xs
xsm
sm
md
lg

การอภิปรายของฝ่ายค้าน : การลงดาบสอง

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ในยุคโบราณที่มีการประหารชีวิตนักโทษผู้กระทำความผิดร้ายแรงด้วยการใช้ดาบฟันคอ เพชฌฆาตผู้มีหน้าที่ในการประหารจะใช้ดาบแรกฟันคอด้านหลัง และดาบสองตวัดขึ้นจากด้านหน้า ในกรณีที่การฟันครั้งแรกคอไม่ขาดและห้อยลงโดยมีเนื้อหนังเหนี่ยวไว้

โดยนัยแห่งคำว่า ดาบสอง ก็คือ การฟันเพื่อให้ศีรษะหลุดออกจากตัว และในการประหารชีวิตด้วยการใช้ดาบฟันคอนี้ นักโทษส่วนใหญ่จะตายสนิทด้วยการฟันเพียงสองครั้งหรือพูดง่ายๆ ก็คือด้วยดาบสองนี้เอง

ในทำนองเดียวกับที่ฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจนายสมัคร สุนทรเวช และรัฐมนตรีอีก 7 คนเป็นรายบุคคลในข้อหาบกพร่องต่อการปฏิบัติหน้าที่ ก็เปรียบได้ด้วยการลงดาบสองของเพชฌฆาตที่ทำการประหารชีวิตนักโทษ ทั้งนี้ด้วยเหตุปัจจัยในการเปรียบเทียบดังต่อไปนี้

ก่อนที่ฝ่ายค้านจะทำการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีอีก 7 คนนั้น ทางกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ชุมนุมกันต่อต้านรัฐบาลในแง่มุมและประเด็นต่างๆ ที่เห็นว่ารัฐบาลชุดนี้ทำไม่ถูกไม่ควร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมุ่งแก้รัฐธรรมนูญเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลกลุ่มอำนาจเก่าให้พ้นผิดจากคดีความที่ คตส.กำลังดำเนินการสอบสวน และทำการฟ้องร้องต่อศาล รวมไปถึงคดียุบพรรคที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต

และในประเด็นนี้รัฐบาลบกพร่อง และผิดพลาดในการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งจะนำไปสู่ความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประเทศชาติและสังคมโดยรวม เช่น ความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาปากท้อง ปัญหาความมั่นคงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และที่สำคัญที่สุดก็คือ กรณีการไปตกลงกับเขมรในเรื่องประสาทพระวิหาร ซึ่งรัฐบาลไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2505 เป็นต้นมา จนถึงยุคนี้ได้คัดค้าน และไม่ยอมรับข้อเรียกร้องของประเทศเขมร โดยการคัดค้านคำตัดสินของศาลโลก จนเป็นเหตุให้เขมรยื่นขอขึ้นทะเบียนประสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่เพียงผู้เดียวไม่ได้ ทั้งๆ ที่ได้พยายามตลอดมา

แต่วันนี้ ครม.ในยุคที่นายนพดล ปัทมะ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ยอมรับแผนที่ที่เขมรเสนอมา ซึ่งเท่ากับยอมให้เขมรสามารถยื่นขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกได้แต่เพียงผู้เดียว แทนที่จะยื่นร่วมกับประเทศไทยเป็นผู้ครอบครองมรดกร่วมกัน เฉกเช่นที่หลายๆ ประเทศเคยทำมาแล้วในกรณีโบราณสถานอยู่ในพื้นที่ทับซ้อน และไม่สามารถแบ่งแยกได้อย่างชัดเจนว่าอยู่ในเขตแดนของประเทศใดประเทศหนึ่งอย่างชัดเจนปราศจากข้อโต้แย้งทางภูมิศาสตร์ และสามารถใช้เป็นเครื่องแบ่งเขตแดนได้โดยมีทั้ง 2 ประเทศยอมรับ

เกี่ยวกับปราสาทพระวิหาร พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นประเด็น และชี้นำให้เห็นถึงความไม่เหมาะไม่ควรในการที่รัฐบาลรีบร้อนลงนามในบันทึกร่วมกับเขมร โดยมีเจ้าหน้าที่ยูเอ็นร่วมลงนามด้วยว่าน่าจะมีเลศนัย และเลศนัยที่ว่านี้น่าจะเกี่ยวข้องกับการเข้าไปหาช่องทางทำธุรกิจพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลอ่าวไทยระหว่างเขมรกับไทย รวมไปถึงการขอเช่าเกาะ 99 ปีของนายทุนพรรคการเมืองที่ใครต่อใครบอกว่าเป็นผู้บงการอยู่เบื้องหลังรัฐบาลชุดนี้

ทั้งหมดที่ว่ามานี้ถือได้ว่าเป็นดาบแรกที่พันธมิตรฯ ฟาดฟันรัฐบาลชุดนี้ โดยเน้นไปที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นสำคัญ และลากโยงไปถึงตัวนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้นำรัฐบาลที่ออกมาปกป้องการกระทำของ รมว.การต่างประเทศ และยังแถมออกมาพูดจาด้วยโวหารที่คนไทยฟังแล้วน้ำตาซึมรอบสอง หลังจากที่เคยซึมมาแล้วเมื่อเดือนมิถุนายน 2505 ในทันทีที่ได้ข่าวว่าศาลโลกตัดสินให้ตัวปราสาทพระวิหารเป็นของประเทศเขมร แต่ดูเหมือนยังโชคดีที่พื้นที่อันเป็นทางขึ้นไปสู่ตัวปราสาทอยู่ในพื้นที่เขตไทย จึงทำให้เขมรผู้เป็นเจ้าของปราสาทไม่สามารถขึ้นสู่ปราสาทได้ถ้าไม่ผ่านดินแดนของประเทศไทย และนี่เองคืออุปสรรคที่ทำให้การยื่นขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของฝ่ายเขมรไม่สามารถกระทำได้โดยลำพังปราศจากการยินยอมร่วมของประเทศไทย

ดังนั้น การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นำเสนอให้ ครม.ยอมรับแผนที่หรือจะเรียกว่า แผนผัง ตามที่ ครม.แก้ไขภายหลังจากที่มีผู้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่าทำให้ประเทศไทยเสียดินแดนส่วนหนึ่งให้เขมรไปตามที่กำหนดไว้ในแผนที่ดังกล่าว จึงถือได้ว่าเป็นการตัดสินใจที่ขัดแย้งกับนโยบายของรัฐบาลในอดีต ที่ไม่เห็นด้วยกับการยอมรับอำนาจอธิปไตยของเขมรหรือดินแดนส่วนนี้ โดยไม่มีทางแก้ตัวแก้ต่างเป็นอย่างอื่นได้

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำพรรคฝ่ายค้านได้นำเอกสารมาเป็นหลักฐานหักล้าง ทั้งข้ออ้างของนายนพดล และคำพูดของผู้นำรัฐบาลได้ชนิดที่พูดได้ว่าขาวเป็นดำ และดำเป็นขาวเลยทีเดียว และประเด็นชัดแจ้งอย่างเป็นรูปธรรมที่ใครต่อใครฟังแล้วก็เข้าใจได้ทันที ก็คือ

1. คำพูดของนายสมัคร สุนทรเวช ที่ว่าประสาทพระวิหารเป็นของเขมรมาแล้ว 46 ปี และเขมรสามารถนำไปยื่นขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยไม่ทำให้ประเทศไทยเสียดินแดนนั้น ผู้นำพรรคฝ่ายค้านได้แสดงหลักฐานการคัดค้านไม่ยอมที่เขมรมีอำนาจ และอธิปไตยเหนือดินแดนในส่วนนี้มาตลอด เริ่มด้วยมติ ครม.เมื่อ พ.ศ. 2505 และจากหลักฐานเอกสารที่ปรากฏตามที่ผู้นำฝ่ายค้านเสนอ เห็นได้ชัดว่าดินแดนส่วนนี้ยังเป็นพื้นที่พิพาทและเป็นข้อขัดแย้งตลอดมา จึงพูดไม่ได้ว่าเป็นการเสียดินแดนแล้วโดยสิ้นเชิง เพราะถ้าวันหนึ่งข้างหน้าประเทศไทยได้หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาต่อสู้เพื่อให้ศาลโลกมีการทบทวน ก็ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าเราจะไม่มีโอกาสได้คืน

อีกประการหนึ่ง ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้ปราสาทพระวิหารคืนมาเป็นของเรา แต่ถ้าข้อโต้แย้งในส่วนพื้นที่ทับซ้อนและมีการแบ่งดินแดนอย่างชัดเจนในส่วนบริเวณปราสาทก็จะปรากฏชัดว่าเป็นของประเทศไทย และถ้าเขมรต้องการยื่นขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ทางเดียวที่จะทำได้ก็คือยื่นเสนอขอร่วมกัน ถ้าเป็นเช่นนี้ประเทศไทยและคนไทยก็พอจะรับได้

แต่เวลานี้รัฐบาลภายใต้การนำของนายสมัคร สุนทรเวช กำลังจะทำให้โอกาสที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าของร่วมในการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกหมดไป โดยไปลงนามยอมรับให้เขมรยื่นขอขึ้นทะเบียนแต่ฝ่ายเดียวได้

2. ประเด็นที่นายนพดล ปัทมะ บอกว่าข้อตกลงที่กระทำกับเขมรไม่ถือว่าเป็นสนธิสัญญาจึงไม่ต้องนำเสนอสภาฯ เพื่อพิจารณารับรองตามที่กฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนดนั้น ดูเหมือนจะถูกหักล้างด้วยการอ้างอนุสัญญาเวียนนาที่ว่า ข้อตกลงที่ผู้มีอำนาจรัฐกระทำเป็นลายลักษณ์อักษรถือว่าเป็นสนธิสัญญา และถ้าการอ้างของฝ่ายค้านถูกต้องและเป็นไปตามเนื้อหาสาระทางกฎหมายแล้ว ผู้ที่ตกลงกับเขมรโดยไม่นำเสนอสภาฯ ก็จะเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ และเมื่อถึงเวลานั้น กระบวนการถอดถอนรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีในข้อหากระทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญก็จะเกิดขึ้น นี่คือดาบสองที่ฝ่ายค้านประหารรัฐมนตรีต่อจากดาบแรกที่พันธมิตรฯ ลงมือฟันไปก่อนหน้านี้แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น