xs
xsm
sm
md
lg

SCB เจาะตลาดธุรกิจการศึกษา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน – ธนาคารไทยพาณิชย์จับมือกลุ่มสถาบันกวดวิชาชั้นนำ 9 แห่ง รับชำระค่าเรียนกวดวิชาพร้อมสำรองที่นั่งผ่านระบบออนไลน์ สามารถรู้ผลได้ทันที ผ่าน 3 ช่องทาง ได้แก่ เครื่องเอทีเอ็ม อินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง (SCB Easy Net) และเคาน์เตอร์ธนาคาร สะดวกรวดเร็วไม่ต้องเดินทางไปสถาบันกวดวิชา

นายจรัมพร โชติกเสถียร รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB เปิดเผยว่า ธนาคารได้ร่วมกับสถาบันกวดวิชาชั้นนำ 9 แห่ง เปิดให้บริการรับชำระค่าสินค้าและบริการ (SCB Bill Payment) ให้ลูกค้าสามารถสำรองที่นั่งออนไลน์พร้อมชำระเงินค่าเรียนของสถาบันกวดวิชา ผ่าน 3 ช่องทางของธนาคาร ได้แก่ เครื่องเอทีเอ็ม กว่า 5,000 เครื่อง , เคาน์เตอร์สาขากว่า 900 แห่งทั่วประเทศ และอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง (SCB Easy Net) โดยสามารถรับทราบผลการสำรองที่นั่งได้ทันที โดยเสียค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมครั้งละ 15 บาทเท่ากันทั่วประเทศ

สำหรับสถาบันกวดวิชาชั้นนำ 9 แห่ง ที่เปิดให้บริการในครั้งนี้ ได้แก่ โรงเรียนกวดวิชาอาจารย์ปิง (ดาว้องก์) ,ศูนย์วิชาการวิทย์ – คณิต (GSC) , ศูนย์อัจฉริยภาพ วิทย์ – คณิต (GSMC) , โรงเรียนกวดวิชาคณิตศาสตร์อาจารย์ทรงชอบ (Geniusmaths) ,โรงเรียนกวดวิชาอาจารย์ภูมิเทพ , โรงเรียนสมัยวิทยา ,โรงเรียนกวดวิชา KDC อาจารย์อรภัย, โรงเรียนปรมัตถ์ศึกษา (Ideal Physic) , โรงเรียนกวดวิชา Smart English โดยจำนวนของนักเรียนที่เข้ามากวดวิชากับสถาบันทั้ง 9 แห่งน่าจะอยู่ที่ประมาณ 2 แสนรายต่อปี และมีมูลค่าทางการตลาดอยู่ประมาณ 2,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 30% ของมูลค่าตลาดรวมที่อยู่ในระดับ 7,000 ล้านบาท และคาดว่าจนถึงสิ้นปีจะมีสถาบันกวดวิชามาเข้าร่วมใช้บริการกับธนาคารเพิ่มเป็น 30 แห่ง หรือจะมีนักเรียนรวมกับประมาณ 5 แสนคน ซึ่งธนาคารคาดว่าในจำนวนนี้น่าจะมาเปิดบัญชีกับธนาคารไม่ต่ำกว่า 1 ใน 3 อย่างแน่นอน

"แบงก์ที่แข่งขันกันในเรื่องนี้อยู่ก็มีแบงก์กรุงไทย แบงก์กสิกรไทย แบงก์ทหารไทยและเรา แต่เราเชื่อว่าเป็นแบงก์แรกที่ลูกค้าจะสามารถทราบผลแบบเรียลไทม์ได้ทั้ง 3 ช่องทาง และตอนนี้เชื่อว่าเราเป็นอันดับ 2 ในตลาดรองจากแบงก์กรุงไทยเพราะว่าเราเพิ่งจะเริ่มยกแรก" นายจรัมพร กล่าว

ในช่วงที่ผ่านมารายได้จากธุรกิจการบริหารจัดการเงินของธนาคารหลักๆมาจากบริการชำระค่าสินค้าและบริการ คิดเป็น 30%ของรายได้ในธุรกรรมดังกล่าว และในปีนี้ตั้งเป้าว่าธุรกิจดังกล่าวจะมีปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้น 25% หรือเป็นเม็ดเงินประมาณ 400 ล้านบาท โดยรายได้จากการให้บริการรับชำระเงินค่าเรียนของสถาบันกวดวิชานี้น่าจะคิดเป็น 5% ของธุรกิจการรับชำระค่าสินค้าและบริการ โดยในเบื้องต้นคาดว่าจะทำรายได้อยู่ที่ 15 ล้านบาท และเมื่อมีการเพิ่มจำนวนของสถาบันกวดวิชาแล้วก็น่าจะอยู่ที่ประมาณ 30 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น