xs
xsm
sm
md
lg

แห่ลงชื่อค้านฮุบพระวิหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประชาชนทั่วทุกสารทิศร่วมลงชื่อให้ยูเนโกชะลอการพิจารณา “ปราสาทพระวิหาร” เป็นมรดกโลก บางรายถึงขนาดหลั่งน้ำตา “ดร.เสรี” ร่วมลงนามด้วย เผยขอให้รัฐบาลไทยทำเรื่องที่ไม่ชัดเจนให้กระจ่างก่อนพิจารณาจดทะเบียน “มล.วัลย์วิภา”ระบุเปิดให้ลงชื่อถึงวันนี้เพื่อยื่นในวันศุกร์ ลั่นคำชี้แจงรัฐบาลไม่ชัดเจน แถมตอบโต้คนที่เห็นต่างด้วยอารมณ์ เป็นการปลุกปั่นที่น่ากลัวขอให้ระวังท่าที อดีตปธ.มรดกโลกย้ำถ้าไทยไม่เสนอขึ้นทะเบียนร่วมเสี่ยงเสียดินแดน

วานนี้ (25 มิ.ย.) ที่สถาบันไทยคดีศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ ได้เปิดให้ร่วมลงชื่อขอให้คณะกรรมการมรดกโลกชะลอการพิจารณาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกตามที่กัมพูชาเสนอ ณ บริเวณอาคารอเนกประสงค์ ชั้น 9 และบริเวณลานโพธิ์ โดยมีประชาชนร่วมลงชื่อจำนวนมาก

มล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ นักวิชาการสถาบันไทยคดีศึกษา ม.ธรรมศาสตร์.กล่าวว่า ระบุว่า การตั้งโต๊ะลงนามของไทยคดีศึกษาจะตั้งวันนี้ (26 มิ.ย.) เวลา 18.00 น. เท่านั้น เนื่องจากจะรีบนำรายชื่อทั้งหมดไปยื่นต่อยูเนสโกประจำประเทศไทยในวันศุกร์นี้ (27 มิ.ย.) เวลา 10.00 น. ซึ่งก็ได้ประสานไปยังยูเนสโกไทยแล้ว ทั้งนี้ ทางยูเนสโกไทยจะรับผิดชอบดำเนินการส่งเรื่องไปยังยูเนสโกกลางให้

สำหรับการชี้แจงของฝ่ายรัฐบาลเรื่องปราสาทพระวิหารนั้น ม.ล.วัลย์วิภา กล่าวว่า ยังไม่มีความกระจ่างและยังไม่ได้ตอบคำถามที่ประชาชนกังขา เป็นการพูดจาลักษณะเดิมคือไม่มีความชัดเจน แต่อ้างผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้รู้อื่นๆ มาเป็นเครื่องการันตีแทน ทั้งกรมสนธิสัญญา กระทรวงการต่างประเทศ กรมแผนที่ทหาร กระทรวงกลาโหม ซึ่งในแง่ของนักวิชาการยังถือคำชี้แจงของรัฐบาลไม่เป็นที่น่าพอใจ ขณะที่ฝ่ายค้านทำการบ้านมาอย่างดี เป็นระบบ และเห็นได้ว่าข้อมูลของฝ่ายค้านสอดรับกับที่นักวิชาการได้เสนอเอาไว้

“การที่ฝ่ายรัฐบาลพยายามลุกออกมาโจมตีคนที่มีความเห็นไม่เหมือนตนในเรื่องปราสาทพระวิหาร ในลักษณะสาดเสียเทเสียว่าคลั่งชาติ ปลุกระดม และอาจทำให้สถานทูตไทยถูกเผาได้นั้น ที่ผ่านมานักวิชาการได้ให้ข้อมูลประชาชนด้วยเหตุผลที่เป็นข้อสงสัย และยืนยันว่าให้ความเห็นด้วยความบริสุทธิ์ใจ แต่สิ่งที่รัฐบาลกระทำนั้นคือ ออกมาตอบโต้ด้วยอารมณ์ ทั้งที่สังคมไทยควรได้เข้าถึงข้อมูล การกระทำเช่นนี้รัฐบาลปลุกปั่นมากเกินไป และน่ากลัว รัฐควรได้ครุ่นคิดถึงตรงนี้ด้วย ไม่ควรออกมาชี้แจงในลักษณะดังกล่าว และทุกฝ่ายควรจับมือกันนำมติ ครม.เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.มาวิเคราะห์ว่ามีผลอย่างไร เพื่อจะได้หาทางแก้ปัญหาโดยเร็ว”ม.ล.วัลย์วิภากล่าว

เปิดลงชื่อทำเนียบฯ-จุฬาฯ-นิด้า

ผศ.นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ผู้ประสานงานสมัชชาประชาชนกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จากที่ได้ฟังคำชี้แจงเห็นได้ชัดเจนว่านายสมัครต้องการให้สนับสนุนการจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชา ขณะที่นายนพดลก็เพียงเปลี่ยนจากคำว่าแผนที่เป็นแผนผังเท่านั้น และจนบัดนี้ก็ยังไม่มีใครยืนยันว่า แผนที่ทางทหารที่ได้เห็นกันตรงกับที่ทางประเทศกัมพูชาเสนอมาหรือไม่ แล้วก็ไม่มีใครรู้ว่าเราไปลงนามยอมรับอะไรบ้าง

ทั้งนี้ ผศ.นพ.ตุลย์ ได้นำแบบฟอร์มไปให้ประชาชนที่ชุมนุมร่วมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลได้ร่วมลงนามด้วย รวมถึงที่สภาคณาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้นล่าง ศาลาพระเกี้ยว และที่ห้องพยาบาลอาคารกีฬาในร่ม สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ หรือนิด้า ก็เปิดให้ประชาชนได้ลงนามด้วยเช่นกัน

ปชช.ร่วมลงนามจำนวนมาก

ส่วนบรรยากาศการลงนามนั้น ปรากฏว่า มีประชาชนเดินทางมาลงชื่ออย่างต่อเนื่อง โดย นางภารนี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการอิสระ เครือข่ายผังเมืองเพื่อสังคม ระบุว่า มีโอกาสเข้าไปช่วยงานด้านการวางแผนพัฒนาพื้นที่พัฒนาบริเวณเขาพระวิหารเมื่อประมาณเดือนเม.ย.51 ที่ผ่านมา ทำให้มีโอกาสทำงานร่วมกับนักวิชาการกลุ่มอนุรักษ์ที่ทำงานด้านเขาพระวิหาร ทำให้รู้สึกว่าข้อมูลด้านเขาพระวิหารยังไม่มีความชัดเจนเพียงพอที่จะนำไปขึ้นทะเบียนได้ โดยส่วนตัวเห็นด้วยกับหลักการที่ไทยจะขอยื่นร่วมกับเขมร แต่ต้องยื่นในเวลาที่เหมาะสมเมื่อเกิดความชัดเจนแล้ว

อ.อุฤทธิ์ บุนนาค อ.พิเศษวิชาปัญหาสังคมและอาชญวิทยา ม.มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย หนึ่งในผู้ที่เดินทางมาลงนาม เปิดเผยว่า เป็นหนึ่งในผู้ที่เสียเงิน 1 บาทเป็นค่าทนายกรณีเขาพระวิหารเมื่อ พ.ศ.2505 เป็นเรื่องที่น่าเสียดายมากสำหรับกรณีที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ผู้บริหารบ้านเมืองต้องละเอียดรอบคอบ เพราะหมายถึงประโยชน์ของประเทศชาติ โดยเฉพาะเรื่องที่ดิน ไทยกับเขมรความสัมพันธ์ก็ดี ไม่น่าจะมามีปัญหาอันเกิดจากความไม่รอบคอบของผู้บริหาร

ด้าน อ.บุญจิรา ถึงสุข อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มธ. กล่าวภายหลังลงนามคัดค้านว่า ในฐานะคนไทยที่เคยเดินขบวนสมัย 2505 ด้วยนั้น หากเขาพระวิหารต้องหลุดไปคราวนี้จริงๆ คงต้องบอกว่า ไม่ใช่เพียงแต่เสียใจ แต่มันคือความเสียดาย ที่เราไม่น่าผิดพลาด และหากเป็นเช่นนั้นจริง รัฐบาลเองก็ควรจะเสียใจ เสียดาย ในสิ่งที่รัฐบาลไม่ได้รับฟังเสียงของประชาชนในครั้งนั้น

นางอภิรดี ภูมสิริดล อายุ 51 ปี อาชีพค้าขาย แสดงความคิดเห็นว่า เราเป็นคนไทย เราต้องการป้องกันสิทธิของชาติไทย ไม่อยากให้ตกไปเป็นของประเทศอื่นโดยที่เรายังไม่ได้ทำอะไร

นางเธียรกานดา ศีรหิรัญ อายุ 50 ปี อาชีพแม่บ้าน กล่าวด้วยน้ำตาว่า เสียใจและใจหายมาตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ.2505 กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นแรงผลักดันให้ออกมาลงรายชื่อเพื่อจะได้เป็นส่วนหนึ่งในการทำเพื่อประเทศชาติ ถึงแม้ว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ตัวเองมองว่าอาจจะเป็นแค่เพียงคลื่นกระทบฝั่งก็ตาม

“บรรพบุรุษไทยเราครั้งอดีตต้องแลกแผ่นดินมาด้วยเลือดเนื้อและน้ำตา แต่ปัจจุบันคนไทยเราไม่รักชาติจริงๆ เห็นผลประโยชน์ของตนมากกว่า ครั้งนี้เรามีโอกาสที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการเรียกร้อง จึงออกมาแสดงสิทธิ และทางครอบครัวของพี่เองก็ไม่เห็นด้วยเช่นกัน”

เช่นเดียวกับนางปภัสสร วารายานนท์ ข้าราชการบำนาญ กล่าวว่าเดินทางมาจากจ.ปราจีนบุรีโดยรู้ข่าวจากคลื่นวิทยุ จึงได้ออกมาลงชื่อเพราะต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการเรียกร้อง และต้องการเรียกร้องให้ทางรัฐบาลช่วยสร้างความชัดเจนกับกรณีดังกล่าวด้วย

แพทย์หญิงอดีตแพทย์ศิริราชวัย 74 ปี (ขอสงวนนาม) ที่เดินทางมาลงนามเปิดเผยว่า วันนี้ออกจากบ้านที่จังหวัดชลบุรีตั้งแต่ตี 4 เข้ามากรุงเทพฯ เพื่อลงนามคัดค้านรัฐบาลโดยเฉพาะ พร้อมทั้งแสดงทัศนคติเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวว่า เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่จะต้องรักษาและปกป้องสมบัติชาติ การที่รัฐบาลชุดนี้ทำเช่นนี้ถือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง

“ทนไม่ได้กับรัฐบาลนี้ ทนไม่ได้แทบทุกเรื่องที่รัฐบาลทำ โดยเฉพาะเรื่องเขาพระวิหารเป็นเรื่องที่แย่มาก เราจำเป็นต้องประท้วงต่อไป เพื่อขับไล่รัฐบาลและเอาสมบัติชาติคืนมา”

"ดร.เสรี"ร่วมลงชื่อด้วย

วานนี้ (25 มิ.ย. 51) เวลาประมาณ 16.40 น. ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักพูด นักวิชาการ อาจารย์ และพิธีกรชื่อดัง เดินทางมายังสถาบันไทยคดีศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ เพื่อลงนาม พร้อมกล่าวว่า เมื่อเกิดความไม่ชัดเจน ไม่เข้าใจ และประชาชนยังสับสนอยู่ทั้งเรื่องของพื้นที่ทับซ้อน เรื่องของเขตแดน ที่นักวิชาการหลายคนก็ให้ข้อมูลต่างกันว่าถ้าขึ้นทะเบียนแล้วจะเสียดินแดนไทยไปเท่าไหร่ จึงอยากวอนไปถึงรัฐบาลว่า ขอให้ชะลอการขึ้นทะเบียน 2 ก.ค.นี้

เนื่องจากการชะลอการขึ้นทะเบียนไม่ได้มีอะไรเสียหาย และการขึ้นทะเบียนให้ทัน 2 ก.ค. นี้ก็ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงชนิดที่หากไม่ได้ขึ้นในวันนั้นจะคอขาดบาดตาย ที่สำคัญคือไม่อยากจะให้เกิดเหตุที่ไม่ชัดเจน เพราะหากวันหนึ่งเราพบหลักฐาน พบข้อมูลว่าเป็นของเรา อ้อยเข้าปากช้างไปแล้ว ก็ทำอะไรไม่ได้

"อ.อดุลย์"ชี้ไม่เสนอร่วมเสี่ยงเสียดินแดน

ศ.ดร.อดุลย์ วิเชียรเจริญ อดีตประธานคณะกรรมการมรดกโลกฝ่ายไทย กล่าวถึงการประชุมพิจารณาการขึ้นทะเบียนมรดกโลก ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 2- 7 ก.ค.นี้ ที่เมืองคิวเบก แคนาดา ว่ามีความเป็นได้สูง ปราสาทพระวิหารจะได้รับการขึ้นทะเบียน เนื่องจากเอกสารหลักฐานทุกอย่างเพียงพอจะตัดสินใจได้ เว้นแต่รัฐบาลไทยออกแถลงการณ์ยกเลิกอันเดิมและแจ้งกัมพูชาเพื่อยืนยันจุดยืนว่า ขอขึ้นทะเบียนร่วม

ส่วนทางออกที่จะคัดค้านการขึ้นทะเบียนมรดกโลกนั้น การล่ารายชื่อของ ประชาชนไทยอาจจะมีผลต่อการตัดสินใจของคณะกรรมการมรดกโลกที่มีสมาชิก 21 ประเทศ แต่ถ้าจะให้ดีอาจต้องใช้วิธีการลอบบี้คณะกรรมการมรดกโลก 21 ประเทศ โดยทีมเจรจาของไทยจะต้องทำงานอย่างหนักที่จะเจรจาให้เห็นด้วยกับข้อเสนอไทย ซึ่งเท่าที่ประเมินประเทศที่จะสนับสนุนกัมพูชา คือ ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น ดังนั้น ไทยจะต้องลอบบี้ประเทศอื่น ๆ เช่น นิวซีแลนด์ หรืออีกหลายประเทศเพื่อให้ตัดสินลงมติชะลอเรื่องนี้ไปก่อน

อย่างไรก็ตาม หากวันที่ 2 - 7 ก.ค.คณะกรรมการมรดกโลกตัดสินใจให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนเขาพระวิหาร สิ่งที่จะกระทบไทยตามมาคือ ความยุ่งยากหลังจากนั้น เนื่องจากคำวินิจฉัยจะต้องมีข้อแนะนำให้ฝ่ายกัมพูชาทำแผนจัดการพื้นที่ รวมไปถึงทำเขตอนุรักษ์ เพราะตัวปราสาทอย่างเดียวทำไม่ได้ จะต้องมีตัวดินแดน เอกสาร แผนที่ประกอบด้วย

"การจัดทำเขตอนุรักษ์นั้นจะเป็นเรื่องที่ไทยเสียดินแดน เนื่องจากการประกาศเขตอนุรักษ์จะต้องมีมาตรการทางกฎหมาย การก่อสร้างในเขตพัฒนาตามมา ถ้าไทยขึ้นทะเบียนร่วม เราเป็นเจ้าของพื้นที่ร่วมกันในฐานะดินแดนเรา ก็สามารถออกกฎหมายควบคุมอาคาร ห้ามก่อสร้างหรือ ดำเนินการกิจกรรมที่กระทบตัวปราสาทได้ แต่เมื่อกัมพูชาเป็นเจ้าของ กัมพูชาก็คือผู้กำหนด ซึ่งตอนนั้นจะเห็นชัดเจนว่า การเสียอธิปไตยคืออะไร เพราะดินแดนของเรา จะให้ใครมาสั่งว่าเราควรและไม่ควรทำอะไรเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง" ศ.ดร.อดุลย์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น