xs
xsm
sm
md
lg

“น้ำมันม่วง” ถึงประมงสงขลาเดือนหน้า โอดลด 2 บาทยังขาดทุน-เล็งติดเอ็นจีวี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ –น้ำมันม่วง ราคาพิเศษช่วยประมงถึงสงขลาเดือนหน้า ขณะที่เสียงตอบรับจากชาวประมงสงขลากลับไม่คึกคัก จวกรัฐบอกช่วยเหลือแต่ทำได้ไม่จริง เพราะพบว่าราคาน้ำมันเถื่อนจะถูกกว่าน้ำมันม่วงเสียอีก น้อยใจเห็นรัฐบาลเสือเหลืองช่วยหนุนเป็น 10 บาท/ลิตร ชี้แม้หลังประท้วงใหญ่ของกลุ่มประมงเมืองคอนผ่านไปแต่สถานการณ์ก็ไม่ดีขึ้น ด้านเรือประมงเล็ก 450 คันเล็งปรับเครื่องยนต์ติดเอ็นจีวีแทนพลังงานเชื้อเพลิง ส่วนเจ้าของเรือประมงสลัดเสือนอนกิน ใช้วิธีประมูลสัตว์น้ำแก้ปัญหาถูกพ่อค้ากดราคาซ้ำเติมอาชีพให้ตกยาก

ภายหลังจากที่สถานการณ์ผู้ประกอบกิจการประมงใน 17 จังหวัดชายทะเล โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ตึงเครียดจากความเดือดร้อนด้านราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นต้นทุนหลักของการประกอบอาชีพ และนำไปสู่การชุมนุมประท้วงเผาเรือในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช โดยสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยได้เรียกร้องให้นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้ามาช่วยเหลือราคาน้ำมันดีเซลราคาถูกให้แก่กลุ่มประมง และนำไปสู่การช่วยเหลือความเดือดร้อนในระยะสั้น โดยอนุมัติให้องค์การสะพานปลา (อ.ส.ป.) เปิดให้บริการปั๊มน้ำมันม่วงบริเวณชายฝั่ง เพื่อช่วยเหลือเรือประมงชายฝั่ง โดยรัฐบาลจะชดเชยค่าน้ำมันในอัตราลิตรละ 2 บาท เฉลี่ยเดือนละ 15 ล้านลิตรเป็นเวลา 6 เดือนนั้น

นายไสว เจยาคม รองนายกสมาคมประมง จ.สงขลา และประธานสหกรณ์ประมงสงขลา จำกัด เปิดเผยว่า ขณะนี้หนังสือแจ้งการช่วยเหลือลดราคาน้ำมันม่วงให้แก่ชาวประมงเรือเล็กไปแล้วลิตรละ 2 บาท (น้ำมันดีเซลหมุนเร็วขายต่ำกว่าราคาบนบกลิตรละ 2 บาท) ได้ส่งมาถึงแล้ว โดยองค์การสะพานปลาสงขลาสอบถามผู้ประกอบการว่าจะซื้อไหม และให้แจ้งความจำนงตอบกลับโดยจะส่งน้ำมันม่วงมาจำหน่ายในพื้นที่ในเดือนกรกฎาคม

ทั้งนี้ สมาชิกส่วนใหญ่ยังเห็นว่า การช่วยเหลือดังกล่าว ไม่เท่าทันกับความเดือดร้อนของต้นทุนประมง 60% ขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันสูงขึ้นไปมาก ตราบใดที่ราคาน้ำมันดีเซลบนฝั่งแตะ 40 บาท/ลิตร การออกเรือทำประมงก็ไม่คุ้มกับการลงทุน มีเพียงการออกเรือนานๆ ครั้ง เพื่อหาเลี้ยงครอบครัวและลูกน้องบ้างเป็นครั้งคราวเท่านั้น

“มีหนังสือแจ้งมาว่าเดือนหน้าจะส่งน้ำมันม่วงมาจำหน่ายในพื้นที่แน่ แต่ราคาลดลงจากหน้าปั๊มบนฝั่งลิตรละ 2 บาท ถ้าราคาน้ำมันนิ่งอยู่ 40 บาท/ลิตร ชาวประมงก็จะซื้อได้ในราคา 38 บาท/ลิตร ส่วนน้ำมันเขียว 34 บาท/ลิตร ต้นทุนก็ยังแพงอยู่ดี ขณะที่มีน้ำมันที่ขนจากกองทัพ 32 บาท แล้วชาวประมงจะเลือกอันไหน รัฐบอกว่าจะช่วยแต่ในทางปฏิบัติแล้ว ยังไม่ทันต่อสถานการณ์ พูดได้ว่าถ้าราคาน้ำมันยังมากกว่า 20 บาท/ลิตร ต่างประเทศ เช่น มาเลเซียเขาให้ความช่วยเหลือเรือประมงขายน้ำมันดีเซลถูกกว่าลิตรละ 20 บาทเสียด้วยซ้ำ การที่รัฐบาลไทยช่วยแค่ 2 บาท แทบจะไม่มีผลอะไรเลย ทุกวันนี้ชาวประมงก็ไม่ต่างกับลูกเลี้ยงของรัฐบาลเลย ” นายไสวกล่าวต่อและว่า

ภายหลังจากที่มีการประท้วงของกลุ่มพี่น้องชาวประมง สถานการณ์ก็ยังไม่ดีขึ้น พี่น้องชาวประมงยังคอยดูการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลอยู่ ขณะที่เรือส่วนใหญ่ยังจอดอยู่เช่นเดิม บางรายออกเรือนานๆ ครั้งแม้ว่าไม่มีกำไรเพื่อไม่ให้จอดเรือทิ้งไว้เฉยๆ ซึ่งมีแต่ค่าดูแลรักษา โดยจะออกเรือในคืนเดือนหงายเพื่อออกเรือประมงเลี้ยงลูกน้อง แต่ละครั้งต้องพยายามจับปลาขายให้ได้ 1.5-1.8 หมื่น เพื่อให้ได้กำไร ขณะที่บางคนก็หาทางออกด้วยการทำอาชีพสำรอง เช่น ขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง งานก่อสร้าง

อย่างไรก็ตาม การปรับตัวของชาวประมงท่ามกลางสถานการณ์น้ำมันแพง ส่วนหนึ่งได้ให้ความสนใจเตรียมใช้พลังงานทดแทนด้วยเอ็นจีวีตามมาตรการลดต้นทุนการผลิตจากน้ำมันเป็นก๊าซเอ็นจีวี และแอลพีจีของกรมประมง ซึ่งจากการสำรวจของสำนักงานกรมประมง จ.สงขลา พบว่า มีชาวประมงแจ้งความจำนงขอปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์เรือมาใช้เอ็นจีวีทดแทนน้ำมันเชื้อเพลิงแล้ว 450 ลำ เพื่อหวังจะลดต้นทุนราคาน้ำมันได้ในระยะยาว เนื่องจากทั้งเอ็นจีวี เป็นเชื้อเพลิงที่ถูกกว่าน้ำมันดีเซลหลายเท่า

สำหรับ เรือที่ประสงค์จะปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ประกอบด้วยเรืออวนลาก เรือครอบปลากะตัก เรืออวนล้อมปลากะตักขนาดเรือยาว 14 เมตร จำนวน 100 ลำ ความยาว 14-18 เมตร จำนวน 100 ลำ เรือขนาดความยาว 18 เมตรขึ้นไปจำนวน 200 ลำ และเรืออวนลอยขนาดเล็กอีก 50 ลำ

ส่วนแผนการรองรับการใช้เอ็นจีวีในกลุ่มอาชีพประมงชายฝั่งนั้น นายพิศ นพรัตน์ ประมงจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า ในอนาคตจะมีการตั้งแท็งเกอร์ก๊าซกลางทะเลเช่นเดียวกับแท็งเกอร์น้ำมันทั่วอ่าวไทยและเขตรอยต่อน่านน้ำสากล เพื่อให้ชาวประมงเติมก๊าซได้โดยไม่ต้องกลับเข้าฝั่ง

ด้านราคาสัตว์น้ำที่ตกต่ำและถูกผูกขาด โดยกลุ่มพ่อค้าคนกลางและโรงงานที่กดราคาที่เกิดขึ้นใน จ.สงขลา และมีการพยายามเรียกร้องให้ปลดล็อกช่วยเหลือชาวประมงอีกทางหนึ่ง แต่ไม่ได้อยู่ในข้อเรียกร้องของสมาคมการประมงประเทศไทย ที่เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ครั้งล่าสุดนั้น ล่าสุดเจ้าของเรือประมงในสงขลาได้เริ่มใช้วิธีการประมูลสัตว์น้ำแล้ว โดยเปิดประมูลราคาสินค้าสัตว์น้ำโรงงาน 4 ชนิด คือ ปลาตาหวาน ปลาแดงใหญ่ ปลาแดงเล็ก และปลาเหรน

ผลจากการเปิดประมูลให้มีการแข่งขันราคาสัตว์น้ำ ตามความต้องการของตลาด ทำให้ราคาสูงขึ้นกว่าการส่งจำหน่ายให้แก่แพปลาซึ่งเป็นพ่อค้าคนกลาง ถึงกิโลกรัมละประมาณ 2 บาท เจ้าของเรือประมงใน จ.สงขลาอีกหลายรายก็เตรียมที่หันมาใช้วิธีประมูลนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งอยู่ระหว่างการปรับวิธีการประมูลให้เป็นระบบมากขึ้นด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น