xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจการเงินยุคใหม่:ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของจีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศหนึ่งมีทั้งความหมายเชิงคุณภาพและปริมาณ โดยความหมายเชิงคุณภาพเป็นเรื่องของความเชื่อมั่นที่สังคมทั้งในและนอกประเทศมีต่อประเทศนั้น ส่วนในเชิงปริมาณก็สามารถพิจารณาได้จากตัวแปรทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ซึ่งบ่งชี้ว่าผลประโยชน์ของประเทศไม่ได้อยู่ใต้การคุกคามจากปัจจัยภายในประเทศและจากต่างประเทศ และเศรษฐกิจของประเทศต้องมีเสถียรภาพ พร้อมๆ กับสามารถรักษาการเติบโตได้อย่างสมดุลและยั่งยืนในระยะยาว

การที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจได้นั้นจำเป็นต้องบรรลุเงื่อนไขหลายประการ เช่น การมีอธิปไตยทางเศรษฐกิจ (ซึ่งมีความหมายมากกว่าการมีอำนาจปกครองเหนือดินแดนของประเทศ แต่หมายถึงคือการมีอิสระในการดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจภายในปประเทศตนได้) อีกทั้งยังต้องมีการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในระดับเหมาะสม มีระดับผลผลิตที่มีเสถียรภาพและพอเพียงกับระดับความต้องการ รวมทั้งมีระบบตลาดที่มีประสิทธิภาพซึ่งสามารถเป็นหลักประกันในการพัฒนาประเทศได้ นอกจากนี้ยังต้องสามารถควบคุมความขัดแย้งภายในได้อย่างดี และมีสภาพการณ์ทางการเมืองที่มั่นคง และประการสำคัญคือต้องมีการสร้างสมรากฐานทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง (ซึ่งหมายรวมถึงทุนทางกายภาพ ทุนทางการเงิน ทุนมนุษย์ และทุนทางสังคม)

เรามักพบว่าประเทศที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจจะสามารถรักษาสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานของตน พร้อม ๆ กับการมีโครงสร้างเศรษฐกิจที่สอดประสานกันในภาพรวม และภาคอุตสาหกรรมที่เป็นหัวใจสำคัญของประเทศยังรักษาความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกได้ ตลอดจนกระบวนการที่ใช้ในการพัฒนาประเทศนั้นสามารถรองรับผลกระทบจากการผันผวนของเศรษฐกิจภายนอกได้เป็นอย่างดี ดังนั้น ความมั่นคงทางเศรษฐกิจจะต้องมีองค์ประกอบที่หลากหลายและสอดประสานกันได้ดีทีเดียว

กรณีของประเทศจีนในช่วงที่ผ่านมาเมื่อดูจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ น้อยคนจะกังขาในประเด็นความมั่นคงทางเศรษฐกิจของจีน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความมีอิสระในการใช้นโยบายเศรษฐกิจมหภาคภายในประเทศ (จีนดำเนินการด้วยความเด็ดเดี่ยวเสมอ เรื่องในประเทศใครมาแทรกแซงไม่ได้) ความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการจีน หรือความแข็งแกร่งของธุรกิจขนาดย่อม ทั้งสามมิตินี้นับว่ามีส่วนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจจีนความมั่นคงเมื่อเทียบกับหลายประเทศในเอเซีย ปัจจุบันการตัดสินใจกำหนดนโยบายระดับมหภาคตลอดจนการเสนอร่างกฎหมาย กลับได้รับอิทธิพลจากกลุ่มผลประโยชน์โดยเฉพาะจากนอกประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งแน่นอนจะต้องส่งผลถึงแนวทางการปฏิรูปเศรษฐกิจและการเปิดประเทศจีน สิ่งนี้อาจเป็นตัวบั่นทอนการใช้อำนาจอย่างอิสระของภาครัฐเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม

เมื่อสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนได้รับการพัฒนาขึ้น ความต้องการใช้ทรัพยากรทุกประเภทย่อยต้องมีสูงขึ้นตาม โดยเฉพาะ อาหารการกิน น้ำมัน เงินทุน และทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ แต่เนื่องจากจีนมีขนาดของประชากรจำนวนมากทำให้การใช้ทรัพยากรต่อหัวมีค่าต่ำว่าค่าเฉลี่ยของโลก อย่างไรก็ดีในอนาคตอันใกล้ประเทศจีนอาจต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรและการกระจายทรัพยากรอย่างไม่เป็นธรรม หรืออีกนัยหนึ่งคือการรักษาสมดุลระหว่างผลผลิตของประเทศและความต้องการใช้ที่เพิ่มทวีขึ้นทุกวันตามการพัฒนาที่รวดเร็วและขนาดประชากร

เป็นที่ยอมรับกันว่าความแข็งแกร่งของตลาดการเงินเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศเข้มแข็ง อย่างไรก็ดี ระบบการเงินของจีนยังไม่สามารถเรียกได้ว่ามีการเปิดและแข่งขันกันอย่างเสรี ตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้ยังอยู่ในระยะแรกของการพัฒนาและอาจไม่สามารถรองรับความผันผวนของกระแสการเคลื่อนย้ายทุนระหว่างประเทศ

ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่น่ากังวลว่าระบบการเงินของประเทศจีนจะแข็งแกร่งพอหรือไม่ นอกจากนี้ตลาดทุนของจีนก็ไม่มีลักษณะแข่งขันโดยเสรี แต่มีสภาพของการผูกขาดอยู่ไม่น้อย ดังนั้นจึงทำให้ส่วนแบ่งผลตอบแทนจากทุนที่ตกสู่ผู้ประกอบการจีนมีไม่มากเท่าทีควร สำหรับผู้ประกอบการสิ่งสำคัญคือความสามารถในการแข่งขันและการมีส่วนแบ่งในกระบวนผลิตของโลก ถึงแม้รัฐบาลจีนจะเร่งพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่ปัจจุบันผู้ประกอบการก็ยังคงพึ่งพาเทคโนโลยีรวมทั้งการพึ่งพาช่องทางการจำหน่ายจากบริษัทต่างชาติอยู่ไม่น้อย (ผ่านทางระบบทรัพย์สินทางปัญญา) หน่วยธุรกิจจีนจำนวนมากเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิตของบริษัทข้ามชาติและห่วงโซ่อุปทานของโลก ซึ่งแน่นอนถูกกำหนดทิศทางและส่วนบางโดยประเทศอุตสาหกรรม จึงอดสงสัยไม่ได้ว่าว่า หากสิ้นแรงงานราคาถูกและรัฐเลิกให้การอุดหนุนผู้ประกอบการทั้งทางตรงและทางอ้อมแล้ว ความสามารถในการแข่งขันที่แท้จริงของจีนจะอยู่ในระดับใด

การที่สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมโลกนับวันจะซับซ้อนมากยิ่งขึ้น จึงเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่งสำหรับรัฐบาลจีนในการรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจต่อไปให้ได้ และหลายประเทศกำลังจับตาดูการปรับกระบวนทัศน์ของจีนซึ่งถือเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสี่ของโลกอยู่ในขณะนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น