xs
xsm
sm
md
lg

ฟินิคซ พัลพฯเร่งกู้ภาพลักษณ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วันนี้ บมจ.ฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ จำกัด (มหาชน) ภายใต้การกุมบังเหียนของเครือซิเมนต์ไทยนับตั้งแต่ 2548 ได้แตกต่างไปจากอดีตที่กระแสสังคมทั้งชุมชนในพื้นที่และนอกพื้นที่ออกมาต่อต้านโรงงานผลิตกระเยื่อกระดาษรายใหญ่แห่งนี้ที่ปล่อยน้ำเสียลงสู่ลำน้ำสาธารณะจนเกิดปัญหาปลาตายจำนวนมากเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว จนถึงขั้นถูกสั่งปิดโรงงานมาหลายครั้ง
ก่อนที่เครือซิเมนต์ไทยจะตัดสินใจซื้อกิจการโรงงานผลิตเยื่อกระดาษแห่งนี้ ทางคณะกรรมการเครือซิเมนต์ไทยเองก็มีความกังวลในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของเครือฯ เป็นอย่างมาก แต่เมื่อฝ่ายบริหารยืนยันว่าจะสามารถแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้และยังเป็นการแก้ปัญหาการขาดแคลนเยื่อกระดาษในเครือฯ จึงตัดสินใจเข้าซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นเดิมทั้งหมดก่อนที่จะเพิกถอนฟินิคซ พัลพฯออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ
นายธีระศักดิ์ จามิกรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ฟินิคซ พัลพ แอน เพเพอร์ กล่าวว่า ได้มีการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมเป็นวงเงินสูงมาก รวมทั้งดูแลเครื่องจักรให้มีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพ โดยพยายามที่จะลดการปล่อยมลพิษทุกรูปแบบออกสู่ชุมชน โดยมีการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมให้ดีทั้ง 3 ด้าน คือ การบริหารจัดการคุณภาพน้ำ การจัดการคุณภาพอากาศ และการจัดการกากของเสีย
เนื่องจากโรงเยื่อกระดาษจัดเป็นโรงงานที่มีการใช้น้ำจำนวนมากในกระบวนการผลิต โดยโรงงานเยื่อของฟินิคซ พัลพฯ เองมีน้ำทิ้งจากกระบวนการผลิตวันละ 2.2 หมื่นลบ.ม. โดยได้มีการบำบัดน้ำทิ้งดังกล่าวโดยปรับค่าความเป็นกรด ความเป็นด่างให้เป็นกลางก่อนจะไหลเข้าถังตกตะกอนที่ 1 เพื่อแยกสารแขวนลอยในรูปของตะกอนแข็ง โดยตะกอนที่กรองได้นี้จะนำไปใช้ประโยชน์ในการถมที่ ทำปุ๋ย เป็นต้น
ส่วนน้ำใสส่วนที่ล้นออกจากถังตกตะกอนที่1 จะไหลเข้าสู่ถุงพักปรับสภาพน้ำทิ้ง โดยมีถังเติมอากาศติดตั้งอยู่ก้นบ่อและมีการเลี้ยงตะกอนจุลินทรีย์ไว้จำนวนมากเพื่อทำหน้าที่ย่อยสารอินทรีย์ในน้ำเสีย โดยน้ำตะกอนจุลินทรีย์ดังกล่าวจะล้นไปถังตกตะกอนขั้นสุดท้าย ถือเป็นน้ำทิ้งที่ผ่านการบำบัดได้มาตรฐานตามประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรม
แม้ว่าน้ำทิ้งดังกล่าวจะผ่านมาตรฐาน แต่ก็ไม่มีการปล่อยน้ำทิ้งออกสู่ลำน้ำสาธารณะ มีการนำน้ำทิ้งทั้งหมดไปใช้ในแปลงปลูกไม้ยูคาลิปตัสประมาณ 4 พันไร่รอบโรงงาน ซึ่งเรียกว่าโครงการนำน้ำทิ้งไปใช้เพื่อการเกษตร (Green Project)
นอกจากนี้ ยังมีการนำน้ำทิ้งดังกล่าวไปทดลองใช้กับพืชชนิดอื่น เช่น อ้อยและข้าว เนื่องจากน้ำทิ้งของโรงเยื่อฯ มีสารอินทรีย์ทำให้สีค่อนข้างคล้ำจากสีไม้ แต่ถือเป็นปุ๋ยชั้นดีของพืช ทำให้พืชเหล่านี้เติบโตได้ดี ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นในการทดลองปลูกพืชชนิดอื่น และการเลี้ยงปลาในกระชังน้ำทิ้งดังกล่าว เพื่อยืนยันคุณภาพของน้ำทิ้งว่าปลอดภัย
ด้านการจัดการคุณภาพอากาศ มีอุปกรณ์ควบคุมมลพิษทางอากาศ เพื่อลดปัญหาด้านกลิ่น รวมทั้งเครื่องดักฝุ่นที่เกิดจากโรงสับไม้ โดยฝุ่นที่ได้จะรวมเปลือกไม้ มาใช้เป็นเชื้อเพลิงเผาในกระบวนการผลิต ช่วยประหยัดค่าเชื้อเพลิงได้ส่วนหนึ่ง
ด้านการจัดการกากของเสีย โดยกากที่ไม่เป็นอันตรายจะนำมาฝังกลบในพื้นที่ของบริษัทที่มีอยู่จำนวน 6 พันไร่ โดยมีแผ่นพลาสติกขนาดใหญ่รองด้านล่างเพื่อป้องกันการรั่วไหลลงสู่ดิน ส่วนกากของเสียที่เป็นอันตรายก็ว่าจ้างบริษัทรับกำจัดกากดำเนินการต่อไป
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมเพื่อสังคมและชุมชน โดยเปิดโอกาสให้ชุมชนในท้องที่เข้ามาดูงานในโรงงานฟินิคซ พัลพฯ มาตั้งแต่ปีก่อน โดยเฉพาะการนำตัวแทนชุมชนเข้ามาร่วมในการวิจัยหรือทดลองโครงการต่างๆ นับเป็นยุทธศาสตร์ที่ดีในการสร้างความเข้าใจในชุมชน นอกเหนือจากการมีโครงการส่งเสริมการฝึกอาชีพชุมชน และโครงการรักษ์บึงโจด อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ที่ขุดลอกผักตบชวาที่อยู่ในบึงโจดออก และให้ชาวบ้านนำผักตบชวาที่ขุดลอกได้ไปแปรรูปเป็นสินค้าเพิ่มรายได้ด้วย
นายธีระศักดิ์ กล่าวว่า มีการปรับสภาพภูมิทัศน์รอบบึงโจด จัดทำลานอเนกประสงค์ในการจัดกิจกรรม ติดตั้งกังหันชัยพัฒนา และโครงการเลี้ยงปลาเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยให้ตัวแทนชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเฝ้าดูและเลี้ยงปลา ขณะเดียวกันก็มีการติดตั้งอุปกรณ์วัดคุณภาพน้ำเพื่อให้ชุมชนได้รู้ว่าคุณภาพน้ำขณะนี้เป็นอย่างไร
เนื่องจากการขุดลอกผักตบชวาออกทั้งหมด ทำให้ปริมาณออกซิเจนในน้ำมีมากขึ้น และเป็นสาเหตุให้เกิดวัชพืชน้ำอื่นๆ ขึ้นมาอีกมาก ทั้งสาหร่ายหางกระรอก แหนแดง และผักตบชวา ดังนั้น จึงได้ประดิษฐ์เรือรักษ์น้ำพองขึ้นเพื่อกำจัดวัชพืชเหล่านี้ด้วย เพื่อให้บึงโจดไม่กลับไปมีสภาพเหมือนในอดีตที่เต็มไปด้วยผักตบชวาจนสัตว์น้ำไม่สามารถอยู่อาศัยได้
ขณะนี้ได้ศึกษาหาเทคโนโลยีใหม่ที่มีการพัฒนาอยู่ทั่วโลกมาทดแทนเครื่องจักรเก่าของโรงงาน เพื่อลดผลกระทบด้านมลภาวะให้มากที่สุด โดยไม่คำนึงถึงผลตอบแทนการลงทุน หรือผลกำไร ซึ่งสอดรับกับนโยบายของเครือซิเมนต์ไทยในความมุ่งมั่นการเป็นผู้นำในอาเซียนที่ยึดมั่นกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ล่าสุด บริษัท เอสซีจี เปเปอร์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะบริษัทแม่ของฟินิคซ พัลพฯ ได้มุ่งมั่นสู่การจัดการสวนไม้ปลูกอย่างยั่นยืนภายใต้ข้อกำหนดของ FSC เพื่อรับรองถึงแหล่งที่มาของไม้ยูคาลิปตัสที่ใช้ในกระบวนการผลิต ไม่ได้มาจากไม้ในป่า
ดังนั้น จึงได้มีการส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ภาคอีสานปลูกไม้ยาคาลิปตัสในรูปแบบคอนแทรค ฟาร์มมิ่ง ซึ่งบริษัทฯรับซื้อในราคาตลาดโลก พร้อมทั้งมีการเพิ่มจุดรับซื้อ 12 แห่งในภาคอีสานเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้เกษตรกร เนื่องจากโรงเยื่อจำเป็นต้องมีวัตถุดิบ คือ ไม้ยูคาลิปตัสถึงวันละ 3 พันกว่าตัน ซึ่งในอดีตช่วยที่เครือซิเมนต์ไทยเข้ามาบริหารพบว่าฟินิคซ พัลพฯ มีไม้ยูคาลิปตัสเหลือเพียงพอที่จะผลิตเพียง 3-4 วันเท่านั้น จึงได้มีการส่งเสริมอย่างจริงจังรวมถึงการพัฒนาพันธุ์กล้ายูคาลิปตัส จนปัจจุบันมีสต็อกไม้ยูคาลิปตัสเพียงพอที่จะใช้ได้นานถึง 60-70 วัน
รวมทั้งยังศึกษาที่จะเข้าไปขอรับสัมปทานการปลูกยูคาลิปตัสที่ลาว และกัมพูชา เพื่อเสถียรภาพในด้านวัตถุดิบในการรองรับการขยายงานในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ชุมชนในพื้นที่รอบโรงงานฟินิคซ พัลพฯ ยังไม่เชื่อใจโรงงานทั้ง 100% แต่ด้วยจิตสำนึกในการตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม ความจริงใจในการแก้ไขปัญหา และการดูแลเอาใจใส่ชุมชนในพื้นที่ ทางฝ่ายบริหารมีความเชื่อมั่นว่ชุมชนมีความเข้าใจและยอมรับโรงงานฟินิคซ พัลพฯ ในที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น