xs
xsm
sm
md
lg

เปิดมุมมองอธิบดี"กรมสรรพสามิต"สานต่อนโยบายรับวิกฤตน้ำมันแพง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หลังจากที่กรมสรรพสามิตต้องห่างเหินจากการมีอธิบดีมายาวนานในที่สุดกระทรวงการคลังก็ได้เสนอชื่อนางสิรินุช พิศลยบุตร ให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) ให้ความเห็นชอบเป็นอธิบดีกรมสรรพสามิต โดยมีคำสั่งโปรดเกล้าแต่งตั้งเมื่อวันที่ 28 พ.ค.51 และได้เข้าทำงานที่กรมสรรพสามิตในวันที่ 29 พ.ค.ที่ผ่านมาเป็นวันแรก

บทสัมภาษณ์นี้จะเป็นการสะท้อนมุมมองในการบริหารงานของอธิบดีกรมสรรพสามิตคนใหม่ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่มีความผันผวนจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาปากท้องของประชาชนที่ได้รับผลกระทบต่อราคาน้ำมันโดยมีเนื้อหาดังนี้

Q : นโยบายที่มอบหมายให้กับข้าราชการกรมสรรพสามิตหลังรับตำแหน่ง

A : นโยบายก็จะเป็นหลักการเก็บภาษีอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส เป็นไปตามเป้าหมาย และให้ความสำคัญกับผู้เสียภาษี ผู้ประกอบการ และประชาชน ภายใต้วิกฤตพลังงานของประเทศ ซึ่งมีผลกระทบต่อการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพสามิต

นอกจากนี้ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่สอดส่องดูแล ป้องกันมิให้มีการลักลอบจำหน่ายน้ำมันเถื่อน และให้หลักการในการดำเนินงาน ได้แก่ การให้การสนับสนุนบุคลากรให้มีสมรรถนะ การสนองตอบการให้บริการด้วยความรวดเร็วและการบูรณาการสร้างเครือข่ายการทำงาน กับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งนี้ในรอบ 7 เดือน ของปีงบประมาณ 2551 กรมสรรพสามิตเก็บภาษีได้ 1.7 แสนล้านบาท ต่ำกว่าเป้า 160 ล้านบาท เนื่องจากการเก็บภาษียาสูบ และเบียร์ เก็บภาษีได้ต่ำกว่าเป้า

และได้กำชับให้ผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพสามิตทั่วประเทศช่วยกันสนับสนุนมาตรการประหยัดพลังงานของรัฐบาลให้มีประสิทธิภาพ โดยมาตรการประหยัดพลังงานของกรมสรรพสามิต จะต้องเปิดเครื่องปรับอากาศเป็นช่วงเวลา โดยช่วงเช้าระหว่างเวลา 10.00 - 12.00 น. และช่วงบ่ายเวลา 14.00 - 16.00 น. และปรับระดับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศในสำนักงานที่อุณหภูมิ 26 องศาเซลเซียสขณะที่ การเดินทางไปปฏิบัติราชการทั้งในส่วนกลางและต่างจังหวัด ขอให้เดินทางร่วมกัน และการปรับเปลี่ยนรถยนต์ราชการไปใช้ก๊าซ เอ็นจีวี เพื่อประหยัดการใช้น้ำมัน

Q : ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันกับการจัดเก็บภาษี

A : สินค้าและบริการเฉพาะอย่างภายใต้ภารกิจการจัดเก็บของกรมสรรพสามิตก็ยังคงไปได้เรื่อยๆ และน่าจะใกล้เคียงกับที่ประมาณการไว้ ซึ่งหลักๆ แล้วน่าจะเป็นผลมาจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นจะส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องไปยังผลิตภัณฑ์ที่ต่อเนื่องจากน้ำมันอีกหลายอย่าง รวมไปถึงการใช้ชีวิตประจำวันที่แต่ละครัวเรือนต้องมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น

ซึ่งเมื่อพิจารณาตัวเลขการจัดเก็บรายได้ในช่วงปี 2546 นั้นยอดการจัดเก็บจะอยู่ที่ประมาณ 2 แสนล้านบาทต้นๆ เท่านั้น แต่ในปีนี้ประมาณการจัดเก็บของกรมอยู่ที่กว่า 3 แสนล้านบาท เพราะเป็นผลมาจากราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้นจึงอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ยอดการจัดเก็บรายได้ของกรมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

Q : นโยบายประหยัดพลังงานโดยการยกเว้นและลดหย่อนภาษีกระทบยอดจัดเก็บหรือไม่

A : เป็นเรื่องที่กรมสรรพสามิตโดนมาตลอดหากน้ำมันมีการปรับเพิ่มราคากระทรวงพลังงานหรือหน่วยงานอื่นๆ ก็ต้องมองมาที่กรมสรรพสามิตว่าให้ลดภาษีน้ำมันได้ไหม ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วกรมก็ได้ดำเนินการควบคุมอยู่ 2 อย่างคือการลดภาษีและยกเว้นภาษีในสิ่งที่จำเป็นเพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชน แต่ระยะยาวในระดับนโยบายควรให้มีการหาวิธีลดการใช้พลังงานให้น้อยลงหรือใช้พลังงานทดแทนอื่นๆ

โดยในปัจจุบันที่กรมสรรพสามิตดำเนินการก็คือการยกเว้นการจัดเก็บภาษีก๊าซธรรมชาติเอ็นจีวี และเอทานอล ส่วนน้ำมันประเภทอี 20 อี 85 และในอนาคตอาจถึงอี 100 กรมสรรพสามิตก็ดำเนินการลดหย่อนการจัดเก็บภาษีในส่วนนี้อยู่แล้ว โดยเฉพาะอี 85 ซึ่งหากสามารถดำเนินการได้เมื่อไรรายได้ของกรมก็จะหายไปทันที 1.80 บาทต่อลิตร

Q : ความเห็นในส่วนของการลดภาษีรถยนต์ประหยัดพลังงาน

A : หากมองในเชิงนโยบายในระยะยาวก็จะเห็นว่ามีส่วนดีเนื่องจากจะทำให้ภาพรวมมีการประหยัดพลังงานมากขึ้นและสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้รถยนต์ประเภทประหยัดพลังงานกันมากขึ้น ซึ่งทางกรมสรรพสามิตจะพยายามดำเนินการเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่ายมาที่สุดจะไม่เข้าข้างค่ายรถยุโรปหรือค่ายรถญี่ปุ่นให้มีความได้เปรียบเสียเปรียบกันมากเกินไป

ซึ่งการลดภาษีรถยนต์อี 20 เมื่อต้นปีที่ผ่านมามียอดขายรถประเภทนี้แล้วกว่า 1 หมื่นคัน ได้รับการยกเว้นภาษีโดยเฉลี่ยคันละ 1.5 แสนบาทตามขนาดของเครื่องยนต์ว่ามีอัตราการสิ้นเปลืองของพลังงานแตกต่างกันมากเพียงใด แต่หากรถยนต์อี 85 เข้ามาทดแทนรถยนต์ที่ใช่อยู่ในปัจจุบันได้ทั้งหมดมีการคาดการณ์ว่าจะทำให้การจัดเก็บรายได้ลดลงถึงปีละ 1 หมื่นล้านบาท

Q : ผลกระทบที่จะเกิดต่ออีโคคาร์ที่ตั้งไลน์การผลิตไปแล้ว

A : ในจุดนี้หากมองดีๆ จะเห็นว่ามาตรการการลดภาษีนั้นในส่วนของรถยนต์จะเห็นว่าโครงสร้างภาษีที่ออกมารถเล็กที่ใช้พลังงานน้อยกว่าจะเสียภาษีในอัตราที่ถูกกว่า จะเห็นเป็นภาพว่าคนที่ซื้อรถใหญ่มีเงินมากก็ถูกต้องตามหลักคนรวยก็ควรจะเสียภาษีเยอะกว่า จะทำให้ระยะยาวพฤติกรรมการใช้รถจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพเศรษฐกิจ

เพราะเมื่อดูรายละเอียดของรถยนต์ประเภทอีโคคาร์แล้วจะมีเครื่องยนต์ขนาดเล็กมีการเสียภาษีในอัตรา 17% เท่านั้น ในขณะที่อัตราการสิ้นเปลืองพลังงานอยู่ที่ 20 กิโลเมตรต่อลิตรซึ่งถือว่ามีการใช้เชื้อเพลิงที่ต่ำมาก ค่ายรถหลายค่ายที่มีฐานการผลิตในประเทศไทยต่างก็ลงทุนไปเป็นหลักหมื่นล้านบาทคงไม่มีผลกระทบมากนักเพราะมีฐานลูกค้าคนละกลุ่มกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น