xs
xsm
sm
md
lg

กางแผนโครงการแยกน้ำจืดฟื้นนาข้าวหมื่นล. ผุดสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา 2เชื่อมพัทลุง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิรัตน์ หยูทอง
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – แกนนำชาวนาลุ่มทะเลสาบสงขลาร่อนจดหมายถึง “หมัก” แล้ว เพื่อดันแผนพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบตามภูมิปัญญาชาวบ้านสู่ภาครัฐ ในโครงการประตูปิด-เปิดแยกน้ำจืด-เค็ม พร้อมสะพานข้ามทะเลสาบสงขลาเชื่อมสงขลา-พัทลุงแนวยาว 5.5 กิโลเมตร ซึ่งจะเป็นสะพานข้ามทะเลสาบแห่งที่ 2 หลังจากเกิดสะพานติณสูลานนท์เมื่อหลายปีก่อน แต่นอกจากจะพัฒนาระบบลอจิสติกส์ที่ร่นระยะเวลา ต้นทุนการขนส่งแล้ว ผลประโยชน์หลักสามารถจัดการบริหารทรัพยากรน้ำให้สามารถหล่อเลี้ยงวิถีชีวิตพื้นที่เกษตรกรและประมงพื้นบ้านเชื่อม 3 จังหวัด ซึ่งเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญยามข้าวยากหมากแพง พร้อมส่งสัญญาณถึงนักวิชาการมาร่วมด้วยช่วยกันวิจัยถึงความเป็นไปได้

กรณีที่ นายวิรัตน์ หยูทอง ปราชญ์ชาวบ้านและผู้แทนเกษตรกรรมชาวนาข้าว อ.ระโนด จ.สงขลา ได้เปิดเผยกับ “ผู้จัดการรายวัน” ถึงแนวคิดการก่อสร้างโครงการประตูป้องกันน้ำเค็มหนุนน้ำจืดในหน้าแล้ง เก็บกักน้ำจืด น้ำฝน ควบคู่สะพานอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ทั้งประตูและสะพานระหว่างบ้านเกาะใหญ่ อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา และบ้านแหลมจองถนน อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง ทดแทนโครงการเขื่อนหรือคันกั้นน้ำคอนกรีต ที่เสียงของชาวบ้านออกโรงคัดค้าน จนกระทั่ง ครม.มีมติยกเลิกไปเมื่อหลายปีก่อนนั้น สอดคล้องกับแผนพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาที่มุ่งพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบใน 3 จังหวัดได้แก่ สงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราช ให้คงอยู่ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ และคงรักษาวิถีชีวิตของชาวบ้าน ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญในการผลิตข้าวที่ให้คุณภาพอีกแห่งหนึ่งในประเทศไทยนั้น

นายวิรัตน์ หยูทอง ปราชญ์ชาวบ้านและผู้แทนเกษตรกรรมชาวนาข้าว อ.ระโนด จ.สงขลา เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ส่งเอกสารโครงการประตูปิด-เปิดยกขึ้นข้างบนพร้อมกับสะพานระหว่างพื้นที่น้ำกร่อย น้ำจืด บ้านเกาะใหญ่ อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา และบ้านแหลมจองถนน อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง ระยะทางประมาณ 5.5 กิโลเมตรดังกล่าวให้แก่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีแล้ว

ครั้งนี้ได้เปิดเวทีชาวบ้านในพื้นที่เพื่อหารือและแก้ไขข้อบกพร่อง ก่อนจะนำเสนอใหม่อีกครั้ง เพื่อบริหารจัดการน้ำจืด-น้ำเค็มในแต่ละฤดูกาลที่ยังขาดการพัฒนา ฟื้นฟู ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวบ้านที่อยู่รอบลุ่มทะเลสาบ ซึ่งมีทั้งการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา เลี้ยงสัตว์ เพาะปลูกพืชผัก นากระจูด ประมง อุปโภคบริโภคทั้งในครัวเรือนและเชิงธุรกิจ ตลอดจนฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทั้งป่าพรุ และสัตว์น้ำ ซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่กักเก็บน้ำจืดในทะเลสาบตอนบนประมาณ 786 ตารางกิโลเมตร ทะเลน้อยมีพื้นที่น้ำจืดประมาณ 30 ตารางกิโลเมตร และพื้นที่พรุและป่าพรุควนเคร็ง พื้นที่น้ำจืดประมาณ 217,000 ไร่ อันเป็นพื้นที่รองรับน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดรวมกัน 3 จังหวัด คือสงขลา พัทลุง และนครศรีธรรมราช

นายวิรัตน์ กล่าวต่อว่า ข้อเสนอเพื่อให้นักวิชาการศึกษาวิจัยความเป็นไปได้ของโครงการก่อสร้างประตูปิด-เปิดน้ำควบคู่สะพานเพื่อกักเก็บน้ำจืดเอาไว้ไล่น้ำเค็มในทะเลสาบสงขลาตอนกลาง เพื่อประโยชน์ทางด้านการเกษตรผลิตอาหารเลี้ยงประชากร มีดังนี้

1.ศึกษาวิจัยระบบประตูปิด-เปิดยกขึ้นบน ป้องกันน้ำเค็มหนุนน้ำจืดในหน้าแล้ง เก็บกักน้ำจืด น้ำฝน โดยปิดเป็นเวลา 6 เดือน จากเมษายน-กันยายน เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำจืดในหน้าแล้ง ในการทำเกษตรกรรม เลี้ยงสัตว์ และอุปโภคบริโภค และเปิด 6 เดือนจากเดือนตุลาคม-มีนาคม เพื่อระบายน้ำฝน ควบคู่กับสะพานระหว่างบ้านเกาะใหญ่ อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา-แหลมจองถนน จ.พัทลุง

2.ศึกษาวิจัยที่ตั้งโครงการระหว่างบ้านเกาะใหญ่-บ้านแหลมจองถนน ในการป้องกันน้ำเค็มหนุนน้ำจืด และกักเก็บน้ำจืด น้ำฝนไว้ในทะเลสาบตอนบน ทะเลน้อย พรุและป่าพรุ

3.ศึกษาวิจัยผลระทบต่อสภาพน้ำ และสิ่งแวดล้อมจากระบบประตูปิด-เปิดแยกน้ำจืดดังกล่าว

4.ศึกษาวิจัยองค์ประกอบในการตั้งโครงการทั้งป้องกันน้ำเค็มหนุน และกักเก็บน้ำจืดสะพานเชื่อมการท่องเที่ยว พื้นที่ที่ได้รับประโยชน์ ผลตอบแทน ความคุ้มทุน ตลอดทั้งผลได้ผลเสียโดยรวมในการบริหารจัดการน้ำที่ถาวรยั่งยืนต่อไป
นาข้าวในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ได้รับผลกระทบจากน้ำเค็มที่รุกเข้าไปในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และนับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น หากไม่หาวิธีการป้องกันแก้ไข ในอนาคตนาข้าวบริเวณนี้อาจเสียหายทั้งหมด
ทั้งนี้ โครงการที่เกิดขึ้นจากภูมิปัญญาชาวบ้าน จะต้องก่อสร้างสะพานเชื่อมระหว่างบ้านเกาะใหญ่ อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา-แหลมจองถนน จ.พัทลุง ระยะทางประมาณ 5.5 กิโลเมตร ซึ่งจะเป็นสะพานข้ามทะเลสาบแห่งที่ 2 หลังจากที่มีสะพานติณสูลานนท์มาแล้วเมื่อหลายปีก่อน แต่การก่อสร้างสะพานในครั้งนี้จะให้ประโยชน์ในพื้นที่หลายด้าน ทั้งพัฒนาระบบลอจิสติกส์ให้มีความคุ้มค่า ย่นระยะทางสงขลา-พัทลุง ประหยัดค่าขนส่ง และทำให้มีการพัฒนาท้องถิ่นซึ่งทั้ง 2 แห่งล้วนแต่มีเส้นทางตันไม่สามารถทะลุหากันได้ รวมถึงด้านการบริหารจัดการน้ำให้แก่ประชากรรอบลุ่มทะเลสาบและรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และหากสถานการณ์เปลี่ยนชาวบ้านไม่ต้องการประตูปิด-เปิดน้ำแล้ว แต่ก็ยังมีสะพานที่ใช้ประโยชน์ต่อไปได้อีกในอนาคต

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นได้ประเมินข้อดีเบื้องต้นไว้หลายประการ ประกอบด้วย
1.พื้นที่ตั้งโครงการไม่เสียพื้นดินในการทำเกษตร เพราะตัวโครงการอยู่บนพื้นที่น้ำจืดรอยต่อน้ำกร่อย
2. นอกจากจะโครงการจะช่วยแยกน้ำจืด-น้ำเค็มแล้ว สามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวระหว่าง จ.สงขลา และพัทลุงสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง
3.พื้นที่โครงการไม่ต้องเวนคืนที่ดิน หรือจะมีบางจุดแต่ก็น้อยมาก
4.พื้นที่ตั้งโครงการไม่ทำให้เสียพื้นที่ป่าต้นน้ำและลำธาร
5.การป้องกันน้ำเค็มหนุนน้ำจืดในหน้าแล้ง และเก็บกักน้ำจืด น้ำฝนจะไม่ส่งผลกระทบต่อบ้านเรือนราษฎร และพื้นที่ทำการเกษตร เพราะระบบปิดยกน้ำพอปริ่มตลิ่งในต้นเดือนเมษายน หลังน้ำลดระดับน้ำจะอยู่ในระดับสูงจากระดับน้ำในหน้าแล้งจัดเดือนกันยายนประมาณ 70.100 เซนติเมตร จึงไม่มีผลกระทบต่อบ้านเรือนราษฎรทั้งเหนือคันและล่างคัน
6.ระดับน้ำที่เก็บกักไว้ปริ่มตลิ่ง จะส่งผลดีต่อป่าพรุในช่วงหน้าแล้งจัดในเดือนกันยายน ซึ่งบ่อยครั้งเกิดความแห้งแล้งทำให้ไฟไหม้ได้ง่าย
7.ระดับน้ำในต้นเดือนเมษายนพอปริ่มตลิ่งสอดคล้องกับการทำการเกษตร นาข้าว ตลอดจนแนวลำคลองอาทิตย์จะมีน้ำใช้ตลอดปี
8.การกักเก็บน้ำจืด น้ำฝนเอาไว้ในทะเลสาบตอนบน ทะเลน้อย พรุและป่าพรุควนเคร็ง ที่เป็นพื้นที่แหล่งน้ำจืดอันกว้างใหญ่ สอดคล้องกับระบบชลประทานทุ่งระโนด กระแสสินธุ์ ในการแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำจืดในหน้าแล้งช่วงทำการเกษตร

9.การเก็บกักน้ำจืด น้ำฝนช่วยในการฟื้นฟูพันธุ์ปลาน้ำจืดได้ด้วย เช่น ปลาตูม ปลาพรม ปลาดุกรำพัน และยังป้องกันการช็อตปลาได้ด้วย เพราะมีน้ำในพรุและป่าพรุลึกจนกระแสไฟฟ้าหม้อทำงานไม่สะดวก และพื้นที่น้ำกว้างยากต่อการจับปลาด้วยกระแสไฟฟ้า

10.เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมในการเก็บน้ำจืดรวมพื้นที่ 3 จังหวัดให้เป็นแหล่งน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดของภาคใต้ และพัฒนา ฟื้นฟูให้คงอยู่อย่างถาวรต่อไป

11.เป็นการสนองพระราชดำริในการแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำจืดในหน้าแล้งเพื่อทำการเกษตร เลี้ยงสัตว์และอุปโภคบริโภคได้ตลอดทั้งปี

นายวิรัตน์ กล่าวต่อว่า โดยส่วนตัวเชื่อว่าภายหลังจากที่หนังสือถูกส่งไปยังนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีแล้ว น่าจะได้รับการตอบรับกลับมาภายใน 15 วันตามปกติ แต่หากไม่มีความคืบหน้าก็จะดำเนินการทูลเกล้าฯ ผ่านพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีต่อไป

“โครงการที่เกิดขึ้นนี้ถือเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ร่วมกันคิดและเสนอให้รัฐเห็นว่าชาวบ้านมีความต้องการอะไร และผลประโยชน์ได้ตกอยู่กับชาวบ้านทั้ง 9 อำเภอใน 3 จังหวัด ซึ่งแตกต่างจากโครงการอื่นที่รัฐจะเป็นคนคิดทำให้ ซึ่งบางครั้งไม่ตรงความต้องการ ครอบคลุมความเดือดร้อนโดยรวมและเกิดการต่อต้านในที่สุด ซึ่งลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราชที่ธรรมชาติสร้างมาให้ร่วมหลายร้อยพันปี ทุกฝ่ายต้องมีส่วนรับผิดชอบร่วมกัน มองต่อไปข้างหน้าอีก 10 ปีข้างหน้าหากยังไม่มีการพัฒนา แก้ไข ฟื้นฟู อาจจะกลายเป็นเพียงหนองน้ำที่ขังน้ำเค็ม น้ำกร่อย และน้ำจืด แล้วต่อไปจะเป็นหนองน้ำที่แห้ง ถัดจากปี 2561 ไปอีก 20ปี ก็จะกลายเป็นหลุมฝังศพของเราอย่างสิ้นเชิง” นายวิรัตน์กล่าวต่อทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น