xs
xsm
sm
md
lg

ไม่มีคำว่าแพ้

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล

หลายวันมานี้มี คนรอบข้างไถ่ถามผมมาอย่างหนาหูว่าการเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยครั้งนี้จะประสบผลสำเร็จหรือไม่? ประสบชัยชนะแน่หรือ? เพราะดูเหมือนว่ายุทธศาสตร์ปิดหู ปิดตา ปิดปาก ... ไม่รู้ ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ของ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีจะดำเนินไปได้ด้วยดีตามแผนอันรัดกุมของกุนซือฝั่งรัฐบาลและพรรคพลังประชาชน

เมื่อการชุมนุมเริ่มยืดเยื้อย่างเข้าสัปดาห์ที่สาม บุคคลคณะทำงานบางคนเริ่มส่งเสียงอ่อนล้าออกมาบ้างแล้วด้วยความเหนื่อยอ่อน ทั้งทางร่างกายและจิตใจ

โดยส่วนตัว ผมเองในฐานะที่เป็นหนึ่งในฟันเฟืองเล็กๆ ที่ขับเคลื่อนการเคลื่อนไหวดังกล่าว ก็ต้องกล่าวยอมรับตามตรงว่า ทีแรกที่เห็นเค้าลางว่าการชุมนุมต้องยืดเยื้อยาวนานโดยไม่รู้จุดจบ ผมเองก็รู้สึกเหนื่อยล้าไม่แพ้คณะทำงานหลายๆ คนเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม หลายวันหลังมานี้เมื่อได้นั่งฟังแกนนำพันธมิตรฯ ทั้ง 5 ปราศรัยบนเวทีในช่วงหัวค่ำ ได้เข้าร่วมในเหตุการณ์หลายๆ เหตุการณ์ ได้รับทราบข่าวสารหลายๆ ชิ้นและที่สำคัญนั่งลงขบคิดและทบทวนเรื่องราวตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน ทำให้ผมก็ตกผลึกออกมาเป็นความเชื่อส่วนบุคคลที่ว่า ... “เราไม่มีทางแพ้”

ทำไมพันธมิตรฯ ไม่มีทางแพ้?

ปฏิเสธไม่ได้ว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนั้นขับเคลื่อนไปได้อย่างมีพลังและมีทิศทางจากการตัดสินใจของแกนนำพันธมิตรฯ ทั้ง 5 อันประกอบไปด้วย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง คุณสนธิ ลิ้มทองกุล คุณพิภพ ธงไชย คุณสมศักดิ์ โกศัยสุข และ อ.สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์

แม้ในการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ ทุกอย่าง จะถูกกลั่นกรองและตัดสินใจอย่างเป็นประชาธิปไตยโดยแกนนำทั้ง 5 คน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่มีปฏิเสธว่า ‘ความเด็ดเดี่ยว’ ในเรื่องของการตัดสินใจเพื่อดำเนินการเคลื่อนไหวต่างๆ นั้นไม่มีใครเกินบุคคลที่ผมเรียกว่า ‘ลุงจำลอง’

หลายวันก่อนผมไปพลิกหนังสือ “ชีวิตจำลอง” ของลุงจำลอง ที่ถูกเผยแพร่เป็นครั้งแรกในปี 2533 หลังท่านหมดวาระการเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครสมัยแรก

ในจำนวนเรื่องราวชีวิตของลุงจำลองทั้ง 15 บท ผมไปติดใจเอาเรื่องราวในบทสุดท้ายที่มีชื่อว่า “๑๕.ผมไม่มีอนาคต”

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การที่คนคนหนึ่งจะบอกว่า “ตัวเองไม่มีอนาคต” นั้นเป็นเรื่องผิดปกติวิสัย

โดยส่วนตัวผมเห็นว่า มีคนอยู่ 3 ประเภทเท่านั้นที่หาญกล้าจะพูดเช่นนี้ได้อย่างจริงจัง ประเภทหนึ่งคือ คนบ้า ประเภทหนึ่งคือ คนสิ้นหวัง และประเภทสุดท้ายคือ คนที่รู้จักปล่อยวาง

มีคนกล่าวเอาไว้ว่า พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นั้นเป็นบุคคลที่ต่อกรด้วยยากที่สุดและไม่มีใครอยากเป็นศัตรูด้วย ทั้งนี้เมื่อมาลองวิเคราะห์ดูแล้ว การที่ลุงจำลองกลายเป็นบุคคลที่ต่อกรด้วยยากที่สุด ไม่ใช่เพราะลุงจำลองเป็นอดีตทหารระดับนายพลที่มีเพื่อนฝูง น้องนุ่ง ลูกศิษย์ลูกหา เป็นตำรวจ-ทหาร-นักการเมืองเยอะ ยิ่งไม่ใช่เพราะลุงจำลองเป็นหนึ่งในแก่นแกนของสำนักสันติอโศกที่มีเครือข่ายกว้างขวาง แต่เป็นเพราะลุงจำลองเป็น ‘คนไม่มีอนาคต’ นั่นเอง

เมื่อพิจารณาดูแล้ว นอกจากข้อกล่าวหาไร้สาระเรื่อง “พาคนไปตาย” ในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 แล้ว ฝ่ายระบอบทักษิณมิอาจยกข้ออ้างใดๆ มาโจมตีคนชื่อจำลอง ศรีเมืองได้เลย เพราะลุงจำลองไม่มีทั้งทรัพย์สิน ไม่มีที่ดิน ไม่มีบริษัท ไม่ได้เป็นเจ้าของเรือกสวนไร่นา หรือมีลูกเต้า-ลูกน้องที่ต้องเป็นห่วง แม้ว่าลุงจำลองจะมีภรรยา แต่ป้าศิริลักษณ์ก็เป็นภรรยาที่เปรียบเสมือนกัลยาณมิตร มิใช่ภรรยาในความหมายของบุคคลทั่วไป

การที่ลุงจำลองประกาศว่าตัวเองเป็น “คนไม่มีอนาคต” นั้นจึงหมายความว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่ท่านทำอยู่นี้นั้นมิได้ทำเพื่อตัวเอง แต่เป็นการทำเพื่อคนอื่น เป็นการทำเพื่อสังคมส่วนรวมอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะในกรณีการเคลื่อนไหวเมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2535 การเคลื่อนไหวต้านการนำบริษัทสุราเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อปี 2548 การชุมนุมใหญ่ของพันธมิตรฯ ในปี 2549 หรือ ณ พ.ศ.ปัจจุบัน 2551 นี้ก็ไม่แตกต่างกัน

ความเสียสละของลุงจำลองพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนจากวิถีชีวิตของท่านระหว่างการชุมนุม ......

แม้แต่พระสงฆ์ที่ถือว่าเป็นเพศในสังคมที่สมถะที่สุดก็เถอะ ผมเชื่อว่ามิอาจอดทนนอนกลางถนน กินกลางถนน ถ่ายกลางถนน แถมยังมีกำลังพอที่จะบริหารจัดการ ตัดสินใจ และขึ้นปราศรัยบนเวทีได้อย่างมีพลังเท่าลุงจำลอง

จิตวิญญาณของความเป็น “คนไม่มีอนาคต” ของลุงจำลอง เมื่อถูกหลอมรวมกับคำขวัญ “เรามาทำหน้าที่ ใช้หนี้แผ่นดิน” อีกชิ้นของลุง และคำประโยค “ตายเป็นตาย เจ๊งเป็นเจ๊ง” ของคุณสนธิ ลิ้มทองกุลนี้เองที่ผมคิดว่าได้ถูกถ่ายทอดและซึมซับไปปลุกจิตวิญญาณนักสู้เหล่าพันธมิตรฯ ทั้งมวล ทั่วประเทศและทั่วโลกขึ้นมา

หลักฐานอย่างเป็นรูปธรรมของการตื่นขึ้นของจิตวิญญาณดังกล่าวก็คือ ความแพร่หลายของ “เพลงเราสู้” ในการชุมนุมของพันธมิตรฯ โดยตอนหนึ่งของเพลงเราสู้มีใจความว่า “ถึงขู่ฆ่าล้างโคตรก็ไม่หวั่น... จะสู้กันไม่หลบหนีหาย... สู้ตรงนี้สู้ที่นี่สู้จนตาย... ถึงเป็นคนสุดท้ายก็ลองดู”

สำหรับคนที่รู้จักเพลงนี้ เคยฟังเพลงนี้ เคยร้องเพลงนี้ แต่ไม่เคยซาบซึ้งกับความหมายของเพลงมาก่อน ผมอยากให้ท่านสละเวลามานั่งหรือยืนอยู่ในวงพันธมิตรฯ บริเวณเชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ แล้วลองสังเกตไปในแววตาและน้ำเสียงของพันธมิตรฯ ที่อยู่รอบข้างขณะที่ร้องเพลงนี้ รับรองว่าท่านจะได้รับรู้ความหมายที่แท้จริงของเพลง “เราสู้”

กลับมาถึงคำตอบของคำถามที่ว่า ทำไมพันธมิตรฯ ไม่มีทางแพ้?

การได้มีส่วนร่วมกับฝูงชนหลายพันคนในการไปให้กำลังใจคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เมื่อวันจันทร์ที่ 9 มิ.ย. ที่ผ่านมา ภาพกำลังใจของประชาชนที่หลั่งไหลไปท่วม คตส. แม้สายฝนจะกระหน่ำลงมาอย่างหนัก แต่ทุกคนก็ไม่ย่อท้อ ทำให้ผมเชื่อมั่นว่า การชุมนุมของพันธมิตรฯ ครั้งนี้และทุกๆ ครั้ง มิใช่การชุมนุมที่ไร้จุดมุ่งหมาย

อย่างน้อยๆ การชุมนุมของพันธมิตรฯ ก็เปรียบได้กับการสร้างเกราะป้องกัน สร้างผนังทองแดงกำแพงเหล็ก เพื่อปกป้องคนดีๆ ข้าราชการดีๆ ในสังคมมิให้ถูกระบอบทักษิณกลั่นแกล้งและย่ำยีบีฑาได้สะดวก

ยิ่งพวกเราอดทนกันมากเท่าไหร่ เกราะและผนังป้องกันสำหรับคนดี-ข้าราชการดีๆ ก็คงอยู่นานเท่านั้น... ยิ่งพวกเรามุ่งมั่นเท่าใดกระบวนการยุติธรรมก็ดำเนินไปได้อย่างราบรื่นเท่านั้น... ยิ่งพวกเราขยายจิตวิญญาณของนักสู้ไปมากเท่าใดความจริงก็จะปรากฏออกมาเท่านั้น และเมื่อเวลาสุกงอมระบอบทักษิณย่อมต้องพบจุดจบอย่างแน่นอน.
กำลังโหลดความคิดเห็น