xs
xsm
sm
md
lg

ต้อนรับปีใหม่เปิดใจรับความสุข รู้อยู่รู้เป็น..ร่างกายฟิตจิตสดใส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อินดิเพนเดนต์ - การหัวเราะดีต่อหัวใจ ในทางกลับกันความขุ่นเคืองทำให้ความดันพุ่ง และปฏิกิริยานี้อาจคงยืนนานกว่าที่คิดกัน

งานวิจัยที่ตีพิมพ์อยู่ในวารสารอินเตอร์เนชันแนล เจอร์นัล ออฟ ไซโคฟิสิโอโลจี ระบุว่า ภายในหนึ่งสัปดาห์หลังจากที่คุณขุ่นเคือง คุณอาจมานั่งทบทวนถึงการโต้เถียงอันเป็นสาเหตุของอารมณ์นั้น ส่งผลให้ความดันโลหิตพุ่งขึ้นอีกครั้ง เพราะฉะนั้น คำแนะนำก็คือ ถ้าแม้นบังเอิญไปทะเลาะกับใครหรือว่ามีคนขัดใจ ทางที่ดีที่สุดควรลืมเรื่องนั้นให้สนิท

การทะเลาะกับคนรักแค่ครึ่งชั่วโมง อาจชะลอความสามารถในการเยียวยาของร่างกายอย่างน้อย 1 วัน สำหรับคู่ที่โต้เถียงกันเป็นประจำ เวลาในการเยียวยาจะนานขึ้นอีกเท่าตัว

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยรัฐโอไฮโอ สหรัฐฯ ค้นพบเรื่องนี้จากการทดสอบคู่สามี-ภรรยาโดยการใช้อุปกรณ์ขนาดเล็กสะกิดให้เกิดแผลบนแขนของทั้งคู่ จากนั้น จึงขอให้คุยกันเรื่องที่ต่างฝ่ายต่างคิดไปคนละทางซึ่งทำให้อารมณ์คุกรุ่นขึ้นมา ผลปรากฏว่าแผลของทั้งคู่หายช้ากว่าปกติ 40%

นักวิจัยอธิบายว่า ปฏิกิริยานี้เกิดจากไซโตคิน ซึ่งเป็นโมเลกุลของระบบภูมิคุ้มกันที่ทำให้เกิดการอักเสบ ไซโตคินในปริมาณมากและยาวนานเกี่ยวข้องกับโรคข้ออักเสบ เบาหวาน โรคหัวใจ และมะเร็ง
ตกหลุมรัก

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยพาเวียในอิตาลี พบว่าการตกหลุมรักช่วยยกระดับปัจจัยสร้างการเจริญเติบโตของระบบประสาท สารที่คล้ายกับฮอร์โมนชนิดนี้ช่วยฟื้นฟูระบบประสาทและพัฒนาความจำด้วยการกระตุ้นการเติบโตของเซลล์สมองใหม่ และยังเกี่ยวข้องกับความรู้สึกเคลิ้มฝันและปลาบปลื้ม ทำให้ร่างกายและจิตใจสงบสุข

น่าเสียดายที่นักวิจัยยังพบว่า ปฏิกิริยาดังกล่าวจบลงภายในหนึ่งปี พร้อมกับที่ความรู้สึกโรแมนติกจางหายไป และความจริงสอดแทรกเข้ามาแทนที่

เครียดเรื้อรัง

การตกอยู่ภายใต้ความกดดันยาวนานทำให้เกิดความเครียดเรื้อรัง โรเบิร์ต ซาโปลสกี้ ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในแคลิฟอร์เนีย อธิบายว่า ระหว่างการทุ่มเถียง ร่างกายจะปิดโครงการสร้างและซ่อมแซมระยะยาวทั้งหมด การมีฮอร์โมนคอร์ติซอลสูงทำให้ความจำและความแม่นยำบกพร่อง ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เหนื่อยง่าย กลายเป็นโรคซึมเศร้า ความสามารถในการเจริญพันธุ์ถดถอย

ถ้าเครียดเรื้อรังเป็นปี จะมีระดับกลูโคสและกรดไขมันในเลือดสูง เพิ่มความเสี่ยงโรคระบบหัวใจและเบาหวาน

งานวิจัยจากยูนิเวอร์ซิตี้ คอลเลจ ลอนดอนยังพบว่า ความเครียดทำให้ระดับคลอเรสเตอรอลพุ่งขึ้น เพิ่มความเสี่ยงของโรคหัวใจเช่นเดียวกัน
หัวเราะเข้าไว้

นักวิจัยของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียพบว่า การหัวเราะทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย ลดการผลิตฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความเครียด ทำให้ความดันโลหิตลดระดับลง และเพิ่มการดูดซึมออกซิเจนในกระแสเลือด

ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจของศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแมรี่แลนด์ระบุว่า การหัวเราะช่วยลดความเสี่ยงของหัวใจวายได้จริงจากการสะกัดกั้นความเครียดที่ไม่พึงประสงค์ ที่สามารถทำลายเกราะป้องกันหลอดเลือด การหัวเราะยังเผาผลาญไขมัน และทำให้กล้ามเนื้อ 400 ส่วนเคลื่อนไหว

นักวิจัยบางคนประเมินว่า การหัวเราะ 100 ครั้งทำให้ร่างกายได้ออกกำลังเท่ากับการวิ่งบนลู่วิ่งไฟฟ้า 10 นาที หรือขี่จักรยาน 15 นาที

เก็บกดสะกดกลั้น

พูดยากว่าวิธีใดดีที่สุด ระหว่างการระบายความโกรธกับการเก็บกดไว้ เพราะทั้งสองวิธีล้วนมีผลลบ

การศึกษาระยะยาวในมิชิแกน โดยเน้นที่ปฏิกิริยาของคนที่ใช้อารมณ์ในการโต้เถียงความผิดที่ตนเองไม่ได้ทำ ซึ่งพบว่าผู้หญิงที่พยายามสะกดใจระหว่างการเผชิญหน้ามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นสองเท่าที่จะเสียชีวิตจากอาการหัวใจวาย โรคเส้นเลือดในสมอง หรือมะเร็ง

ขณะเดียวกัน การระบายโทสะอาจใช้เวลาแค่ไม่กี่นาที แต่ทำให้อะดรีนาลีนพุ่งพล่าน ความดันโลหิตสูง และหัวใจเต้นแรง เพิ่มความเสี่ยงหัวใจวายและโรคเส้นเลือดสมองถึง 5 เท่าในคนอายุ 50 ปีขึ้นไป

ความใจร้อน ขี้หงุดหงิด และบูดบึ้งส่งผลร้ายต่อสุขภาพเช่นเดียวกัน เพราะเกี่ยวพันกับความวิตกกังวล อารมณ์ขุ่นมัว และความเสี่ยงในการติดเชื้อเนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ

ต่อมน้ำตาแตก

ดร.วิลเลียม เฟรย์ นักชีววิทยาอเมริกัน สรุปว่าการร้องไห้หมายถึงการระบายอารมณ์ที่ขุ่นมัวไม่ผ่องใส จากการเปรียบเทียบน้ำตาของผู้หญิงที่ร้องไห้เพราะอารมณ์พาไป กับผู้หญิงที่ร้องไห้ขณะปอกหอม ซึ่งพบว่าน้ำตาจากอารมณ์มีระดับฮอร์โมนและสารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องกับความเครียดสูง ทั้งยังทำให้ความดันโลหิต และอัตราเต้นของชีพจรลดลง

ดร.เฟรย์สรุปว่า วัตถุประสงค์ของการร้องไห้จากอารมณ์ความรู้สึกคือ เพื่อกำจัดสารเคมีความเครียด ในทางตรงข้าม หากร่างกายยังมีสารเหล่านี้ตกค้างอยู่จากการสะกดกลั้นน้ำตา จะนำไปสู่ความตึงเครียด ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง ความจำและระบบย่อยอาหารบกพร่อง
ลมเพชรหึง

ในบรรดาอารมณ์ต่างๆ ความหึงหวงเป็นความรู้สึกที่ทรงพลังและสร้างความเจ็บปวดที่สุด ซ้ำยังควบคุมยากที่สุดอีกต่างหาก ปกติแล้วผู้ชายจะหึงขึ้นมาเวลาที่สงสัยว่าตัวเองถูกสวมเขา ส่วนผู้หญิงเกิดอารมณ์นี้เมื่อสงสัยว่าแฟนเริ่มปันใจ

ดร.เจน เฟลมมิง แพทย์จากลอนดอน บอกว่าความหึงเป็นอารมณ์ที่ผสมผสานระหว่างความกลัว ความเครียด และความโกรธ และกระตุ้นการตอบสนองด้วยการต่อสู้หรือวิ่งหนีในรูปแบบที่สุดโต่ง ในภาวะอารมณ์นี้ ความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ และระดับอะดรีนาลีนจะพุ่งขึ้น ขณะที่ภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง เกิดความกังวล และอาจนอนไม่หลับ

กอดถ่ายทอดรัก

ดร.ไฮลา คาสส์ ศาสตราจารย์ด้านจิตเวชจากยูซีแอลเอ บอกว่าออกซิโตซิน หรือฮอร์โมนความผูกพันที่ทำให้คนสองคนสัมผัสและโอบกอดกันนั้น กระตุ้นการหลั่งฮอร์โมน DHEA หรือฮอร์โมนชะลอความแก่และต่อต้านความเครียด รวมทั้งกระตุ้นการซ่อมแซมของเซลล์ในร่างกาย ส่วนการสัมผัสแบบอื่นๆ เช่น การนวด ช่วยกระบวนการเยียวยาในร่างกาย

ดร.เมห์เม็ต อ็อกซ์ จากโรงพยาบาลโคลัมเบีย เพรสไบทีเรียนในนิวยอร์ก ใช้การนวดบำบัดผู้ป่วยที่ผ่าตัดและปลูกถ่ายหัวใจ เนื่องจากพบว่าวิธีนี้ทำให้ระยะเวลาในการเยียวยาเร็วขึ้น และลดอาการแทรกซ้อน
อบอุ่นซาบซึ้งใจ

ความรู้สึกขอบคุณไม่ว่าจะกับคู่ครอง ความซาบซึ้งใจในความสำเร็จหรือกระทั่งแค่การมีชีวิตอยู่ ช่วยส่งเสริมภูมิคุ้มกัน ทำให้ความดันโลหิตลดต่ำลง และเร่งกระบวนการเยียวยาในร่างกาย

ดร.โรลลิน แมกเครตี้ จากสถาบันฮาร์ตแมทในสหรัฐฯ ศึกษาความเกี่ยวพันระหว่างอารมณ์กับสุขภาพร่างกาย และพบว่าความรัก ความรู้สึกซาบซึ้งใจและอิ่มเอมล้วนกระตุ้นฮอร์โมนออกซิโตซิน ทำให้ระบบประสาทผ่อนคลาย และส่งเสริมกระบวนการเยียวยาในร่างกาย ทั้งยังทำให้ร่างกายและสมองทำงานอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

อกหักรักคุด

อาการซึมเศร้า มองโลกในแง่ร้าย และเฉื่อยชาไร้ความรู้สึก ล้วนเกี่ยวข้องกับเซโรโทนินและโดพาไมน์ระดับต่ำ โดยฮอร์โมนทั้งสองชนิดเป็นสารสื่อประสาทที่ส่งสัญญาณความรู้สึกดีๆ ในสมอง

ดร.เจน เฟลมมิง อธิบายว่าเซโรโทนินมีบทบาทสำคัญในการควบคุมการรับรู้ถึงความเจ็บปวด และอาจเป็นเหตุผลอธิบายว่า เหตุใด 45% ของผู้ป่วยที่มีอาการซึมเศร้าจึงทุกข์ทรมานกับความเจ็บปวด นอกจากนั้น ความรู้สึกหดหู่ยังเกี่ยวข้องกับการนอนหลับไม่เป็นสุข เหนื่อยล้า และอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
กำลังโหลดความคิดเห็น