโครงการบ้านมั่นคง ขณะที่นายสมศักดิ์ รีบกล่าวว่า มาดูเท่านั้น หากจะทำอะไรก็ต้องมานั่งคุยกัน ตรงไหนอย่างไร ที่พอใจกันก็เอา แต่ชาวบ้านกลับบอกว่า ต้องการอยู่ที่เดิม อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ดังกล่าวก็คลี่คลายไปด้วยดี หลังจากพูดคุยกันประมาณ 10 นาที ชาวบ้านจึงปล่อยให้คณะเดินทางกลับ

**อย่าหาผลประโยชน์กับรัฐสภาใหม่
ด้าน ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการศูนย์ข้อมูล วิจัย และประเมินค่าอสังหาฯ บริษัท เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จำกัด (AREA) กล่าวว่า ประเทศไทยมีการคิดจะย้ายรัฐสภามาหลายครั้งแล้ว บ้างก็เสนอพื้นที่ราชการทหารแถวเกียกกาย เขตดุสิต บ้างก็เสนอไปไกลถึงเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ หรือแม้แต่ภาคเอกชน ก็เสนอตัวมากมาย ทั้งแถวเมืองทองธานี (กลุ่มบางกอกแลนด์ฯ) วิภาวดีรังสิต ซึ่งมีที่ดินบางนา-ตราด (ของกลุ่มกฤษดามหานคร) และที่อื่นๆ ดังนั้น ลองมาพิจารณาทำเลเหล่านี้ เพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจ ดังนี้
บริเวณที่ 1 ที่ดินกรมทหาร เขตดุสิต ซึ่งมีพื้นที่กว้างขวางหลายพันไร่ ทางราชการก็เคยศึกษาให้ก่อสร้างรัฐสภาแถวนี้ อันที่จริงพื้นที่เขตทหาร ควรย้ายออกไปนอกเมืองเช่นประเทศอื่น แล้วจัดหาที่ตั้งใหม่และที่อยู่ใหม่ให้สมเกียรติ นำที่ดินใจกลางเมืองเหล่านี้มาพัฒนาให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติยิ่งขึ้น
บริเวณที่ 2 พื้นที่กรมทหารจากช่อง 5 ฝั่งพหลโยธินถึงสโมสรกองทัพบกฝั่งวิภาวดีฯ พื้นที่นี้ มีขนาดเกือบ 1,000 ไร่ ถ้าเอารถไฟฟ้าเลี้ยวเข้ามาเป็นแบบรางเบา เช่นในสิงคโปร์ และเอาทางด่วนเลี้ยวเข้ามา จะสมบูรณ์แบบมาก สามารถกลายเป็นศูนย์ราชการ หรือศูนย์ธุรกิจแห่งใหม่ได้ ถ้าไม่เอารัฐสภามาตั้งที่นี่ จะสามารถวางตึกธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ได้ถึง 70-80 ตึก เลยทีเดียว
บริเวณที่ 3 พื้นที่กรมทหาร ถ.โยธี พญาไท ซึ่งเป็นที่ดินขนาดใหญ่ ใจกลางเมือง มีทั้งทางด่วน และรถไฟฟ้าผ่านเช่นกัน อีกทั้งอยู่ใกล้อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ที่สร้างขึ้นเพื่อเทอดทูนวีรบุรุษชาติอีกต่างหาก
บริเวณที่ 4 และ 5 สนามม้าทั้งสองแห่งในกรุงเทพฯ ข้อนี้อาจได้รับการสนับสนุนจาก"ผู้มีศีลธรรม" ทั้งหลายมากเป็นพิเศษ ดังนั้น จึงควรจะจัดหาพื้นที่ทำสนามม้าเสียใหม่นอกเมือง แล้วยกที่ดินบางส่วนมาสร้างรัฐสภา อันเป็นสถาบันสำคัญของประเทศ
บริเวณที่ 6 โรงซ่อมรถไฟ บึงมักกะสันของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ซึ่งมีทั้งทางด่วนและรถไฟฟ้าผ่านเช่นกัน ซึ่งสามารถโดยสารโดยรถไฟฟ้าได้
บริเวณที่ 7 โรงงานยาสูบ ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นส่วนขยายของศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ อีกส่วนหนึ่งก็ควรนำมาทำเป็นรัฐสภา น่าจะประสานกันได้ด้วยดี ทั้งยังมีสาธารณูปโภคครบครัน
บริเวณที่ 8-9-10-11 เป็นพื้นที่ริมแม่น้ำให้ดูมีความเป็นไทย ๆ ได้แก่ ที่ดินคลังน้ำมันคาลเท็กซ์ ถ.พระราม 3 ที่ดินการรถไฟฯ ถ.เชื้อเพลิง ท่าเรือคลองเตย ที่อาจจะย้ายไปแหลมฉะบัง หรือที่ตั้งขององค์การแบตเตอรี่ ผนวกกับองค์การแก้วเดิม
และบริเวณที่ 12 บ้านพักทูตถนนวิทยุ ซึ่งทางราชการให้เช่ากับทูตต่างประเทศมานานแล้วในราคาถูก พื้นที่เช่นนี้ควรนำมาใช้ประโยชน์เพื่อประเทศชาติโดยรวมได้เป็นอย่างดี
" อย่าลืมว่า รัฐสภาคือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และทรงเกียรติของชาติและประชาชน ประเด็นที่เราอาจจะพบเห็น คือ ข้าราชการการเมืองหรือข้าราชการประจำบางคนที่โกงกินชาติบ้านเมืองนั้น ถือเป็นเพียงส่วนน้อย แต่อย่าได้นำมาทำให้รัฐสภาของปวงชนต้องแปดเปื้อนจนไม่ใส่ใจหาที่ลงให้สำเร็จ เราต้องหาที่ตั้งรัฐสภาที่ดี เพื่อศักดิ์ศรีของชาติ และจะได้เป็นมงคลต่อชีวิตของผู้เกี่ยวข้องด้วย" ดร.โสภณกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น