xs
xsm
sm
md
lg

ขุนคลังอาเชีย-ยุโรปห่วงศก.ทรุด เพราะราคาน้ำมัน-อาหารพุ่งแรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี – รัฐมนตรีคลังยุโรปและเอเชียร่วมกันออกมาเตือนวานนี้(16)ว่า ราคาน้ำมัน, อาหาร, และสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ ที่ทะยานขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเสถียรภาพของการเติบโตขยายตัวทางเศรษฐกิจของโลก

ในตอนท้ายการประชุมความร่วมมือเอเชีย – ยุโรป (อาเซม) เป็นเวลาสองวันที่เกาะเชจูทางตอนใต้ของเกาหลีใต้ บรรดารัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีช่วยว่าการคลัง จากสมาชิกสหภาพยุโรป 27 ประเทศและ 16 ประเทศเอเชียได้ร่วมกันออกคำแถลงว่า “การที่ราคาทะยานขึ้น ทำให้เกิดปัญหารุนแรงต่อเสถียรภาพของการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลก และมีผลกระทบสาหัสต่อกลุ่มที่อ่อนไหวมากที่สุด”

ในคำแถลงยังได้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมกันร่างนโยบายเพื่อรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้น และแนะนำให้เพิ่มการลงทุนทางด้านเกษตรกรรมและพลังงาน รวมทั้งรวมมือกันปรับประสิทธิภาพของตลาดเสรี

“บรรดารัฐมนตรีเน้นถึงความต้องการการวิเคราะห์เพิ่มเติมในปัจจัยด้านการเงินและปัจจัยพื้นฐานซึ่งอยู่เบื้องหลังการทะยานขึ้นของราคาโภคภัณฑ์และความผันผวนของราคาในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกด้วย” คำแถลงการณ์กล่าว

อย่างไรก็ตามบรรดารัฐมนตรีที่เข้าร่วมประชุมก็ยังแสดงความเชื่อมั่นว่าภาพรวมเศรษฐกิจโลกในระยะยาวยังคงเป็นบวก แต่ในระยะสั้นแล้ว สถานการณ์ทั่วไปดูไม่ค่อยดีนัก

ตัวแทนของประเทศที่เข้าร่วมประชุมกันในคราวนี้เน้นว่า ทั้งเอเชียและยุโรป “มีความทนทานเพิ่มขึ้นอย่างมาก” ต่อแรงกระแทกรุนแรงจากภายนอกเมื่อเทียบกับทศวรรษก่อน แต่ก็มิได้หมายความว่าจะมีภูมิคุ้มกันให้พ้นจากปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในโลกอยู่ขณะนี้

ที่ประชุมระบุถึงปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกในตอนนี้ก็คือ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐที่ชะลอลง, การขาดแคลนสภาพคล่องในตลาดการเงินโลก “และแรงกดดันเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นที่มีเหตุมาจากราคาพลังงานและอาหารที่เพิ่มขึ้น”

ประธานาธิบดีลีเมียงบัคของเกาหลีใต้กล่าวในสุนทรพจน์ต่อที่ประชุมเมื่อวานนี้ว่า “ความไร้เสถียรภาพในตลาดการเงินโลก ได้แพร่ระบาดเข้าสู่เศรษฐกิจแท้จริง และได้ฉุดดึงให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกย่ำแย่ลง”

และ “หากนับรวมเอาการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมัน, อาหารและวัตถุดิบอื่น ๆด้วยแล้ว ก็ไม่เกินเลยไปหากจะกล่าวว่าตอนนี้เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตครั้งสาหัสที่สุดนับตั้งแต่เหตุการณ์ออยล์ช็อคในช่วงทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา”

รัฐบาลของประธานาธิบดีลีเอง ก็กำลังต้องรับมือกับการประท้วงของคนงานก่อสร้าง ที่เข้าสมทบกับคนขับรถบรรทุก อันเนื่องมาจากราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้น ซึ่งการประท้วงในลักษณะนี้เกิดขึ้นไปทั่วทุกมุมโลกแล้ว

ส่วน ฮารุฮิโกะ คุโรดะ ประธานของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ก็ได้เรียกร้องให้มีมาตรการประกันสังคมเพื่อรองรับคนยากจน การปฏิรูปการเกษตรและมาตรการเพิ่มผลผลิตทางด้านต่าง ๆ “ราคาอาหารสามารถกลายเป็นประเด็นอ่อนไหวด้านเศรษฐกิจและการเมืองสำหรับประเทศในเอเชียได้”

รัฐมนตรีคลังของฝรั่งเศส คริสตีน ลาการ์ด ก็ได้เรียกร้องให้ผู้ผลิตน้ำมันขยายกำลังการผลิตออกไป รวมทั้งมีการลงทุนด้านการสำรวจและขุดเจาะเพิ่มเติมเพื่อฉุดให้ราคากลับลงมา นอกจากนี้เธอก็ยังได้กระตุ้นให้มีการเปลี่ยนแปลงด้านการผลิตและบริโภคพลังงานให้มีความหลากหลายมากขึ้น รวมทั้งสร้างความเข้าใจในกลไกต่าง ๆของตลาดให้ดีขึ้น

ก่อนหน้านี้ลาการ์ดได้เข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีคลังของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 8 ชาติ (จี8) มาเมื่อสุดสัปดาห์ ซึ่งในที่ประชุมมีผู้แทนหลายรายแสดงความสงสัยว่าพวกเก็งกำไรเป็นผู้ทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง นอกจากนี้ลาการ์ดก็ยังได้เรียกร้องให้ทั้งเอเชียและยุโรปร่วมมือกันเพื่อรับมือกับวิกฤต

“แม้ว่าเท่าที่ผ่านมาเศรษฐกิจของทั้งสองเขตจะแสดงให้เห็นถึงความทนทานต่อปัญหาได้ดีกว่าที่คาดไว้ แต่ทั้งสองเขตก็ควรจะเดินหน้าร่วมมือกันต่อสู้กับราคาที่พุ่งขึ้น รวมทั้งหนุนอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไป” ลาการ์ดกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น