xs
xsm
sm
md
lg

ธนาคารแถบเอเชียเร่ง“ควบรวมกิจการ”สบช่องแบงก์มะกัน-ยุโรปกำลังอ่อนแอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไฟแนนเชียล ไทมส์ – มูลค่าการควบรวมกิจการ (M&A) ในภาคธนาคารของเอเชีย-แปซิฟิก พุ่งขึ้นมากในปีนี้ เพราะบรรดาธนาคารในภูมิภาคแถบนี้ ต่างอาศัยสถานการณ์ที่คู่แข่งระดับโลกอ่อนแอลง เป็นจังหวะเวลาในการขยายส่วนแบ่งตลาด หรือเข้าไปลงทุนในภูมิภาคต่าง ๆของโลกเพิ่มขึ้น
จากตัวเลขของดีลโลจิค ซึ่งเป็นบริษัทผู้เก็บรวมรวบข้อมูลการเงิน ระบุว่าในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ มูลค่าการควบรวมกิจการของธนาคารในภูมิภาคแถบนี้ สูงถึง 35,300 ล้านดอลลาร์ กระโดดขึ้นจากยอด 19,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปีที่แล้ว และ 15,000 ล้านดอลลาร์ของปี 2006
นายธนาคารหลายรายกล่าวว่า การที่พวกธนาคารในสหรัฐฯและยุโรปกำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์ทางการเงินที่ยากลำบาก สืบเนื่องจากภาวะการขาดแคลนสภาพคล่องอย่างรุนแรง จึงเปิดโอกาสให้ธนาคารในเอเชีย-แปซิฟิก มีโอกาสเดินหน้าควบรวมกิจการเพื่อขยายธุรกิจ ซึ่งแต่เดิมนั้นมักกระทำโดยธนาคารระดับโลก รวมทั้งกองทุนเพื่อการลงทุนภาคเอกชน (ไพรเวต อิควิตี้ ฟันด์) ต่าง ๆ
เหล่านายธนาคารเชื่อว่า มูลค่าการควบรวมกิจการในย่านเอเชียแปซิฟิกปีนี้ จะแซงหน้าระดับ 69,200 ล้านดอลลาร์ของปี 2005 อันเป็นปีที่มีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยที่สำคัญเนื่องจากการควบรวมระหว่างกลุ่มการเงินยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นสองแห่ง ซึ่งก็คือ มิตซูบิชิ โตเกียว ไฟแนนเชียล กรุ๊ป และ ยูเอฟเจโฮลดิ้งส์ ที่มีมูลค่าราว 59,000 ล้านดอลลาร์
สำหรับสัญญาการควบรวมกิจการรายใหญ่ ๆในปีนี้ ได้แก่ ข้อเสนอซื้อกิจการของเซนต์ จอร์จแบงก์ โดย เวสต์แพ็ค คู่แข่งจากออสเตรเลียด้วยกันที่มีมูลค่า 18,000 ล้านดอลลาร์ และข้อเสนอซื้อหวิงหลุงแบงก์ในฮ่องกง โดย ไชน่า เมอร์แชนท์ แบงก์ มูลค่า 4,700 ล้านดอลลาร์
นอกจากนี้ ก็ยังมีการควบรวมกิจการกันระหว่างธนาคารต่าง ๆ ภายในประเทศเดียวกัน ทั้งในญี่ปุ่นและอินเดียเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีการลงทุนภาคการธนาคารข้ามแดนในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมแล้วก็มีมูลค่านับหมื่นล้านดอลลาร์
“ปีนี้จะเป็นปีธนาคารในเอเชียเคลื่อนไหวอย่างคึกคักในด้านการควบรวมและซื้อขายหุ้นระหว่างกัน” โอลิวิเยร์ เดอ กริเวล หัวหน้ากลุ่มอุตสาหกรรมการเงินเขตเอเชียแปซิฟิกของเจพีมอร์แกนกล่าว หน่วยงานของเขาทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับ เมอแชนท์ แบงก์ในการซื้อหวิงหลุง
เดอ กริเวลอธิบายว่า ปัจจัยที่ขับเคลื่อนการควบรวมกิจการในภูมิภาคนี้ มีแตกต่างกันไปหลายหลาก ในออสเตรเลียความเคลื่อนไหวส่วนใหญ่เกิดขึ้นระหว่างสถาบันการเงินภายในประเทศ ส่วนธนาคารขนาดใหญ่ของจีนและญี่ปุ่นมองหาโอกาสเพื่อควบรวมหรือซื้อหุ้นทั้งที่จะทำให้เป็นผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่และส่วนน้อยในธนาคารต่าง ๆในเอเชียและนอกเอเชีย
ร็อบ เจซุดาสัน ประธานกลุ่มสถาบันการเงินเอเชียที่ไม่รวมญี่ปุ่น ของ เครดีต์ สวิส ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ปรึกษาของหวิงหลุงในการขายหุ้นกล่าวว่า เท่าที่รู้มีธนาคารราว 20 แห่งในเอเชีย-แปซิฟิกที่กำลังหมายตาที่จะขึ้นมาเป็นผู้เล่นชั้นนำระดับภูมิภาค และธนาคารเหล่านี้ส่วนใหญ่ใช้เงินกองทุนของตัวเองในการควบรวมกิจการ
“หากกล่าวในบริบทของปัจจุบัน ธนาคารเอเชียกำลังได้เปรียบอย่างมากในวงการควบรวมกิจการระหว่างประเทศ เพราะสถาบันการเงินในสหรัฐฯและยุโรปกำลังต้องดิ้นรนแก้ไขปัญหาตัวแดงในบัญชีของตนอยู่ และพวกเอเชียก็ตระหนักเรื่องนี้ดี”
อย่างไรก็ตาม กฏระเบียบต่างๆ ที่ไม่เปิดกว้างต้อนรับต่างชาติเข้าไปลงทุนในภาคการเงินของประเทศที่มีเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วเช่น อินเดีย ก็อาจส่งผลให้โอกาสของการควบรวมกิจการลดลงไป แต่เมื่อมองในภาพรวมแล้ว หลายฝ่ายก็เห็นว่าปีนี้การผนวนกิจการในย่านเอเชียน่าจะขยายตัวในอัตราที่สูงมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น