xs
xsm
sm
md
lg

ธุรกิจมะกันหนุน’ทำงานทางไกล’ ทางเลือกรับมือภาวะน้ำมันแพง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี – พนักงานและบริษัทมากมายในสหรัฐฯ กำลังใช้การทำงานทางไกล เป็นวิธีสำคัญอย่างหนึ่งในการลดต้นทุนการเดินทาง ในยามที่ราคาน้ำมันพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์
จากการสำรวจของโซไซตี้ ฟอร์ ฮิวแมน รีซอร์ส แมเนจเมนท์ สมาคมผู้จัดการฝ่ายบุคคลของบรรดาบริษัทในสหรัฐฯ พบว่ามีนายจ้าง 48% ที่เสนอการทำงานทางไกลอย่างน้อยหนึ่งวันต่อสัปดาห์ ให้เป็นทางเลือกทางหนึ่งแก่ทางลูกจ้าง นอกจากนั้น ความพยายามอื่นๆ ในการรับมือต้นทุนที่ถีบตัวสูงขึ้น ยังมาอาทิ การทำงานสัปดาห์ละแค่สี่วัน การจัดระบบคาร์พูล (ระบบซึ่งคนที่ไปในเส้นทางเดียวกัน ร่วมเดินทางไปในรถคันเดียว) และมาตรการอุดหนุนด้านการเดินทาง
บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างไอบีเอ็ม ยอมรับแนวทางการทำงานทางไกลและตัวเลือกคล้ายๆ กันนี้ มาตั้งแต่ปี 1992 แล้วด้วยซ้ำ โดยมีผลลัพธ์ที่น่าพอใจ พนักงาน 40% จากทั้งหมด 386,000 คนทั่วโลกมีทางเลือกในการทำงานนอกออฟฟิศ
แอนเดรีย แจ็คสัน ผู้จัดการโครงการชีวิตการทำงาน ความยืดหยุ่น และการเคลื่อนที่ของไอบีเอ็ม อธิบายว่าด้วยเทคโนโลยี อาทิ เครือข่ายส่วนตัวเสมือน (virtual private networks) ที่เปิดโอกาสให้พนักงานสามารถเชื่อมต่อกับเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของบริษัทภายใต้ระบบรักษาความปลอดภัย ทำให้พนักงานสร้างงานได้พอๆ กับการนั่งทำงานในสำนักงาน
“ที่ไอบีเอ็ม เราเน้นหนักเรื่องผลงาน เพราะฉะนั้นจึงไม่สำคัญว่าคุณทำงานจากที่ไหน และเราพบว่าตัวเลือกการทำงานที่ยืดหนุ่นทำให้พนักงานมีประสิทธิภาพการทำงานมากขึ้น”
แมทธิว คาสเมียร์แซ็ก รองประธานแผนกวิจัยของ AeE (เมื่อก่อนรู้จักกันในนามสมาคมอิเล็กทรอนิกส์อเมริกัน) เสริมว่า ต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้นกำลังกระตุ้นความสนใจในการทำงานทางไกล ซึ่งถือเป็นสถานการณ์ที่มีแต่ได้ทั้งสำหรับนายจ้างและพนักงาน ยิ่งไปกว่านั้นเทคโนโลยียังทำให้สิ่งนี้ในปัจจุบันทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าในอดีต
การสำรวจในปี 2006 โดยมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ และร็อคบริดจ์ แอสโซซิเอตส์พบว่า 2% ของพนักงานวัยผู้ใหญ่ในสหรัฐฯ ทำงานทางไกลเต็มเวลา และอีก 9% ทำงานทางไกลแบบไม่เต็มเวลา และมีแนวโน้มว่าการทำงานทางไกลจะขยายสู่แรงงาน 25% ถึงจำนวนแรงงานทั้งหมด นอกจากนั้น หากทุกคนใช้ประโยชน์จากการทำงานทางไกลอย่างเต็มที่ จะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้อย่างน้อย 3,900 ล้านดอลลาร์
ชาร์ลส์ โคลบี้ ประธานร็อคบริดจ์ กล่าวว่าการลดค่าใช้จ่ายน่าจะทำได้มากกว่านั้นในภาวะน้ำมันแพงปัจจุบัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับว่าจะมีคนใช้แนวทางการทำงานทางไกลนี้แค่ไหน
“เราอาจพบว่าคนมากมายยังไปทำงานกันเหมือนเดิม แต่หันไปใช้ทางเลือกต่างๆ เช่น ระบบคาร์พูล หรือรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นแทน”
แจ็ค ฮีค็อก รองประธานอาวุโสเทเลเวิร์ก โคเอลิชัน กลุ่มเคลื่อนไหวที่สนับสนุนการทำงานทางไกล ขานรับว่าแนวทางนี้ขยับขยายกว้างไกลกว่าในบริบทเดิมๆ เช่น คอลล์เซนเตอร์ ไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ แม้แต่ภาคการผลิต ที่ซึ่งเทคโนโลยีและพนักงานสามารถทำงานจากบ้านได้
กระนั้น ฮีค็อกสำทับว่า แม้เทคโนโลยีปัจจุบันเอื้ออำนวยต่อการทำงานทางไกล แต่นายจ้างส่วนใหญ่ยังเชื่อว่าพนักงานต้องทำงานในที่ทำงาน นอกจากนั้น นายจ้างยังกลัวว่าจะถูกร้องเรียนหรือฟ้องร้อง หากไม่สามารถกระจายสวัสดิการได้อย่างเท่าเทียม
แม้มีประโยชน์หลายอย่าง แต่อุปสรรคหนึ่งที่ขวางกั้นการเติบโตของการทำงานทางไกลคือ การขาดการติดต่อกับเพื่อนร่วมงานและความขัดแย้งในออฟฟิศ
“การทำงานทางไกลอาจเป็นทางออกที่ดีที่สุด แต่ก็เป็นไอเดียที่ขายยากในขณะที่เงื่อนไขธุรกิจอ่อนแอเช่นขณะนี้” จอห์น ชาเลนเจอร์ จากบริษัทที่ปรึกษาชาเลนเจอร์ เกรย์ แอนด์ คริสต์มาส กล่าว
“ในภาวะขาลง ผู้จัดการต้องการให้พนักงานทั้งหมดอยู่ในออฟฟิศ ขณะที่ตัวพนักงานเอง แม้มีผลงานเท่ากันหรืออาจดีกว่าคนที่ทำงานในที่ทำงาน แต่การหายหน้าหายตาไปจากหัวหน้างานอาจทำให้คุณเสียเปรียบคนอื่นอย่างชัดเจน”
ทิโมที โกลเด้น ศาสตราจารย์จากสถาบันเทคโนโลยีเรนเซลเลอร์ รับลูกว่าการทำงานทางไกลเป็นประโยชน์อย่างมากต่อพนักงาน แต่ก็อาจทำให้พนักงานคนอื่นๆ ที่อาจมีภาระงานเพิ่มขึ้นไม่พอใจ ดังนั้น จึงควรแก้ปัญหาด้วยการปรับปรุงให้ระบบการทำงานเป็นทีมภายในองค์กรมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น