xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัยแข่งขันต่อยอดออกซิโตซิน พัฒนาผลิตภัณฑ์สารพัดสรรพคุณ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ความอายอาจทำให้การสัมภาษณ์งานธรรมดาๆ หรือแค่การรวมญาติ กลายเป็นภาระสาหัสสำหรับบางคน กระนั้น นักวิจัยมีทางออกสำหรับสถานการณ์อิหลักอิเหลื่อนี้ โดยการนำฮอร์โมนแห่งรักมาปรับแต่งเป็นผลิตภัณฑ์สารพัดสรรพคุณ
นักวิจัยเชื่อว่าออกซิโตซิน ฮอร์โมนธรรมชาติที่มีส่วนช่วยในกระบวนการคลอดบุตร และทำให้แม่-ลูกน้อยผูกพันกัน อาจกลายเป็นยาวิเศษเอาชนะความเขินอาย
การทดลองมากมายพบว่า ออกซิโตซินสามารถลดความกังวลและโรคหวาดกลัวได้ จึงถือเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยและมีความเป็นไปได้ในการเอาชนะปัญหาต่างๆ แทนที่แอลกอฮอล์
ขณะนี้ นักวิจัยในสหรัฐฯ ยุโรป และออสเตรเลียกำลังแข่งขันกันพัฒนาฮอร์โมนชนิดนี้ในเชิงพาณิชย์ เช่น ในรูปของสเปรย์พ่นจมูก โดยเชื่อว่าจะสามารถใช้เป็น ‘ยาวิเศษ’ บำบัดความผิดปกติทางพฤติกรรม เช่น อาการออทิสติก ซึมเศร้า และกังวลได้
“การทดสอบแสดงให้เห็นว่าออกซิโตซินช่วยลดระดับความกังวลของผู้ใช้ นี่เป็นฮอร์โมนที่ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างคน แถมยังปลอดภัย ไม่มีผลข้างเคียง และไม่มีฤทธิ์เสพติด” พอล แซ็ก ศาสตราจารย์สาขาประสาทวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคลมองต์ แกรดูเอตในแคลิฟอร์เนีย ระบุ
แซ็กทดสอบฮอร์โมนนี้กับคนไข้หลายร้อยราย ประสิทธิภาพสำคัญที่พบคือ จำกัดสัญชาตญาณของความสงสัยและการระมัดระวังที่เป็นสาเหตุของความวิตกกังวล
ออกซิโตซินเกิดขึ้นในสมองระหว่างการปฏิสังสรรค์ทางสังคม เป็นฮอร์โมนที่กระตุ้นอารมณ์โรแมนติก ทำให้แม่และทารกน้อยผูกพันกัน และทำให้คนเราเข้าสังคมง่ายขึ้น
ออกซิโตซินจะหลั่งออกมาระหว่างถึงจุดสุดยอด และยังเป็นฮอร์โมนสำคัญที่ช่วยให้มดลูกหดตัวถี่และแรงขึ้นขณะคลอดบุตร
“ฮอร์โมนนี้จะทำให้คุณใส่ใจคนอื่น และมีน้ำใจแก่คนๆ นั้นมากขึ้น ซึ่งหมายถึงการส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ทางสังคม” แซ็กเสริม
นอกจากนั้น เมื่อไม่นานมานี้ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยซูริก สวิตเซอร์แลนด์ยังทำการทดลองและสามารถค้นพบวิธีการบรรเทาอาการที่เกิดจากความเขินอายระดับรุนแรงกับคนไข้ 120 คน ด้วยการให้ฮอร์โมนบำบัดครึ่งชั่วโมงก่อนที่คนไข้จะต้องไปเผชิญสถานการณ์อิลักอิเหลื่อ
สเปรย์ออกซิโตซินยังประสบความสำเร็จในการทดลองของมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ และผู้ป่วยออทิสติกในการศึกษาที่นิวยอร์กที่ได้รับการฉีดฮอร์โมนนี้ มีความสามารถในการแยกแยะอารมณ์ เช่น โกรธ มีความสุข จากน้ำเสียงของบุคคลอื่นได้ดีขึ้นประมาณสองสัปดาห์
ก่อนหน้านี้ ยังมีงานวิจัยอีกหลายฉบับเปิดเผยว่า เด็กออทิสติกมีออกซิโตซินในกระแสเลือดต่ำกว่าปกติ
อย่างไรก็ดี แซ็กตั้งข้อสังเกตว่า ฮอร์โมนนี้ไม่ได้รักษาโรคออทิสซึม แต่ช่วยลดอาการลงเท่านั้น
การศึกษาจากหนูของมหาวิทยาลัยแอตแลนตายังบ่งชี้ว่า ออกซิโตซินทำให้หนูซื่อสัตย์กับคู่ของมันมากขึ้น
นอกจากนั้น ออกซิโตซินยังสามารถนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ในรูปแบบมากมาย เช่น ภัตตาคารอาจฉีดพ่นฮอร์โมนนี้เพื่อสร้างบรรยากาศผ่อนคลายให้แก่ลูกค้า
หรืออาจใช้แทนแก๊สน้ำตา สลายความรู้สึกคุกรุ่นรุนแรงในหมู่ผู้ประท้วง หรือแม้แต่ป้องกันการนอกใจ
การวิจัยของแซ็กก่อนหน้านี้ระบุว่า คนใจบุญสุนทานมีออกซิโตซินในสมองสูงกว่าระดับเฉลี่ย ขณะที่คนใจคอคับแคบมีฮอร์โมนนี้ต่ำกว่าระดับปกติ
วิธีการก็คือ นักวิจัยแยกกลุ่มตัวอย่างออกเป็นสองกลุ่มๆ หนึ่งให้ออกซิโตซิน อีกกลุ่มให้ยาปลอม ผลปรากฏว่ากลุ่มแรกบริจาคเงินที่ได้รับมากกว่ากลุ่มที่สองถึง 80%
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสรรพคุณมากมาย นักวิจัยบางคนเตือนว่าอาจมีผู้ไม่ประสงค์ดีนำออกซิโตซินไปใช้เป็นยาลักหลับ เนื่องจากฮอร์โมนนี้กระตุ้นทั้งความไว้ใจและความต้องการทางเพศ
กำลังโหลดความคิดเห็น