xs
xsm
sm
md
lg

รัฐนาวากับประชาวารี

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล

ในที่สุดก็ถึงวันดีเดย์เสียที!

เวลา 13.00น. ของวันศุกร์ที่ 20 มิถุนายน ณ ทำเนียบรัฐบาล พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะย้ายจุดการชุมนุมไปที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ณ เลขที่ 1 ถนนพิษณุโลก เพื่อทำหน้าที่ชนชาวไทย ตามที่มาตรา 70 ของรัฐธรรมนูญ ระบุไว้ว่า บุคคลมีหน้าที่รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งภารกิจดังกล่าวย่อมกินความรวมถึงการขับไล่รัฐบาลหุ่นเชิดของนายสมัคร สุนทรเวช ที่เชิดโดยอาชญากรแผ่นดินที่ชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ด้วย

หลังการประกาศวันเวลาที่แน่นอนเพื่อชุมนุมใหญ่หน้าทำเนียบรัฐบาล โดยแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หลายคนตั้งคำถามขึ้นมาว่า ทางรัฐบาล ทางนายสมัคร-นายเฉลิม จะยอมให้พันธมิตรฯ รวมตัวกันชุมนุมที่หน้าทำเนียบหรือ? เพราะตั้งแต่การเคลื่อนทัพวันแรกของการชุมนุม 25 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ทำเนียบก็เคยเป็นจุดหมายของกลุ่มพันธมิตรฯ มาก่อน แต่สุดท้ายขบวนพันธมิตรฯ ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสกัดให้หยุดอยู่เพียงครึ่งทาง ณ เชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์

คำตอบง่ายๆ สำหรับคำถามนี้ก็คือ “รัฐบาลหยุดประชาชนไม่ได้แน่นอน!”

ทำไมผมถึงกล่าวเช่นนั้น?

ประการแรก พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีลักษณะพิเศษหลายประการ ดังที่ ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช เคยกล่าวไว้ในบทความเรื่อง “การเมืองแบบฉับพลัน” ว่าพันธมิตรฯ เป็นการรวมตัวที่ไม่มีองค์กรถาวร ไม่มีแกนนำเดี่ยว เป็นการเคลื่อนไหวมวลชนที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันทีและเป็นธรรมชาติ เป็นการเคลื่อนไหวที่มีการระดมทุนสนับสนุนอย่างกว้างขวางในระหว่างการชุมนุม ผู้เข้าชุมนุมทำการชุมนุมอย่างสงบ มีความอดทน อดกลั้นสูง มีระเบียบวินัย เป็นต้น [1]

การเคลื่อนไหวในลักษณะดังกล่าวส่งผลให้ผู้มีอำนาจและเจ้าหน้าที่ภาครัฐนั้นปราศจากหนทางที่จะปิดกั้นหรือหยุดยั้งได้อย่างสิ้นเชิง เพราะพื้นเพผู้มาชุมนุมมีความหลากหลายยิ่ง ไม่ว่าจะเป็น เพศ อายุ การแต่งกาย ภูมิลำเนา กลุ่มอาชีพ ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้เจ้าหน้าที่มิอาจแยกแยะกลุ่มผู้ชุมนุมออกจากประชาชนทั่วไปได้เลย เนื่องจากกลุ่มผู้ชุมนุมก็คือประชาชน ประชาชนก็คือกลุ่มผู้ชุมนุม

สิ่งเหล่านี้ทำให้ในการชุมนุมในวันศุกร์ที่จะถึงนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีสิทธิและไม่มีทางปิดกั้นประชาชนที่จะเดินทางมาเข้าร่วมชุมนุม ณ บริเวณรอบทำเนียบรัฐบาลซึ่งถือเป็นที่สาธารณะได้ เพราะนั่นถือเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 ที่คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในการเดินทางของประชาชน รวมถึงมาตรา 63 ที่คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนโดยสงบและปราศจากอาวุธ

ประการที่สอง ปฏิเสธไม่ได้ว่าหัวใจสำคัญของการเคลื่อนไหวและการชุมนุมต่างๆ คือ แหล่งทุน การเคลื่อนไหวต่างๆ ปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องใช้เงินทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวเล็กหรือใหญ่ ดังนั้นวิธีชะงัดที่สุดที่จะหยุดการเคลื่อนไหวต่างๆ ฝ่ายผู้มีอำนาจเหนือกว่าย่อมมุ่งตรงไปยังแหล่งทุน ไม่ว่าจะโดยวิธีการอายัดทรัพย์ การเจรจากับแหล่งทุน หรือใช้การขู่เข็ญ

ทว่า แหล่งทุนที่หล่อเลี้ยงการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ กลับมีขอบข่ายของการระดมทุนในวงกว้างใหญ่ไพศาล มีการระดมทุน ระดมข้าวของเครื่องใช้และอุปกรณ์ต่างๆ จากชาวไทยที่พำนักอยู่ทั้งในประเทศและนอกประเทศ ส่งผลให้การปิดกั้นแหล่งทุนในการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ นั้นมิอาจเป็นไปได้

ประการที่สาม สำคัญที่สุดคือ พันธมิตรฯ ทั้งหมดเคลื่อนไหวด้วยอุดมการณ์อันบริสุทธิ์ ทุกคนเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย ไม่เฉพาะแต่เพียงติดตามสื่อในเครือผู้จัดการหรือเสพติด ASTV อย่างที่ใครๆ กล่าวหา ทุกคนเป็นปัญญาชน เป็นผู้ใช้สติปัญญาในการตัดสินใจ เป็นผู้มีความอดทน กล้าหาญ เด็ดเดี่ยว ด้วยเหตุนี้ จึงถือเป็นเรื่องตลกหากใครจะกล่าว พวกเขาถูกแกนนำพันธมิตรฯ ทั้ง 5 คน ชักจูงหรือให้ข้อมูลผิดๆ ให้มีทัศนคติที่เป็นอริกับรัฐบาล

การออกมากล่าวหาประชาชนผู้ชุมนุมของนายสมัครที่ว่ากลุ่มผู้ชุมนุมเป็น “ที่ซ่องสุมผู้ก่อการร้าย” หรือ ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวหากลุ่มผู้ชุมนุมว่าเป็น “พม่า” นั้น จึงถือเป็นการดูถูกประชาชนอย่างรุนแรง และเป็นทัศนะที่ไม่คู่ควรแก่การเป็นผู้นำประเทศหรืออยู่ในคณะของผู้นำประเทศแต่อย่างใด ด้วยเหตุนี้ ประชาชนย่อมมีความชอบธรรมในการออกมาขับไล่ผู้นำประเทศที่ออกมาสบถ กล่าวหา ใส่ร้ายและดูถูกประชาชนเช่นนี้

โดยส่วนตัวผมแล้ว ในทุกๆ วันที่ผมติดตามการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ ณ สะพานมัฆวานฯ และสถานที่อื่นๆ อันเป็นจุดหมายของยุทธศาสตร์ดาวกระจาย ทำให้ผมอดจินตนาการถึงภาพ “การไหลรวมของสายน้ำจากทุกสารทิศ” มิได้ ซึ่งนั่นก็ทำให้ผมหวนนึกถึงภาษิตจีนโบราณบทหนึ่งที่ว่า

น้ำทำให้เรือลอยขึ้นได้ ก็ย่อมสามารถทำให้เรือจมลงได้เช่นกัน
สุ่ยเหนิงไจ้โจว อี้เหนิงฟู่โจว
水能载舟,亦能覆舟

ภาษิตจีนหรืออีกนัยหนึ่งคือปรัชญาในการปกครอง บทนี้เกิดขึ้นในยุคของ หลี่ ซื่อหมิน หรือ ฮ่องเต้ถังไท่จงมหาราช (ค.ศ. 599-649) จักรพรรดิผู้เกรียงไกรแห่งราชวงศ์ถัง โดยผู้จุดประกายความคิดดังกล่าวนี้คือขุนนางที่มีชื่อว่าเว่ย เจิง

เรื่องราวมีอยู่ว่าครั้งหนึ่งฮ่องเต้ถังไท่จงสอบถามเว่ย เจิง ว่า “เพราะเหตุใดราชวงศ์สุย[2] จึงล่มสลาย” เมื่อได้ยินดังนั้นเว่ย เจิงก็ตอบว่าสั้นๆ ว่า “เพราะสูญเสียความเชื่อถือของประชาชน”

ถังไท่จงถามต่อว่า “แล้วความสัมพันธ์ของประชาชนกับผู้ปกครองควรเป็นเช่นไร?”

เว่ย เจิงตอบคำถามของฮ่องเต้ว่า “ผู้ปกครองก็เหมือนกับเรือลำใหญ่ที่ลอยล่องอยู่ ประชาชนก็เหมือนกับผืนน้ำที่ไพศาล เรือลำใหญ่ต้องลอยอยู่เหนือผิวน้ำเท่านั้นจึงจะเดินหน้าไปได้ ทว่าน้ำทำให้เรือลอยขึ้นได้ ในเวลาเดียวกันก็ทำให้เรือพลิกคว่ำได้ การล่มสลายของราชวงศ์สุยพิสูจน์ข้อเท็จจริงดังกล่าวได้เป็นอย่างดี ฉะนั้น ผู้ปกครองทั้งหลายจึงต้องจำให้ขึ้นใจว่า น้ำทำให้เรือลอยขึ้นได้ ก็ย่อมสามารถทำให้เรือจมลงได้เช่นกัน”

น่าเสียดายที่คุณทักษิณ คุณสมัคร และคุณเฉลิม นอกจากจะไม่สนใจเรียนรู้บทเรียนจากประวัติศาสตร์แล้ว ทั้งสามคนยังเป็นนักบิดเบือนประวัติศาสตร์ตัวยงอีกด้วย จึงทำให้สถานการณ์ของบ้านเมืองขมึงเกลียวมาจนกลายเป็นวิกฤตการณ์อยู่ ณ ปัจจุบัน

-------------------
หมายเหตุ :

[1] ชัยอนันต์ สมุทวณิช, “การเมืองแบบฉับพลัน” ผู้จัดการรายวัน, 4 มิถุนายน 2551.
[2] ราชวงศ์สุย (ค.ศ. 581-618) เกิดขึ้นก่อนราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618-907)
กำลังโหลดความคิดเห็น